จีนกับตำแหน่งมหาอำนาจ AI: ความจริงหรือแค่ความฝัน

นาทีนี้ไม่มีใครปฏิเสธอำนาจทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศของประเทศจีน ดินแดนมังกรที่มีประชากรมหาศาลระดับพันล้านคนกำลังพัฒนาในทุก ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก และความบันเทิง ที่ดึงดูดคนทำงาน นักลงทุน และผู้สนใจทั่วไปให้เข้าไปทำงาน รวมถึงแสวงหาโอกาสใหม่

และสิ่งที่โดดเด่นจนทำให้หลายชาติต้องหันมาสนใจจีนอย่างจริงจัง นั่นก็คือ ปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligence) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแห่งโลกอนาคตที่รัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องเป็นมหาอำนาจในด้านนี้แทนสหรัฐอเมริกาและโลกตะวันตกให้ได้ ดังเห็นได้จากการที่จีนพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ให้โลกได้เห็น ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ แอปพลิเคชัน สิ่งประดิษฐ์ สัญญาณเครือข่าย 5G และสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นพื้นฐานและสิ่งต่อยอดสู่เทคโนโลยีชั้นสูงในอนาคต

หลายฝ่ายอาจรู้สึกแปลกใจที่ทำไมประเทศที่เคยมีแต่ความวุ่นวายเพราะสงครามและความขัดแย้งกลับผงาดขึ้นมาอย่างรวดเร็วราวพลิกฝ่ามือ จนสามารถก้าวขึ้นมาท้าทายสหรัฐอเมริกาในฐานะที่เป็นมหาอำนาจโลกด้านเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เรื่องนี้มีแนวคิดที่สามารถอธิบายปรากฎการณ์ดังกล่าวได้

แนวคิดที่ว่า คือ Catch-up Cycle ซึ่งอธิบายวงจรการเปลี่ยนแปลงผู้นำด้านธุรกิจและอุตสาหกรรม ในช่วงเวลาหนึ่ง โดยผู้มาใหม่หรือประเทศที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำจะแซงเจ้าเก่าและผู้ที่เคยครองอันดับ 1 มาก่อน จากนั้นผู้มาใหม่รายดังกล่าวก็จะถูกโค่นล้มโดยผู้มาใหม่อีกราย วนเวียนไปเรื่อย ๆ คล้ายกับการแข่งขันและวัฏจักรตามธรรมชาติ ดังนั้น หากพิจารณาตามแนวคิดดังกล่าว ประเทศจีนจึงมีโอกาสขึ้นมาเป็นมหาอำนาจด้าน AI แทนสหรัฐอเมริกาได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าการให้ผู้ครองอันดับ 1 อย่างสหรัฐอเมริการ่วงลงมาเองตามวาระจะทำให้จีนก้าวขึ้นมาอย่างโดดเด่น เพราะยังมีปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ ที่คอยผลักดันจีนอีกเช่นกัน ตามรายงานของ Harvard Business Review นั้นชี้ว่ามีทั้งหมด 3 ปัจจัย คือ ธรรมชาติของ AI สภาวะตลาด และสภาพสังคมกับนโยบายของประเทศที่จะทำให้แดนมังกรกลายเป็นเจ้าแห่ง AI ในอนาคต

1. AI เป็นศาสตร์ที่เปิดกว้าง

วิชาการสร้าง AI นั้นถือเป็นวิชาที่เปิดกว้าง หมายความว่า หากใครค้นหาโค้ดที่ใช้เขียนโปรแกรมหรือสร้าง AI ได้ ก็สามารถเข้าถึงระบบที่ต้องการได้เช่นกัน ลักษณะดังกล่าวต่างไปจากอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมอย่างการผลิตยา ซึ่งความลับทางการค้าหรือสูตรยาจะได้รับการปกป้องจากสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าจึงเป็นเครื่องมือสร้างรายได้ของบริษัทเวชภัณฑ์

ในขณะที่ AI นั้น ต้องอาศัยฐานข้อมูลเป็นจำนวนมากในการสร้างแอปพลิเคชันและโปรแกรมที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจ รายได้จึงขึ้นอยู่กับจำนวนข้อมูลที่มีอยู่ในมือและจำนวนคนที่ใช้แอปพลิเคชันดังกล่าว

จึงไม่น่าแปลกใจ หากผู้เล่นหน้าใหม่ในวงการ AI สามารถก้าวขึ้นมาท้าทายผู้เล่นหน้าเก่าหรือสร้างชื่อเสียงในระดับเดียวกันตามแนวคิด Catch-up Cycle ที่กล่าวถึงการเข้ามาของบริษัทใหม่ตามวงจรธุรกิจ

