ในยุค Great resignation พนักงานออฟฟิศกว่า 44% กำลังเริ่มต้นมองหางานใหม่ แม้มันจะเป็นการตัดสินใจเพื่อสิ่งที่ดีกว่าในอนาคต แต่สิ่งที่ยากที่ทุกคนต้องเจอคือการบอกหัวหน้า ไม่ว่าจะบอกทางโทรศัพท์ หรือการบอกต่อหน้า
แม้ว่าคุณจะมีเหตุผลที่ดีมากแค่ไหน แต่การบอกหัวหน้าก็เป็นขั้นตอนที่น่าอึดอัดที่สุดอยู่ดี เพราะไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าเมื่อมีคนใดคนหนึ่งลาออก ภาระงานของคนอื่น ๆ ก็จะเพิ่มมากขึ้น บรรยากาศที่อึดอัดกับเพื่อนร่วมงานก็มีเข้ามามากขึ้นเช่นกัน แล้วเราจะก้าวข้ามผ่านความรู้สึกผิดนี้ได้อย่างไร มีวิธีการรับมืออย่างไรบ้างที่ทำให้การลาออกของเราเป็นมืออาชีพมากที่สุด ?
ในมุมของพนักงานแล้ว ทุกคนก็หวังว่าหัวหน้าจะเข้าใจและแสดงความยินดีกับเส้นทางใหม่ของตัวเอง แต่ความเป็นจริงคือ ปฏิกิริยาตอบสนองของหัวหน้าแต่ละคนไม่เหมือนกัน และไม่เหมือนกับที่เราคาดหวังไว้ด้วย เราจึงมีวิธีการพูดคุยกับหัวหน้าในแต่ละสถานการณ์มาแชร์ให้คุณนำไปปรับใช้ดู
หากขอลาออกแล้วหัวหน้าโกรธ
เป็นไปได้ว่าหัวหน้าอาจจะรู้สึกเหมือนถูกหักหลัง หรือกลัวภาระที่มากขึ้นหลังจากคุณออกไป และเป็นไปได้ว่าตอนนั้นคุณจะถูกสาดด้วยคำพูดจากอารมณ์โกรธชั่ววูบของเขา
ถ้าหัวหน้าคุณเป็นคนประเภทนี้ คุณต้องเตรียมการพูดที่ทำให้เขาไม่รู้สึกว่าถูกปล่อยให้เผชิญกับภาระอยู่ตัวคนเดียว อย่างเช่น “ฉันรู้ว่านี่เป็นเรื่องที่กะทันหัน แต่ฉันอยากขอบคุณสำหรับการสนับสนุนที่ผ่านมาทั้งหมดของคุณ และตำแหน่งใหม่นี้เป็นโอกาสที่ฉันไม่สามารถปล่อยผ่านไปได้ ฉันจะพยายามให้ถึงที่สุด เพื่อที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ราบรื่นที่สุด”
หากเขาพูดเรื่องแย่ ๆ เกี่ยวกับการตัดสินใจของคุณ
หัวหน้าที่รู้สึกไม่มั่นคง อาจจะแสดงออกด้วยการพูดด้านแย่ ๆ เกี่ยวกับตำแหน่งใหม่ หรือบริษัทใหม่ที่คุณกำลังจะย้ายไป และหวังว่าคุณจะเปลี่ยนใจจากการพูดของเขา (แม้มันจะไม่เคยได้ผลเลยก็ตาม)
หากคุณเจอกับสถานการณ์แบบนี้ ต้องอย่าไปโต้เถียงกับเขา และเปลี่ยนบทสนทนาด้วยการขอบคุณสำหรับคำแนะนำ และย้ำถึงความตั้งใจในเส้นทางใหม่ของตัวเอง
หากเขาข่มขู่คุณ
อีก Reaction หนึ่งที่มักจะเจอก็คือการข่มขู่จากหัวหน้า ไม่ว่าจะเป็นการเอาปัญหาในที่ทำงานไปแจ้งกับบริษัทใหม่ หรือการข่มขู่ว่าจะเอาคุณไปพูดในด้านที่ไม่ดีกับแวดวงของเขา พฤติกรรมเหล่านี้เป็นไปได้ว่าเขาต้องการรั้งคุณด้วยวิธีการสร้างความกลัว และเชื่อว่าเมื่อคุณกลัวแล้วจะไม่ลาออกไปไหน
