หนึ่งตัวแปรสำคัญที่ทำให้ปี 2020 เป็นปีแห่งความผันผวนก็คือวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในภาวะถดถอย แน่นอนว่ามันส่งผลต่อตลาดแรงงานโดยตรง ไม่รู้ว่าทิศทางและภาพรวมของตลาดต่อจากนี้จะดำเนินไปในลักษณะใด
อีกทั้งยังเร่งการทำงานแห่งอนาคต (Future of Work) ที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวกำกับงานและทักษะต่างๆ ที่คนทำงานควรมี…ให้มาถึงเร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก
เพื่อเตรียมรับมือกับการทำงานในปี 2021 เราจึงชวนผู้บริหารบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ QGEN และบริษัทบริหารทรัพยากรมนุษย์ QElitez รวมถึงผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กเพจ HR The Next Gen มาร่วมพูดคุยวิเคราะห์แนวโน้มของตลาดแรงงานในประเทศไทยและทักษะจำเป็นของมนุษย์ออฟฟิศ ที่กำลังถูก Disrupt ด้วยปัจจัยรอบด้าน
รูปแบบการทำงานในองค์กรระยะ 1-3 ปีนี้จะเป็นอย่างไร?
กลุ่มอาชีพใดที่ตอนนี้เป็นที่ต้องการของตลาด ‘น้อย’ ที่สุด?
ใครบ้างที่จำเป็นต้องรีบ Upskill และ Reskill ด่วนๆ?
ส่องโลกแห่งการทำงานยุค New Normal ผ่านเลนส์ของ ‘บี-อภิชาติ ขันธวิธิ’ ไปพร้อมกันกับเราได้เลย!
วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบกับตลาดแรงงานของไทยอย่างไรบ้าง
จริงๆ ก่อนหน้าที่จะมีโควิด ตลาดแรงงานของไทยก็ถูกผลกระทบจากหลายๆ เรื่องอยู่แล้วนะ เวลาที่พี่มองเรื่องสิ่งที่มีผลต่อตลาดแรงงานหรือมองในภาพของธุรกิจ พี่ใช้หลักการ ‘PEST’ ในการพิจารณา ขึ้นอยู่กับว่าเรื่องอะไรมันแอคทีฟขึ้นมา
ตัวแรกคือ ‘P-Politics’ การเมืองต่างประเทศอย่างอเมริกาเปลี่ยนผู้นำส่งผลต่อตลาดแรงงานเรามั้ย…ส่งผลแน่ๆ เพราะถ้าเกิดประธานาธิบดีมีนโยบายที่ส่งผลต่อการจ้างงาน ส่งผลต่อสินค้าในประเทศไทย นั่นแปลว่ากระทบต่อคนทำงานแน่ๆ
ส่วนการเมืองในประเทศไทยอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้ มันก็ทำให้เกิดความลักลั่นในการบริหารจัดการ เพราะยังไม่เป็นระบบสักที ทำให้ความมั่นคงในประเทศและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจก็ลดน้อยลงไป ต่างชาติไม่เข้ามาลงทุน การจ้างงานก็กระทบตามไป
ตัวที่สอง ‘E-Economics’ ตัวนี้ก็ชัดเจน ช่วงที่ GDP โต ช่วงที่ดร็อปลงไป ช่วงที่เจอหรือไม่เจอสถานการณ์โควิดเนี่ย ก็ส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ เมื่อการจับจ่ายเปลี่ยนแปลงไป ก็ส่งผลให้รูปแบบการจ้างงานเปลี่ยนตามไปด้วยเช่นกัน
ตัวที่สามคือ ‘S-Social’ ตอนนี้มี 2 เรื่องทางสังคมที่ต้องพิจารณา หนึ่งคือเราอยู่ในสังคมผู้สูงอายุมาสักระยะแล้ว ต้องเปรียบเทียบอย่างนี้ ถ้าเดิมเราเคยมีคน 10 คนในบ้านของเรา มี 2 คนเป็นผู้สูงอายุที่หารายได้ไม่ได้ อีก 2 คนเป็นเด็ก หารายได้ไม่ได้เหมือนกัน มีคน 6 คนในบ้านที่หารายได้เลี้ยงดูคนทั้งหมด
วันนี้เราบอกว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุ นั่นแปลว่าผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจากเดิม 2 คน กลายเป็น 4 คน เด็กเท่าเดิม ถ้าครอบครัวนี้ไม่ทำอะไรเลย จากเดิม 6 คนสามารถหารายได้ได้คนละ 100 บาท และอยู่ได้ด้วยเงิน 600 บาท แต่ตอนนี้ตอนนี้เหลือแค่ 400 บาท แล้วอีก 200 บาททำอย่างไร? ก็กู้เขามา แปลว่าบ้านของเราจนลงไปกว่าเดิม ดังนั้นคนที่เป็นคนทำงานในบ้านเราเนี่ย จำเป็นต้องทำงานอะไรก็ได้ที่มี Productivity มากกว่าเดิม หมายความว่าคนทำงานบ้านนี้ ต้องทำงานมากขึ้นเป็น 1.5 เท่า ถึงจะครอบคลุมรายจ่าย
เรื่องที่สองที่กระทบในภาคสังคม คือเจเนอเรชัน (Generation) ณ วันนี้มีถึง 4-5 เจเนอเรชัน และที่ทำงานร่วมกันในองค์กรน้อยที่สุดคือ 2 เจน มากที่สุดคือ 4 เจน ได้แก่ Baby Boomer, X, Y และ Z ทำให้การทำงานยากขึ้นกว่าเดิม ก็เป็นอีกผลกระทบหนึ่งเช่นกัน
ตัวต่อไปคือ ‘T-Technology และ Climate (แน้วโน้มทั่วไปของสังคม)’ โควิด-19 ที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็คือหนึ่งในสถานการณ์ที่ไปกระทบ พอผสมกับปัญหาก่อนหน้า ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเคลื่อนย้ายแรงงาน การเคลื่อนย้ายภาคอุตสากรรมไปอยู่ต่างประเทศ การขอขึ้นแรงงาน มันก็ส่งผลต่อการตัดสินใจของนายจ้าง พอโควิดเข้ามา มันก็เลยกระทบมากขึ้น ธุรกิจที่ไปต่อไม่ได้ ก็จำเป็นต้องฟรีซการรับคน หรือแม้แต่เลิกทำธุรกิจไป
อีกส่วนหนึ่งคือหลายๆ องค์กรถือเอาจังหวะนี้เปลี่ยนรูปแบบการจ้างและรูปแบบคนทำงาน เอาคนใหม่เข้ามาขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อที่จะสู้กับตลาด จุดมุ่งหมายธุรกิจ ณ ช่วงเวลานี้และต่อไป คือเอาชนะสถานการณ์ให้ได้และเติบโตอย่างยั่งยืน ดังนั้นเมื่อเจอสถานการณ์โควิด มันเลยเป็นตัวแอคทีฟอะไรบางอย่าง ทำให้วิธีการบริหารคน ตั้งแต่การเลือกคน พัฒนาคน และการรักษาคนเก่งเอาไว้ ถูกปรับเปลี่ยนไปตามไป
การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเลยคือการปรับรูปแบบการทำงานให้เป็นออนไลน์มากขึ้น ในมุมของของคุณบีคิดว่า New Normal ที่บังคับให้ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องทำ Digital Transformation ขั้นพื้นฐานนี้ มีข้อดีและข้อเสียต่อ 1) องค์กรหรือธุรกิจ 2) พนักงาน อย่างไรบ้าง
ข้อดีต้องกลับมามองในมุมของการบริหาร สิ่งที่พี่คิดว่าเป็นเรื่องพื้นฐานของธุรกิจก็คือ การพัฒนา ‘Speed และ Quality’ ซึ่งดิจิทัลมันคือตัวช่วย ถ้างานยังอยู่ด้วยตัวคน Human Error (ความผิดพลาดที่เกิดจากคน) ยังมีอยู่เยอะ ซึ่งส่งผลกระทบทั้งความเร็วและคุณภาพ แต่พอเราเอาทุกอย่างเข้าสู่ระบบ เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นดิจิทัล มันก็ลดเรื่อง Human Error ให้น้อยลง และสามารถไปโฟกัสในเรื่องที่สร้างผลประโยชน์ได้จริงๆ
คู่แข่งเรามีเต็มไปหมดเลย ถ้าธุรกิจปรับตัวได้ช้า ผลิตสินค้าหรือบริการออกมาได้ช้า คู่แข่งก็จะเอาตรงนั้นไปกินอยู่ดี พี่เลยมองว่าทุกองค์กรควรจะกลับมาดูว่าเวลาที่จะต้องเอาดิจิทัลไปใช้ในที่ทำงาน มันเป็นตัวช่วยที่ทำให้ Speed และ Quality ดีขึ้นใช่มั้ย ถ้าไม่ใช่ ก็คงต้องมองอีกทีว่ามันคุ้มค่าสำหรับการลงทุนมั้ย เพราะนอกเหนือจากการลงทุนในอุปกรณ์ แพลตฟอร์ม และระบบแล้วเนี่ย คุณจะต้องลงทุนในคนด้วย ซึ่งตรงนี้เป็นต้นทุนแฝงที่บางครั้งเราไม่รู้ว่าเราต้องให้ความสำคัญกับมันมากขนาดไหน
ส่วนพาร์ตของคนที่จะเปลี่ยนเขาจากแอนะล็อกให้เป็นดิจิทัลเนี่ย ต้องแยกคนเป็นเจเนอเรชันด้วย คนที่อยู่เจนใหม่รู้สึกคอมฟอร์ตในเรื่องดิจิทัลอยู่แล้ว เราเลยไม่รู้สึกว่ามันจะทำให้เราต้องสูญเสียอะไร กลับกลายเป็นเรื่องที่ได้ประโยชน์ด้วยซ้ำ เพราะมันทำให้เราคล่องตัวในการทำงาน สามารถ Work from everywhere มีแพลตฟอร์มที่องค์กรเอามาใช้เชื่อมโยงตัวพนักงานในการทำงาน ซึ่งงานของเราก็สะดวกขึ้นกว่าเดิม
แต่ในขณะที่คนอีกเจเนอเรชันหนึ่ง เขาเคยประสบความสำเร็จในการทำงานในรูปแบบของเขามาก่อน เมื่อเราจะเปลี่ยนเขามาเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง สิ่งที่พี่คิดว่าเขากำลังจะกังวลคือ ถ้าความเชื่อของเขาเรื่องการเป็นคนที่มีคุณค่าและประสิทธิภาพต่อองค์กรคือคนที่อยากจะส่งมอบงานที่ดีที่สุดนะ เมื่อเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไปเป็นดิจิทัลที่เขาไม่คุ้นเคย เขาอาจกังวลว่าคุณค่าเขาจะลดลงหรือเปล่า เดิมเคยเก่ง แต่พอเป็นอีกแบบหนึ่งเขาจะกลายเป็นคนที่ทำไม่เป็นเลย นั่นคือสิ่งที่ทำให้หลายๆครั้ง ตัวเขาเองก็พยายามยื้อ ขอทำวิธีการแบบเดิม ดังนั้นถ้าองค์กรอยากจะเปลี่ยน ลงมามอนิเตอร์ตัวนี้ให้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่เป็น Key Talent ของเรา เพื่อที่จะทำให้เขาสบายใจมากที่สุดให้ได้
Digital Skill มีโอกาสที่จะกลายเป็นทักษะจำเป็นพื้นฐานที่ ‘ต้องรู้’ แบบ Microsoft Office มั้ย
ในอนาคตคงเป็นนะครับ ถ้าดิจิทัลมัน User-friendly ได้จริง นี่คือความหวังของพี่ในอนาคตนะ มันต้องเฟรนด์ลี่เหมือนอย่างที่วันนี้ใครก็ถ่ายเอกสารเป็นโดยที่ไม่ต้องเรียนมา ในอนาคตเราอาจไม่ต้องมีสกิลสูงๆ สำหรับการใช้งานพื้นฐานเลย
อย่ากังวลไปก่อน พี่มั่นใจว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลหรือแอปพลิเคชันที่จะช่วยในการทำงาน มันจะต้องมี UX/UI แบบนี้แหละ เพราะดิจิทัลแพลตฟอร์มมันก็มีการแข่งขัน ใครที่ใช้งานได้ง่ายสุด ราคาดีสุด เหมาะสมที่สุด ตัวนั้นก็น่าจะป็อปปูลาร์มากที่สุดเช่นกัน สิ่งเดียวที่ต้องมีสำหรับคนแบบพี่หรือวัยเกินพี่ คือ Open your mind เปิดใจให้กว้างไว้ซะ และรอรับสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามา อย่าพึ่งกลัวไปก่อน เรายังมีเวลาที่จะฝึกฝน
มันจะทำให้บทบาทและความสำคัญของ Hard Skill และ Soft Skill อื่นๆ ลดน้อยลงมั้ย
แล้วแต่เรื่องครับ ตัว Hard Skill มันยังคงมีอยู่อยู่ดี เพราะมันคือเนื้อหาวิชาชีพที่ตรงกับสิ่งที่เขาทำงานจริงๆ แต่ละวิชาชีพก็มีสายในการพัฒนาความรู้ความสามารถของตัวเองไปในเรื่องหนึ่ง ส่วน Soft Skill มันอาจจะมีการปรับเปลี่ยน ทักษะหลายอย่างยังคงเหมือนเดิมแต่เปลี่ยนรูปแบบแทน เช่น เรายังต้องการ Collaboration (การทำงานร่วมกันเป็นทีม) อยู่ ถึงแม้ว่าต้อง Work from everywhere ก็ตาม
Soft Skill ตัวอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับพี่ ณ ตอนนี้ที่โดดเด่นขึ้นมา คือเรื่อง Self-awareness กับ Self-motivation
คำว่า ‘Self-awareness’ หมายถึงการรู้จักตัวเองดี รู้ว่าจุดแข็ง-จุดอ่อนคืออะไร โดยที่ไม่ต้องรอให้คนอื่นมาบอก สิ่งที่องค์กรต้องการคือ The right people at the first time คนที่ใช่ตั้งแต่แรกเลย Google, Netflix, Amazon ใช้หลักการนี้หมด เขาใช้เวลาและหลักการเยอะในการหาคน เพราะเขามองว่าคนที่ใช่กับเราตั้งแต่แรก มาถึงปุ๊บก็สามารถวิ่งได้เลยทันที ไม่ต้องให้เขามาเป็นจุดพัก ค่อยๆ พัฒนากันไป แล้วองค์กรสามารถ Put the right man on the right job ง่ายขึ้นกว่าเดิม พี่เองก็เชื่อว่าคนพัฒนาได้นะ แต่ในเวลาที่มันต้องติดสปีดก็อาจจะไม่ทัน
ส่วน ‘Self-motivation’ คือการสามารถสร้างแรงจูงใจให้กับตัวเอง วันนี้ที่หลายๆ คนพูดถึงเรื่องเบิร์นเอาต์ (Burnout) หมดไฟ หมดนั่น หมดนี่ เฮ้ย…มองเป็นเรื่องธรรมดาได้แล้ว มันคือเรื่องปกติของชีวิต ไปถามพี่ๆ ที่เขาประสบความสำเร็จสิ แต่ละคนเขาหมดไฟกันมากี่รอบ แต่เมื่อมันเกิดขึ้น เขาเรียนรู้อะไรบ้างจากการหมดไฟ นั่นต่างหากคือสิ่งที่จะต้องไปหาคำตอบ ดังนั้นไปโฟกัสที่หมดตังค์ดีกว่ามั้ย ไม่ใช่ใส่ใจในเรื่องของการทำงานอย่างไม่มีแพสชัน (Passion) กลับมาดูที่จุดประสงค์ของเราดีกว่า ว่าวันนี้มีภาระอะไรที่ต้องรับผิดชอบบ้าง เราจำเป็นต้องมีรายได้มากน้อยขนาดไหนเพื่อไปจัดการตรงนั้น
อย่างที่พี่บอกว่าองค์กรต้องการคน Self-motivated เมื่อไหร่ที่คุณเบิร์นเอาต์ คุณร้องไห้ให้ตาย…ช่างมัน แต่อีกหนึ่งวันคุณต้องกลับมาเป็นไฟต์เตอร์ในการที่จะสู้ต่อให้ได้ เพราะองค์กรไม่สามารถรอให้หัวหน้ามาคอยปลอบใจคุณ เป็นแบบนี้ครั้งแรกได้นะ แต่พอเป็นบ่อยๆ คุณอาจจะไม่ใช่คนที่เหมาะที่จะอยู่กับองค์กรเราแล้วล่ะ ดังนั้นจะหมดไฟกี่รอบก็ตาม สิ่งที่เราต้องการคือคุณสร้างแรงจูงใจให้ตัวเองได้ และกลับมาเป็นนักสู้เร็วๆ
คุณบีคิดว่ากลุ่มอาชีพใดจำเป็นที่จะต้อง Upskill และ Reskill มากที่สุดตอนนี้
คนที่งานส่วนใหญ่เป็นรูทีน (Routine) หมายถึงงานที่ทำซ้ำๆ เรื่อยๆ เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ Machine Learnig กับ AI กำลังจะเข้ามาเสียบแทนคุณ ดังนั้นคุณต้องพัฒนาตัวเองให้มีทางเลือกมากกว่าเดิม เพราะถ้าใครๆ ก็มีสกิลแบบนั้น หมายความว่า Demand (อุปสงค์) มันเท่าเดิม แต่ Supply (อุปทาน) มันมีเยอะ ฝั่งองค์กรก็จะมีสิทธิ์เลือกได้มากกว่า และเมื่ออุปทานมันมีเยอะ เงินเดือนคุณจะถูกฟรีซเท่านั้นแหละ แต่ถ้าคุณมีทักษะที่เป็นที่ต้องการของตลาด และเป็นสกิลที่ยังหายากอยู่ มันก็จะยิ่งเพิ่มมูลค่าให้กับตัวคุณมากขึ้น เขาก็จะยอมซื้อคุณในราคาที่สูงกว่าเดิม
เพราะฉะนั้นถ้าวันนี้จะ Upskill และ Reskill นะ นอกจากมองในสิ่งที่เราอยากเรียนรู้ คงต้องมองด้วยว่าตลาดต้องการอะไร คนที่โชคดีคือคนที่สิ่งที่อยากเรียนรู้และสิ่งที่ชอบเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่พอดี พอเรียนเสร็จปุ๊บ ได้ใช้ทันที คุณได้ผลตอบแทนกลับมาทันที แต่ถ้าคุณเรียนรู้ในสิ่งที่คุณชอบ ตามแพสชันของเรานะ แต่ตลาดไม่เปิดรับเลย ต่อให้คุณเรียนแค่ไหน คุณก็ไม่สามารถสร้างรายได้หรือได้ผลตอบแทนอะไรจากมันมาแน่ๆ
ในมุมของของผู้ประกอบการและตลาดแรงงาน คิดว่าทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในอนาคต (Future Skill) มีอะไรบ้างที่สำคัญและควรเรียนรู้ไว้
สำหรับพี่คือเรื่อง ‘Data (ข้อมูล)’ เพราะวันนี้เราอยู่ในโลกของ VUCA World (Volatility-ความผันผวน, Uncertainty-ความไม่แน่นอน, Complexity-ความซับซ้อน และ Ambiguity-ความคลุมเครือ) ทุกอย่างมันวิ่งไปเร็วกว่าเดิม ฉะนั้น Problem Solving (การแก้ไขปัญหา) กับ Decision Making (การตัดสินใจ) มันต้องมีความเฉียบคมมากขึ้น
คนที่หาปัญหาได้เร็วคือคนที่เก่ง คนที่หาวิธีการในการแก้ปัญหาได้ดี ก็เป็นคนที่เก่งยิ่งขึ้นกว่าเดิม แต่คนที่เป็นคนเก่งมากกว่านั้น ก็คือคนที่ตัดสินใจถูกต้องอย่างรวดเร็ว แล้วการที่จะได้มาทั้ง 3 อันนี้ ตัวช่วยก็คือ Data
ทุกวันนี้มีข้อมูลล้อมตัวอยู่เต็มไปหมดเลย มันอยู่ที่ว่าใครสามารถหยิบเอาข้อมูลที่มีอยู่ มาสร้างผลประโยชน์ให้กับองค์กรได้ นี่จึงเป็นทักษะแรกที่พี่มองว่าน่าจะต้องพัฒนานะครับ แต่ไม่ต้องถึงกับไปเรียนภาษา Python นะ เอาแค่รู้ว่าจะจัดการข้อมูลและหาประโยชน์จากตัวนี้ได้อย่างไร