2. สภาวะตลาดของจีนที่เป็นดินชั้นดีสำหรับ AI

ด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมของจีนที่กำลังพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อการเป็นมหาอำนาจด้านต่าง ๆ ตลาดและสภาพแวดล้อมจึงเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนา AI ทำให้ประเทศจีนมีสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคภายในประเทศ และสามารถลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศอีกด้วย

ตัวอย่างทีเห็นได้ชัด คือ บริษัท Didi ของประเทศจีน ที่ให้บริการเรียกรถในลักษณะคล้ายกับ Uber หรือ Grab ก็สามารถใช้ประโยชน์จาก AI ได้อย่างเต็มที่ โดยที่ทางบริษัทไม่จำเป็นต้องเข้าไปเป็นเจ้าของรถเลยสักคัน แต่สิ่งที่ Didi ต้องทำ คือ การเก็บรวบรวมข้อมูลเรื่องคนขับ ผู้โดยสาร รถโดยสาร ทะเบียน ความปลอดภัย เส้นทางและกฎหมายซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมหาศาล ปัจจุบัน Didi กำลังพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติโดยตั้งเป้าไปที่การผลิตและการใช้งานเชิงพาณิชย์

ตลาดภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นสิ่งที่ทำให้ Didi ใช้ประโยชน์จาก AI และฐานข้อมูลได้อย่างเต็มที่ และแน่นอนว่ายิ่งเป็นการเอื้อต่อการเติบโตของ AI ในอีกทางหนึ่ง จากการเปิดเผยของหลิว ชิง ผู้บริหารของบริษัท Didi นั้น ในแต่ละวัน ทางบริษัทต้องทำการประมวลผลข้อมูลมากถึง 70 ล้านเทราไบต์ ซึ่งเป็นข้อมูลการวางแผนเส้นทางสัญจรที่มีมากถึง 9 พันล้านเส้นทางต่อวัน และจำนวนรถอีก 1,000 คันที่ลูกค้าส่งคำขอใช้งานเข้ามา

แน่นอนว่าด้วยข้อมูลที่มีจำนวนมากขนาดนี้ ทำให้บริษัทสามารถสร้างนำไปสร้างแผนการตลาด โปรโมชัน และนวัตกรรมใหม่ๆ ได้อีกต่อหนึ่ง ขนาดตลาดของประเทศจีนจึงไม่ได้ให้ประโยชน์เพียงแค่การเก็บข้อมูลเท่านั้น แต่ยังทำให้บริษัทอย่าง Didi มีปัจจัยหรือตัวกระตุ้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญเพื่อรับมือกับความท้าทายในวงการธุรกิจเทคโนโลยีอีกด้วย

3. สภาพสังคมและนโยบายของรัฐบาลจีน

เหตุผลข้อนี้ทำให้ภาพของการขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในด้าน AI ของจีนชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะรัฐบาลจีนวางแผนไว้ว่าในปี 2025 ตามแผนการ “เมด อิน ไชน่า 2025” ประเทศจีนจะต้องมี “การพัฒนาครั้งยิ่งใหญ่” ในเรื่อง AI และจะต้องเป็นผู้นำของโลกในด้านการใช้งาน รวมไปถึงวางแผนการออกกฎระเบียบการใช้งาน จากนั้นในปี 2030 จะต้องเป็นศูนย์กลางของโลกด้านนวัตกรรม AI 

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับความมั่นคงของรัฐเป็นหลัก จากข่าวการประท้วงในฮ่องกงปี 2019 ซึ่งมีรายงานออกมาว่าเจ้าหน้าที่รัฐใช้ระบบตรวจจับใบหน้าเพื่อจับกุมผู้ประท้วง แม้ไม่มีใครออกมายืนยันได้อย่างแน่ชัดว่าตำรวจฮ่องกงใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวจริงหรือไม่ แต่เรื่องดังกล่าวอาจก็สามารถนำไปสู่ประเด็นการพัฒนาระบบตรวจจับใบหน้าของจีนซึ่งมีประสิทธิภาพสูง โดย Voxchina สื่อของทางการจีนรายงานว่าในปี 2018 ผู้พัฒนา AI ของจีนติด 5 อันดับแรกของโลกเรื่องความเร็วในการตรวจจับตามฐานข้อมูลใบหน้าที่มี

