เคยไหมที่รู้สึกว่า ต้องใช้ความพยายามในการทำความเข้าใจสิ่งที่กำลังเรียนมากกว่าเพื่อนคนอื่น
เช่น ฟังบรรยายในห้องเรียนแล้วไม่ค่อยมีสมาธิ แต่เวลาเรียนรู้ผ่านกิจกรรมจะจดจ่อจนแทบลืมเวลา
อ่านบทเรียนแล้วงง แต่พอเห็นภาพประกอบก็เข้าใจเนื้อหาขึ้นมาทันที
บางครั้งการที่เราเรียนรู้บางเรื่องได้ช้า อาจไม่ใช่เพราะเราไม่ถนัดในเรื่องนั้นๆ เพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นเพราะ “วิธี” ที่เราใช้ในการทำความเข้าใจและจดจำความรู้เหล่านั้น ไม่เหมาะกับตัวเราก็ได้
เพราะคนเราแตกต่างกัน จึงมีไม่มีวิธีเรียนแบบไหนที่ตายตัวและเหมาะกับทุกคน วิธีที่ได้ผลกับคนหนึ่ง อาจจะใช้ไม่ได้ผลกับอีกคนเลยก็ได้
ดังนั้น ก่อนที่เราจะเริ่มเรียนเรื่องอะไรสักอย่าง การค้นหา “วิธีเรียน” ที่ตรงกับความถนัดและความชอบของตัวเอง จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะเปิดประตูให้คุณเข้าถึงเนื้อหาความรู้ต่างๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติและได้ประสิทธิภาพสูงสุด
วิธีค้นหาสไตล์การเรียนรู้ของตัวเอง
สังเกตตัวเอง
สำรวจตัวเองจากประสบการณ์ที่ผ่านมาว่าวิธีเรียนแบบไหนบ้างที่ทำแล้วได้ผลมากที่สุด ลองถามตัวเองดูว่าที่ผ่านมารู้สึกเพลิดเพลินกับการเรียนรู้แบบไหน ชอบดูภาพ หรือฟังคนอื่นพูด หรืออ่านหนังสือเอง หรือลงมือทำมากกว่า
หรือถ้ายังนึกไม่ออกหรือไม่แน่ใจว่าชอบแบบไหน ให้ลองใช้วิธีเรียนหลายๆ แบบ แล้วสังเกตตัวเองดู
ทำแบบทดสอบ
ปัจจุบันมีแบบทดสอบวิธีเรียนให้เลือกทำมากมายบนโลกออนไลน์ ซึ่งจะช่วยให้เราตั้งคำถามและเข้าใจตัวเองได้ดีขึ้น
4 สไตล์การเรียนรู้
เราอาจแบ่งวิธีเรียนรู้ได้เป็น 4 แบบ ได้แก่ Visual Learning (เรียนผ่านภาพ), Auditory Learning (เรียนผ่านการฟัง), Reading/Writing Learning (เรียนผ่านการอ่าน-เขียน) และ Kinesthetic Learning (เรียนผ่านการลงมือทำ)
1.Visual Learning (เรียนผ่านภาพ)
คนกลุ่มนี้มักจะไม่ค่อยมีสมาธิเวลาที่ต้องนั่งฟังการบรรยายในห้องเรียน แต่เมื่อไรก็ตามที่มีการใช้สื่อการสอนที่เป็นภาพหรือวัตถุ พวกเขาจะพบว่าตัวเองสามารถตั้งสมาธิและเข้าใจบทเรียนได้ดีขึ้น
พวกเขาสามารถอ่านภาษากายได้ดี และมีสายตาที่เฉียบแหลมในเรื่องความสวยความงาม นอกจากนี้ นักเรียนผ่านภาพยังไวต่อเสียง โดยจะไม่สามารถจดจ่ออยู่กับเรื่องหนึ่งได้ถ้ามีเสียงรบกวน
เทคนิคการเรียน:
- ไฮไลต์โน๊ตด้วยสีต่างๆ จะช่วยให้แบ่งแยกประเภทข้อมูล และเห็นใจความสำคัญของเนื้อหาได้ชัดเจน
- แปลงเนื้อหาเป็นภาพ เพื่อให้เข้าใจโครงสร้างของข้อมูล และปะติดปะต่อความคิดได้ดีขึ้น
- เรียนรู้ผ่านการดูวิดีโอ เพื่อให้รับรู้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ดีขึ้น
- ลองเขียนสรุปเนื้อหาด้วยคีย์เวิร์ดเพื่อให้จดจำได้ดีขึ้น
- เขียนคีย์เวิร์ดลงในบัตรคำเพื่อทบทวนเนื้อหา
2.Auditory Learning (เรียนผ่านการฟัง)
