ในโลกที่ไม่แน่นอนและยากจะคาดเดาอนาคต ผู้นำระดับโลกมีมุมมองต่อเส้นทางข้างหน้าอย่างไร
ในบทความนี้ เราอยากชวนคุณสำรวจมุมมองต่ออนาคตการทำงานจาก Satya Nadella ผู้นำคนปัจจุบันของบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกอย่าง Microsoft
Satya แบ่งปันมุมมองผ่าน 3 คำสำคัญสำหรับ Future of Work นั่นคือ Flexibility Metaverse และ Empathy
มุมมองของเขาต่ออนาคตนี้เป็นอย่างไร มาเรียนรู้ไปพร้อมกันเลย
Future of Work ผ่านสายตาของ Satya Nadella
ในมุมมองของ Satya ตอนนี้มี 2 Megatrends ที่คิดว่าส่งผลกระทบต่อการทำงานเรียบร้อยแล้ว เทรนด์แรกคือ Hybrid Work ที่มาพร้อมกับความคาดหวังต่อการทำงานของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป และสถานการณ์หลายอย่างซึ่งเรียกร้องให้คนทำงานต้องยืดหยุ่นและคล่องแคล่วมากขึ้น (Flexibility and Agility)
เทรนด์ที่สองคือ The Great Reshuffle หรือการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งในที่นี้คือการเปลี่ยน Mindset หรือมุมมองที่มีต่อการทำงาน จากเดิมที่คนมักจะถามกันว่า ต้องทำงานที่ไหน เมื่อไหร่และอย่างไร วันนี้เราต้องถามใหม่แล้วว่าทำไมเราต้องทำงาน ? องค์กรไหนที่เราต้องการและสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้มากที่สุด
ยิ่งหลากหลายมากเท่าไหร่ ยิ่งต้องมี Flexibility มากเท่านั้น
การเปลี่ยนแปลงอย่างมากในปัจจุบันทำให้ความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น และขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดการยอมรับความหลากหลายมากขึ้นด้วย โครงสร้างองค์กรหรือวัฒนธรรมองค์กรจึงต้องปรับตัวเพื่อรองรับความหลากหลายที่มากกว่านี้ได้ ซึ่งแน่นอนว่ามีเรื่องของความคาดหวังต่อการทำงาน พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนยุคใหม่ และความต้องการใหม่ๆ
ยกตัวอย่างเช่น Microsoft เปิดโอกาสให้พนักงานได้มีพื้นที่ที่เชื่อมโยงพนักงานทั้งองค์กรและทำงานร่วมกันอย่าง Productive ได้ บนพื้นฐานของเป้าหมายและจุดประสงค์เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่ใน Microsoft Campus หรือพื้นที่ผ่านอุปกรณ์จากการทำงานทางไกลก็ตาม อย่างน้อยทุกคนต้องรู้สึกเชื่อมโยงถึงกัน มีพื้นที่ที่กว้างมากขึ้น ทำกิจกรรมร่วมกันได้มากขึ้น และทำงานได้อย่างยืดหยุ่นมากขึ้นด้วย
Metaverse กับอนาคตการทำงาน
ตราบใดที่คอมพิวเตอร์อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงได้ โลกแห่งความเป็นจริงก็สามารถอยู่ในคอมพิวเตอร์ได้เช่นกัน สิ่งที่ว่านี้คือโลกเสมือนจริง (Metaverse) ที่จะเกิดขึ้นและจะส่งผลต่ออนาคตการทำงานอย่างแน่นอน
ในมุมมองของ Satya Metaverse เกิดขึ้นจริงแล้วบางส่วน ในลักษณะจากข้างนอกไปสู่ข้างใน (Outside-in) และจากข้างในไปสู่ข้างนอก (Inside-Out) ตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้เราสามารถเข้าถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นกล้อง หรือไมโครโฟนขณะที่ต้องประชุม โดยที่เราไม่จำเป็นต้องมีกล้องหรือไมโครโฟนจริงๆ ด้วยซ้ำ เราแค่เชื่อมมันผ่านเทคโนโลยี ไปจนถึง Hologram ที่เราไม่จำเป็นต้องไปปรากฏตัวในสถานที่นั้นจริงๆ ก็ได้
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว และได้กลายเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับหลายองค์กร และในอนาคต การมีอวตารของเราใน Metaverse ที่เราสามารถทำงานร่วมกันได้ง่ายกว่านี้ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
The Power of Empathy คือกุญแจสำคัญ
ท้ายที่สุดแล้ว สำหรับ Satya สิ่งที่เป็นเครื่องมือสร้างสรรค์นวัตกรรมไม่ใช่แค่เรื่องของความหลากหลาย ทักษะทางเทคนิค หรือการมีต้นทุนเท่านั้น แต่มันคือ Empathy ซึ่งผู้นำ Microsoft นิยามไว้ว่า หมายถึงการสวมรองเท้าของคนอื่นและเข้าใจความรู้สึกของพวกเขาที่มีต่อโลกนี้ได้
ความเข้าใจนี้เป็นหัวใจสำคัญของ Design Thinking ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยขั้นแรกก่อนเข้าใจตลาดหรือวางกลยุทธ์ เราจำเป็นต้องเข้าใจ “คน” ก่อน และนั่นทำให้เราต้องมี Empathy สูงมาก
นวัตกรรมล้วนเกิดขึ้นบนพื้นฐานความต้องการของมนุษย์ และย่อมจะทำให้เราได้รับประโยชน์มากที่สุด เมื่อมันเกิดขึ้นจากความเข้าใจมนุษย์เป็นอย่างดี
และทั้งหมดนี้คือมุมมองสำคัญต่ออนาคตการทำงานจาก Satya ผู้ครองตำแหน่งผู้นำ Microsoft มาเกือบ 10 ปีแล้ว แน่นอนว่าอนาคตเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็น แต่การเรียนรู้มุมมองของผู้บริหารระดับโลก ย่อมทำให้เรามองเห็นหนทางข้างหน้าได้ชัดเจนกว่าเดิม
อ้างอิง :