เมื่อไม่นานมานี้ เชอริล แซนด์เบิร์ก อดีต COO (Chief Operating Officer) หญิงแห่ง Meta ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวประกาศลาออกเป็นที่เรียบร้อย หลังทำงานร่วมผลักดัน Facebook จากสตาร์ทอัพขนาดเล็กให้กลายเป็นองค์กรใหญ่ระดับโลกอย่าง Meta มากว่า 14 ปี ซึ่งมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กยอมรับว่า ทั้งหมดนั้นต้องยกเครดิตให้กับเชอริล แซนด์เบิร์ก
อะไรคือเคล็ดลับและแนวทางการทำงานของผู้บริหารหญิงคนนี้ ที่เป็นทั้งหัวหน้าคุมทีมกว่าพันคน เป็นแม่ของลูกทั้งสอง และเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงยุคใหม่ทั่วโลก
มารู้จักตัวตนและแนวคิดในการทำงานของเธอกัน!
เชอริล แซนด์เบิร์ก ผู้บริหารหญิงแห่งซิลิคอนวัลเลย์
เชอริล แซนด์เบิร์กมีประวัติการการทำงานที่โดดเด่น และอยู่ในสายงานด้านบริหารให้แก่องค์กรใหญ่ระดับโลกมากมาย ตั้งแต่กระทรวงการคลังแห่งสหรัฐ บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกอย่าง Mckinsey & Company ไปจนถึงบริษัทด้านเทคโนโลยีอย่าง Google และ Facebook
โดยหลังจากเข้าทำงานในกูเกิ้ลและสร้างผลกำไรให้บริษัทมหาศาล เชอริลก็เริ่มต้นความท้าทายในอาชีพการทำงานอีกครั้งเมื่อพบกับมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เธอตอบรับตำแหน่งงานใหม่ในฐานะ COO ประจำ Facebook สตาร์ทอัพที่ ณ ขณะนั้นยังเป็นบริษัทขนาดเล็กหากเทียบกับบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกอย่าง Google แต่เชอริลก็ไม่ลังเลกับทางเลือกใหม่ที่น่าท้าทายนี้
แล้วหลังเข้าทำงานที่ Facebook เชอริลก็เพิ่มจำนวนพนักงานเป็น 2 เท่า เร่งสร้างผลกำไรอย่างรวดเร็วภายใน 2 ปี และเปลี่ยนจากบริษัทที่ขาดทุนหลายสิบล้านดอลลาร์ต่อปีให้กลายเป็นบริษัทที่มีผลกำไรมหาศาล โดยเมื่อปีที่ผ่านมา Meta มีรายได้รวม 118,000 ล้านดอลลาร์ และผลกำไรเกือบ 40,000 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว และทั้งหมดนี้ก็อยู่ในแผนการบริหารของเชอริลทั้งสิ้น
หนึ่งในผลงานสำคัญของเธอคือ “ระบบโฆษณาที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย”โมเดลธุรกิจที่ทำกำไรหลายร้อยล้านเหรียญจนกลายเป็นความสำเร็จเชิงพาณิชย์ และช่วยให้ Facebook กลายเป็นผู้นำด้านโฆษณา
อาจพูดได้ว่าอำนาจในการบริหารของเชอริลนั้นมีมากกว่ามาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กที่เชี่ยวชาญในเรื่องงานหลังบ้านเสียอีก จนถึงขนาดมาร์คได้กล่าวขอบคุณเชอริลที่ได้ผลักดันและวางแนวทางในแบบที่ Facebook ควรจะเป็น เปลี่ยนสตาร์ทอัพขนาดเล็กที่ไม่มีใครรู้ว่าคืออะไรให้กลายเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยีเช่นทุกวันนี้
เงื่อนไข 3 ข้อสำหรับการทำงานร่วมกัน