คนกลุ่มนี้ชอบเรียนและทบทวนเนื้อหาผ่านการฟัง เพราะสมองของพวกเขาจดจำข้อมูลจากเสียงที่ได้ยิน บางครั้งพวกเขามักจะอ่านออกเสียงเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่กำลังเรียนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังชอบทบทวนบทเรียนและถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเป็นกลุ่มร่วมกับคนอื่นๆ อีกด้วย
บางครั้งคนกลุ่มนี้จะพบว่าตัวเองอ่านหนังสือช้า แต่โดยส่วนใหญ่แล้วพวกเขามีความจำที่แม่นยำมาก นอกจากนี้ คนกลุ่มนี้ยังมักจะมีพรสวรรค์ด้านดนตรี เวลาที่รู้สึกเบื่อพวกเขาจะชอบฮัมเพลง หรือพูดกับตัวเองหรือคนอื่น
เทคนิคการเรียน:
- นั่งเรียนเป็นกลุ่มกับเพื่อน เพื่อให้มีโอกาสได้พูดและอธิบายเนื้อหา
- พยายามถามคำถามและมีส่วนร่วมในการถกเถียง แลกเปลี่ยนความคิดในกลุ่ม
- อัดเสียงการบรรยายในห้องเรียน แล้วกลับมาเปิดฟังเพื่อทบทวน
- ท่องโน๊ตย่อหรือใช้บัตรคำในการทบทวน โดยอ่านออกเสียงออกมาให้ตัวเองได้ยิน
3.Reading/Writing Learning (เรียนผ่านการอ่าน-เขียน)
คนกลุ่มนี้รับรู้ข้อมูลต่างๆ ได้ดีผ่านการอ่านและเขียน พวกเขามักจะเป็นนักอ่านที่เพลิดเพลินกับการใช้เวลากับตัวหนังสือ
การจดโน๊ตระหว่างเรียนในห้อง และกลับมาอ่านทบทวนเนื้อหาหลายๆ รอบ คือวิธีการที่ใช้ได้ผลสำหรับพวกเขา
เทคนิคการเรียน:
- สรุปสาระสำคัญในห้องเรียน เพื่อใช้อ่านทบทวนและทำความเข้าใจในภายหลัง
- ทบทวนบทเรียนด้วยการอ่านเอกสารประกอบการเรียนทั้งหมดบ่อยๆ
- เวลาที่ต้องการท่องจำเนื้อหา ให้ใช้วิธีเขียนลงในกระดาษ
4.Kinesthetic Learning (เรียนผ่านการลงมือทำ)
คนกลุ่มนี้มีพลังเยอะและมักจะเป็นนักกิจกรรม หลายครั้งที่พวกเขาพบว่าการอ่าน การดู และการฟัง ไม่เพียงพอที่จะทำให้เข้าใจบทเรียนได้
พวกเขาสนุกกับการลงมือทำสิ่งต่างๆ และสัมผัสประสบการณ์จริงด้วยตัวเอง กิจกรรมที่ได้ลงมือปฏิบัติในทางกายภาพ เช่น การสัมผัส การเคลื่อนย้าย การวาด เป็นต้น จะช่วยให้คนกลุ่มนี้เข้าใจสิ่งที่กำลังเรียนอยู่ได้ดีขึ้น
คนกลุ่มนี้มักจะชอบสอนคนอื่นด้วยการลงมือทำให้เห็น มากกว่าอธิบายด้วยคำพูด สังเกตได้ว่าพวกเขาจะชอบใช้มือประกอบการพูด และชอบการให้กำลังใจผู้อื่นด้วยการสัมผัส เช่น การตบเบาๆ บนหลัง เป็นต้น
วิธีเรียน:
- นั่งเรียนเป็นกลุ่มกับเพื่อนโดยทำกิจกรรมที่ต้องลงมือสร้าง วาด หรือขยับร่างกายในรูปแบบต่างๆ
- อ่านหรือทบทวนบทเรียนระหว่างทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การเดิน ออกกำลังกาย หรือแม้แต่การโยกเก้าอี้ไปมาและการเคี้ยวหมากฝรั่ง ก็ช่วยเพิ่มสมาธิได้เช่นกัน
- เวลาทบทวนบทเรียน ให้หยุดพักบ่อยๆ ด้วยการลุกขึ้นยืน เดินไปรอบๆ หรือยืดเส้นยืดสาย เพื่อให้ร่างกายได้ปลดปล่อยพลังและสามารถกลับมาตั้งสมาธิกับบทเรียนต่อได้ดีขึ้น
หมายเหตุ
คนส่วนใหญ่จะมีสไตล์การเรียนรู้ที่เหมาะกับตัวเอง 1 แบบ แต่ก็เป็นไปได้ที่บางคนจะพบว่าตัวเองสามารถเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดเมื่อผสมผสานวิธีเรียนรู้มากกว่า 1 แบบเข้าด้วยกัน
อ้างอิง:
https://edu.gcfglobal.org/en/learning-tips/discover-your-learning-style/1/
https://martinsburgcollege.edu/blog/2015/03/10/visual-auditory-kinesthetic-whats-learning-style/