HIGHLIGHTS
- สิ่งเล็ก ๆ รอบตัวที่เราอาจนึกไม่ถึง เช่น แสง สี เสียง ความสบาย ความร้อน-เย็น อากาศ สิ่งอำนวยความสะดวก ฯลฯ ล้วนมีอิทธิพลด้านบวกหรือลบต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิต รวมถึงการเรียนด้วย
- เราจึงขอแนะนำ 7 เคล็ดลับการจัดและตกแต่งบ้านให้เป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่คุณสามารถนำไปปรับใช้ได้ตั้งแต่วันนี้ ได้แก่ จัดพื้นที่ให้สบายและใจ, ใช้แสงธรรมชาติ, ตกแต่งด้วยโทนสีเขียว ม่วง น้ำเงิน, เคลียร์ทุกสิ่งที่วางเกะกะอยู่, กำจัดสิ่งที่ทำให้ว่อกแว่กออกไป, ลองฟังเพลงก่อนเริ่มเรียน และขอแรงซัพพอร์ตจากครอบครัว
เคยนอนไม่หลับเพราะมีแสงลอดผ่านผ้าม่านมั้ย ?
หรืออ่านหนังสืออยู่บนเตียงดี ๆ รู้ตัวอีกทีก็ผลอยหลับไปแล้วบ้างหรือเปล่า ?
John Dewey นักปรัชญาและนักปฏิรูปการศึกษาชาวอเมริกันเคยกล่าวว่า “สิ่งแวดล้อมประกอบไปด้วยภาวะที่ส่งเสริม กีดขวาง กระตุ้น หรือยับยั้ง การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในการดำรงชีวิต” ฉะนั้นสิ่งเล็ก ๆ รอบตัวที่เราอาจนึกไม่ถึง เช่น แสง สี เสียง ความสบาย ความร้อน-เย็น อากาศ สิ่งอำนวยความสะดวก ฯลฯ ล้วนมีอิทธิพลด้านบวกหรือลบต่อการนอน การอ่านหนังสือ การทำงาน…
รวมถึงการเรียนด้วย!
มีงานวิจัยชื่อ A Place to Learn โดย UNESCO Institute for Statistics สรุปไว้ว่า การออกแบบและจัดการพื้นที่สำหรับการเรียนจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ให้มีคุณภาพมากขึ้น มีผลลัพธ์ด้านการศึกษาในเชิงบวก รวมถึงส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้เรียนได้
เพราะฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่นักเรียนรุ่นเล็ก-รุ่นใหญ่ทั้งหลาย ที่กำลังถูกสถานการณ์ปัจจุบันอย่างโควิด-19 บังคับให้ต้องปรับตัวหันมาเรียนและทำงานผ่านออนไลน์มากขึ้น เริ่มจัดบ้านเพื่อการเรียนออนไลน์โดยเฉพาะ
เราจึงขอแนะนำ 7 เคล็ดลับการจัดและตกแต่งบ้านให้เป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่คุณสามารถนำไปปรับใช้ได้ตั้งแต่วันนี้
1. ความสบายเป็นสิ่งสำคัญ
ในพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ความสบายกายและสบายใจเป็นปัจจัยต้น ๆ ที่ต้องคำนึงถึง โดยความสบายกายเป็นเรื่องของการหาสมดุลของตัวเอง เพราะคุณคงไม่อยากนั่งเก้าอี้ที่แข็งมากจนเสียสมาธิ หรืออยู่บนเตียงที่สบายมากจนไม่สามารถตื่นตัวได้ร้อยเปอร์เซ็นต์แม้ว่ามันจะช่วยให้คุณผ่อนคลายสุด ๆ ก็ตาม เนื่องจากร่างกายอาจส่งสัญญาณที่สัมพันธ์กับการนอนหลับไปยังสมอง และส่งผลให้เราง่วงนอนแทนได้
ส่วนความสบายใจนั้น เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้คุณรู้สึกปลอดภัย สัมพันธ์กับธรรมชาติและวิถีชีวิตที่คุ้นเคย โดยดึงองค์ประกอบที่โดดเด่นของสิ่งเหล่านั้นมาไว้ในพื้นที่เรียนของคุณ เช่น ต้นไม้เล็ก ๆ เทียนหอมกลิ่นฝน กรอบรูปคนใกล้ชิด หรือของสะสมชิ้นโปรด