หากคุณพบเจอกับการข่มขู่จากหัวหน้านั้น อย่าแสดงออกว่าคุณกลัวเด็ดขาด และให้ยืนยันในการตัดสินใจของตัวเอง การขอบคุณสำหรับความเห็นของเขา และรีบออกจากสถานการณ์นั้น ก็เป็นวิธีการรับมือที่ดีนะ
หากเขาพยายามทำให้คุณรู้สึกผิด
1 ในสถานการณ์ที่ยากที่สุดเมื่อคุณขอลาออกคือ การที่หัวหน้าพยายามใช้คำพูดเพื่อให้คุณรู้สึกผิดกับการตัดสินใจของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงปัญหาที่ตามมาต่าง ๆ หรือการพูดถึงเรื่องของบุญคุณตลอดระยะเวลาการทำงาน แน่นอนว่ายิ่งคุณสนิทกับเขา คุณจะยิ่งรู้สึกผิดที่ทำให้เขาลำบาก แต่อย่าลืมว่าโอกาสในการเติบโตของชีวิตนั้นไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ พยายามย้ำถึงเป้าหมายในการลาออกของคุณ ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามพูดเพื่อถนอมน้ำใจอีกฝ่ายโดยการขอบคุณสำหรับการทำงานที่ผ่านมา
หากเขารั้งด้วยการ Counteroffer
วิธีสุดท้ายที่หัวหน้าใช้เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ลาออกของลูกน้องคือการ Counteroffer หรือการยื่นข้อเสนอเพิ่มขึ้นเพื่อรั้งไม่ให้ลูกน้องลาออก เช่น การเพิ่มเงินเดือนให้มากกว่าอีกที่ การเลื่อนตำแหน่ง การยื่นสวัสดิการเพิ่มเติมต่าง ๆ ให้เป็นกรณีพิเศษ เป็นต้น แน่นอนว่านี่ไม่ใช่เรื่องแย่ ถ้าสิ่งที่เขาเสนอมาเป็นสิ่งที่คุณต้องการ เพราะนั่นแปลว่าคุณเป็นคนที่สำคัญต่อบริษัทจนเขาไม่อยากเสียไป แต่หลายคนก็ไม่สบายใจเมื่อเจอกับสถานการณ์แบบนี้เอาซะเลย
เรื่องสำคัญที่คุณต้องคิดก่อนลาออกคือ ปัญหาที่คุณพบเจอนั้น หากไปบริษัทอื่นแล้วจะสามารถตอบโจทย์คุณได้ทั้งหมดหรือเปล่า ? หากคุณมั่นใจที่จะเลือกเส้นทางใหม่ ก็สามารถปฏิเสธอย่างถนอมน้ำใจ ขอบคุณและแสดงถึงความซาบซึ้งในข้อเสนอที่เขายื่นให้ รวมถึงการแสดงความมั่นใจในเส้นทางใหม่ที่คุณเลือกแล้ว
แต่ถ้าคุณรู้สึกว่าข้อเสนอที่เขายื่นให้ สามารถตอบโจทย์คุณได้ และไม่ต้องการลาออกแล้ว ก็สามารถตอบรับ และย้ำว่าคุณไม่ได้ขอลาออกเพื่อให้ได้ผลประโยชน์เหล่านี้ เพียงแต่คุณอยากทำงานที่นี่ต่อไป ด้วยข้อเสนอที่คุณและเขาได้ประโยชน์กันทั้ง 2 ฝ่าย
การเดินไปขอลาออกกับหัวหน้า เป็นหนึ่งในสถานการณ์ที่น่าลำบากที่สุดในชีวิตของคนทำงานทุกคน และมันยากขึ้นไปอีกที่จะเดาว่าหัวหน้าจะแสดงออกอย่างไร แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้คือการเตรียมตัวให้พร้อม ประเมินสถานการณ์จากนิสัยใจคอของเขา และมีความมั่นใจกับตัวเองเข้าใจ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คุณก็จะสามารถรับมือกับสถานการณ์นั้นได้อย่างสง่างาม
อ้างอิง: