ถ้าทำงานแล้วเหนื่อย จะหมดวันแล้วแต่ยังไม่เห็นหนทางที่งานจะเสร็จสักชิ้น เราแนะนำให้คุณลองทำ “Deep Work” หรือการทำงานที่เรามีโฟกัสสูงสุด สามารถเรียนรู้เรื่องยากและทำงานคุณภาพได้รวดเร็ว
ทำอย่างไรถึงจะสร้าง Deep Work ให้เกิดขึ้นได้? มาเรียนรู้ไปพร้อมกันได้เลย!
อะไรคือการทำงานที่ไม่ค่อยต้องใช้ความคิด (Shallow Work)?
Shallow Work เป็นคำที่ใช้นิยามพวกงานที่สามารถทำได้ในสภาวะที่สมองไม่ต้องโฟกัสมากนัก อย่างเช่น การติดต่อประสานงาน การสื่อสารที่สามารถทำได้ง่ายกว่า
หรือแม้แต่ “งานที่เกี่ยวกับงาน” (work about work) เป็นงานที่คนทั่วไปใช้เวลากว่า 60% ของวันไปกับมัน โดยส่วนใหญ่จะเป็นงานประสาน เช่น การตอบอีเมล การประสานงานโครงการ การจัดประชุม ทำให้ส่งผลกระทบต่อการโฟกัสเนื้องานที่จำเป็น
แล้วจะทำอย่างไรให้เราสามารถเปลี่ยนมาจดจ่อทำงานแบบ Deep Work ได้?
7 วิธีสร้างพฤติกรรม Deep Work
1.เลือกวิธีทำ deep work ที่เหมาะกับเรา
เลือกวิธีทำ Deep Work ที่เหมาะกับตารางชีวิตและลักษณะงานที่คุณชอบ
- Rhythmic philosophy สร้างนิสัยการทำ Deep Work ด้วยการกันเวลา 1-4 ชั่วโมงของทุกวันไว้ทำสิ่งนี้
- Journalistic philosophy เลือกทำ Deep Work ในช่วงเวลาที่เหมาะสม
- Monastic philosophy เน้นการตัด Shallow Work หรืองานที่ไม่ต้องใช้สมาธิเยอะออกไป
- Bimodal philosophy กันเวลายาวๆ อย่างน้อย 1 วันไว้ทำ Deep Work
2.สร้างแบบแผนบางอย่างที่เตือนสมองว่าถึงเวลาโฟกัสแล้ว
ผลวิจัยชี้ว่าสมองเราจะจำสิ่งที่เชื่อมโยงกันแบบมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้ เช่น โต๊ะที่สะอาดกับการมีสมาธิ นั่นหมายความว่าคุณสามารถสร้างแบบแผนที่ช่วยเตือนสมองว่าถึงเวลาโฟกัสแล้ว
ถ้าอยากสร้างแบบแผนเพื่อช่วยให้เกิด Deep Work ลองถามตัวเองด้วยคำถามด้านล่างนี้
- อยากทำงานจากสถานที่แบบไหน? สถานที่ต้องเงียบ และโต๊ะต้องสะอาดหรือไม่
- คิดว่าตัวเองสามารถโฟกัสกับงานเมื่อไหร่ และเป็นเวลาเท่าไหร่? หลายคนสะดวกที่จะทำงานอย่างเต็มที่ในช่วง 90 นาทีตอนเช้า
- ทำงานอย่างไร? ข้อนี้จะเป็นเรื่องของกฎที่ตั้งไว้ในการทำงานของตัวเอง อย่างเช่น ใช้อินเตอร์เน็ตได้ไม่เกินกี่นาที หรือจะเขียนหนังสือให้ได้กี่หน้า
- มีอะไรที่ช่วยให้งานเสร็จได้บ้าง? อย่างเช่น ข้อมูลต่างๆ ก็ควรจัดให้เป็นระเบียบพร้อมใช้ หรืออาหารว่างสำหรับทานระหว่างการ Deep Work
3.ทำงานที่มีความสำคัญที่สุดก่อน
