อาจเรียกได้ว่าผลจากการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ทำให้แทบทุกฝ่ายรวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจของตนให้ไปเป็นดิจิทัลอย่างสมบูรณ์เร็วขึ้น และยังจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อและสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นท่ามกลางภาวะวิกฤต
ดังนั้น เทรนด์เทคโนโลยีอะไรบ้างที่จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในอนาคต ที่ภาคอุตสาหกรรมรวมถึงแทบทุกธุรกิจอาจต้องหันมาสนใจศึกษา และเตรียมหาเทคโนโลยีที่จำเป็นเหล่านั้นไปใช้บ้าง?
ตามรายงาน Mapping TradeTech: Trade in the Fourth Industrial Revolution ส่งท้ายปี 2020 ของ World Economy Forum ได้สรุปเทคโนโลยี 6 ประเภทที่จำเป็น และจะกลายมาเป็นเทคโนโลยีหลักในอุตสาหกรรมต่างๆ แห่งยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (หรือเรียกว่ายุคอุตสาหกรรม 4.0) คือนับแต่ ค.ศ. 2021 เป็นต้นไปอย่างแน่นอน ได้แก่
จากแนวคิดในการปรับตัวทางธุรกิจยุคใหม่แสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีทั้งหลายมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการค้าโลก ซึ่งจากผลสำรวจทั่วโลกของ The World Economic Forum แสดงให้เห็นว่า มีบริษัทหลายแห่งใช้เทคโนโลยีกับห่วงโซ่คุณค่าระหว่างประเทศ (international value chains) และประเมินว่าเทคโนโลยีจะมีผลกระทบมากที่สุดในการค้าโลก
โดยภาพรวมภูมิทัศน์ของเทคโนโลยี (landscape of technologies) ที่จะเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีทั้ง 6 ประเภทนี้ สำหรับทั้งการค้าระยะสั้นและระยะกลาง แบ่งเป็น กลุ่มพวกเทคโนโลยีพื้นฐาน เช่น การใช้เอกสารดิจิทัล แพลตฟอร์มดิจิทัล การชำระเงินดิจิทัล และระบบคอมพิวเตอร์คลาวน์ จะเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมากที่สุดกับเรื่องเครือข่ายบริการดิจิทัล และ 5G ในการค้าระยะสั้น ส่วนเทคโนโลยีที่คาดว่าจะส่งผลต่อการค้าในระยะยาว ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (robotics) เทคโนโลยีภาพเสมือนจริง (virtual reality) การพิมพ์สามมิติ (3D printing) และปัญญาประดิษฐ์ (AI)
1. Artificial intelligence (AI) หรือ ปัญญาประดิษฐ์
AI จะเป็นหัวใจสำคัญของการอำนวยความสะดวกในการค้าดิจิทัล เพราะ AI ช่วยปรับปรุงคุณภาพให้กระบวนการทำงานอัตโนมัติและการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ได้ ทั้งประสิทธิภาพของ AI มีศักยภาพที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าทุกด้านและทุกภาคส่วน โดยเฉพาะด้านบริการที่มีการใช้ฟังก์ชันข้อมูลที่เป็นกิจวัตร หรือจะใช้ AI ทดแทนแรงงานเอาท์ซอร์สในธุรกิจ (business process outsourcing : BPO) และเทคโนโลยีสารสนเทศก็ได้ สามารถทำงานในฐานะ back office จัดเก็บและจัดการข้อมูล จนถึงทำงานในฟังก์ชันที่มีความซับซ้อน อย่างการให้บริการสินเชื่อ ประมวลผลบัญชี หรือวิเคราะห์การทดสอบทางการแพทย์ก็ได้
