เคยพยายามเรียนรู้อะไรบางอย่างแต่ไม่เข้าใจสักทีไหม?
บนโลกนี้มีเรื่องราวที่น่าสนใจให้เราได้ค้นหาและเรียนรู้มากมาย แต่หลาย ๆ ครั้งการทำความเข้าใจเนื้อหาแสนซับซ้อนเหล่านั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสักเท่าไรนัก
เราจึงขอแนะนำตัวช่วยที่จะมาปลดล็อกการเรียนรู้เรื่องยาก ๆ ให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ด้วย The Feynman Technique เทคนิคที่คิดค้นโดย ริชาร์ด ไฟน์แมน (Richard Feynman) เจ้าของรางวัลโนเบลด้านฟิสิกส์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็น ‘Great Explainer’ ที่สามารถอธิบายเรื่องยากและซับซ้อนอย่างวิทยาศาสตร์ ให้ใครก็ตามที่แม้จะไม่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาก่อน สามารถเข้าใจได้
เทคนิคนี้เป็นเทคนิคที่มีขั้นตอนเรียบง่ายแต่ทรงพลังมาก เพราะนอกจากจะช่วยปิดช่องว่างทางการเรียนรู้ และกระตุ้นให้คุณสามารถสื่อสารสาระสำคัญได้ชัดเจนถึงแก่นแล้ว มันยังช่วยให้คุณจดจำเนื้อหาเหล่านั้นได้แม่นยำขึ้นอีกด้วย โดย The Feynman Technique มีทั้งหมด 4 ขั้นตอนด้วยกัน คือ
1. เลือกหัวข้อที่สนใจและเขียนทุกอย่างที่คุณรู้เกี่ยวกับหัวข้อนั้นลงไป
เลือกหัวข้อที่คุณต้องการจะทำความเข้าใจ และเปลี่ยนโหมดการเรียนรู้ของคุณจาก Passive Learning (การนั่งฟังบรรยายข้อมูล) เป็น Active Learning (การเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ) ด้วยการเขียนทุกอย่างที่คุณรู้เกี่ยวกับหัวข้อนั้นลงไป ในรูปแบบและภาษาของคุณ ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เนื้อหาที่เคยรู้มาในอดีต หรือสิ่งที่พึ่งเรียนรู้ใหม่เกี่ยวกับหัวข้อนั้น
2. อธิบายคอนเซ็ปต์ของหัวข้อนั้น ใหัเหมือนเรากำลังสอนคนอื่นที่ไม่รู้จักเรื่องนี้มาก่อนฟัง
ลองจินตนาการว่าคุณกำลังจะอธิบายเรื่องยาก ๆ ให้เด็กคนหนึ่งฟัง ซึ่งหัวใจของขั้นตอนนี้ คือการพยายามใช้ข้อมูล การเรียบเรียง คำศัพท์และภาษาประกอบการอธิบายให้เข้าใจง่ายและซับซ้อนน้อยที่สุด
3. มองหาช่องโหว่และปิดมันให้ได้
พยายามสังเกตช่องโหว่ทางความรู้ (Knowledge Gap) หรือภาวะติดขัดที่อาจเกิดขึ้นขณะอธิบายคอนเซ็ปต์ให้พบ ถ้าติดตรงไหน ให้เปิดหนังสือขึ้นมาดูอีกครั้ง เพื่อทำความเข้าใจจุดนั้น ๆ ให้ลึกซึ้งขึ้น และปิดช่องโหว่นั้นให้ได้
4. ขัดเกลาและทำซ้ำ
เมื่อปิดช่องโหว่ทางความรู้ได้แล้ว ลองขัดเกลาวิธีการสื่อสาร เพื่ออธิบายซ้ำอีกรอบหนึ่ง คุณอาจจะพบว่าสามารถพัฒนาลักษณะการใช้ภาษาให้เรียบง่ายขึ้น ใช้การเรียบเรียงที่ลื่นไหลขึ้น หรือทำให้เห็นภาพมากขึ้นด้วยการยกตัวอย่างเปรียบเทียบก็เป็นได้
มีงานวิจัยหนึ่งทดสอบการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน โดยแบ่งให้นักเรียนกลุ่มหนึ่งอ่านบทความเพื่อเตรียม ‘สอบ’ และอีกกลุ่มหนึ่งอ่านบทความเดียวกันเพื่อเตรียม ‘สอน’ ซึ่งสองวิธีนี้สร้างความแตกต่างเชิงผลลัพธ์อย่างมาก เพราะนักเรียนที่อ่านบทความเพื่อเตรียมสอน นอกจากจะสามารถเรียนรู้เนื้อหาได้เร็วกว่า ยังสามารถทำคะแนนสอบได้ดีกว่านักเรียนที่อ่านบทความเพื่อเตรียมสอบอีกด้วย
กระบวนการเรียนรู้ตามแบบฉบับของ ริชาร์ด ไฟน์แมน ได้แสดงให้เราเห็นว่าการทำความเข้าใจตรรกะของเนื้อหาอย่างทะลุปรุโปร่งจนสามารถอธิบายด้วยภาษาง่าย ๆ ได้นั้น มีความสำคัญต่อการเรียนรู้อย่างมาก แถมยังสะท้อนคำคมดังที่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) เคยพูดไว้ว่า “If you can’t explain it simply, you don’t understand it well enough.” หมายความว่า หากคุณไม่สามารถอธิบายมันอย่างง่าย ๆ ได้ แสดงว่าคุณยังไม่เข้าใจเรื่องนั้นมากพอ!