เราทุกคนต่างมีเรื่องน่าอายในชีวิตที่ไม่อยากเล่าให้ใครฟัง
แต่ใครจะไปคิดว่า เรื่องน่าอายเหล่านี้แหละ สามารถเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีในการช่วยทำให้การระดมสมองมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม !
ลี ทอมป์สัน (Leigh Thompson) ศาสตราจารย์ด้านการบริหารจัดการองค์กรจาก Kellogg School of Management มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น สหรัฐอเมริกา เคยกล่าวไว้ว่า หลายครั้งที่มีการระดมสมอง (Brainstorming) สิ่งที่เราคาดหวังคือการมีคนโยนไอเดียลงมาโดยไม่มีการตัดสินหรือประเมินกัน เพื่อไม่ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ที่อาจเกิดขึ้น
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสร้างบรรยากาศแบบนั้นให้เกิดขึ้นได้ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไรนัก
ทอมป์สันและทีมนักวิจัยจึงได้ทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยแบ่งผู้เข้าร่วมวิจัย ได้แก่พนักงานระดับผู้จัดการจำนวน 93 คน ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกต้องแชร์เรื่องราวน่าอายของตัวเองให้เพื่อนในกลุ่มฟัง ในขณะที่กลุ่มสองต้องแชร์เรื่องราวที่ตัวเองภาคภูมิใจในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
หลังจากทำกิจกรรมวอร์มอัปนี้เสร็จเรียบร้อย จึงให้แต่ละกลุ่มเริ่มระดมสมองกัน โดยมีโจทย์คือ ต้องหาวิธีแปลกใหม่ในการใช้กล่องกระดาษให้ได้มากที่สุด
ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากแต่ละกลุ่มก็แตกต่างกันอย่างมาก เพราะในกลุ่มที่แชร์เรื่องราวน่าอับอายของตัวเองก่อนเริ่มระดมสมอง สามารถคิดไอเดียได้ปริมาณมากกว่ากลุ่มที่แชร์เรื่องราวภาคภูมิใจถึง 26% แถมยังสามารถคิดไอเดียได้หลากหลายกว่าถึง 15% อีกด้วย
จากผลลัพธ์ที่ได้ นักวิจัยสันนิษฐานว่าเหตุผลที่การแชร์เรื่องน่าอายเป็นประตูสู่ความคิดสร้างสรรค์นั้น เกิดจากการที่คนในวงระดมสมองรู้สึกประหม่าต่อกันน้อยลง รู้สึกกลัวหรือกังวลการถูกประเมินจากคนในวงน้อยลง และรู้สึกไว้ใจกันมากขึ้น
ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้เองที่ก่อให้เกิดบรรยากาศ ‘ปลอดภัย’ ภายในกลุ่ม อันนำไปสู่ความกล้าแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากกำแพง หรือการเซ็นเซอร์ตัวเอง (Self-Censorship) มากขึ้นนั่นเอง