เมื่อเร็วๆ นี้ เราจะเห็นได้ว่าบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งทยอยออกมาประกาศแผนลดขนาดการสรรหาบุคลากรลง
ตั้งแต่ David Wehner ซีเอฟโอของ Meta ที่ประกาศว่าบริษัทจะลดเป้าหมายการจ้างงานสำหรับปี 2022 ลงเกือบทุกแผนก ตามมาด้วย Dara Khosrowshahi ซีอีโอของ Uber ที่ส่งให้แจ้งพนักงานเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า บริษัทจะใช้ความรอบคอบมากขึ้นในการพิจารณาเพิ่มจำนวนพนักงานและบริหารค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุมขึ้น โดยจะนับว่าการจ้างงานเป็น “สิทธิพิเศษ” อย่างหนึ่ง
และหากมองภาพรวมการจ้างงานจากรายงานของ Layoffs.fyi เว็บไซต์ติดตามการเลิกจ้างในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ก็จะพบว่าตั้งแต่ต้นปี 2022 จนถึงปัจจุบัน มีบริษัทเทคโนโลยีอย่างน้อย 66 แห่งแล้วที่มีการเลิกจ้างพนักงาน
แน่นอนว่าการหยุดจ้างงานและการเลิกจ้างนั้นมีหลายสาเหตุ แต่การชะลอหรือหยุดจ้างงานในหลายบริษัทนั้นสะท้อนว่า ธุรกิจจำนวนมากลังเลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ และเริ่มเตรียมพร้อมรับความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอนาคต เมื่อหลายบริษัทส่งสัญญาณว่าจะเข้มงวดในการพิจารณารับพนักงานมากขึ้นและอาจลดตำแหน่งงานที่ไม่จำเป็น “การพัฒนาทักษะ” (Upskill) จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ทั้งสำหรับคนที่ยังไม่คิดจะเปลี่ยนงาน และคนที่กำลังมองหางานใหม่
และนี่คือเรื่องที่คุณควรรู้เกี่ยวกับการพัฒนาตัวเอง เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีศักยภาพพร้อมสำหรับตลาดแรงงานในอนาคตอันใกล้
1.ทักษะเปลี่ยนเร็ว และเร็วขึ้นเรื่อยๆ
เหตุผลที่การพัฒนาทักษะเป็นเรื่องที่ควรทำไม่ว่าคุณจะกำลังหางานหรือไม่ ก็เพราะว่าทักษะที่จำเป็นสำหรับงานแต่ละงานนั้นกำลังเปลี่ยนไปในอัตราที่เร็วขึ้นกว่าในอดีต
“ข้อมูลล่าสุดของ LinkedIn แสดงให้เห็นว่าชุดทักษะที่จำเป็นสำหรับแต่ละงานนั้นมีการเปลี่ยนแปลงประมาณ 25% ตั้งแต่ปี 2015 และตัวเลขนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในปี 2027 ” Linda Cai รองประธานฝ่ายพัฒนาบุคลากรของ LinkedIn กล่าว “ทักษะที่จำเป็นสำหรับพนักงานกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว งานกำลังเปลี่ยนแปลงคุณ แม้ว่าคุณจะไม่ได้เปลี่ยนงานก็ตาม”
2.ทักษะในใบสมัครซื้อใจผู้จ้างงานได้
หากมองในแง่การสมัครงาน “ทักษะ” คือสิ่งที่จะทำให้บริษัทมองเห็นได้ชัดเจนว่าคุณสามารถทำอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง
Linda Cai ระบุว่า ในบรรดานายจ้างทั้งหมดที่สรรหาบุคลากรใน LinkedIn 40% คัดเลือกบุคลากรโดยอาศัยข้อมูลด้านทักษะของผู้สมัคร ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 20% ทั้งยังระบุด้วยว่า ทักษะคือสิ่งที่จะช่วยยกระดับให้ผู้สมัครได้รับเลือกในตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการสูง เพราะข้อมูลด้านทักษะจะช่วยให้ผู้คัดเลือกได้พิจารณาผู้สมัครจาก “สิ่งที่พวกเขาทำได้” แทนที่จะอาศัยเพียงข้อมูลที่เป็นเพียง “ภาพแทน” อย่างประวัติการศึกษาและตำแหน่งงานในอดีต
นอกจากนี้ การเพิ่มทักษะให้ตัวเองยังบ่งบอกว่าคุณให้ความสำคัญและลงทุนกับการทำงานและอนาคตของตัวเองอีกด้วย
3.การพัฒนาทักษะไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่
เมื่อพูดเรื่องการเพิ่มทักษะ หลายคนมักจะนึกถึงการปรับเปลี่ยนและเรียนรู้ครั้งใหญ่ ที่ต้องทุ่มเทเวลาและความพยายามมากๆ แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนให้ความเห็นว่า จริงๆ แล้วการเพิ่มทักษะคือการพยายามเติมเต็มช่องว่างที่เป็นจุดอ่อนเล็กๆ ของตัวเองอยู่เสมอ เช่น เรียนรู้ทักษะการใช้ Excel เพื่อจัดการงบประมาณโครงการให้มีประสิทธิภาพขึ้น หรือฝึกฝนเทคนิคเพียงไม่กี่ข้อเพื่อที่จะพูดคุยเรื่องประสิทธิภาพการทำงานกับลูกน้องในทีมได้ราบรื่นขึ้น
