Active Learning หรือการจัดการเรียนรู้เชิงรุก คือกระบวนการเรียนการสอนที่ส่งเสริมผู้เรียนให้มีส่วนร่วม ตั้งแต่การคิด ถกเถียงแลกเปลี่ยน สำรวจ จนถึงสร้างสรรค์ โดยผู้เรียนจะได้ฝึกทักษะต่างๆ ตั้งแต่การแก้ปัญหา การหาคำตอบให้คำถามที่ซับซ้อน จนถึงการตัดสินใจ
Active Learning เริ่มต้นที่ห้องเรียน แต่ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น ในที่ทำงาน เรายังสามารถนำ Active Learning มาใช้ได้ โดยหนึ่งในประโยชน์ที่น่าสนใจของ Active Learning คือ การช่วยสร้างสรรค์นวัตกรรม
Cutis Carlson อดีต CEO ของ SRI International ที่สร้างนวัตกรรมอย่าง Siri และ HDTV เอาไว้ ระบุว่า วิธีที่เขาใช้สร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลกเหล่านี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ Active Learning โดยเน้นไปที่ คุณสมบัติของ Active Learning 5 ข้อด้านล่างนี้
1.การทำซ้ำไปพร้อมกับการได้ Real-Time Feedback
ระหว่างพยายามที่จะสร้างสรรค์ การทำซ้ำถือเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ และการทำซ้ำเหล่านี้จะมีประสิทธิผลสูงสุดเมื่อมาพร้อมกับการให้ real-time feedback จากผู้เชี่ยวชาญที่สามารถตีกรอบใหม่ให้กับปัญหาและชี้แนะทางแก้ปัญหาที่มีศักยภาพได้
แน่นอนว่า การพัฒนาไอเดียธุรกิจใหม่ๆ นั้นต่างจากการเรียนเปียโน เราระบุที่มาของ input ไม่ได้และมันอาจมาจากหลายแหล่ง ดังนั้นแทนที่จะมีความสัมพันธ์แบบอาจารย์กับลูกศิษย์ กระบวนการนี้จะทำให้คนที่จะสร้างนวัตกรรมปรับแต่งไอเดียและมองหา feedback จากหลายทาง เช่น ผู้เชี่ยวชาญ คู่แข่ง และที่สำคัญที่สุดคือลูกค้า feedback ที่ดีจะโฟกัสที่การตอบ insight สำคัญ 1-2 อย่าง ซึ่งนำไปสู่ความต้องการของลูกค้าและทางแก้ปัญหาที่เป็นไปได้
2.มี Mental Model ที่สั้นกระชับ
นักจิตวิทยายืนยันว่า เราทุกคนมีการสร้าง “Mental Models” หรือรูปแบบความเข้าใจในหัวที่ช่วยให้เราเข้าใจประสบการณ์ที่เจอและช่วยตัดสินใจ Mental Models เกิดขึ้นจากสิ่งต่างๆ อย่างความเชื่อและประสบการณ์ของเรา เป็นรูปแบบความเข้าใจที่ช่วยให้เรารู้ได้ทันทีว่าสิ่งที่เจอซ้ำอีกรอบนี้คืออะไร โดยสมองไม่ต้องประมวลผลใหม่ทุกครั้ง เช่น เมื่อเห็นยางลบ เราก็รู้ได้ทันทีว่าสิ่งนี้คืออะไร ต้องใช้งานอย่างไร
ใน Active Learning เราใช้โมเดลเหล่านี้เพื่อวิเคราะห์ความเชื่อ insight และสมมติฐานต่างๆ แล้วสร้างสมมติฐานใหม่ที่ใช้ได้ขึ้นมาจากสิ่งเหล่านั้น หลังจากนั้น เราสามารถทดสอบสมมติฐานใหม่เหล่านี้กับหลักฐานต่างๆ ที่รวบรวมมา และถ้าได้รับอนุญาต ก็สามารถแก้ไขสมมติฐานเหล่านั้นได้
สิ่งสำคัญคือ mental models ที่ใช้เพื่อไกด์การสืบค้นข้อมูลเบื้องต้นนั้นต้องเคารพข้อจำกัดของผู้ที่ใช้มัน ผลสำรวจระบุว่า ในความทรงจำระยะสั้น เราจำเรื่องต่างๆ ได้แค่ 7 เรื่อง และคิดได้แค่ 3-4 เรื่องในเวลาเดียวกันเท่านั้น ถ้าผู้ที่สร้างนวัตกรรมใช้ mental model ที่ยาวนานหรือซับซ้อนเกินไป พวกเขาจะไม่สามารถเข้าใจหลักฐานได้ง่าย หรือไปสู่สมมติฐานที่ดีกว่าได้เร็ว แต่ถ้า mental model ของเขาสั้นกระชับ มันจะกลายเป็นองค์ความรู้ที่นำมาใช้ได้เกือบจะอัตโนมัติ
3.มีสไตล์ในการเรียนรู้ที่หลากหลาย
Active Learning นั้นหมายความรวมถึงการมีวิธีนำเสนอและทดลองไอเดียที่หลากหลาย การใช้ภาพหรือ prototype สามารถทำให้ไอเดียของเรามีชีวิต เน้นให้เห็นแง่มุมต่างๆ ของปัญหา และท้าทายความคิดของผู้คนเกี่ยวกับทางออกที่เป็นไปได้ ขณะที่การเล่าเรื่องนั้นมีประสิทธิภาพเพราะมันช่วยสร้างบริบทให้กับ mental model ของเรา ผลวิจัยบอกไว้ว่า เรื่องราวช่วยให้คนจดจำข้อมูลและปรับปรุงความเชื่อ สมมติฐาน และทฤษฎีของพวกเขาได้
4.Always Teamwork
การมี Teamwork นั้นช่วยเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ได้มากทีเดียว ผลสำรวจวิจัยเผยว่า จำนวนที่เหมาะสมสำหรับ Business Team ควรมีขนาดไม่เกิน 5 คน เพราะเป็นจำนวนที่ช่วยให้มีความหลากหลายทั้งด้านมุมมองและทักษะ เล็กพอที่จะป้องกันความแตกแยก ลดต้นทุนการสื่อสารและความเสี่ยงที่จะสื่อสารผิดพลาด Value Creation นั้นเป็นกิจกรรมที่ต้องการความร่วมมือสูงและต้องการความรู้ที่หลากหลาย ไม่มีทางที่ใครคนใดคนหนึ่งจะมีทั้งความรู้ mental model และ insight ที่งานต้องการแบบครบถ้วน นั่นหมายความว่าสมาชิกแต่ละคนในทีมต้องนำความรู้ความสามารถและประสบการณ์สำหรับงานของเขามา เป้าหมายคือการมีทีมที่สมาชิกที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน แต่มีทักษะที่ส่งเสริมกัน และมีมุมมองที่หลากหลาย
5.เปรียบเทียบให้บ่อย
การเปรียบเทียบคือวิธีที่เราจะรู้ว่าเราชอบอะไรและตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกร้านอาหาร หรือกระทั่งการเลือกรถคันใหม่ ผลวิจัยระบุว่า การเปรียบเทียบของที่เหมือนกัน 2 อย่าง แบบตรงไปตรงมาและรวดเร็วจะช่วยขยายรายละเอียดเล็กๆ ให้เด่นชัดขึ้นมาก ตัวอย่างเช่น เมื่อเราไปตัดแว่น จักษุแพทย์จะให้คุณทดสอบสายตากับเลนส์ที่มีค่าสายตาต่างกัน ทำให้คุณเปรียบเทียบเลนส์ได้เร็ว และช่วยให้หมอสามารถเลือกเลนส์ที่ถูกต้องกับคุณได้
และทั้งหมดนี้คือ 5 องค์ประกอบของ Active Learning ที่เราสามารถหยิบมาใช้ในการทำงานเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นในองค์กรได้
การันตีโดยผู้สร้าง Siri ที่ใช้มาเองกับมือ
อ้างอิง :
- https://hbr.org/2020/11/innovation-for-impact
- https://hbsp.harvard.edu/inspiring-minds/5-active-learning-principles-that-saved-sri-international
- https://teaching.cornell.edu/fall-2020-course-preparation/active-collaborative-learning/active-learning
- https://blockfint.com/blog/mental-models-important-thing-that-ux-ui-designer-should-know
- http://academic.obec.go.th/images/document/1603180137_d_1.pdf