HIGHLIGHTS
- แนวโน้มของการใช้ข้อมูลในภาคธุรกิจปี 2020 ได้แก่ Data Literacy, Artificial Intelligence, Data Storytelling, Data Equity, Data Culture และ Data Management
เมื่อ ‘ข้อมูล’ กลายเป็นสมบัติที่ใช้ขับเคลื่อนองค์กรในยุคเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล บุคคลหรือองค์กรใดเป็นเจ้าของ เข้าใจ และใช้ข้อมูลสร้างมูลค่าได้ จึงมีข้อได้เปรียบในยุคนี้ และนี่คือแนวโน้มของการใช้ข้อมูลในภาคธุรกิจที่คุณควรรู้
1. Data Literacy
องค์กรเริ่มลงทุนกับเรื่องข้อมูลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐาน หรือการส่งเสริมพนักงานให้เข้าร่วมคอร์สฝึกอบรมต่าง ๆ เพื่อให้มีความรู้และความเข้าใจในการใช้ข้อมูลไปพัฒนางานที่ทำอยู่ และสามารถเปลี่ยนข้อมูลให้กลายเป็น ‘มูลค่า’ ต่อบริษัทได้
ไม่ใช่แค่ระดับองค์กรเท่านั้น แต่ในระดับสถานศึกษา ก็พัฒนาหลักสูตรให้มีการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) และการคิดวิเคราะห์ (Analysis) มากขึ้น เนื่องจากตลาดมีความต้องการแรงงานที่มีความสามารถในการตัดสินใจและแก้ปัญหาได้ บางมหาวิทยาลัยก็ได้บรรจุหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะด้านข้อมูลไว้ในทุก ๆ สาขาวิชาแล้ว เพื่อผลิตนักศึกษาที่เป็น ‘Data Native’ ให้ตอบรับกับตลาดแรงงาน
2. Artificial Intelligence
เมื่อมีการคาดการณ์ว่า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเป็นอนาคตของยุคเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล หลายองค์กรจึงทุ่มงบประมาณมหาศาลกับการลงทุนพัฒนาด้านนี้ แต่เส้นที่แบ่งความสำเร็จอยู่ตรงการทุ่มทุนไปกับการใช้งานจริงให้ได้มากที่สุด มากกว่าการทุ่มกับเทคโนโลยีให้ก้าวหน้าที่สุด
ในยุคนี้ การพัฒนา AI จึงไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการนำศาสตร์อื่น ๆ เข้ามาผสมผสานด้วย เช่น ศาสตร์การวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ หรือการทำการตลาด เพื่อให้ AI ที่ลงทุนพัฒนา สามารถตอบโจทย์ขององค์กรได้อย่างเหมาะสม การพัฒนา AI ในยุคนี้ จึงจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เพื่อให้ใช้งานได้จริง และได้ประโยชน์สูงสุด
3. Data Storytelling
ในยุคที่แบรนด์ต่าง ๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลของลูกค้าได้มากขึ้น เราจึงเห็นหลายแบรนด์เอาข้อมูลเหล่านั้น มาใช้ประโยชน์ในการสื่อสาร โน้มน้าว หรือสร้างประสบการณ์การมีส่วนร่วมโดยตรงกับเรา เช่น รูปไหนที่โพสต์แล้วมีคนไลก์มากที่สุดในปีนี้, เพลงอะไรที่้เราเปิดฟังมากที่สุด หรือกระทั่งวันนี้เราเดินไปกี่ก้าวแล้ว และในอนาคต หลาย แบรนด์จะใช้ข้อมูลลูกค้ามาสร้างประสบการณ์การมีส่วนร่วมแบบนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ
สิ่งเหล่านี้เกิดจากการนำข้อมูลพฤติกรรมการใช้งาน มาสร้างเป็นเรื่องราวและเพิ่มบริบทที่มีความสัมพันธ์กับผู้บริโภค พร้อมกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น ขณะเดียวกันก็แสดงถึงความเข้าอกเข้าใจของแบรนด์ที่มีต่อผู้บริโภค และทำให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะซื้อหรือใช้งานสินค้าหรือบริการของแบรนด์นี้ แบรนด์ที่เขารู้สึกว่าเข้าใจตนมากที่สุด และมากไปกว่าแค่เล่าให้ฟัง บางครั้งยังแนะนำสิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์ จากข้อมูลพฤติกรรมการใช้ได้ด้วย
4. Data Equity
ข้อมูลยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความเสมอภาคในบริบทต่าง ๆ องค์กรไม่แสวงหากำไรหลายแห่ง สามารถมองเห็นกลุ่มที่ไม่เคยถูกมองเห็นหรือกลุ่มคนด้อยโอกาสได้ผ่านข้อมูล รวมถึงใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการเรียกร้องความเสมอภาคให้กับพวกเขาเหล่านั้น
สำหรับองค์กร ข้อมูลระดับบุคคลของพนักงานและลูกค้า สามารถทำให้ผู้บริหารมองเห็นความแตกต่างและหลากหลายของพนักงานในองค์กร รวมถึงเห็นกลุ่มคนที่ไม่อยู่ในกลุ่มบริการหรือนโยบายของบริษัท ความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับพนักงาน ยังช่วยเพิ่มความพึงพอใจและโอกาสที่จะอยู่ต่อของพนักงาน อีกทั้งยังมีงานวิจัยบอกว่า ที่ทำงานที่มีความหลากหลายและเท่าเทียม จะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและโอกาสในการทำกำไรให้บริษัทได้
5. Data Culture
แม้ว่าช่วงสองสามปีที่ผ่านมา หลายองค์กรพยายามเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-driven Organization) แต่ไม่ใช่ทุกองค์กรที่สามารถไปถึงจุดนั้น เพราะหัวใจสำคัญคือ ระหว่างที่ลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี พวกเขาไม่ได้ใส่การขับเคลื่อนข้อมูลในวัฒนธรรมของบริษัท ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ง่ายหากระดับบริหารให้ความสำคัญ
เราจึงเห็นตำแหน่ง Chief Data Officer (CDO) เกิดขึ้นในหลายบริษัท เพื่อค้นหาวิธีเชื่อมธุรกิจกับเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับข้อมูลและการวิเคราะห์โดยเฉพาะ ซึ่งผู้บริหารองค์กรจะต้องวางแผนและประกาศใช้กลยุทธ์ในการเปิดเผยและวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลแก่พนักงานและลูกค้า เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าข้อมูลของตนเองถูกนำไปใช้ ส่งต่อ นำเสนอ และสนับสนุนเป้าหมายของธุรกิจอย่างไร นอกจากนี้ ผู้บริหารต้องให้การสนับสนุนทั้งการฝึกทักษะและอุปกรณ์แก่พนักงาน ให้เขาทำงานกับข้อมูลได้ด้วย
6. Data Management
คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องการจัดเก็บและจัดการข้อมูลในองค์กร มักเป็นฝ่าย IT หรือเทคนิค แต่จริง ๆ แล้ว คนที่ใช้ข้อมูลเหล่านั้นในการตัดสินใจ กลับเป็นฝ่ายบริหาร ธุรกิจ ลูกค้าสัมพันธ์ หรือนักวิเคราะห์ ช่องว่างตรงนี้เองที่ทำให้หลายครั้ง การตัดสินใจออกมาไม่มีประสิทธิภาพมากพอ เพราะคนที่ใช้ข้อมูล ไม่รู้จักข้อมูลเหล่านั้นดีพอ หรือไม่รู้ว่ามีข้อมูลส่วนไหนอีกที่อาจมาใช้ประโยชน์เสริมได้ หลายองค์กรจึงลุกขึ้นมาเชื่อมช่องว่างตรงนี้ ด้วยการประสานการทำงานระหว่างคนเก็บและจัดการข้อมูล กับคนใช้ข้อมูลให้เป็นส่วนเดียวกัน