ในบรรดาเทคนิคจดโน้ตที่มีด้วยกันหลากหลายรูปแบบ เราขอแนะนำให้คุณรู้จักเทคนิคจดโน้ตที่ช่วยให้จดความรู้ได้ครบ สมองเข้าใจได้ไม่ยาก และทบทวนใหม่ได้ง่าย นั่นคือ วิธีจดโน้ตแบบ Cornell
Cornell Notes หน้าตาเป็นยังไง? มาเรียนรู้ไปด้วยกันได้เลย!
Cornell Notes คืออะไร?
การจดโน้ตแบบ Cornell คิดค้นขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1950 โดยศาสตราจารย์ Walter Pauk แห่งมหาวิทยาลัย Cornell ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งออกแบบมาเพื่อจัดระเบียบความคิดและเนื้อหาให้เป็นระบบ ด้วยการ Short note ให้เป็นภาษาของตัวเอง
จุดประสงค์ของการจดแบบ Cornell คือเพื่อให้กลับมาอ่านแล้วเข้าใจได้ง่ายๆ ใช้เวลาจดไม่นาน และจดจำข้อมูลได้ในระยะยาว โดยแบ่งพื้นที่สำหรับจดโน้ตอย่างชัดเจน ทำให้ข้อมูลที่ยากถูกย่อยและสรุปออกมาในภาษาของเรา ช่วยให้สมองเข้าใจเนื้อหายากๆ ได้ จำเป็นภาพและโฟกัสได้ว่าพื้นที่แต่ละส่วนมีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร โดยไม่จำเป็นต้องใช้เวลาทำความเข้าใจนาน อีกทั้งมีส่วนให้เราสรุปอีกรอบซึ่งดีต่อการทบทวนเนื้อหา
วิธีการจดโน้ตแบบ Cornell
เริ่มต้นจดโน้ตโดยการแบ่งพื้นที่กระดาษออกเป็น 3 ส่วน โดยอาจมีส่วนที่ 4 ส่วนบนสุดของกระดาษ คือ Title/Heading สำหรับเขียนหัวข้อของเนื้อหาที่เราต้องการจด
ส่วนที่ 1 ส่วนบนสุดของกระดาษคือส่วนสำหรับหัวข้อ
ส่วนที่ 2 คอลัมน์ด้านขวา คือ Notes พื้นที่มากที่สุดของกระดาษ สำหรับจดรายละเอียดและเนื้อหาสำคัญที่เราต้องการเน้น
ส่วนที่ 3 คอลัมน์ด้านซ้ายคือ Cue เป็นพื้นที่ใช้จดคีย์เวิร์ด ประเด็นสำคัญ หัวข้อ คำถาม และความคิดเห็นเพิ่มเติมเมื่อได้ไปค้นหาคำตอบหรือจากเลคเชอร์ที่อาจารย์สอน
ส่วนที่ 3 พื้นที่ล่างสุดของกระดาษ คือ Summary สำหรับใช้จดสรุป หรือวิเคราะห์เพิ่มเติมหลังจากจบคลาส หรือหลังจากได้ฟังและวิเคราะห์เนื้อหาทั้งหมดอีกครั้ง
หัวใจสำคัญสำหรับการจด Cornell Notes
Cornell Notes คือการ Short Note จดให้สั้นเข้าไว้และอย่าจดทุกประโยค
การจดโน้ตแบบ Cornell คือการ Short Note รูปแบบหนึ่งโดยการแบ่งสัดส่วนพื้นที่ในการจดเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ เพราะฉะนั้นประโยคที่จดไม่ควรยาวจนเกินไป โดยจดเป็นคำหรือคีย์เวิร์ด หรือ Bullet Point ที่ย่อยเป็นภาษาของตัวเอง ลงในพื้นที่ของ Note Section (คอลัมน์ด้านขวา) สำหรับรายละเอียดและเนื้อหาทั้งหมด อาจใช้สัญลักษณ์หรือตัวอักษรย่อเพื่อประหยัดพื้นที่และประหยัดเวลาในการจด นอกจากจดโน้ตได้ง่ายขึ้นแล้ว กลับมาอ่านอีกครั้งก็สามารถเข้าใจได้ทันที
ทำสรุปทุกครั้งและจดเป็นภาษาของตัวเองให้เข้าใจง่าย
พาร์ทของ Summary Section การทำสรุปโน้ต คือพาร์ทสำคัญที่จะบอกว่าเราเข้าใจเนื้อหานั้นมากน้อยแค่ไหน โดยเป็นการสรุปประเด็นและย่อยเนื้อหาทั้งหมดไม่กี่ประโยคในภาษาของตัวเอง พาร์ทนี้จะทำให้เราเข้าใจว่าเนื้อหาทั้งหมดเกี่ยวกับอะไร ประเด็นและใจความสำคัญคืออะไร แบบที่เมื่อกลับมาอ่านอีกครั้งก็ยังรู้เรื่องและเข้าใจ ซึ่งพาร์ทนี้อาจสรุปหลังจบคลาสหรือหลังการวิเคราะห์เนื้อหาทั้งหมดแล้ว เป็นเหมือนการรีวิวความรู้ความเข้าใจของตัวเองอีกครั้ง
Robert J. Marzano นักวิจัยด้านการศึกษาจากสหรัฐอเมริกาได้กล่าวไว้ว่า การจดบันทึกให้ได้ผลนั้น สิ่งสำคัญคือการที่ผู้จดโน้ตสามารถเรียนรู้ได้จากการสรุปด้วยตัวเอง เข้าใจความหมายของเนื้อหาอย่างลึกซึ้งและอธิบายออกมาได้ด้วยภาษาของตัวเอง
5 เทคนิคจด Cornell Note ให้ได้ผล
เพื่อให้การจดโน้ตแบบ Cornell ได้ผลยิ่งขึ้น นอกเหนือไปจากการบันทึกในพื้นที่ 3 ส่วนที่แบ่งไว้ และจดสรุปให้เป็นภาษาของตัวเองแล้ว มีเทคนิคเพิ่มเติม 5 ข้อ ที่ช่วยให้ Cornell Notes ของเราได้ผล มาดูไปทีละข้อกัน!
