Brainstorm กับทีมให้มีประสิทธิภาพ ด้วยเทคนิคง่ายๆ ที่นำไปใช้ได้จริง!

การออกไอเดีย แคมเปญ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ มักต้องการระดมไอเดียหรือความคิดเห็นที่หลากหลายอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การระดมสมองหรือการ Brainstorm บางทีก็เป็นไปอย่างไม่ค่อยมีประสิทธิภาพหรือราบรื่นสักเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเนื่องมาจาก.. 

  • Unbalanced Conversation หรือการมีส่วนร่วมไม่เท่ากันของสมาชิกในกลุ่มระดมสมอง เนื่องมาจากลักษณะนิสัยทางการแสดงออกของคนแต่ละคนแตกต่างกัน บ่อยครั้งที่คนเสียงดังกว่าก็มักจะได้แสดงความคิดเห็น หรือมีอิทธิพลต่อกลุ่มมากกว่าอยู่เสมอ
  • Anchoring Effect หรือปรากฎการณ์ที่มีการโฟกัสความสนใจไปที่แค่บางไอเดียที่ถูกยกขึ้นมาในช่วงแรกๆ ของการระดมสมองเท่านั้น ซึ่งทำให้ไอเดียใหม่ๆ ที่อาจเป็นไปได้ ไม่ได้รับความสนใจหรือโอกาสเพื่อต่อยอดต่อไป
  • Awkward Silence หรือความเงียบสุดอึดอัดเมื่อทุกคนในทีมระดมสมองรู้สึกตีบตันทางความคิด คิดไอเดียใหม่ๆ ไม่ออก จนต้องจบการประชุมไปแบบที่อาจจะยังไม่ได้ไอเดียที่ตอบโจทย์เลย

เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ไม่พึงประสงค์เหล่านี้ รวมถึงช่วยการ Brainstorm ของคุณและทีมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เรามี 7 เทคนิคง่ายๆ ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงตั้งแต่วันนี้!

1. คิด เขียน แปะ (Brainwriting)

เป็นการระดมสมองแบบไม่ใช้คำพูดหรือ Non-verbal Brainstorming เน้นให้ทุกคนได้อยู่กับตัวเองและ ‘เขียน’ ไอเดียของตัวเองลงในกระดาษ Post- it เงียบๆ ก่อนจะนำไอเดียที่เขียนไว้มาแปะลงบนพื้นที่กลางที่ทุกคนสามารถเห็นได้ แล้วจึงค่อยแชร์ ถก และต่อยอดซึ่งกันและกัน 

เทคนิค Brainwriting นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาเรื่อง Unbalanced Conversation โดยการให้สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเท่าๆ กัน และช่วยหลีกเลี่ยง Anchoring Effect ผ่านการให้พื้นที่และคุณค่ากับทุกไอเดียแล้ว ยังช่วยให้ทีมได้ไอเดียที่หลากหลายจำนวนมากในเวลาที่จำกัดอีกด้วย

เพราะทุกคนสามารถคิดและเขียนไอเดียออกมาได้พร้อมๆ กัน (Parallel Idea Generation) ในขณะที่ในการระดมสมองแบบทั่วไป ไอเดียจะสามารถถูกนำเสนอได้ทีละไอเดียเท่านั้น ซึ่งอาจจะกินเวลามากเกินไปจนทำให้ไอเดียอื่นๆ ไม่ได้ถูกนำเสนอออกมาได้ 

ทั้งนี้ งานวิจัยจาก Northwestern University ยังได้บอกอีกว่าการระดมสมองผ่านการเขียนนี้ช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ได้มากกว่าการระดมสมองแบบทั่วไปถึง 42% อีกด้วย!

2. เสนอมาก่อน ยิ่งมากยิ่งดี (Rapid Ideation)

เทคนิคนี้เป็นเทคนิคที่สามารถนำไปต่อยอดและใช้ร่วมกับเทคนิค Brainwriting ได้ โดยมีหลักการง่ายๆ คือ เน้นให้สมาชิกทุกคนในวง เขียนไอเดียของตัวเองลงใน Post-it ออกมาให้ ‘มากที่สุด’ เท่าที่จะมากได้ในเวลาที่จำกัด แล้วนำไอเดียมาพูดคุยกัน

ซึ่งการให้ทีมได้โฟกัสที่ ‘ปริมาณ’ ก่อน ‘คุณภาพ’ ของไอเดีย นอกจากจะช่วยทำให้ทีมได้ไอเดียสร้างสรรค์ที่หลากหลาย เพราะมีการแยกช่วงของการวิจารณ์ไอเดียออกจากการช่วงการระดมสมองอย่างชัดเจนแล้ว แล้วยังช่วยสร้างบรรยากาศการระดมสมองในทีมที่ดี เพราะทุกคนรู้สึกปลอดภัยและกล้าที่ออกไอเดียหลุดๆ อีกด้วย 

