การเรียนรู้สิ่งใหม่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิต แต่การเรียนนั้นต้องใช้เวลา และแน่นอนว่าเวลาคือสิ่งสำคัญมากของเราทุกคน
ถ้าอย่างนั้น ทำอย่างไรที่เราจะเรียนรู้ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่สุด?
ลองมาดู 10 เทคนิคที่ช่วยให้เราเรียนเร็ว จำเก่งข้างล่างนี้กัน
1.จดโน้ตด้วยปากกาและกระดาษ
จากผลสำรวจพบว่าคนที่เลกเชอร์ด้วยปากกาและกระดาษ สามารถเข้าใจและเรียนรู้เนื้อหาได้ดีกว่าคนที่ใช้วิธีพิมพ์ในแล็ปท็อป แม้ว่าการพิมพ์จะทำได้เร็วกว่าการเขียน แต่นั่นไม่ได้ช่วยให้สมองจดจำข้อมูลได้ดีเท่าไรนัก กลับกันยิ่งทำให้จำเนื้อหาได้ช้ากว่า เพราะการพิมพ์ที่ง่ายและเร็ว ทำให้เราอยากจะพิมพ์ทุกประโยคลงไป โดยไม่ได้พยายามย่อยเนื้อหาให้เป็นภาษาของเราเอง ในขณะที่การใช้ปากกาจดเลกเชอร์ เราจะพยายามจดในภาษาของเรา หรือย่อยคำยากๆให้ตัวเองเข้าใจง่ายๆในภายหลัง ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้สมองรับรู้ข้อมูลไปพร้อมๆกับการเขียนนั่นเอง
2.ใช้วิธีจดโน้ตที่เวิร์ก
ยิ่งจดโน้ตได้เก่งแค่ไหน ก็ยิ่งเรียนรู้ได้เร็วขึ้นเท่านั้น เพราะสิ่งสำคัญที่ทำให้เราเข้าใจเนื้อหาได้ดี ก็คือขั้นตอนที่เราสรุปเนื้อหาให้ตัวเองเข้าใจมากที่สุดนั่นเอง บางคนอาจเรียนโดยไม่ต้องจดโน้ตก็เข้าใจ แต่ในระยะยาวแล้ว การจดโน้ตจะช่วยให้เราเข้าใจเนื้อหานั้นๆ อย่างลึกซึ้งและจดจำสาระสำคัญได้ดีกว่า เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะเรียนเนื้อหาใหม่ ลองจดโน้ตด้วยวิธีที่หลากหลาย แล้วดูว่าแบบไหนที่เวิร์คกับเราที่สุด ซึ่งพอจะมีเทคนิคให้การจดโน้ตได้ผล ก็คือ
- สรุปให้เป็นภาษาของตัวเอง ไม่ใช้วิธีลอกคำพูดลงไป
- เหลือพื้นที่ว่างเอาไว้สำหรับจดโน้ตเพิ่มเติม หากมีข้อมูลใหม่เมื่อกลับมาอ่านอีกครั้ง
- ใช้คำย่อหรือสัญลักษณ์ที่เราเข้าใจเพื่อประหยัดเวลาในการจดโน้ตและทำให้จดได้ลื่นไหล
- จดเป็นคำหรือวลีที่อ่านแล้วก็เข้าใจ ไม่จำเป็นต้องจดให้เป็นประโยคสมบูรณ์
- พยายามจดแค่ Main Idea หรือสาระสำคัญเท่านั้น อะไรที่ไม่สำคัญก็ไม่จำเป็นต้องจด
3.เว้นช่วงก่อนทบทวนสิ่งที่เรียน
เมื่อเราอยากเรียนอะไรสักอย่างให้ดี การทบทวนหรือฝึกฝนในเวลาที่ถูกต้องนั้นเป็นสิ่งจำเป็น วิธีที่น่าลองคือ Distributed practice หรือการทบทวนบทเรียนหลังจากเรียนไปแล้วระยะหนึ่ง ไม่ใช่ทบทวนเลยทันที ซึ่งวิธีนี้มีประโยชน์สำหรับการเรียนรู้แบบ long-term
4.นอนให้พอ
การนอนสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากในวันรุ่งขึ้นคุณต้องมีพรีเซนท์ในคลาสเรียน และไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนล่วงหน้า คุณเหลือเวลาแค่คืนนี้เท่านั้น จึงต้องทำสไลด์ทั้งหมดภายในคืนนี้โดยที่ยังไม่ได้นอน เพื่อให้วันรุ่งขึ้น ต้องออกไปพรีเซนท์ด้วยความไม่พร้อมและฉุกละหุก ซึ่งต้องบอกว่านั่นไม่ใช่วิธีที่ดีอย่างแน่นอน ทั้งไม่ดีต่อการเรียนและไม่ดีต่อสุขภาพ