อีกส่วนหนึ่งคือเรื่อง ‘People Management Skill (ทักษะการบริหารคน)’ คนที่เก่งคนเดียว ไปคนเดียวได้ เขาจะโตไปเป็น Specialist (ผู้เชี่ยวชาญ) มีความรู้เฉพาะทางของเขา แต่คนที่มีเป้าหมายว่าฉันอยากโตไปเป็นผู้จัดการ ผู้อำนวยการ หรือผู้บริหาร สิ่งที่คุณจำเป็นต้องตั้งแต่ต้นๆ ก็คือเรื่องการบริการคน
ในโลกของการทำงาน เรามีคน 4 คนที่ต้องบริหาร คนที่หนึ่งคือ หัวหน้า ไม่ต้องรอที่จะขึ้นมาเป็นหัวหน้าก่อน แล้วค่อยเรียนรู้เรื่องการบริหารคน เพราะเราต้องบริหารหัวหน้าเราตั้งแต่วันแรกที่มาทำงาน คือเราจะบริหารจัดการเขาอย่างไรให้สั่งงานแล้วเราสามารถทำได้จริง ให้หัวหน้าส่งแต่งานที่เราชอบมาให้เราทำเท่านั้น ซึ่งจะบริหารได้อย่างไร? อย่างน้อยที่สุดคือต้องแสดงให้เขารู้ว่าคุณเก่งในเรื่องอะไร แต่คนที่ไม่บริหารหัวหน้าเลย นั่งเฉยๆ ทื่อๆ หัวหน้าไม่รู้เลยนะว่าคุณเก่งเรื่องอะไร เขาอาจจะส่งงานที่คุณไม่ชอบมา แล้วคุณก็มานั่งอึดอัด วัตถุประสงค์ของการบริหารหัวหน้าคือให้เขาซัพพอร์ตเรา
คนที่สองคือ เพื่อนร่วมงาน เขาคือคนที่เราต้องการทำงานร่วมด้วย ซึ่งเราไม่ได้มีอำนาจเหนือเขา แต่จะทำอย่างไรให้เขายอมทำบางอย่างให้เรา ยอมที่จะทำงานดีๆ ให้เรา ยอมให้เราทำงานได้ราบรื่นกว่าเดิม ให้พร้อมที่จะผลักดันเราขึ้นไป ถ้าเราไม่เป็นที่ยอมรับของคนที่เป็นเพื่อนร่วมงานเลย มีแค่หัวหน้าและลูกน้องยอมรับเราเท่านั้น เราจะเติบโตแบบศาลพระภูมิที่มีแค่แท่งเดียวซัพพอร์ตเรา หักเมื่อไหร่ โค่นเมื่อไหร่ ก็ล้มทันที
คนที่สามคือ ลูกน้อง เราต้องบริการเขาให้เขาเชื่อใจเรา ให้เขาเชื่อมั่นว่าเราจะพาเขาไปในทิศทางที่ถูกต้อง ไปในสิ่งที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี สิ่งที่จะทำให้ลูกน้องเชื่อใจเราได้คือการสื่อสาร พูดและทำให้ตรงกัน อย่าพูดอย่าง ทำอย่าง ช่วยให้ลูกน้องรู้สึกว่าคุณพร้อมที่จะพัฒนาตัวเขาให้แข็งแกร่งและเก่งขึ้นกว่าเดิม
คนที่สี่คือ ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกก็ตาม สื่อสารอย่างไรให้เขาซื้อสินค้าของเรา เพราะถ้าเราดีกับหัวหน้า ดีกับลูกน้อง ดีกับเพื่อนร่วมงาน แต่ลูกค้าไม่ซื้อเซอร์วิสของเราเลย งานของเราก็จะไม่สามารถขยับเขยื้อนหรือเติบโตได้ เพราะฉะนั้นเราต้องบริหารคนทั้งสี่คนนี้บนแต่ละวัตถุประสงค์ให้เป็น แล้วแยกให้ออกว่าคนแต่ละคนต้องการอะไร
ในปีที่ผ่านมา มีกลุ่มอาชีพใดบ้างที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ‘มาก’ ที่สุด
พี่ทำกรุ๊ปชื่อว่า ‘มีตำแหน่งให้รีบบอก’ มีสมาชิกอยู่ประมาณ 1.7 แสนคน แล้วจะมีตำแหน่งงานเข้าไปโพสต์อยู่ประมาณ 400-500 โพสต์ต่อวัน ซึ่งงานที่เยอะสุดในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา อย่างแรกคือสายงาน IT/ Developer/ Programmer คนที่อยู่ในสายวิชาชีพนี้ยังมีน้อยอยู่ ยังเป็นที่ต้องการของตลาด แล้วราคาก็ยังสูงด้วย
กลุ่มที่สองคือกลุ่ม Sales/ Marketing แรกๆ ก็เซอร์ไพรส์นะ แต่สถานการณ์แบบนี้ สิ่งที่บริษัทต้องการคือการขายของให้ได้ เพราะฉะนั้นคนที่จำเป็นก็คือคนที่วิ่งขายของให้กับเขา อีกมุมหนึ่งคือ ในช่วงโควิดที่ผ่านมา คนกลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มที่บริษัทเอาออกก่อนเป็นกลุ่มแรก เพื่อที่จะ Reshape (เปลี่ยนรูปแบบ) คนใหม่ หลายๆ องค์กรใช้วิธีการขายแบบที่เป็นออฟไลน์ไม่ได้แล้ว ก็เลยต้องขยับตัวเองมาขายออนไลน์ ดังนั้นเลยต้องเบนเข็มมาหาคนขายออนไลน์ ทำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งมากกว่าเดิม ดูยอดแต่ละวัน สองกลุ่มนี้รวมกันก็ปาเข้าไป 40-50% แล้ว
