เมื่อพูดถึงการทำงานยุคนี้ เรื่องหนึ่งที่กำลังฮิตคือ Quiet Quitting หรือการที่พนักงานในองค์กรไม่ได้ลาออก แต่เลือกทำงานแค่ตาม job description ของตัวเอง ไม่มากหรือน้อยกว่านั้น
Quiet Quitting มีรายละเอียดอย่างไร? และเราควรรับมือมันแบบไหน? ลองมาเรียนรู้ไปด้วยกัน
Quiet Quitting คืออะไร
Quiet Quitting คือการที่พนักงานคนหนึ่งไม่ได้ลาออก แต่เลือกจำกัดภาระงานของตัวเองไว้แค่ตาม job description หรือทำงานตามขั้นต่ำและไม่ผูกพันกับองค์กรมาก เรียกได้ว่าขีดเส้นแยกตัวเองออกจากงานอย่างชัดเจน
ทำไมพนักงานถึงเลือก Quiet Quitting
อะไรทำให้พนักงานคนหนึ่งเลือกที่จะมาทำงานเฉพาะของตัวเองแล้วกลับบ้านเพื่อรักษาบาลานซ์ เรารวบรวมสาเหตุหลักๆ มาได้ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการ Burn Out
พนักงานอาจเลือกที่จะลาออกอย่างเงียบๆ เพื่อทำให้ชีวิตกลับมามี work-life balance ป้องกันการ burnout จากงานที่ทำอยู่
- มีความเชื่อมั่นในองค์กรต่ำ
พนักงานอาจเลือกทางนี้เพราะไม่ค่อยเชื่อมั่นในองค์กร เช่น องค์กรอาจไม่มีพันธกิจชัดเจน ปฏิบัติต่อพนักงานไม่ดี หรือไม่สนใจความก้าวหน้าทางการงานของคนทำงาน
- ผูกพันกับองค์กรน้อยลง เพราะ work from home แล้วไม่ค่อยได้เจอกัน
การ work from home ทำให้พนักงานและหัวหน้าสื่อสารกันแบบทางการ เช่น คุยกันตอนประชุม zoom มากกว่าพูดคุยเล่นกันแบบที่มักเกิดขึ้นในออฟฟิศ ส่งผลให้พนักงานผูกพันกับองค์กรน้อยลง
- กำลังมองหางานใหม่
พนักงานอาจเลือก quiet quitting เพราะกำลังหางานใหม่ที่ดีกว่าอยู่ ซึ่งอาจเป็นเพราะองค์กรจ่ายค่าตอบแทนไม่ดี งานหนัก หรือไม่มีโอกาสก้าวหน้านั่นเอง
วิธีรับมือ Quiet Quitting
ถ้าคุณพบว่าคนในทีมมีอาการเข้าข่าย Quiet Quitting คุณสามารถช่วยดูแลพวกเขาได้ด้วยวิธีด้านล่างนี้
- ไม่สั่งงานวันหยุด
ไม่ว่าคุณจะอยากทำงานล่วงหน้าหรือนึกงานที่ต้องทำได้พอดีเลยสั่งงานคนในทีมไปในวันหยุด การทำแบบนี้อาจทำให้คนทำงานที่ได้แมสเสจ line หรือ slack เครียดได้ ทางที่ดีให้รอถึงวันจันทร์ค่อยคุยทีเดียวดีกว่า
- ประชุมให้น้อยลง
ก่อนเรียกทุกคนมาประชุม ทบทวนก่อนว่าการประชุมนั้นจำเป็นจริงๆ มั้ยหรือแค่เป็นการอัพเดตงาน และไม่ควรให้มันยาวเกิน 30 นาที
- ลดกิจกรรมบริษัทที่พนักงานต้องเข้าร่วม
ไม่ว่ากิจกรรมจะสนุกขนาดไหน อย่าลืมว่าพนักงานหลายคนอาจต้องการทำกิจกรรมนั้นแบบเลือกเวลาได้เอง กับ
เพื่อนของเขาเอง เพราะฉะนั้น ควรจำกัดกิจกรรมบริษัทอย่าให้เยอะเกินไป
- ตั้งเป้าหมายการทำงานบนความสำเร็จและคุณภาพ ไม่ใช่ชั่วโมงทำงาน
การ work from home อาจทำให้คุณไม่รู้ว่าพนักงานทำงานอยู่เต็มเวลาหรือเปล่า แต่ที่จริงสิ่งนั้นอาจไม่สำคัญ ให้คุณเลือกโฟกัสที่ความสำเร็จและคุณภาพของงานดีกว่า
- ชมคนในทีมบ้าง
การชื่นชมคนในทีมช่วยให้คนทำงานรู้ว่าคุณเห็นคุณค่าในตัวเขาและงานที่เขาทำ ที่สำคัญ การชมคนอื่นเป็นสิ่งที่ทำได้เลยแบบไม่เสียเงินแม้แต่บาทเดียว
- เพิ่มเงินเดือนและโบนัสเมื่อทำงานได้ดี
ให้กำลังใจผ่านคำพูดแล้ว ลองให้กำลังใจเป็นตัวเงินด้วยการขึ้นเงินเดือนและให้โบนัสง่ายขึ้นและบ่อยขึ้นดูบ้าง
- ถ้าไม่เวิร์กจริงๆ ก็แยกย้ายกันเถอะ
ท้ายที่สุด ถ้าพนักงานไม่มีความสุขหรือทำงานได้ไม่ดีจริงๆ (โดยเฉพาะคนที่ส่งพลังลบและทำให้ทีมไม่สามัคคีกัน) มันอาจถึงเวลาที่คุณจะให้เขา quit แบบของจริงแล้ว
Quiet Quitting เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในองค์กรยุคนี้ได้เสมอ สิ่งสำคัญคือ การป้องกันและดูแลให้เหมาะสมเพื่อรักษาคนทำงานให้อยู่กับองค์กรแบบเต็มอกเต็มใจได้นานๆ
สำหรับใครที่สนใจวิธีบริหารดูแลองค์ยุคใหม่ มาเรียนรู้กับหลักสูตร M.B.A. (Business Innovation) ของ TUXSA ได้ที่นี่
อ้างอิง:
fastcompany.com
forbes.com
techtarget.com