ระหว่างทำงานที่ Facebook เชอริลมีเงื่อนไข 3 ข้อในการทำงานกับมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก นั่นคือ
- เราต้องนั่งทำงานร่วมกัน ไปไหนไปกัน ไม่ทอดทิ้งกัน
- เราต้องนัดคุยกันแบบ one-on-one ทุกสัปดาห์เสมอ
- ในทุกการประชุม ขอให้มาร์คให้ Feedback อย่างตรงไปตรงมา
พวกเขาทำงานร่วมกันในลักษณะเช่นนี้มาตลาดกว่า 14 ปี (โดยมาร์คขอให้เชอริลใช้เงื่อนไขข้อสุดท้ายกับเขาเช่นเดียวกัน) เชอริลได้เล่าในโพสต์ Facebook ส่วนตัวเอาไว้ว่า มันเป็น 14 ปีในการทำงานที่มีค่า และมาร์คก็เป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ เป็นผู้นำที่สร้าง Facebook ให้เป็นพื้นที่อันยิ่งใหญ่ซึ่งส่งผลกระทบต่อยุคสมัยและผู้คน
ผู้หญิงก็เป็นผู้นำได้ และนั่นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
นอกจากให้ความสำคัญกับการทำงานกับผู้บริหารอย่างใกล้ชิด และหมั่นพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเสมอ อีกวิธีคิดที่น่าสนใจของเชอริลคือ ผู้บริหารหญิงสามารถเป็นทั้ง “ผู้นำ” และ “แม่” ไปพร้อมกันได้
สำหรับเชอริล ผู้หญิงทุกคนควรมีสิทธิตัดสินใจว่าอยากทำงานต่อหรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับค่านิยม และการที่ผู้หญิงจะเป็นผู้นำได้นั้นไม่ได้เริ่มจากปัจจัยภายนอก แต่เริ่มจากทัศนคติภายใน
เชอริลพบว่า เป็นเรื่องแปลกมากที่หากถามผู้ชายว่าความสำเร็จของพวกเขามาจากไหน ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาจะเชื่อมั่นว่าเกิดจากตัวเอง ในขณะที่ผู้หญิงมักจะตอบว่าเป็นเพราะปัจจัยภายนอก เช่น มีคนอื่นช่วย หรือเป็นเพราะความโชคดี ซึ่งแท้จริงแล้วมันเกิดจากทัศนคติต่างหาก เพราะไม่มีทางที่ใครจะไต่เต้าจนถึงตำแหน่งสูงสุดได้ หากพวกเธอไม่คิดว่าตัวเองคู่ควรกับความสำเร็จ
เชอริลเล่าถึงประสบการณ์ครั้งแรกที่ทำงานใน Facebook เอาไว้ว่า ในช่วงที่เธอมีลูกชายอายุ 2 ขวบและลูกสาวอายุ 6 เดือน เธอรู้ดีว่านั่นคงไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ผู้หญิงและเป็นแม่ลูกสองต้องขึ้นมาเป็นหัวหน้าที่ต้องบริหารทีมขนาดใหญ่ การทำทั้งสองอย่างให้ดีเป็นเรื่องยาก เชอริลต้องจัดสรรเวลาในการทำงานและการเลี้ยงลูกไปพร้อมกัน โดยมีปัจจัยส่งเสริมที่สำคัญคือ วัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อผู้หญิงมากขึ้น รวมถึงแรงสนับสนุนจากคนที่บ้าน แต่อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงเองก็ต้องอยากที่จะก้าวหน้าด้วยตัวเองด้วยเช่นกัน
ผู้หญิงต้องเปลี่ยนความคิดที่ว่า “ฉันไม่พร้อมที่จะทำ” เป็น “ฉันอยากทำ และฉันก็กำลังเรียนรู้”-เชอริลที่เชื่อว่า “ความสามารถในการเรียนรู้” คือคุณสมบัติสำคัญที่สุดของผู้นำเคยบอกไว้
อ้างอิง :