กลุ่มสุดท้ายที่ตีคู่มาด้วยกัน เซอร์ไพรส์เหมือนกันคือ HR/ Accountant พี่เดาอย่างนี้ คนกลุ่มนี้เหมือนกลุ่มที่แล้ว คือเอาออกเยอะ โดยปกติคนกลุ่มนี้จะอยู่กันระยะยาวๆ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเงินเดือนก็จะสูงตามอายุงานของตัวเองที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พอวันนี้จ่ายด้วยเงินเดือนแบบนั้นไม่ไหวแล้ว ต้องเอาคนกลุ่มนี้ออก และเอาคนใหม่เข้ามาในเงินเดือนที่อาจจะต่ำกว่าเดิมครึ่งหนึ่ง เพราะจำนวนงานเท่าเดิม
แต่ในปี 2021 คิดว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือองค์กรจะฟรีซคน เพราะที่ผ่านมาฟรีซแล้วมันรอดนี่หว่า สุดท้ายคนที่ทำงานจริงๆ มีไม่กี่คน ตำแหน่งที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องเอาไว้เลย ดังนั้นการรับคนหลายๆ ตำแหน่งอาจจะไม่มีเลย เหลือแต่ตำแหน่งที่เป็นตัววิ่งแบบนี้แหละ และสิ่งที่องค์กรอาจจะต้องการมากกว่าเดิมก็คือ ให้คนหนึ่งคนมี Multi-skill (การมีทักษะหลากหลาย) รับมาหนึ่งคน ทำได้หลายอย่างมาขึ้นกว่าเดิม เพราะน่าจะทำให้องค์กรมีความคุ้มทุนมากขึ้น
อนาคตระยะสั้น 1-3 ปีนี้ แนวโน้มรูปแบบการทำงานในองค์กรจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด
จริงๆ 3 ปีไม่สั้นแล้วนะในยุคนี้ สั้นคือ 6-12 เดือน พี่คิดว่าในระยะเวลา 1 ปีคงไม่ได้เปลี่ยนไปไกลมาก เราอาจเริ่มเห็นรูปแบบการทำงานแบบ Work from everywhere ในบางอุตสาหกรรมแล้ว เพราะงานของเขาเป็นงานที่ไม่จำเป็นต้องมาเจอกัน แม้เราเริ่มชินกับการใช้ Video Conference (การประชุมทางไกล) มากขึ้น แต่คนก็ยังโหยหาการมีส่วนร่วม การคุยกันตัวต่อตัว การได้เจอผู้คน ซึ่งมันเติมเต็มความเป็นคนของเรามากกว่า
และในหลายธุรกิจยังจำเป็นต้องทำงานในรูปแแบบเดิม เพราะประเทศเราเป็นประเทศที่พึ่งพาธุรกิจประเภทอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมมาก ยังจำเป็นต้องใช้คนในการทำงาน เช่น วิศวกรก็ยังต้องคุมโรงงานอยู่ แต่สิ่งที่ช่วยคือการเอา Machine Learning แขนกล หุ่นยนต์ทั้งหลาย เข้ามาเป็นตัวช่วยในการทำงาน แต่วิธีการทำงานพี่คิดว่ายังเหมือนเดิมนะครับ
ถ้าอย่างนั้นคุณบีคิดว่าเทรนด์การทำงานในระยะ 3-5 ปี สามารถเป็นรูปแบบใดได้บ้าง
สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นหลังจากนี้คือ แต่ละองค์กรอาจเริ่มเปลี่ยนสภาพการจ้างหรือ Working Condition อาจจะมีการจ้างงานแค่ 3 วันต่อสัปดาห์ ทำให้คนหนึ่งคนอาจเป็นพนักงาน 2 บริษัทก็ได้ ซึ่งมันตอบสนองความเป็น Gig Economy (ระบบเศรษฐกิจเสรีที่คนทำงานเข้าไปทำงานในโปรเจกต์ระยะสั้นมากขึ้น)
เมื่อมี Gig Economy บริษัทสตาร์ตอัปก็เกิดขึ้นมามากกว่าเดิม แล้วสตาร์ตอัปหรือธุรกิจที่เป็นฟรีแลนซ์ที่กำลังจะเติบโต ก็มองว่าเขาเองต้องการคนที่มีศักยภาพมาทำงาน โดยไม่อยากจ้างฟูลไทม์ เพราะไม่ได้มีงบประมาณสู้เหมือนคนอื่นเขา ในขณะที่องค์กรเองก็มองว่าคนคนหนึ่งทำงานให้มีประสิทธิภาพที่สุด คือทำงานกับเราแค่ 3 วันก็พอแล้ว ไม่ต้องจ้าง 5 วันเต็มก็ได้