ทั้งนี้ ทักษะที่หลายคนต้องพัฒนานั้นสามารถเป็นได้ทั้ง Hard Skill (เช่น การใช้ซอฟต์แวร์บางอย่าง หรือการออกแบบกราฟิกขั้นพื้นฐาน) และ Soft Skill (เช่น การฝึกทักษะการฟัง หรือทักษะการติชมและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์กับผู้ร่วมงาน)
“การอุดช่องว่างทักษะเล็กๆ เหล่านี้สามารถทำให้คุณเก่งขึ้นและทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยให้คุณมีความพร้อมสำหรับการเลื่อนตำแหน่งในอนาคต” Linda Cai กล่าว
4.ทักษะใหม่คือเรื่องเร่งด่วน (สำหรับหลายคน)
“สำหรับบางคน การเพิ่มทักษะคือสิ่งที่คุณสามารถเลือกทำหรือไม่ทำก็ได้ (แต่ถ้าทำ คุณก็จะมีข้อได้เปรียบเหนือคู่แข่ง) แต่สำหรับบางคน การเพิ่มทักษะคือสิ่งจำเป็น” Kweilin Ellingrud นักวิเคราะห์ด้านอนาคตของการทำงานและผู้อำนวยการ McKinsey Global Institute หน่วยงานวิจัยด้านธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ของ McKinsey กล่าว
ข้อมูลจาก McKinsey ระบุว่า ภายในสิบปีข้างหน้า คนทำงานจำนวน 17 ล้านคนในสหรัฐฯ จะพบว่างานของพวกเขาเป็นที่ต้องการน้อยลง และ 80% ของคนเหล่านี้อาจต้องเพิ่มทักษะใหม่ทั้งหมด (Reskill) ไม่ใช่แค่พัฒนาทักษะเดิม (Upskill)
ทั้งนี้ เนื่องจากเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในตลาดแรงงานกำลังทำให้คนทำงานบางตำแหน่งมีความจำเป็นน้อยลงและอาจหายไปในอนาคต โดยส่วนใหญ่เป็นงานประเภทใช้แรงงาน (Blue-collar workers) ดังนั้น คนทำงานกลุ่มนี้จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปรับตัวและเรียนรู้ชุดทักษะใหม่ให้สอดรับกับตลาดแรงงาน โดยตำแหน่งงานที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ พนักงานฝ่ายบริการลูกค้า พนักงานฝ่ายผลิตในโรงงาน พนักงานในอุตสาหกรรมอาหาร และพนักงานที่ทำงานช่วยเหลือต่างๆ เช่น ผู้ช่วยฝ่ายธุรการ
5.ทักษะเพิ่มความสุขในการทำงาน
นอกจากการเพิ่มพูนทักษะให้ตัวเองจะทำให้คุณไม่ตกขบวนและพร้อมสำหรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตแล้ว ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังระบุด้วยว่า การพัฒนาทักษะเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยกระตุ้นให้พนักงานมีความสุขในการทำงานมากขึ้น เพราะเมื่อเราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และผลักตัวเองให้ทำในสิ่งที่ต่างจากเดิม เราจะมองเห็นแง่มุมใหม่ที่น่าสนใจในงานเดิมที่เริ่มจำเจ และรู้สึกเติมเต็มยิ่งขึ้น
เช่นเดียวกับผลสำรวจของ Training Journal, TalentLMS และ Workable องค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านการจ้างงาน ที่พบว่า 80% ของพนักงานที่ตอบแบบสอบถามรู้สึกว่าการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะทำให้พวกเขามีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายบริษัทจะพบว่า โปรแกรมการเพิ่มทักษะและการปรับทักษะใหม่ให้พนักงานนั้น จะช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของพนักงานในบริษัท เพิ่มความร่วมมือระหว่างแผนกต่างๆ และลดอัตราการลาออกของพนักงานได้
อ้างอิง:
https://www.cnbc.com/2022/05/09/uber-to-cut-down-on-costs-treat-hiring-as-a-privilege-ceo-email.html
https://www.bbc.com/worklife/article/20220412-what-upskilling-means-for-the-future-of-work
https://www.inc.com/rebecca-deczynski/tech-companies-slowing-hiring-uber-meta-labor.html
https://www.talentlms.com/blog/reskilling-upskilling-training-statistics/