ดร.ไมเคิล บรูส (Dr. Michael Breus) นักจิตวิทยาคลินิกชาวอเมริกัน เขียนอธิบายไว้ในหนังสือ The Power of When พลังแห่งเมื่อไหร่ ว่าทุกคนมีนาฬิกาชีวภาพหลักที่คอยส่งเสียงติ๊กต่อกบอกเวลาอยู่ในสมอง และมีนาฬิกาชีวภาพจิ๋วอีกมากมายอยู่ทั่วร่างกาย ที่มีจังหวะเดินและบอกเวลาแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
ร่างกายของเราถูกตั้งโปรแกรมมาให้ทำงานบางอย่างได้ดีที่สุดในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมบางคนถึงตื่นเช้าได้โดยไม่ต้องกดปุ่ม Snooze เลย หรือทำไมบางคนสามารถทำงานได้อย่าง Productive ในเวลากลางคืนมากกว่าเวลากลางวัน
ซึ่งดร.บรูส ได้แบ่งประเภทการทำงานของนาฬิกาชีวภาพตามบุคลิกลักษณะของคนออกเป็น 4 แบบ เรียกว่า Chronotype โดยอิงจากลักษณะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 4 ชนิด ได้แก่ โลมา สิงโต หมี และหมาป่า
หากทุกคนเข้าใจและรู้จักลักษณะนาฬิกาชีวภาพของตัวเองเป็นอย่างดี รู้ว่าเมื่อไหร่คือเวลาที่เหมาะสมในการทำสิ่งต่างๆ และทำกิจกรรมนั้นๆ ไปตามจังหวะเวลาของมัน ก็จะทำให้ฟังก์ชันของร่างกายดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
รวมถึงการทำงานด้วย!
เมื่อปี 2011 มีกลุ่มนักจิตวิทยาจาก Michigan State University และ Albion College ในสหรัฐอเมริกา ได้ทำการวิจัยกลุ่มตัวอย่าง โดยให้พวกเขาแก้ปัญหาที่ต้องอาศัยวิเคราะห์และความเข้าใจเชิงลึก ในช่วงเวลาที่แตกต่างกันไปของวัน
ผลลัพธ์คือ กลุ่มตัวอย่างสามารถแก้ไขปัญหาที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้ดียิ่งขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม (Non-optimal Time) อย่างขณะที่เหนื่อยและอ่อนเพลีย และสามารถแก้ไขปัญหาเชิงวิเคราะห์ ในช่วงเวลาที่เหมาะสม (Optimal Time) อย่างขณะที่ตื่นตัวเต็มที่ได้ดี
นักวิจัยจึงสรุปว่าความคิดเชิงวิเคราะห์และความคิดเชิงสร้างสรรค์ทำงานตามนาฬิกาชีวภาพของแต่ละคน หากเราจำแนกประเภทของปัญหาได้ คิดแก้ไขตามประเภทและตามเวลาของมัน จะช่วยให้ได้คำตอบที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิม
แต่ไม่ใช่แค่เรื่องการแก้ไขปัญหาเท่านั้นที่การเข้าใจ Chronotype จะช่วยพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานเราได้ เรื่องอื่นอย่างการโทรหาลูกค้า การส่งอีเมล การไปสัมภาษณ์งาน การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การตัดสินใจ การท่องจำ หรือแม้แต่การพรีเซนต์ไอเดีย ก็สามารถพัฒนาได้ตามลักษณะนาฬิกาชีวภาพของแต่ละคนเช่นกัน
เพราะฉะนั้น มาดูกันดีกว่าว่าคนประเภท โลมา สิงโต หมี และหมาป่า เหมาะที่จะทำงาน Task ต่างๆ ในช่วงเวลากี่โมงบ้าง!
(สามารถทำแบบทดสอบเพื่อหาคำตอบว่าเราเป็น Chronotype ไหนได้ ในหนังสือ The Power of When: พลังแห่งเมื่อไหร่ และบนเว็บไซต์ thepowerofwhenquiz.com)
โลมา (Dolphin)
มีประมาณ 10% ของประชากร คนกลุ่มโลมามักเป็นคนหลับไม่ลึกและตื่นง่าย เพียงแค่มีเสียงหรือสิ่งรบกวนเล็กน้อยเกิดขึ้นก็ตื่นแล้ว ไม่ค่อยง่วงนอนตามเวลา รวมถึงมีปัญหาการตื่นกลางดึกหลายครั้งใน 1 คืน ทำให้ร่างกายได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอ คนกลุ่มนี้จึงตื่นนอนด้วยความรู้สึกไม่ค่อยสดชื่น และจะรู้สึกอ่อนเพลียไปจนถึงตอนเย็น โดยจะตื่นตัวมากที่สุดในช่วงกลางดึก และ Productive มากตลอดวัน
เวลาที่ดีที่สุดในการทำงานต่างๆ ของคนแบบ โลมา
- โทรหาลูกค้า 16:00-18:00 น.