3. สวมบมบาทเปลี่ยนมุมมอง (Figure Storming)

เทคนิคนี้ชวนให้ทีมลองสวมบทบาทเป็นใครสักคน (ที่ไม่ได้อยู่ในวง) แต่เป็นที่รู้จักดี ไม่ว่าจะเป็น คนดัง ตัวละครในหนัง หรือหัวหน้าในบริษัท แล้วเริ่มออกไอเดียหรือแสดงความคิดเห็นในมุมมองของบุคคลนั้นๆ เช่น ในบทบาทของ Steve Jobs ฉันจะแก้ปัญหานี้โดยการโฟกัสที่…. หรือในบทบาทของหัวหน้าฝ่ายขาย ฉันมองว่าประเด็นนี้เราควรจะ…. เป็นต้น

การสวมบทบาท เปลี่ยนมุมมอง เป็นเทคนิคที่เหมาะกับการใช้ในเวลาที่ทีมรู้สึกตัน หรือคิดไอเดียไม่ออก เพราะนอกจากมันจะช่วยให้คนในวงระดมสมองที่อาจกลัวว่าไอเดียตัวเองจะถูกวิจารณ์ รู้สึกกล้าออกความคิดใหม่ๆ ที่แหวกแนวและนอกกรอบแล้ว มันยังช่วยให้ทีมได้มองและตั้งคำถามกับปัญหาหรือโจทย์ในมุมมองอื่นๆ ที่อาจไม่เคยคิดถึงมาก่อนอีกด้วย

4. แชร์รอบวงคนละหนึ่งไอเดีย (Round-Robin)

ในการระดมสมองแบบ Round-Robin สมาชิกทุกคนในวงต้องออกไอเดียเกี่ยวกับประเด็นปัญหาหรือโจทย์ตั้งต้นคนละ 1 ไอเดีย เมื่อคนแรกพูดจบ คนถัดไปที่นั่งต่อจากคนแรกก็พูดต่อ และถัดไปเรื่อยๆ จนกระทั่งทุกคนได้เวียนกันแชร์ไอเดียของตัวเองแล้ว จึงค่อยเริ่มการออกไอเดียที่สอง หรือถกไอเดียต่างๆ ในรอบแรก

กฏที่สำคัญในการระดมสมองแบบนี้คือ ห้ามบอกว่าไอเดียของตัวเองที่คิดไว้ได้ถูกพูดไปแล้ว เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนพยายามคิดไอเดียใหม่ๆ หรือวิธีการแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ให้ได้

ซึ่งเทคนิคนี้ช่วยสร้างความหลากหลายของไอเดีย เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมเท่าๆ กัน และได้โยนไอเดียเข้ามาอย่างไม่มีการตัดสินกันก่อน

5. เพิ่มไอเดียแบบขั้นบันได (Step-ladder)

วิธีนี้เริ่มต้นด้วยการให้ผู้นำการประชุมแนะนำโจทย์หรือประเด็นที่ต้องการแก่ทุกคน โดยการระดมสมองจะเริ่มต้นจากสมาชิก แค่ 2 คนก่อนเท่านั้น (ให้สมาชิกคนอื่นออกจากห้องระดมสมองไปก่อน) ทั้งสองคนที่อยู่ในห้องต้องพูดคุยระดมไอเดียกันสักพัก แล้วจึงให้คนที่ 3 เข้ามา โดยให้คนหลังแชร์ไอเดียของตัวเอง ก่อนที่จะเริ่มฟังและถกกันเกี่ยวกับไอเดียที่สองคนแรกคิดไว้ 

หลังจากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มคนเข้ามาในห้องระดมสมองทีละคน โดยใช้หลักการเดิมคือให้คนที่เข้ามาใหม่ได้แชร์ไอเดียตัวเองก่อน แล้วจึงค่อยเปิดโอกาสให้คนที่เข้ามาใหม่เรียนรู้และถกไอเดียอื่นๆ ของคนที่อยู่ในห้องก่อนหน้า ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนสมาชิกทุกคนได้เเชร์ไอเดียของตัวเอง 

แม้ว่าจะค่อนข้างซับซ้อน แต่เทคนิคนี้ก็มีข้อดีตรงที่มันช่วยลดอคติหรือการชี้นำของไอเดียที่อาจมาจากไอเดียแรกๆ ที่ถูกนำเสนอ หรือจากคนที่มักมีอิทธิพลต่อกลุ่มเวลาแสดงความคิดเห็นได้ 

หมายเหตุ: เทคนิคนี้ค่อนข้างซับซ้อนและกินเวลานาน จึงอาจไม่เหมาะกับกลุ่มระดมสมองที่มีจำนวนสมาชิกมาก

6. เติมเต็มคำตอบด้วยคำถาม 6 มุม (Starbursting)