พอเป็นในลักษณะนี้มากขึ้น สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตก็คือการมี Second Job แต่ละคนอาจไม่ได้มีแค่งานเดียว ซึ่งมันก็จะไปตอบแพสชันของคนในเจเนอเรชันใหม่ๆ คืออยากได้ความมั่นคงในขณะที่ก็ยังอยากไปทำงานตามความชอบของตัวเองอยู่
แนวโน้มของลักษณะงานแบบนี้จึงเป็นเรื่องใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้น ขึ้นอยู่กับว่าองค์กรเองสามารถเปิดรับในเรื่องนี้ได้มากขนาดไหน เพราะสิ่งที่เป็นความกังวลของบริษัทหลักๆ มีอยู่เรื่องเดียวก็คือเรื่อง Confidentialily หรือความลับขององค์กรเท่านั้น
หมายความว่า ในมุมของพนักงานก็อาจจะเสียเปรียบในเรื่องสวัสดิการที่เคยได้จากการเป็นพนักงานประจำด้วยหรือเปล่า
ไม่เสมอไปครับ ตัวสวัสดิการมันอาจจะไม่ได้หายไปไหนนะ แต่มันจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่องค์กรใช้ในการดึงดูดพนักงานด้วยเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นเงินเดือนยังคงเป็นเงื่อนไขหลักที่คนส่วนใหญ่ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกว่าจะทำหรือไม่ทำที่ไหน
ผลกระทบจากปีที่ผ่านมาทำให้อัตราการจ้างงานและเงินเดือนที่พนักงานควรจะได้รับนั้นลดลง ซึ่งมันมีโอกาสลดลงต่อเนื่องในอนาคตมั้ย
ต่อเนื่องครับ วันนี้บริษัทที่มีเหตุและผลนะครับ ส่วนใหญ่จะจ้างคนด้วยการประเมินว่าสิ่งที่คนทำงานจะมอบให้กับองค์กรคืออะไร ให้ยึดตัว Job Value หรือมูลค่าของงานที่เราคาดหวังจากเขา มาเทียบกับสิ่งที่เราควรจะแลกเปลี่ยนคืนให้กับเขา ถ้าค่าของตัวงานที่พนักงานให้กับองค์กรมันน้อยลง สิ่งที่จะให้ได้มากที่สุดก็คือเงินเดือนเท่าเดิม ไม่ได้สูงขึ้น
เพราะฉะนั้น ย้อนกลับมาอีกเรื่องเหมือนกันนะ ว่าใครที่คิดจะพัฒนาตนเอง อยากไปเรียนปริญญาโท แล้วบอกว่าจบป.โทเพื่อมาขอเงินเดือนขึ้นกับบริษัท คำถามคือ ตอนที่คุณทำงาน คุณเข้ามาด้วยวุฒิป.ตรี แล้วคุณทำงานได้ดีด้วยวุฒิป.ตรี สิ่งที่ผม (องค์กร) ต้องการ ผมต้องการคนทำงานแค่วุฒิเท่านี้ การที่คุณมีวุฒิป.โทขึ้นมา มันเป็นประโยชน์ต่อตัวคุณ ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อตัวองค์กรเลย ทำไมองค์กรต้องจ่ายให้กับคุณ
คุณผัดกะเพราให้ผมด้วยรสชาติเดิม การที่คุณมีวุฒิ คุณผัดกะเพราโดยที่คุณเพิ่มรสชาติบางอย่างขึ้นมา แต่นั่นเป็นรสชาติที่ผมบอกว่ามีก็ดี ไม่มีก็ได้ เพราะฉะนั้นการมีตัวนี้เพิ่มขึ้นอาจไม่ใช่สิ่งที่องค์กรต้องการ
แต่สิ่งที่องค์กรอาจจะคิดเพิ่มไปอีกชั้นหนึ่ง คือควรมองไปในอนาคตด้วยว่า ถ้าคนเก่งคนนี้ไม่อยู่กับเราแล้ว คุณจะหาคนเก่งแบบนี้มาอยู่กับคุณได้อีกมั้ย ถ้าสิ่งที่เขาต้องการคือเงินเดือนเพิ่มขึ้น คุณต้องยอมจ่ายให้เขาด้วย ก็ต้องย้อนกลับมาดูว่าอะไรคือสิ่งที่เป็นแรงจูงใจของเขา
ซึ่งการที่เราคิดจะรั้งคนเก่งไว้กับเรา ก็ต้องตีความคำว่า ‘เก่ง’ ให้ออก เก่งนี้หมายถึงเก่งในอดีต เป็นผลงานเฉลี่ยที่เกิดขึ้นแล้วเรามองว่าคนนี้้เก่ง หรือคนนี้เป็นคนเก่งสำหรับอนาคตที่เราต้องการ ความเสี่ยงที่มากกว่าคือการที่เรายื้อคนเก่งในอดีตแต่ไม่เก่งในอนาคตไว้ เพราะนั่นแปลว่าในอนาคตเขาอาจจะไม่สามารถสร้างอะไรให้องค์กรได้อีกเลยก็ได้
แต่ถ้าคนที่เก่งในอดีตแล้วมีแนวโน้มว่าจะเก่งในอนาคตได้ มองให้ออกว่าเขายังขาดเรื่องอะไร แล้วไปเร่งพัฒนาเขา เพื่อที่จะมีสกิลไปต่อกับเราได้ เพราะสิ่งจำเป็นสำหรับองค์กรคือควรดูแลคนที่เป็น The right people เพื่อให้เขาอยู่กับองค์กรและเดินหน้าต่อไป