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่เรื่องความมั่นคงแต่เพียงอย่างเดียวที่ทำให้บริษัท AI ได้รับอานิสงส์ รัฐบาลยังสนับสนุนให้นำ AI มาอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของประชาชนเช่นกัน ดังที่ศาสตราจารย์เหวิน จีหรง ผู้นำทีมวิจัยแห่ง Beijing Academy of Artificial Intelligence (BAAI) ซึ่งเป็นสถาบันค้นคว้าด้านปัญญาประดิษฐ์ของจีนได้กล่าวว่าทางสถาบันได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและมีฐานข้อมูลที่พร้อมในการทำงาน และยังช่วยให้ประชาชนเข้าถึงงานราชการได้ง่ายอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการยื่นขอวีซ่า การทำใบขับขี่หรือการขอใบอนุญาตทางธุรกิจซึ่ง AI จะคอยช่วยแนะแนวทางให้ประชาชนลงทะเบียนโดยไม่ต้องมีเอกสารแบบกระดาษให้ยุ่งยาก

หากพิจารณาจากเหตุผลและตัวอย่างที่กล่าวมา ไม่น่าเป็นเรื่องยากที่จีนจะแซงสหรัฐอเมริกาขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทาง AI ในอีกไม่กี่ปีตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์และตามแผนที่รัฐบาลจีนวางเอาไว้ อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจีนจะไม่เจอกับความท้าทายและอุปสรรคเสียทีเดียว และจุดเด่นของจีนที่ทำให้โลกทึ่งก็อาจกลายเป็นดาบสองคมที่ย้อนกลับมาทำร้ายจีนเสียเอง โดยเฉพาะในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลและการไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกับนโยบายการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ

การที่รัฐบาลสนับสนุนให้พัฒนาด้าน AI ทำให้หลายฝ่ายเป็นกังวล เนื่องจากหากจีนไปลงทุนด้านการสื่อสารหรือเทคโนโลยีในต่างประเทศ ก็มักได้รับการต่อต้านจากรัฐบาลประเทศนั้นๆ หรือถูกสหรัฐอเมริกากดดันมาอีกต่อหนึ่ง ดังกรณีที่บริษัท Huawei ถูกรัฐบาลสหรัฐฯกล่าวหาในเรื่องการที่จีนเก็บข้อมูลและสอดแนมประเทศที่เข้าไปติดตั้งเครือข่าย 5G ทำให้ประเทศพันธมิตรในยุโรปต้องปฏิเสธการลงทุนดังกล่าวหมายความว่าจุดแข็งที่รัฐบาลจีนสนับสนุนผู้พัฒนา AI ภายในประเทศให้เข้าถึงข้อมูลที่สำคัญกลายเป็นจุดอ่อนให้ชาวโลกโจมตีเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมากในหลายประเทศ

เรื่องสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือประเทศใดก็ตามที่ต้องการเป็นผู้นำ ประเทศนั้นต้องมีทั้ง “อำนาจแข็ง (Hard Power)” เช่น กองทัพและเศรษฐกิจ และ “อำนาจอ่อน (Soft Power)” เช่น วัฒนธรรม การทูตและนวัตกรรม และเรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่โลกกังวลว่าเทคโนโลยีด้าน AI จะกลายเป็นการคุกคามอำนาจอธิปไตยและมีอิทธิพลต่อประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศเล็ก ๆ ที่อาจต้องพึ่งพากำลังทรัพย์และเทคโนโลยีของจีนในการพัฒนาเศรษฐกิจ

ที่เห็นได้ชัด คือ โครงการเมด อิน ไชน่า 2025 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ที่จะเข้าไปลงทุนตามประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และแน่นอนว่า AI จะเป็นกลไกลหลักในการปกป้องผลประโยชน์ของจีนในประเทศนั้น อย่างไรก็ตาม ในรอบปีที่ผ่านมา ดูเหมือนความอัจฉริยะด้าน AI ไม่สามารถซื้อใจผู้คนจากประเทศต่าง ๆ ในยุคนี้ได้ เพราะนโยบายต่างประเทศของจีนทำให้ประเทศต้องเผชิญหน้ากับหลาย ๆ ประเทศทั้งในเอเชียและส่วนอื่นของโลก 

เรื่องนี้ต้องติดตามผลลัพธ์ในระยะยาว แม้การเป็นมหาอำนาจด้าน AI ของจีนยังคงสดใสและมีความเป็นไปได้มากกว่าทุกประเทศ แต่ก็ใช่ว่าจะไร้ซึ่งอุปสรรคและผู้ต่อกร เพราะขึ้นชื่อว่า AI แล้ว เป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็เรียนรู้และคิดค้นกันได้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้ด้านประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้เพื่อการโฆษณา

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save