ยกตัวอย่างบริษัทโทรคมนาคม Vodafone ได้ประกาศว่าจะเลิกจ้างพนักงานศูนย์บริการ 1,700 คนในโรมาเนีย อินเดีย และอียิปต์ ซึ่งคิดเป็น 8% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด เนื่องจากใช้โซลูชันระบบอัตโนมัติแบบใหม่แทนเซกเมนต์ BPO ส่วนในสาธารณรัฐเช็ก บริษัทก็เตรียมใช้หุ่นยนต์ซอฟต์แวร์แทนที่พนักงาน 4,000 คน ซึ่งคิดเป็น 4% ของกำลังแรงงาน BPO ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ได้สร้างงานใหม่ 1,200 ตำแหน่งในการเขียนโปรแกรมกับนำระบบอัตโนมัติมาใช้ ซึ่งต้องการพนักงานที่มีคุณสมบัติและความคิดสร้างสรรค์ที่สูงขึ้นกว่าเดิมจากตำแหน่งที่เลิกจ้างไป (คือกลายเป็นจ้างแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญสูง ค่าแรงเพิ่ม ทดแทนแรงงานฝ่ายผลิตแม้อยู่ในประเทศที่มีค่าแรงต่ำ)
เพราะความต้องการ AI ในธุรกิจส่วนใหญ่นั้นก็เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าที่ดีขึ้น ช่วยลดเวลา ต้นทุน และความซับซ้อนในการจำแนกสินค้า หรือเพิ่มโอกาสในระบบการส่งออกสินค้าให้ดียิ่งขึ้น โดยที่ AI สามารถปิดช่องว่างข้อมูล ขณะที่สามารถเชื่อมโยงกับบริษัทต่างๆ ได้มากขึ้นในเวลาเท่าเดิมเพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออก
ตัวอย่างเช่น Easy Export Platform ที่ใช้ AI ของประเทศตุรกี ได้ให้คำแนะนำที่เหมาะกับผู้ส่งออกเจ้าใหญ่ 15 อันดับแรกของตลาด เพื่อประเมินผลิตภัณฑ์ของตน หรือใช้ AI ในการพิจารณาภาษีตามเกณฑ์และข้อบังคับของประเทศ ตลอดจนรายละเอียดอื่นๆ หน่วยงานระหว่างประเทศยังมีส่วนร่วมในการเสนอเครื่องมือดิจิทัลเพื่อปิดช่องว่างของข้อมูล ตัวอย่างเช่น ศูนย์การค้าระหว่างประเทศ (ITC) เสนอแผนที่ที่มีศักยภาพในการส่งออกและกฎของแหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กรวมทั้งรายย่อย หรือ MSMEs (Micro-entrepreneurs, Small and Medium-sized Enterprises) เข้าถึงตลาดต่างประเทศได้อย่างราบรื่น
2. Internet of Things (IoT) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมโยงหรือส่งข้อมูลถึงกันได้ด้วยอินเตอร์เน็ต
ในรายงานของ TradeTech แสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยีพื้นฐาน เช่น เอกสารดิจิทัล แพลตฟอร์มดิจิทัล การชำระเงินดิจิทัล และการประมวลผลแบบคลาวด์ จะเข้ามามีเกี่ยวข้องกับชีวิตมากที่สุดและอย่างรวดเร็วด้วย ควบคู่ไปกับ IoT การใช้บริการดิจิทัลต่างๆ และ 5G
IoT จะเพิ่มศักยภาพสูงให้กับการตรวจสอบข้อมูลปริมาณมากแบบเรียลไทม์ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น ความเร็ว เพื่อการนำข้อมูลไปใช้ในการตัดสินใจและเตรียมการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ นอกจากนั้น IoT จะช่วยอย่างมากในด้าน
การติดตามทรัพย์สิน
หากติดอุปกรณ์เซ็นเซอร์ไว้กับเรือสินค้าเพื่อให้ระบุตำแหน่งทางภูมิศาสตร์แบบเรียลไทม์นับจากออกเดินทางไป หรือใช้เพื่อติดตามระดับสินค้าคงคลังแบบเรียลไทม์ เพื่อให้บริษัทสามารถบริหารจัดการสต็อกสินค้าหรือวางแผนเติมสินค้าได้ถูกต้องยิ่งขึ้น เทคโนโลยีเซ็นเซอร์นี้ใช้ทั้งในเชิงธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) ได้ เช่น ติดตั้งกับถังในโรงงานเคมี หุ่นยนต์สแกนชั้นวางในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือเครื่องชงกาแฟในร้านเบเกอรี่ที่ควบคุมผ่านอินเทอร์เน็ต หรือใช้ในธุรกิจกับผู้บริโภค (B2C) เช่น ควบคุมอัตราผงซักฟอกในเครื่องซักผ้า สินค้าในตู้เย็นอัจฉริยะ ฯลฯ
การตรวจสอบสภาพ