- ส่งอีเมล (งาน) 16:00-18:00 น. / (ส่วนตัว) 09:00-12:00 น.
- สัมภาษณ์งาน 11:00 น.
- เรียนรู้สิ่งใหม่ 15:00-21:00 น.
- ตัดสินใจ 16:00-23:00 น.
- นำเสนอไอเดีย 16:00-16:20 น.
- ระดมสมอง 05:00-08:00 น. และ 14:00-16:00 น.
สิงโต (Lion)
มีประมาณ 15-20% ของประชากร คนกลุ่มสิงโตมักตื่นนอนแบบตาสว่างตั้งแต่รุ่งเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น และหิวทันทีเมื่อตื่น ทำให้เริ่มรู้สึกอ่อนเพลียเร็วตั้งแต่ช่วงบ่ายแก่ๆ แต่ไม่งีบระหว่างวัน ส่วนตอนกลางคืนจะง่วงนอนเร็วและนอนหลับง่าย โดยจะตื่นตัวมากที่สุดในช่วงกลางวัน และ Productive มากที่สุดในช่วงเช้า
เวลาที่ดีที่สุดในการทำงานต่างๆ ของคนแบบ สิงโต
- โทรหาลูกค้า 08:00-10:00 น.
- ส่งอีเมล (งาน) 07:00 และ 10:00-12:00 น. / (ส่วนตัว) 15:00-17:00 น.
- สัมภาษณ์งาน 09:00 น.
- เรียนรู้สิ่งใหม่ 08:00-12:00 น.
- ตัดสินใจ 06:00-11:00 น.
- นำเสนอไอเดีย 10:00-10:20 น.
- ระดมสมอง 04:00-06:00 น. และ 20:00 – 22:00 น.
หมี (Bear)
ประมาณ 50% ของประชากร คนกลุ่มหมีมีรูปแบบการนอนหลับตามการขึ้น-ตกของพระอาทิตย์ มักตื่นด้วยความมึนงงและจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมงในการตื่นเต็มที่ในตอนเช้า และจะเริ่มรู้สึกเหนื่อยหรือง่วงตั้งแต่ช่วงเย็น เป็นคนหลับง่าย หลับลึก ร่างกายต้องการการนอนหลับอย่างน้อย 8 ชั่วโมงเต็ม โดยจะตื่นตัวมากที่สุดในช่วงสายไปจนถึงก่อนบ่าย และ Productive มากที่สุดในช่วงสาย
เวลาที่ดีที่สุดในการทำงานต่างๆ ของคนแบบ หมี
- โทรหาลูกค้า 16:00-18:00 น.
- ส่งอีเมล (งาน) 10:00-14:00 น. / (ส่วนตัว) 16:00-18:00 น.
- สัมภาษณ์งาน 10:00 น.
- เรียนรู้สิ่งใหม่ 10:00-14:00 น.
- ตัดสินใจ 15:00-23:00 น.
- นำเสนอไอเดีย 13:40-14:00 น.
- ระดมสมอง 06:00-08:00 น. และ 21:00-23:00 น.
หมาป่า (Wolf)
ประมาณ 15-20% ของประชากร คนกลุ่มหมาป่ามักประสบปัญหาในการตื่นนอนก่อน 9 โมงเช้า และจะมึนงงไปจนถึงตอนกลางวัน แต่หลังจากนั้นจะไม่รู้สึกง่วงหรืออ่อนเพลียไปจนถึงเที่ยงคืน (หรือช้ากว่านั้น) โดยจะตื่นตัวมากที่สุดในช่วงหนึ่งทุ่ม และ Productive มากที่สุดในช่วงสายและช่วงค่ำ
เวลาที่ดีที่สุดในการทำงานต่างๆ ของคนแบบ หมาป่า
- โทรหาลูกค้า 16:00-18:00 น.
- ส่งอีเมล (งาน) 16:00-19:00 น. / (ส่วนตัว) 10:00-12:00 น.
- สัมภาษณ์งาน 12:00 น.
- เรียนรู้สิ่งใหม่ 17:00-24:00 น.
- ตัดสินใจ 17:00-24:00 น.
- นำเสนอไอเดีย 17:00-17:20 น.
- ระดมสมอง 07:00-09:00 น. และ 22:00-01:00 น.