มีการศึกษาค้นคว้าและงานวิจัยหลายชิ้นพูดถึงความสัมพันธ์นี้ ว่าช่วยสร้างภาวะการเรียนรู้ที่สม่ำเสมอและเชื่อมโยงกับการเรียนปกติในโรงเรียน ให้กับการเรียนตามอัธยาศัย (Informal Learning) ซึ่งในที่นี้หมายถึงการเรียนที่บ้านของเรานั่นเอง
ฉะนั้นการเลือกโต๊ะและเก้าอี้ที่ใช้แล้วตัวคุณเองรู้สึกสบายกำลังดี รวมถึงหาของที่เห็นแล้วสบายใจมาตั้งใกล้ ๆ กัน ก็เป็นหนึ่งวิธีที่จะช่วยซัพพอร์ตสภาพแวดล้อมสำหรับการเรียนรู้ที่ดีให้กับคุณได้
2. แสงธรรมชาติช่วยได้
งานวิจัยหลายชิ้นให้ผลสรุปไปในทิศทางเดียวกันว่า แสงธรรมชาติ (Natural Light) ช่วยเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้และกักเก็บข้อมูลได้ เพราะแสงมีผลกระทบต่อความกระตือรือร้นและ Productivity ของเรา
มีหนึ่งการศึกษาที่ไปติดตามเด็กอเมริกันระดับประถมจำนวน 21,000 คน เป็นระยะเวลากว่าหนึ่งปีการศึกษา พบว่า เด็กที่ได้รับแสงแดดระหว่างเรียน สามารถอ่านหนังสือได้ดีกว่าเด็กที่นั่งเรียนในห้องที่ไม่ค่อยได้รับแสงแดดถึง 26% และมีผลการเรียนด้านคณิตศาสตร์ดีกว่าถึง 20% เลยทีเดียว
แต่ถึงแม้ไม่มีโอกาสนั่งเรียนในแสงธรรมชาติก็ไม่เป็นไร แสงเทียมจากหลอดไฟที่ให้แสงสีฟ้าก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรับรู้ได้เช่นกัน เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับแสงในความยาวคลื่นต่าง ๆ คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะตื่นตัวและง่วงนอนน้อยลงเมื่อได้รับแสงสีฟ้า (Blue Light) ซึ่งมักจะอยู่ในแสงแดด, หลอดไฟ LED แบบ Full-Spectrum และจอดิจิทัลทั้งหลาย
ฉะนั้น ใครที่กำลังเรียนออนไลน์ใต้ไฟส้มสลัวอยู่ล่ะก็…อาจจะถึงเวลาแล้วที่คุณต้องตัดใจเปลี่ยนหลอดไฟใหม่ เพื่อคุณภาพการศึกษาที่ดีของตัวคุณเอง
3. ตกแต่งพื้นที่ด้วยโทนสีเขียว ม่วง น้ำเงิน
ในการจัดพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ ต้องคำนึงถึง ‘สี’ ที่ใช้ในการตกแต่งด้วย เพราะสีแต่ละโทนส่งผลต่ออารมณ์ที่แตกต่างกันไปอย่างมีนัยสำคัญ
ตัวอย่างเช่น สีเขียว ช่วยให้มีสมาธิ รู้สึกผ่อนคลายและจิตใจสงบมากขึ้น ส่วนสีม่วงและน้ำเงินมีแนวโน้มที่ช่วยให้รู้สึกสมดุลและจรรโลงใจ สีเหล่านี้จึงเป็นสีที่ควรใช้ในการตกแต่งสถานที่เรียนมากที่สุด ในขณะที่โทนสีแดงนั้นไปกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวลและกระสับกระส่าย จึงเป็นกลุ่มสีที่ควรเลี่ยงที่สุด
หากยังไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไรดี ลองทาโทนสีกลาง (Neutral Colors) เช่น ครีม เทา น้ำตาล ลงบนกำแพงห้องที่ใช้เรียน แล้วประดับด้วยเฟอร์นิเจอร์หรือของตกแต่งที่้มีสีสัน แน่นอนว่าต้องเป็นกลุ่มสีที่ส่งผลด้านบวกต่ออารมณ์เข้าไป เพียงเท่านี้คุณก็จะมีห้องเรียนส่วนตัวที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ให้มีคุณภาพมากขึ้นแล้ว
แต่อย่าเผลอตกแต่งมากเกินไป จนดึงสมาธิและทำให้คุณว่อกแว่กตอนเรียนแทนล่ะ
4. ทุกสิ่งที่วางระเกะระกะอยู่ เคลียร์ซะ!
