“เบื่องาน หมดไฟ ไม่มี Passion…”
เชื่อว่าความรู้สึกเหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่คนทำงานทุกคนเคยเจอ และต้องถามตัวเองซ้ำๆ ว่างานที่ชอบ งานที่ใช่ มีจริงหรือเปล่า? ความสุขจากการทำงานมีจริงใช่ไหม?
ความจริงแล้ว คนไม่ได้เบื่องานทั้งหมด เพียงแต่เบื่อการทำ ‘งานที่ไม่สำคัญ งานที่ไม่มีคุณค่า หรืองานที่มีลักษณะการทำงานซ้ำซ้อน (Repetitive Work)’ หากตัดการทำงานเหล่านั้นออกไป แล้วเลือกทำเฉพาะงานที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อองค์กรจริงๆ สิ่งหนึ่งที่คุณจะมีแน่นอนก็คือความรู้สึกพึงพอใจจากการทำงาน
หลักการคิดเช่นนี้เรียกกันว่า Job Crafting ซึ่งเป็น Mindset ที่บอกว่าเราสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้ไปในแนวทางที่ดีขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับทักษะและความสนใจของเราได้ พูดง่ายๆ ก็คือ การหาความหมายของงานที่ทำให้เจอ และออกแบบการทำงานใหม่ด้วยวิธีที่เหมาะสมกับเรา
โดย 3 อย่างที่ควรโฟกัสเพื่อการทำ Job Crafting นั้นประกอบไปด้วย 3P คือ
- Process : กระบวนการทำงานที่ทำให้ได้ใช้ความสามารถหรือจุดแข็งของตัวเองจริงๆ
- People : มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนที่ทำงาน เช่น ได้ทำงานกับคนประเภทเดียวกัน ทัศนคติใกล้เคียงกัน เข้าใจสไตล์การทำงานของกันและกัน
- Purpose : มีเป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจน รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร รู้ความหมายและมองเห็นคุณค่าจากการทำงานนั้นๆ
เมื่อเข้าใจ 3 องค์ประกอบหลักสำหรับ Job Crafting แล้ว ก็พอจะมีแนวทางที่ทำให้คนทำงานทุกคนค้นพบวิธีการทำงานโดยที่ไม่ต้องสูญเสียความเป็นตัวเองไป ดังนี้
ออกแบบการทำงานใหม่
ลองสังเกตและบันทึกการทำงานดูว่ามีงานอะไรบ้างที่คุณใช้เวลาไปกับมันมากที่สุด แล้วได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพหรือเปล่า ? หากไม่…ก็ถึงเวลาแล้วที่คุณจะต้องออกแบบการทำงานขึ้นมาใหม่ ซึ่งการออกแบบการทำงานขึ้นมาใหม่นี้ คุณไม่จำเป็นต้องคำนึงความยากในการเปลี่ยนแปลงเพราะองค์กรเคยใช้วิธีนี้มาโดยตลอด เพราะหากคุณได้เริ่มลงมือทำ มองหาวิธีการทำงานที่ชาญฉลาด ประหยัดเวลา และได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะส่งผลดีต่อทั้งชีวิตการทำงานและองค์กรอย่างแน่นอน
รับผิดชอบงานมากกว่าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
เพราะการทำตามหน้าที่หรือตาม Job Description อย่างเดียว มันย่อมทำให้เกิดความเคยชินและรู้สึกว่าเป็นงานรูทีน (Routine) ที่น่าเบื่อ หากคุณลองเสนอตัวเองในการริเริ่มทำโปรเจกต์ใหม่ๆ หรืองานที่ท้าทายความสามารถของตัวเอง นอกเหนือไปจากงานที่ได้รับมอบหมาย จะทำให้คุณรู้สึกสนุกกับงานที่ทำมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการได้เรียนรู้ศักยภาพของตัวเองที่ซ่อนอยู่อีกด้วย
เรียนรู้ Skills ใหม่
การเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ นอกจากทำให้เราได้เพิ่มพูนความรู้ความสามารถมากขึ้นแล้ว ยังทำให้เราค้นพบด้วยว่าเราถนัดและชอบอะไร ปัจจุบันมีช่องทางในการเข้าถึงการเรียนรู้ได้มากมาย ไม่ว่าจะในรูปแบบออฟไลน์ เช่น หนังสือ อีเวนต์ งานเวิร์กชอปต่างๆ หรือเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น คอร์สออนไลน์ที่มีเปิดสอนแทบทุกเรื่องที่คุณต้องการ คุณสามารถเรียนรู้และนำสกิลเหล่านั้นไปประยุกต์ใช้ได้ง่ายขึ้นมากๆ ในปัจจุบัน
ซึ่งการได้เรียนรู้จะทำให้คุณมีมุมมองต่อการทำงานที่หลากหลายขึ้น ทักษะที่มากขึ้นย่อมทำให้คุณบูรณาการและทำงานด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพ และนั่นย่อมทำให้คุณมีมุมมองในการทำงานที่เปลี่ยนไป และอาจรู้สึกดีต่อการทำงานมากขึ้นอีกด้วย