สำหรับสินค้าที่เน่าเสียง่าย รวมถึงสินค้าทางเภสัชกรรม ผ่านอุปกรณ์ IoT ทำให้ผู้จัดการซัพพลายเชนสามารถแจ้งเตือนถึงปัญหาและกระทบยอดกลับเข้าระบบบริษัทได้เร็วขึ้น ละยังสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อวิเคราะห์แนวโน้มปัญหาที่จะเกิดขึ้น ณ จุดใดก็ตามได้เลย ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายของสินค้าได้
การตรวจสอบความปลอดภัย
อุปกรณ์ IoT อาจไม่สามารถป้องกันการโจรกรรมทรัพย์สินไม่ให้เกิดขึ้น แต่สามารถแจ้งได้เมื่อเกิดขึ้นเมื่อไรและที่ไหน ทั้งสามารถติดตามตำแหน่ง ทำนองเดียวกันแอปพลิเคชัน IoT ของศุลกากรสำหรับสินค้าและการขนส่งที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อให้ผ่านขั้นตอนพิธีการทางศุลกากรได้อย่างปลอดภัยและปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการ
แต่ทั้งนี้ อุปกรณ์ IoT ก็มีความท้าทายในด้านความปลอดภัย เพราะอาจเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่แฮกเกอร์สามารถเข้าถึงเครือข่ายของบริษัทได้ รวมถึงข้อกังวล ปัญหาการเชื่อมต่อ และวิวัฒนาการของเทคโนโลยี ที่อาจเกิดขึ้นจากการละเมิดการปฏิบัติตามข้อกำหนดของผู้ผลิต IoT หรือการขาดความตระหนักและขาดความรู้ผู้ใช้งานด้วย ทั้งนี้ World Economy Forum คาดว่า ตลาดการสื่อสารข้อมูลไร้สายทั่วโลกจะสูงถึง 1867.8 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2566
3. Robotics and Automation หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
เนื่องจากการค้าแบบไร้สัมผัสได้กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของการระบาดใหญ่ของ COVID-19 การใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติและยานพาหนะ รวมถึงโดรน สำหรับการนับสต็อกคลังสินค้าและการส่งมอบสินค้ากำลังได้รับความนิยม เพราะว่าหุ่นยนต์อัตโนมัติมีศักยภาพในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ และกระบวนการทำงานสำหรับพวกระบบการสร้างแบบจำลอง การวางแผนแบบไดนามิก และมีความสามารถในการดำเนินการอัตโนมัติทั้งหลาย อย่างเช่น โดรนสามารถสแกนพาเลททั้งหมดในโกดังได้ภายในเวลาแค่ 30 นาที ด้วยความแม่นยำ 99.7%
ที่ Amazon มีหุ่นยนต์มากกว่า 200,000 ตัวที่ทำงานในโกดังในสหรัฐอเมริกา และกำลังวางแผนที่จะสร้างศูนย์วิจัยหุ่นยนต์มูลค่า 40 ล้านดอลลาร์ ในเมืองเวสต์โบโร รัฐแมสซาชูเซตส์ หรือ ASYAD Group ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจรในโอมาน ได้เปิดตัวนักบินโดรนเพิ่มอีกหลายคน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่ม Tech Try44 หรือหน่วยงานอื่นๆ เช่น ท่าเรือรอตเตอร์ดัม ก็กำลังใช้โซลูชันที่คล้ายคลึงกันนี้ อย่างการใช้โดรนใต้น้ำ โดรนโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือ เป็นต้น เพราะโดรนใต้น้ำมักใช้สำหรับตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานทางทะเลในท่าเรือ หรือใช้ตรวจจับรอยแตกและการกัดกร่อนของโครงสร้างที่อยู่ใต้ท้องทะเล
ทั้งนี้ การเข้ามาแทนที่ของโรบอทเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อแรงงาน ตั้งแต่คนขับหรือนักบินในกรณีของโดรน ไปจนถึงผู้ปฏิบัติงานในคลังสินค้า ทางออกของบริษัทและรัฐบาลคือการเพิ่มทักษะหรือปรับทักษะให้พนักงานปัจจุบันสามารถจัดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่นี้เพื่อป้องกันการเลิกจ้างงาน ซึ่งจากข้อมูลตัวเลขประมาณการในปี 2018 ระบุว่าแรงงาน 14% ทั่วโลก หรือราว 375 ล้านคน จะต้องเปลี่ยนอาชีพเนื่องจากมีการแทนที่งานที่เกิดจากระบบอัตโนมัติและความก้าวหน้าใน AI ภายในปี 2030 และวิทยาการหุ่นยนต์และ AI จะทำให้งาน 75 ล้านตำแหน่งล้าสมัย
4. 5G เทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายเพื่อการเชื่อมต่อสื่อสารประสิทธิภาพสูง
5G หรือเจนเนอเรชันที่ 5 ของการสื่อสาร ซึ่งเป็นเครือข่ายไร้สายแห่งอนาคต จะมาพร้อมการสื่อสารประเภทเครื่องขนาดใหญ่ โมบายบรอดแบนด์ที่ได้รับการปรับปรุงและน่าเชื่อถือมากขึ้น ความเร็วในการดาวน์โหลดสูงสุดคาดว่าจะสูงถึง 20 กิกะบิตต่อวินาที
เครือข่าย 4G ที่มีอยู่ในปัจจุบันได้สนับสนุนการเข้าถึงบริการออนไลน์แล้ว ตั้งแต่อีคอมเมิร์ซไปจนถึงการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ การประชุมทางวิดีโอ และการศึกษาออนไลน์ แต่ 5G จะทำให้บริการเหล่านั้นตอบสนองผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น ที่ไม่เพียงปรับปรุงบรอดแบนด์บนมือถือเท่านั้น แต่ยังจะเปลี่ยนประสบการณ์ในการให้บริการอีกด้วย ตั้งแต่การค้าปลีกและความบันเทิง ไปจนถึงการศึกษา การแพทย์ การบริการต่างๆ ที่จะสามารถใช้ประโยชน์จาก IoT, Virtual Reality และ Augmented Reality รวมถึงระบบการควบคุมระยะไกลในยานพาหนะหรือการแพทย์ การใช้ Big Data และ AI
ซึ่ง 5G จะช่วยปลดล็อกโอกาสใหม่ๆ ของบริการได้เพิ่มขึ้น ตั้งแต่การจำเสียง การกำหนดเส้นทางการจัดส่งอัตโนมัติ การจัดการบริการซื้อขายในต่างประเทศ การส่งวิดีโอ HD และการใช้แอปพลิเคชัน 5G ร่วมกับ AI และ IoT รวมถึงระบบพอร์ตข่าวกรองในอนาคตเพื่อสามารถแบ่งปันข้อมูลระหว่างฝ่ายต่างๆ ได้อย่างสะดวก
มีการทำท่าเรืออัจฉริยะ 5G+AI ประสบความสำเร็จแล้วที่ในท่าเรือเซี่ยงไฮ้หยางซาน รถบรรทุก 5G ใน Yangshan Terminal IV สามารถรองรับการขับขี่อัตโนมัติ วางแผนเส้นทางที่เหมาะสม และการขนส่งไปยังสถานที่ที่กำหนดอย่างแม่นยำ โดยการขนถ่ายสินค้าเสร็จสิ้นได้ภายใน 15 วินาที
5. Blockchain เทคโนโลยีการเก็บข้อมูลด้วยระบบบล็อกเชนที่มีความปลอดภัยสูง
บล็อกเชน หรือ Distributed ledger technology (DLT) ซึ่งการเก็บข้อมูลเข้ารหัสแบบล็อกเชนนี้ ช่วยให้สามารถจัดเก็บและถ่ายโอนข้อมูลแบบกระจายศูนย์ได้อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะการใช้งานในภาคที่เกี่ยวข้องกับการเงินการค้า กระบวนการศุลกากรและการรับรอง การประกันภัย จนถึงการขนส่งและการจัดจำหน่าย การตรวจสอบย้อนกลับของห่วงโซ่อุปทาน ทรัพย์สินทางปัญญา และการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล
ความท้าทายสำหรับการนำบล็อกเชนมาใช้เพิ่มเติมนั้นเกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ในระบบการค้านั้นต่างต้องการความโปร่งใส เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับการเวลาของสินค้า ที่มาของสินค้า ปริมาณ และอื่นๆ ซึ่งข้อมูลทั่วไปค่อนข้างไม่มีอันตรายและสามารถให้กับบุคคลที่ไม่ใช่คู่สัญญาในทันที แต่ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลที่ละเอียดอ่อนในเชิงพาณิชย์บางอย่างได้ ดังนั้น การทำงานร่วมกันระหว่างบล็อกเชนสำหรับการเข้าถึงข้อมูลจึงกลายเป็นกุญแจสำคัญและเป็นความท้าทายที่สำคัญ
รวมถึงเรื่องของสินทรัพย์ประเภทใหม่บนบล็อกเชนที่เริ่มมีการกำหนดเงื่อนไขให้ถูกต้องตามกฎหมาย อย่างเช่น The Distributed Ledger Payment Commitment (DLPC) ซึ่งเป็นข้อกำหนดมาตรฐานระดับโลกสำหรับข้อผูกพันในการชำระเงินบนบล็อกเชนจากสมาคมธนาคาร สำหรับด้านการเงินและการค้า
6. 3D Printing เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ
ระบบ 3D Printing สามารถผลิตอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล อุปกรณ์ทางการแพทย์ ของใช้ส่วนตัว เครื่องช่วยการมองเห็น และแม้แต่ก่อสร้างที่อยู่อาศัยฉุกเฉินได้ ความเก่งกาจของ 3D Printing ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์ในการจัดการความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทาน และความล่าช้าในห่วงโซ่อุปทานที่เกิดขึ้นในช่วงมาตรการล็อกดาวน์ระหว่างการระบาดใหญ่ของ COVID-19
แม้รายได้จาก 3D Printing ยังน้อยกว่า 0.1% ของรายได้จากการผลิตทั่วโลกในปี 2561 ทั้งที่เติบโตอย่างรวดเร็วในอัตราเฉลี่ย 26.9% ต่อปีในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แต่การนำระบบ 3D Printing มาใช้ ในที่สุดแล้วอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณการค้าและโครงสร้างของห่วงโซ่คุณค่า เนื่องจากการผลิตบางส่วนย้ายไปยังตลาดการบริโภคโดยตรง ซึ่งก็มีผลกระทบสองทาง ทั้งที่ทำให้การค้าลดลงและเพิ่มขึ้นได้ โดยทีมวิเคราะห์การค้าระหว่างประเทศของ ING Economics ประมาณการว่า 1 ใน 4 ของการค้าโลกอาจถูกทำลายลงในปี 2060 หากการผลิตครึ่งหนึ่งถูกแทนที่ด้วยการพิมพ์ 3 มิติ และ McKinsey Global Institute คาดการณ์ว่าการพิมพ์ 3 มิติจะลดการค้าทั่วไปลง 1-2% ภายในปี 2573
ส่วนความดีความชอบของการพิมพ์ 3 มิติก็มี เมื่อธนาคารโลกรายงานว่า ระบบ 3D Printing ช่วยให้การผลิตเครื่องช่วยฟังเพิ่มขึ้น 58% และผลจากการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ 35 ชิ้นที่พิมพ์ด้วยระบบ 3D Printing บางส่วน พบว่ามีผลกระทบเชิงบวกและมีนัยสำคัญต่อการค้า ซึ่งน้ำหนักของผลิตภัณฑ์และผลกระทบต่อต้นทุนโลจิสติกส์จะเป็นตัวแปรขับเคลื่อนให้การผลิตเพิ่มขึ้นไปใกล้เคียงกับการบริโภคได้
เรื่องสำคัญของ TradeTech
ข้อตกลงทางการค้าของนวัตกรรมใหม่และความคิดริเริ่มใหม่บางอย่าง เช่น Data Free Flow with Trust ภายใต้ Osaka Track และหลักการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักการขององค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ด้านปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น กำลังเดินหน้าเพื่ออำนวยความสะดวกในการยอมรับ TradeTech ในวงกว้าง ในเวลาเดียวกัน เกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G ก็ยังมีความเสี่ยงในด้านการป้องกันความปลอดภัยที่ถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศที่อาจใช้เทคโนโลยีเฉพาะภายในประเทศตัวเอง (techno-nationalism) เช่น จีน
TradeTech หรือกลุ่มเทคโนโลยีและนวัตกรรม จะช่วยให้การค้ามีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และเท่าเทียมกันมากขึ้น เป็นพื้นฐานในการควบคุมนวัตกรรมของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เพื่อสนับสนุนสินค้าสาธารณะ ทว่าการรวมเทคโนโลยีอาจต้องเตรียมการเพื่อให้แน่ใจว่า TradeTech เหล่านี้จะสามารถทำงานให้กับบริษัททุกขนาด และเหมาะสำหรับทุกประเทศได้ ซึ่งต้องพิจารณาโอกาสและความท้าทายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้