เทคนิคนี้เป็นเทคนิคที่ช่วยขยายและลงรายละเอียดเกี่ยวกับไอเดียใดๆ ที่ถูกเลือกมาเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น จึงเป็นเทคนิคที่เหมาะนำมาใช้กับกระบวนการช่วงท้ายๆ ของการระดมสมอง โดยเฉพาะในช่วงที่ทีมได้เลือกไอเดียบางอย่างที่จะแก้ปัญหามาแล้ว

ในการใช้เทคนิค Starbursting ทีมจะเริ่มต้นเขียนไอเดียหรือโจทย์ที่เลือกมาไว้ตรงกลางดาว 6 แฉก โดยแต่ละแฉกจะมีคำถาม ให้ทีมได้ระดมคำตอบเพิ่มเพื่อเติมเต็มคอนเซ็ปต์ของไอเดียให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

คำถามในแต่ละแฉกจะมาจาก 5W1H ได้แก่ Who (ใคร) What (อะไร) When (เมื่อไหร่) Where (ที่ไหน) Why (ทำไม) How (อย่างไร)

ทีมสามารถลงรายละเอียดของแต่ละคำถามให้เฉพาะเจาะจงขึ้นตามความเหมาะสมของบริบทได้ เช่น ใครเป็นกลุ่มเป้าหมายของสินค้านี้ แรงขับเคลื่อนในการสร้างสินค้าคืออะไร มีฟีเจอร์อะไรบ้าง  หรือช่วงเวลาไหนจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการปล่อยสินค้าตัวนี้ เป็นต้น

เนื่องจากเทคนิคนี้มีการเน้นย้ำการใช้ ‘คำถาม’ มาก จึงช่วยสนับสนุนให้สมาชิกในทีมคิดและวิเคราะห์คำตอบ หรือไอเดียต่างๆ จากหลากหลายมิติ แถมยังสร้างโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาไอเดียและวางแผนสิ่งที่จะดำเนินต่อไปให้สมบูณ์ด้วย

7. พลิกมุมมองด้วยโจทย์มุมกลับ (Reverse Brainstorming)

การระดมสมองแบบย้อนหลังมีหลักการพื้นฐานสำคัญคือ ‘การคิดตรงข้าม’ ซึ่งทำได้ด้วยการกลับมุมมองเปลี่ยนโจทย์หรือคำถามตั้งต้นให้ตรงข้ามกับที่ต้องการ แล้วค่อยระดมสมองหาคำตอบด้วยโจทย์นั้นๆ เพื่อให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการแก้ปัญหา

เช่น เปลี่ยนจาก ‘เราจะชนะคู่แข่งได้อย่างไร’ เป็น ‘เราจะแพ้คู่แข่งของเราได้อย่างไร’ หรือ เปลี่ยนจาก ‘เราจะทำโปรเจ็กต์นี้ให้สำเร็จได้อย่างไร’ เป็น ‘เราจะทำโปรเจ็คนี้ให้ล้มเหลวได้อย่างไร’

ตัวอย่างการนำไปประยุกต์ใช้

โจทย์เดิม: เราจะพัฒนาความพึงพอใจของลูกค้าได้อย่างไร
โจทย์แบบ Reverse: เราจะ ‘ลด’ ความพึงพอใจของลูกค้าได้อย่างไร

เมื่อเริ่มระดมสมอง ไอเดียที่ได้อาจจะเป็น การนินทาลูกค้า การให้ลูกค้าถือสายรอนานๆ หรือการปล่อยให้ลูกค้ายืนรอหน้าร้านโดยไม่มีเก้าอี้

ซึ่งเมื่อระดมสมองเสร็จแล้ว หากให้ทุกคนนำแต่ละประเด็นที่ระดมมาคิดวิเคราะห์อีกที เราอาจจะพบว่าเราได้มองข้ามบางสิ่งที่ลูกค้าไม่ชอบและเผลอทำไปได้ เช่น แม้ว่าเราจะไม่ได้ปล่อยให้ลูกค้ายืนรอหน้าร้านในช่วงทำการ แต่พวกเขาอาจจะต้องยืนรอเราก่อนเวลาเปิดร้านก็ได้ ฉะนั้น อีกหนึ่งวิธีที่ช่วยสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าได้อาจเป็นการจัดเก้าอี้หน้าร้านให้นั่งรอร้านเปิด หรือเปิดให้เข้ามารอในร้านได้ก่อนเวลา 10 นาทีก็ได้

นอกจาก Reverse Brainstorming จะเป็นเทคนิคที่ชวนให้ทีมมีการปฏิบัติต่อปัญหาด้วยวิธีที่แปลกใหม่แล้ว ยังช่วยทีมหาความเป็นไปได้ใหม่ หรือจุดอ่อนที่อาจถูกมองข้ามอีกด้วย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้ด้านประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้เพื่อการโฆษณา

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า