โต๊ะรก ๆ และไม่มีระเบียบอาจทำให้คุณว่อกแว่กจากการเรียนได้ ไม่ว่าจะเป็นการหาเอกสารที่ต้องการไม่เจอ หรือได้กลิ่นเหม็นของอาหารเก่า
ซึ่งการดูแลบริเวณที่คุณใช้เรียนหรือทำงานให้สะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยนั้น ช่วยให้คุณเรียนที่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะจะสามารถโฟกัสสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้ดียิ่งขึ้น มีจิตใจที่สงบขึ้น และแน่นอนว่าจะรู้สึกดีที่ได้นั่งโต๊ะสะอาด ๆ ปราศจากจานข้าวหรือแก้วน้ำใช้แล้วให้กวนใจ
อาจเริ่มจากการหาเวลาช่วงเช้าก่อนเริ่มเรียนหรือตอนกลางคืนก่อนเข้านอน จัดระเบียบพื้นที่ที่คุณใช้เรียน และทำสม่ำเสมอให้มันกลายเป็นกิจวัตรให้ได้ พยายามวางสิ่งของจำเป็นสำหรับการเรียนไว้ใกล้ตัวในระยะที่เอื้อมถึง เช่น ชีท ปากกา กระดาษโน้ต เพื่อประหยัดเวลาในการหาของ
และอาจถึงเวลาที่ต้องหาหนังสือการจัดบ้านแบบมาริเอะ คนโดมาอ่านสักเล่มแล้วล่ะ
5. กำจัดสิ่งที่จะทำให้ว่อกแว่กออกไปให้หมด
หากต้องการมีสภาพแวดล้อมสำหรับการเรียนในบ้านที่ดี สิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ ที่ควรทำคือการระบุให้ได้ว่าอะไรที่สามารถเบี่ยงเบนความสนใจของคุณไปจากการตั้งใจเรียนได้บ้าง ซึ่งสิ่งล่อใจเหล่านี้มีหลายรูปแบบ รวมถึงสัตว์เลี้ยง เสียงทีวี อาหาร สมาชิกในครอบครัว เพลงที่มีเนื้อร้องเยอะ ๆ
และที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือสมาร์ตโฟน
แม้สมาร์ตโฟนจะเป็นแหล่งข้อมูลชั้นเยี่ยมและช่วยอัปเดตคุณให้ทันโลกได้ แต่มันก็เป็นอุปสรรคอันใหญ่หลวงสำหรับการเรียนเช่นกัน เพราะการอดทนต่อความอยากเข้าโซเชียลมีเดียไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, Twitter หรือ YouTube ก็เป็นอะไรที่ยากซะเหลือเกิน
เมื่อทราบแล้วว่าอะไรบ้างที่น่าจะรบกวนเวลาเรียนของเรา ขั้นต่อไปคือการพยายามอยู่ห่างจากสิ่งเย้ายวนใจเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด อาจเริ่มจากการปิดประตูห้องไม่ให้น้องหมาน้องแมวเข้ามาป้วนเปี้ยนได้ ปิดทีวี ไม่กินขนมจุบจิบ คุยกับคนที่บ้านให้เข้าใจตรงกันว่าจะขอเวลาเรียนแบบไม่มีใครรบกวนสักหนึ่งชั่วโมง และอย่าลืมห้ามใจไม่ให้คว้าโทรศัพท์มาเช็กด้วย!
หากควบคุมปัจจัยทั้งหมดได้ โอกาสที่คุณจะโฟกัสกับสาระความรู้ตรงหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะมากขึ้นอย่างแน่นอน
6. ลองฟังเพลงก่อนเริ่มเรียนดูสิ
การฟังเพลงขณะเรียน ให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน ซึ่งการฟังเพลงคลอเพื่อสร้างบรรยากาศและอารมณ์ หรือที่เรียกว่าแบ็กกราวด์มิวสิก ‘ก่อน’ เริ่มเรียนนั้น จะช่วยเพิ่มการทำงานของสมองด้านกระบวนการรู้คิด (Cognitive Process) เช่น สมาธิ ความทรงจำ และการประมวลผลได้ ด้วยกลไกระบบประสาทที่ไปเพิ่มสภาวะตื่นตัวและอารมณ์ด้านบวกของเรา
แต่หากฟังเพลงทั่วไปในขณะที่เรียน อาจส่งผลให้คุณจดจำข้อมูลได้น้อยกว่าการไม่เปิดเพลงด้วยซ้ำ เพราะการเปลี่ยนเนื้อร้องและโน้ตเพลงไปมาจะทำให้สมองสับสน (แม้จะเป็นเพลงโปรดก็ไม่ช่วย!)
การเปิดเพลงระหว่างเรียนหรืออ่านหนังสือ จึงขึ้นอยู่กับประสิทธิผลในแต่ละบุคคลมาก ๆ ฉะนั้นลองฟังเพลงหลากหลายประเภทดู คุณอาจพบว่าเพลงที่ส่งผลดีกับคุณอาจเป็นแนวที่คุณไม่เคยฟังมาก่อน อาจเป็น White Noise อย่างเสียงธรรมชาติ เสียงฝน เสียงป่าไม้ หรืออาจเป็นความเงียบ ที่ช่วยให้คุณตั้งสมาธิ ผ่อนคลาย และสามารถเรียนได้ดีที่สุดก็เป็นได้
7. ขอแรงซัพพอร์ตจากครอบครัว
การสนับสนุนจากครอบครัวเป็นปัจจัยที่หลายคนมองข้าม เมื่อสมาชิกในครอบครัวต้องเรียนหรือทำงานออนไลน์ที่บ้านมากขึ้น สิ่งสำคัญคือ การพูดคุยให้เข้าใจตรงกันก่อนว่าแต่ละคนต้องการอะไร ตัวอย่างเช่น ต้องการพื้นที่ส่วนตัวมากน้อยขนาดไหน โอเคหรือไม่ถ้าแม่วานไปทำธุระขณะเรียน วันนี้ใครจะทำงานบริเวณใดของบ้านบ้าง เพื่อที่ทุกคนในบ้านจะสามารถโฟกัสไปที่งานของตัวเองได้ตลอดวันในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
นอกจากนี้ เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการพูดให้กำลังใจ ทำธุระ หรือเตรียมมื้ออาหารให้ ก็สามารถสร้างทั้งพลังบวกและสร้างเวลาว่าง ให้เราสามารถเรียนออนไลน์ได้มากขึ้นอีกด้วย
แต่ละคนสามารถมีพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตัวเองมากกว่า 1 แบบ ซึ่งอาจจะแตกต่างไปตามเนื้อหาที่เรียน ความยากง่ายของงานที่ทำ หรือปัจจัยอื่น ๆ เราจึงต้องทดลองปรับแต่งบ้านไปเรื่อย ๆ เพื่อหาสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของเราให้ได้มากที่สุด และเมื่อพบจุดสมดุลแห่งการเรียนรู้ของตัวเองแล้ว ก็มั่นใจได้เลยว่าผลลัพธ์ด้านการศึกษา สุขภาพกายและใจ รวมถึงความเป็นอยู่ของคุณ จะเป็นที่น่าพึงพอใจกว่าเดิมแน่นอน