1.Record ใช้เทคนิคและอุปกรณ์ช่วยบันทึก
ใช้อุปกรณ์ช่วยบันทึกสำหรับทบทวนและเพิ่มเติมให้โน้ตของตัวเอง เช่น เครื่องอัดเสียง ปากกาสี หรือรูปภาพประกอบที่ช่วยให้เราเข้าใจเนื้อหามากขึ้นได้ รวมถึงจดโน้ตด้วยสัญลักษณ์หรือคำย่อเพื่อประหยัดเวลา ก็ช่วยให้ Cornell Note ของเราได้ผลมากทีเดียว
2.Questions ใส่คำถามที่สงสัยเพิ่มเติม
หากจดเลคเชอร์อยู่แล้วเกิดคำถาม ถือเป็นสิ่งที่ดีมากและควรลิสต์คำถามที่สงสัยไว้ในคอลัมน์ด้านขวา ในส่วนของ Cue Section การจดคำถามช่วยให้เราเข้าใจความหมายของเนื้อหา ความเชื่อมโยงของแต่ละประเด็นได้มากขึ้น รวมถึงเป็นการสร้างความรอบคอบให้ตัวเอง เราจะเข้าใจเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้นเมื่อได้รับความคิดเห็นเพิ่มเติมจากอาจารย์หรือผู้รู้ และเป็นการเพิ่มการจดจำในระยะยาวด้วย
3.Recite จำคีย์เวิร์ดให้ขึ้นใจ
อีกเทคนิคที่ช่วยให้ Cornell Note ได้ผลก็คือ จำคีย์เวิร์ดสำคัญให้ได้ ซึ่งสรุปเป็นภาษาตัวเองในคอลัมน์ด้านขวาของ Cue Section หากเราจำคีย์เวิร์ดสำคัญได้ ก็ทำให้เห็นภาพรวมและเข้าใจเนื้อหารายละเอียดในส่วนต่างๆตามไปด้วย เพราะเข้าใจไอเดียหลักๆเรียบร้อยแล้ว
4.Reflect ทบทวนความรู้ด้วยคำถามสำคัญ
เราอาจจดคำถามสำคัญเพื่อให้คำตอบกับตัวเองและได้เข้าใจเนื้อหามากขึ้น ซึ่งเป็นคำถามที่ผ่านการวิเคราะห์และสรุปแล้ว เช่น
- อะไรคือประเด็นสำคัญของข้อมูลดังกล่าว?
- วิธีใช้ คู่มือในการเข้าถึง หรือขั้นตอนแต่ละอย่างมีอะไรบ้าง?
- หลักการสำคัญคืออะไร?
- มีอะไรนอกเหนือจากนี้ที่ควรรู้เพิ่มเติมอีกบ้าง?
5.Review รีวิวโน้ตอยู่เสมอ
และเทคนิคสุดท้ายคือ หาเวลามารีวิวโน้ตของตัวเองอยู่เสมอ เช่น อัพเดทข้อมูลใหม่ๆที่ได้รู้เพิ่มเติม หรืออาจจะตัดเนื้อหาส่วนที่ไม่สำคัญหรือไม่จำเป็นออก ใส่กรณีตัวอย่างที่เป็น Best Practice สำหรับการกลับมาอ่านใหม่อีกครั้ง เพราะ Cornell Note นี้ไม่ใช่บันทึกเพื่ออ่านครั้งเดียวสำหรับสอบเท่านั้น แต่สามารถเป็นสรุปเนื้อหาสำคัญสำหรับอ่านกี่ครั้งก็ยังเข้าใจและจดจำได้ในระยะยาว
สรุป
วิธีจดโน้ตแบบ Cornell นอกเหนือไปจากใช้เวลาจดที่น้อย เข้าใจง่ายและใช้พื้นที่กระดาษได้อย่างคุ้มค่าที่สุดแล้ว ประโยชน์ที่สำคัญของ Cornell Notes ก็คือ การสรุปเนื้อหาที่มีแต่เนื้อ เข้าถึงประเด็นได้อย่างรวดเร็วไม่ออกนอกทะเล และสามารถกลับมาอ่านอีกครั้งก็ยังรู้เรื่องและจดจำได้ในระยะยาว หากใครที่อยากประหยัดเวลามาจดโน้ตให้ได้ผลและเข้าใจได้ในทันที วิธีจดแบบ Cornell Notes ก็ถือว่าเวิร์คทีเดียว
อ้างอิง: