เปิดโปงการฟอกเงินระดับโลกผ่าน Data Mining

fincen-files-investigation

เมื่อปี 2016 ทั่วโลกได้รับรู้เกี่ยวกับกรณี Panama Papers ที่มีการเปิดโปงการฟอกเงินและหนีภาษีครั้งใหญ่ ผ่านการสืบสวนจากข้อมูลที่รั่วไหลจากสำนักกฎหมาย ซึ่งโยงใยไปถึงบรรดาคนดัง มหาเศรษฐี และนักการเมืองทั่วโลก

เครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ: International Consortium of Investigative Journalists) ผู้อยู่เบื้องหลังการสืบสวนในครั้งนั้น ได้ใช้ความสามารถในการขุด วิเคราะห์ และเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อเปิดโปงการฟอกเงินครั้งใหญ่อีกครั้งเมื่อเดือนกันยายน 2020 ในชื่อของ FinCEN Files

FinCEN หรือ เครือข่ายสืบสวนอาชญากรรมทางการเงินของสหรัฐอเมริกา มีหน้าที่คอยดูรายงานเกี่ยวกับธุรกรรมที่น่าสงสัย หรือ SAR (Suspicious Activity Report) จากธนาคารและสถาบันการเงินทั่วโลก แต่เอกสาร SAR ของ FinCEN กว่า 2,000 ฉบับก็รั่วไหลมาถึง ICIJ และ Buzzfeed โดยบางฉบับเป็นเอกสารที่มาจากการสืบสวนของสภาคองเกรส เรื่องการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016 และเกือบครึ่งเป็น SAR จากธนาคารแห่งใหญ่ในเยอรมนี พวกเขาจึงเริ่มดำเนินการสืบสวนผ่านข้อมูลเหล่านี้ จนได้ข้อค้นพบบางอย่าง และแจกจ่ายเอกสารเหล่านี้ไปยังองค์กรสื่อ 108 แห่งใน 88 ประเทศทั่วโลก

ข้อมูลชวนปวดหัว

ก่อนอื่น ลักษณะของ SAR ที่ ICIJ และ Buzzfeed ได้รับมานั้น อยู่ในรูปแบบเอกสารบันทึกข้อความ พร้อมข้อมูลการทำธุรกรรมแบบดิบสุดๆ แถมยังไม่มีรูปแบบที่แน่นอน รวมถึงบางเอกสารก็มีข้อมูลไม่ครบถ้วน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นความท้าทายชิ้นใหญ่สำหรับคนที่ทำงานกับข้อมูล อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความละเลยไม่ใส่ใจของธนาคารในการตรวจสอบข้อมูลธุรกรรม แม้จะเป็นกลุ่มลูกค้าหรือสถาบันการเงินที่มีความเสี่ยงสูง

ครึ่งหนึ่งของรายงานที่ ICIJ ตรวจสอบ พบว่าธนาคารหรือสถาบันการเงินไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรหรือบุคคลที่ทำธุรกรรม แม้จะมีการร้องขอข้อมูลเพิ่มเติม แต่ก็มีบางส่วนที่ไม่ได้รับคำตอบ และหลายครั้งก็มีการอ้างกฎหมายเกี่ยวกับความลับทางธนาคารหรือข้อมูลส่วนบุคคลมาเพื่อปฏิเสธการให้ข้อมูล ทำให้เอกสารที่ได้มานั้นไม่มีข้อมูลที่อยู่ ที่อยู่ผิดบ้าง รหัสประเทศผิดบ้าง หรือบางทีเมื่อไปตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นแค่บริษัทบังหน้า (Shell Company)

และเนื่องจากข้อมูลที่ต้องค้นหาความจริงนั้น เป็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ICIJ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากนักข่าว 85 คนใน 30 ประเทศ เพื่อจัดการแปลงข้อมูลใน SAR ซึ่งอยู่ในรูปแบบไฟล์ PDF ให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถนำมาวิเคราะห์ได้  รวมถึงใช้กฎหมายเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสารเพื่อยื่นขอเอกสารเพิ่มเติมเกือบ 20,000 ฉบับ

ในเชิงเทคนิคการจัดการข้อมูลหรือ Data Mining พวกเขาได้ทดลองใช้หลายวิธีในเชิง Programming ทั้ง Python และ SQL มีการใช้ Machine Learning มาช่วยแปลง ทำความสะอาด และจัดการข้อมูล นอกจากนี้ ICIJ ยังจัดอบรมด้านเทคโนโลยีเพื่อให้พาร์ตเนอร์ต่างๆ ทำงานกับเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้นด้วย เรียกได้ว่าเป็นความร่วมมือและการกระจายเครือข่ายการสืบสวนผ่านข้อมูลครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของโลกเลยทีเดียว

ข้อค้นพบที่น่าสะพรึงกลัว

แม้ว่าเอกสารที่รั่วไหลออกมา จะคิดเป็นเพียง 0.02% ของเอกสาร SAR ทั้งหมดที่คาดว่าถูกส่งให้ FinCEN ในช่วงปี 2020 และไม่อาจสะท้อนภาพรวมธุรกรรมทั้งหมดได้ แต่การสืบสวนร่วมปีของ Buzzfeed กับ ICIJ และพาร์ตเนอร์ก็พบว่า เอกสารจำนวนนี้ครอบคลุมการทำธุรกรรมทางการเงินมูลค่ารวมกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 60 ล้านล้านบาท) ที่อาจเกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมและการฟอกเงิน ซึ่งอาจนำไปสู่การฟอกเงินผ่านสถาบันทางการเงินอีกมากมาย

การรั่วไหลของ FinCEN Files เปิดโปงธนาคารรายใหญ่ของโลกหลายเจ้าว่า แทบไม่ช่วยยับยั้งการไหลเวียนของเงินผิดกฎหมายเลย เช่น ธนาคาร HSBC ในอังกฤษ ที่ยอมให้อาชญากรโยกย้ายเงินหลายล้านดอลลาร์ที่ขโมยมาไปทั่วโลก แม้จะได้รับการแจ้งเตือนจากเจ้าหน้าที่สืบสวนของสหรัฐฯ ธนาคาร Deutsche Bank ของเยอรมนี ก็โยกย้ายเงินขององค์กรอาชญากรรม ผู้ก่อการร้าย และผู้ค้ายาเสพติด กว่าหนึ่งหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดระยะเวลาหลายปี แม้ระดับผู้บริหารจะได้รับการแจ้งเตือนแล้ว

หรือธนาคาร Standard Chartered ก็โยกย้ายเงินให้ Arab Bank มานานนับทศวรรษโดยที่บัญชีลูกค้าถูกใช้ในการให้ทุนสนับสนุนการก่อการร้าย ธนาคารบางแห่งทำธุรกรรมให้เรียบร้อยโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเจ้าของเงินเป็นใคร แถมยังถูกใช้เป็นเส้นทางหลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรของบุคคลหรือประเทศต่างๆ ด้วย

FinCEN Files ยังชี้ให้เห็นอีกว่า สหราชอาณาจักรเป็นจุดที่เงินน่าสงสัยไหลเวียนมากที่สุด โดยเป็นที่ตั้งของบริษัทกว่า 600 แห่ง ที่ถูกระบุชื่อใน SAR ที่รั่วไหลออกมา ซึ่งนั่นอาจหมายถึง การบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการฟอกเงินยังไม่เข้มงวดมากพอ

ในส่วนของธนาคาร พบว่าการส่งเอกสาร SAR นั่นล่าช้าเกินกว่ากฎที่กำหนดไว้ เพราะข้อมูลจากเอกสารที่รั่วไหลชี้ให้เห็นว่า ค่าเฉลี่ยระยะเวลาที่ธนาคารส่งรายงานอยู่ที่ 166 วัน แทนที่จะเป็นภายใน 60 วันตามกำหนด เมื่อตรวจพบธุรกรรมที่อาจเป็นความผิด แถมหลายธนาคารตรวจสอบลูกค้าด้วยการค้นหาจากอินเทอร์เน็ตและค่อยส่งรายงาน ทั้งๆ ที่ธนาคารควรจะทราบข้อมูลพวกนี้ตั้งแต่ก่อนการทำธุรกรรมแล้ว

กรณี FinCEN Files ส่วนหนึ่งก็ทำให้โลกตกใจเกี่ยวกับความดำมืดของเครือข่ายฟอกเงินครั้งใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังหลายธนาคารชื่อดังที่เรารู้จัก และอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ แต่อย่างน้อย ในโลกที่มีข้อมูลขาวดำมากมาย เรายังมีบุคลากรที่มีความสามารถในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้น เพื่อเปิดโปงข้อเท็จจริงบางประการสู่สาธารณชนได้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้ด้านประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้เพื่อการโฆษณา

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า