จากงานศึกษาวิจัยพบว่า การนอนและการเรียนเป็นสองสิ่งที่ควบคู่กัน หากนอนดีก็ส่งผลให้เรียนได้ดีตามไปด้วย พูดง่ายๆก็คือแค่เพียงเราปิดตา พักสมองและพักผ่อนอย่างเต็มที่ ก็เป็นการเพิ่มพลังให้สมองจดจำข้อมูลและกระตุ้นความเข้าใจได้มากขึ้นแล้ว โดยเฉพาะการหลับลึกแบบไม่มีการกรอกตา (non-rapid-eye-movement sleep) เป็นเวลา 12 ชั่วโมง ช่วยให้สมองส่วนความจำทำงานได้ดีขึ้น พร้อมจดจำข้อมูลใหม่ๆได้ดีกว่าคนที่นอนน้อย และคนที่นอนพอ นอกจากผลการเรียนจะดีขึ้นแล้วก็พบว่ามีความสุขมากกว่าอีกด้วย
5.ปรับวิธีฝึกฝนแต่ละครั้งให้ต่างจากเดิมเล็กน้อย
หากอยากเรียนให้ได้ผล อย่าใช้วิธีเรียนแบบเดียวแบบเดิมไปตลอด พยายามปรับรูปแบบหรือสไตล์ในการเรียนรู้ไปเรื่อยๆ วิธีนี้ช่วยให้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้เร็วขึ้น เพราะหากเราทำอะไรเดิมๆไปตลอด มันจะสร้างความเคยชิน ซึ่งทำให้เราทำไปด้วยความคุ้นเคยแต่ไม่ได้ทำไปด้วยความตื่นเต้นที่ได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า คนที่เรียนอะไรแบบเดียวและทำแบบนั้นไปตลอดจะไม่ได้ใช้ความคิด และไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่เลย แต่คนที่ปรับรูปแบบการเรียนและการฝึกฝนของตัวเองไปทีละนิด มีความเข้าใจมากกว่าและเรียนรู้ได้ดีกว่า
6.ใช้เทคนิคช่วยจำ
เวลาเรียนอะไรยากๆหรือเนื้อหาเยอะๆ วิธีที่ดีในการเข้าใจเนื้อหาให้เร็วคือ ใช้เทคนิคหรือตัวช่วยในการจำ ที่ไม่ใช่แค่การท่องจำธรรมดา เช่น การใช้คีย์เวิร์ด, จัดหมวดหมู่คำ, จำเป็นเพลง, จำเป็นตัวย่อ (แบบ ABC), จำเป็นคำคล้องจองหรือกลอน หรือจำเป็นลำดับ
อย่างเช่น เพลง ABC สำหรับเด็กอนุบาลเพื่อเรียนไวยากรณ์อังกฤษนั้นทำให้เด็กจำพยัญชนะทั้ง 26 ตัวได้ และถึงทุกวันนี้เราก็ยังคงจดจำทำนองนั้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งวิธีนี้ก็ได้ผลสำหรับผู้ใหญ่เช่นกัน โดยเฉพาะคนที่ต้องเรียนอะไรที่ใช้การจำข้อมูลเยอะ ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ นักกฎหมาย หรือคนที่ต้องการเรียนรู้ภาษาใหม่ การใช้เทคนิคและตัวช่วย จะทำให้จดจำข้อมูลได้ง่ายขึ้นและเชื่อมโยงความรู้ความเข้าใจของตัวเองได้มากขึ้นด้วย
7.สลับไปทำกิจกรรมอื่นให้สมองได้พัก
วิธีที่ดีที่สุดเมื่อต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ คือตอนที่หัวโล่งๆ และไม่เต็มไปด้วยข้อมูลที่เยอะเกินไป เพราะยิ่งเรามีข้อมูลในหัวมากเท่าไหร่ จะยิ่งเกิดเป็นความเครียด ซึ่งจะขัดขวางการทำงานของสมองในส่วนจดจำข้อมูลมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่เรารู้สึกสับสน เครียด วิตกกังวล หรือท่วมท้นไปด้วยข้อมูล สมองของเราจะส่งสัญญาณว่าให้ “Shut down” และหากเราพยายามอัดข้อมูลเข้าไป สมาธิก็จะยิ่งหลุดลอยและขาดโฟกัสมากขึ้นไปอีก
หากต้องการกลับมาโฟกัสได้อีกครั้ง วิธีที่แนะนำก็คือ แบ่งช่วงเวลาให้สมองได้พักบ้าง (Brain Break) หรืออาจจะเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอย่างอื่นที่ผ่อนคลาย เพียงแค่ช่วงสั้นๆประมาณ 5-10 นาที ก็พอจะทำให้ความเครียดหายไป และกลับมาโฟกัสบทเรียนได้ดีขึ้นแล้ว
8.ดื่มน้ำ
ทุกคนรู้ว่าการดื่มน้ำนั้นมีประโยชน์และดีต่อสุขภาพ แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่าการดื่มน้ำบ่อยๆนั้นดีต่อสมองสำหรับการรับรู้และจดจำข้อมูลด้วย ซึ่งเป็นการเพิ่มความชุ่มชื้นให้ร่างการ ส่งผลต่อความตื่นตัวและกระฉับกระเฉง ทำให้มีเรี่ยวแรงและพลังงานในการเรียนได้ดีขึ้น ซึ่งก็มีผลสำรวจที่พบว่า นักเรียนที่นำน้ำดื่มเข้าไปดื่มในห้องสอบ มักจะมีผลคะแนนที่ดีกว่านักเรียนที่ไม่ได้นำน้ำดื่มเข้าไปอย่างมีนัยสำคัญ
9.เรียนรู้ผ่านหลายช่องทาง
พยายามเรียนรู้จากหลายช่องทาง หาแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม หรือใช้วิธีเรียนที่หลากหลาย ไม่ยึดติดกับรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพราะยิ่งเรามีวิธีรับความรู้ที่หลากหลายก็จะยิ่งเชื่อมโยงความเข้าใจของเรากับเนื้อหาได้ดีขึ้น และเพิ่มพื้นที่สมองในการจดจำข้อมูลได้มากขึ้นด้วย วิธีนี้ช่วยให้ข้อมูลนั้นอยู่ในหัวของเราโดยที่ไม่ใช่แค่การท่องจำ ซึ่งคุณสามารถทำได้หลายวิธี เช่น อ่านจากหนังสือ, ดูจากคลิปวีดีโอ หรือฟังจากพอดแคสท์ ยิ่งรับรู้ข้อมูลจากหลากหลายช่องทางมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเรียนรู้ได้เร็วขึ้นเท่านั้น
10.เชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิมที่มี
และเทคนิคสุดท้ายคือ เชื่อมโยงเนื้อหาที่เรียนกับสิ่งที่เราเข้าใจแล้ว ยิ่งเชื่อมโยงเนื้อหาใหม่ๆได้มากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งเรียนรู้ได้เร็วขึ้นและจำได้ดีขึ้นเท่านั้น และการมีความจำที่ดีก็ช่วยให้เราสามารถแก้ปัญหายากๆที่เราไม่เคยเจอมาก่อนได้ โดยการนึกหรือเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราเข้าใจดีอยู่แล้ว ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้เข้าใจสิ่งที่เรียนได้เร็วกว่าการจำแบบธรรมดา เพราะการจำแบบธรรมดาคือการใส่ข้อมูลเข้าไป แต่การเชื่อมโยงคือการพยายามต่อยอดจากสิ่งที่เราเข้าใจดีอยู่แล้วนั่นเอง
อ้างอิง :