คุณบีบอกว่าการเรียนปริญญาโทอาจจะให้ในสิ่งที่องค์กรไม่ได้ต้องการ แต่อยากทราบว่าในมุมขององค์กรและพนักงานเอง การเรียนปริญญาโทนั้นมีข้อดีอย่างไรบ้าง
ในฝั่งขององค์กร องค์กรได้ประโยชน์อยู่แล้ว เพราะพนักงานมีความรู้เพิ่มขึ้น แต่พนักงานจะเอาความรู้มาเคลมเป็นเงินเดือนไม่ได้ เพราะ Performance (ผลการปฏิบัติงาน) ยังไม่ออก พี่ไปเรียนป.โทตอนที่พี่ทำงานแล้ว ถ้าพี่เอาความรู้มาปรับใช้กับบริษัท พี่จะทำงานได้ดีกว่าเดิม เกิดผลประโยชน์ต่อตัวองค์กรแน่ๆ แต่ถ้าพี่ไปเรียนในสิ่งที่ไม่ได้ใช้กับงานที่เราทำเลย บริษัทไม่ได้ประโยชน์อะไร กลับเสียประโยชน์ด้วยซ้ำหากพนักงานแอบเอาหนังสือมาอ่าน แอบทำรีพอร์ตในเวลางาน
แต่ในฝั่งของพนักงาน การที่คุณไปเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม แน่นอนนั่นคือการเปิดทางเลือกให้กับคุณ เรียนจบคุณอยากจะอยู่ที่เดิมหรืออยากจะไปที่ใหม่ คุณมีอีกหนึ่งอาวุธที่จะใช้ในการยื่นข้อเสนอให้กับคนอื่นๆ แล้ว
ถ้ายังอยากจะอยู่องค์กรนี้ อันนี้เขี้ยวนิดนึงนะ ถ้าเป็นพี่…พี่จะไปยื่นข้อเสนอว่า “พี่ครับ…ผมเรียนจบป.โทแล้ว พี่ว่ายังไง พี่พอจะสามารถโปรโมตให้ผมได้มั้ย พี่จะขึ้นเงินเดือนให้ผมได้หรือเปล่า” ถ้าบอกว่านโยบายของเราขึ้นไม่ได้ สิ่งที่พี่จะทำคือไปบริษัทอื่น เพราะเรามีอาวุธ มีความสามารถ มีประสบการณ์แล้ว งั้นขอไปสมัครงานที่อื่นนะ เพื่อดูว่าเราไปที่ไหนได้อีกบ้าง เพราะเราก็อยากจะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้มันคุ้มกับดีกรีที่เรามี เพราะฉะนั้นการมีปริญญาเพิ่มขึ้นมา มีความรู้เพิ่มขึ้นมา มันคือใบเบิกทางใบใหม่ให้กับเรา
ฝากอะไรถึงคนทำงานยุคดิจิทัลสักเล็กน้อย
ในการทำงานยุคนี้นะครับ จะบอกว่ายากก็ยาก จะบอกว่าง่ายก็ง่าย มันขึ้นอยู่กับมุมมองและทัศนคติของตัวเราเป็นสำคัญ คนที่จะประสบความสำเร็จได้คือคนที่มีทัศนคติแบบ ‘Growth Mindset’ มีความคิดว่าจะกี่ปัญหาก็ตามที่เจอ ยังไงก็มีทางออก มันอาจจะไม่เจอในระยะเวลาสั้นๆ แต่เราจะพยายามและหาวิธีแก้ปัญหาอยู่เรื่อยๆ จนเจอว่ามีตรงไหนที่เราสามารถเดินทะลุปัญหาออกไปได้
อีกเรื่องหนึ่งคือการที่เราต้องพยายามพัฒนาสกิลอยู่เสมอ เราพูดอยู่ตลอดเรื่องการ Upskill, Reskill ศัพท์ใหม่ๆ พวกนี้ ไม่ต้องเข้าใจก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือ เราเองต้องมีความอยากเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ อยู่เสมอ เพราะความรู้มันหมดอายุได้ตลอดเวลา แม้แต่ความรู้ที่เราพึ่งเรียนมาก็ตาม เวลาผ่านไปสักแป๊บหนึ่ง จะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา มีแนวคิดใหม่ๆ ขึ้นมา ความรู้เดิมที่เรามีมันอาจเป็นความรู้ที่เราใช้การไม่ได้อีกแล้วก็ได้ พอเราอยู่กับความรู้หมดอายุ นั่นแปลว่าเราอาจจะไม่มีความรู้ที่เอาไปใช้งานได้
ในอดีตเราอาจจะเคยเป็นคนเก่งขององค์กร แต่ถ้ามันเป็นความเก่งในอดีต สิ่งที่มากที่สุดที่เราจะทำได้ คือ การเป็นตำนานของที่นั้นๆ แต่ถ้าความรู้ความสามารถของเราไม่เป็นที่ต้องการของอนาคตเลย ก็ทำให้เรามีตัวตนไม่ได้เช่นกัน เลยจำเป็นที่ต้องมองให้ออกว่าวันนี้ตลาดต้องการอะไร และมองย้อนกลับมาดูด้วยว่าตัวเราเองวันนี้ขาดอะไรที่จำเป็นอยู่บ้าง แล้วมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการเดินไปในทิศทางไหน เพื่อให้การพัฒนาตัวเองไม่หลงทิศ แล้วเราก็จะเดินไปสู่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