ในยุคปัจจุบันเต็มไปด้วยสถานการณ์ที่ท้าทายความคิดของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นความกังวลเกี่ยวกับการทำงาน การติดต่อสื่อสารกับลูกค้า หรือแม้แต่ความเครียดที่เราอาจได้รับจากเพื่อนร่วมงาน ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้เราอยู่ในสภาวะ “คิดมาก” ได้
จากผลการศึกษา พบว่า เกือบสามในสี่ของวัยผู้ใหญ่มักจะเผชิญกับปัญหาการคิดมาก ซึ่งส่งผลต่อทั้งสุขภาพจิต ประสิทธิภาพการทำงาน และความสัมพันธ์ บทความนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับ 3 ประเภทของการคิดมาก และวิธีเอาชนะกับความเครียด เพื่อนำไปสู่ชีวิตที่สมดุลและมีความสุขมากยิ่งขึ้น
1. ติดอยู่ในวังวนแห่งอดีต
การครุ่นคิด เปรียบเสมือนวังวนทางจิตที่กักขังเราไว้กับเหตุการณ์ในอดีต โดยเฉพาะเหตุการณ์เชิงลบหรือเหตุการณ์ที่สร้างความกังวล คนที่ครุ่นคิดมักจมอยู่กับความเสียใจ ความรู้สึกผิด และมักจะวนเวียนกับคำถาม “ถ้า…” พวกเขาพยายามทบทวนสิ่งที่ผิดพลาดและชอบโทษตัวเอง ลักษณะสำคัญของการครุ่นคิดคือ การจดจ่ออยู่กับอดีตและไม่สามารถก้าวต่อไปได้
สัญญาณเตือน:
- ยึดติดกับผลตอบรับเชิงลบ
- พูดถึงความล้มเหลว ความพ่ายแพ้ หรือความผิดพลาดในอดีตบ่อย ๆ
- ระมัดระวังมากเกินไป ตรวจสอบงานซ้ำหลายรอบเพื่อหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาด
วิธีแก้ไข :
- กำหนดเวลาสำหรับ “เวลากังวล”
- แทนที่จะปล่อยให้ตัวเราติดอยู่ในอาการครุ่นคิดทั้งวัน ให้จำกัดเวลาไว้สำหรับการคิดกังวล โดยปกติไม่เกิน 15-30 นาที เลือกช่วงเวลาที่เหมาะกับคุณ (ไม่ควรคิดมากช่วงก่อนนอน) และสถานที่เฉพาะสำหรับช่วงเวลานี้ อาจจะเป็นพื้นที่เล็ก ๆ ภายในห้อง หรือสวนสาธารณะ
- แบ่งความกังวลเป็นสองประเภท
- สิ่งที่คุณควบคุมได้ : ระดมความคิดหาแนวทางแก้ไขหรือการกระทำที่เป็นไปได้ ตัวอย่างเช่น หากกังวลเรื่องการทำตามกำหนดเวลา ให้วางแผนจัดการเวลา หรือแบ่งงานใหญ่ ๆ ออกเป็นงานย่อย ๆ เพื่อให้คุณสามารถทำงานได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนด
- สิ่งที่คุณควบคุมไม่ได้ : ฝึกการปล่อยวาง ต้องยอมรับว่าบางสิ่งบางอย่างตัวเราก็ไม่สามารถควบคุมได้ ฝึกสติให้อยู่กับปัจจุบัน
- เลื่อนเวลา
- เมื่อความคิดครุ่นคิดเกิดขึ้นนอกช่วงเวลากังวล ให้เตือนตัวเองเบา ๆ ว่า “ยังไม่ใช่ตอนนี้ ฉันจะจัดการเรื่องนี้ทีหลัง” วิธีนี้ช่วยเพิ่มการตระหนักรู้และควบคุมรูปแบบความคิดของคุณ
การแบ่งเวลาเพื่อจัดการกับความคิด ช่วยให้คุณไม่ต้องต่อสู้เพื่อผลักไสความคิดเหล่านั้นออกไป เพียงแค่เลื่อนเวลาไปจัดการในภายหลัง การครุ่นคิด เป็นปัญหาที่พบบ่อย แต่สามารถเอาชนะได้ด้วยการฝึกฝนและเทคนิคที่เหมาะสม ลองนำวิธีเหล่านี้ไปใช้ รับรองว่าคุณจะสามารถเอาชนะการครุ่นคิดและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากขึ้น
2. กังวลเกี่ยวกับอนาคต
แทนที่จะจมอยู่กับอดีต หลายคนกลับกังวลกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แม้ว่าความคาดหวังจะเป็นสิ่งที่ดี แต่การกังวลมากเกินไปเกี่ยวกับอนาคตก็อาจส่งผลเสียต่อเราได้ ความไม่แน่นอน โอกาสที่จะล้มเหลว และความกลัวต่อสิ่งที่ไม่รู้จัก ล้วนเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาการคิดมาก
สัญญาณเตือน :
- วางแผนเผชิญทุกสถานการณ์ที่เป็นไปได้
- รู้สึกว่าการเฉลิมฉลองความสำเร็จเป็นเรื่องยาก เพราะกังวลกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป
- รู้สึกกระสับกระส่าย รู้สึกกังวลกับสิ่งที่ต้องทำ
วิธีแก้ไข :
- ใช้จินตนาการมองอนาคต
- นึกภาพตัวเองในอนาคต สะท้อนถึงเส้นทางอาชีพ มองสถานการณ์ปัจจุบันในมุมมองที่กว้างขึ้น
- หยุดพักชั่วคราว
- หยุดพักจากความกังวล มุ่งความสนใจไปที่สถานการณ์ปัจจุบัน และต้องฝึกให้ตัวเรามีสติอยู่เสมอ
- จัดลำดับความสำคัญของข้อมูล
- มุ่งเน้นไปที่ข้อมูลที่ส่งผลต่อการทำงานและการตัดสินใจ
ตัวอย่าง :
คุณภัทร ผู้จัดการฝ่ายการตลาด กังวลกับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ เขาวางแผนเผชิญทุกสถานการณ์ กังวลกับกลยุทธ์ ปริมาณงาน และปฏิกิริยาของลูกค้า เขาจึงหาห้องเงียบ ๆ และนั่งนึกภาพตัวเองในอีก 5 ปีข้างหน้า เขาเห็นตัวเองในตำแหน่งที่อาวุโส เมื่อมองย้อนกลับมา การเปิดตัวผลิตภัณฑ์เป็นเพียงหนึ่งในหลายโครงการที่เขาทำ เขาจึงตระหนักได้ว่าบางสิ่งอาจไม่เป็นไปตามแผน แต่ทีมของเขาจะเรียนรู้และเติบโตจากประสบการณ์
3. วิเคราะห์มากจนเกินไป
การวิเคราะห์ เป็นกระบวนการสำคัญในการตัดสินใจ ช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์ ประเมินตัวเลือก และเลือกแนวทางที่ดีที่สุด แต่ในบางครั้งการวิเคราะห์มากเกินไปก็อาจกลายเป็นกับดักที่ฉุดรั้งความสำเร็จของเราไว้
สัญญาณเตือน :
- ผัดวันประกันพรุ่ง
- คุณใช้เวลานานมากในการวิเคราะห์ข้อมูล ค้นคว้าข้อมูล จนไม่มีเวลาลงมือทำ
- ขาดความมั่นใจ
- คุณไม่มีความมั่นใจในการวิเคราะห์ของตัวเอง และต้องการการยืนยันจากผู้อื่นอยู่เสมอ
- ตัดสินใจยาก
- คุณแยกแยะความสำคัญของงานไม่ได้ มัวแต่ติดอยู่กับรายละเอียดปลีกย่อย กลัวการตัดสินใจผิดพลาด
วิธีแก้ไข :
- มุ่งเป้าไปที่ “ดีพอ” แทนที่จะ “สมบูรณ์แบบ”
- ยอมรับว่าไม่มีตัวเลือกที่สมบูรณ์แบบ เลือกตัวเลือกที่ “ดีเพียงพอ”
- กำหนดเกณฑ์การตัดสินใจ
- ตั้งเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าอะไรสำคัญ อะไรไม่สำคัญ
- จำกัดระยะเวลา
- กำหนดเวลาการวิเคราะห์ให้ชัดเจน
- ลงมือทำ
- เมื่อถึงเวลาตัดสินใจ ให้ลงมือทำทันที
- เรียนรู้จากประสบการณ์
- วิเคราะห์ผลลัพธ์ และเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เราเจอ
ตัวอย่าง :
สมมติว่าคุณกำลังตัดสินใจ จะเปิดร้านอาหาร คุณอาจวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับตลาด คู่แข่งขัน ต้นทุน สถานที่ ฯลฯ แต่หากวิเคราะห์มากเกินไป คุณอาจจมอยู่กับรายละเอียด กลัวการตัดสินใจผิดพลาด ผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ๆ วิธีแก้ไข คือ ให้คุณตั้งเกณฑ์การตัดสินใจ เช่น เงินลงทุน ตำแหน่งที่ตั้ง ระยะเวลาคืนทุน เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลครบ ให้ตัดสินใจโดยยึดหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ลงมือทำทันที และให้เรียนรู้จากประสบการณ์
สรุป
การคิดวิเคราะห์เป็นสิ่งสำคัญ แต่การคิดฟุ้งซ่านมากเกินไป กลับกลายเป็นความคิดทางลบที่ไม่ก่อประโยชน์ ทักษะการขจัดความเครียดจึงเป็นสิ่งจำเป็น ที่ช่วยให้คุณรับมือกับภาวะความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้เราพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์
อ้างอิง: forbes.com