การจัดลำดับความสำคัญ ช่วยในการทำงานได้มาก ยิ่งเราทำงานเยอะ ก็ยิ่งทำให้งานสำเร็จช้าลง
- โฟกัสกับงานเดียว และเลิกสนใจงานที่เหลือ
- ไม่รู้จะทำงานอะไรก่อน? ลองเลือกงานที่ส่งผลต่อเป้าหมายของทีมและ OKRs มากที่สุด
4.บันทึกการใช้เวลาของตัวเอง
เพื่อทบทวนว่าเราใช้เวลากับส่วนไหนมากที่สุด ทำให้สามารถบริหารเวลาได้ดีขึ้นในครั้งต่อไป
- จดเวลาที่ใช้เพื่อหาดูว่าเราใช้เวลากับ Deep Work และ Shallow Work เท่าไหร่ เพื่อให้สามารถลดงานที่ไม่จำเป็นออกไปได้อีก
- จดเวลาการประชุมในแต่ละวัน พร้อมกับหัวข้อในการประชุม เพื่อประเมินว่าการประชุมในแต่ละครั้งนั้นมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน
- วางแผนการทำงานสำหรับ 1 วัน โดยอาจจะใช้กลยุทธ์ Time Blocking หรือ Time Boxing (การแบ่งเวลาเป็นบล็อกๆ และทำงานเดียวในเวลาช่วงนั้น)
5.ลดสิ่งรบกวนทางดิจิทัล
ข้อมูลบนโลกดิจิทัลเป็นสิ่งที่ทำให้ประสิทธิภาพในการจดจ่อลดลง เพราะฉะนั้นการลดสิ่งรบกวนทางดิจิทัลจึงเป็นวิธีที่ช่วยให้การ Deep Work ได้มากขึ้น
- ปิดการแจ้งเตือนในช่วงเวลาแห่งการโฟกัส
- กำหนดเวลาพัก เพื่อไม่ให้จิตใจฟุ้งซ่านขณะทำงาน
- เลือกใช้เครื่องมือในการทำงานให้น้อยแต่มีประสิทธิภาพ เพราะการใช้เครื่องมือที่เยอะเกินไป ทำให้สมองของเราไม่สามารถโฟกัสได้อย่างถูกจุด
6.มีเวลาสำหรับการพักสมองบ้าง
การพักผ่อน สำคัญพอๆ กับการทำงาน การจัดช่วงเวลาสำหรับการพักผ่อนจะช่วยป้องกันความเหนื่อยล้า และทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานดีมากขึ้น โดยเราแนะนำว่าควรกำหนดช่วงเวลาที่จะไม่ทำงานอย่างชัดเจน และหลีกเลี่ยงการทำงานในวันหยุดสุดสัปดาห์ นั่นแปลว่าคุณจะมีเวลาพักจากการคิดเรื่องงาน, ไม่ต้องเช็ก Slack, ไม่ต้องรับโทรศัพท์ หรือคิดถึงการประชุมที่กำลังจะเกิดขึ้น
7.ติดตามความคืบหน้าของตัวเอง
การตั้งเป้าหมายทีชัดเจน เป็นวิธีที่ดีในการสร้างแรงจูงใจและรักษานิสัยของการ Deep Work เอาไว้ต่อไป เนื่องจากเป้าหมายเป็นสิ่งที่สร้างมาจากความตั้งใจของตัวคนทำงาน ที่ทำให้งานสำเร็จ ไม่ใช่แรงจูงใจภายนอกอย่างคำชมหรือค่าตอบแทน
เพื่อสร้างนิสัยของ Deep Work คุณควรตั้งเป้าหมายระยะสั้นเพื่อติดตามการพัฒนาของตัวเอง เช่น ระยะเวลาที่ทำงานในแต่ละวัน และตั้งเป้าหมายที่สูงขึ้นไปอีก เช่น จากการเริ่ม Deep Work 1 ชั่วโมงต่อวันก็ขยายออกมาเป็น 4 ชั่วโมง
อ้างอิง: