HIGHLIGHTS
- ก่อนที่คุณจะเปลี่ยนสายอาชีพไปสู่เส้นทางใหม่โดยสิ้นเชิง อย่าลืมพิจารณา 7 เรื่องต่อไปนี้ก่อน ได้แก่ รู้ใจตัวเองดีพอแล้วหรือยัง, ถอยกลับมาย้อนมองสิ่งที่คุณมี, ใช้ทักษะเดิมไปเปิดโอกาสใหม่, พัฒนาทักษะใหม่, ลงสู้ในสนามที่คนมีคุณสมบัติอย่างคุณเท่านั้นจะโดดเด่น, กล้าเสี่ยงให้ถูกที่ และแน่วแน่ สม่ำเสมอ
1. ก่อนจะเปลี่ยน… คุณรู้ใจตัวเองดีพอแล้วหรือยัง
ช่วงอายุ 23-30 ปี เป็นช่วงวัยเริ่มต้นทำงานที่คุณต้องรีบค้นหาเส้นทางอาชีพที่ใช่ให้เจอ ปักหมุดจุดหมายปลายทางไว้ให้ตัวคุณมีหลักยึด แล้วปล่อยให้ความทะยานอยากเป็นแรงขับเคลื่อนภายในที่ช่วยให้คุณมองเห็นทุกความเป็นไปได้ เพื่อจะไปให้ถึงจุดหมายนั้น
แต่ก่อนจะได้ทำงานในฝันก็ต้องมาลงรายละเอียดอนาคตให้ชัดเจนกันเสียหน่อย ถ้าคุณยังไร้จุดหมายต้องลองนั่งลงนึกให้ดี ๆ แล้วล่ะ ตั้งใจเขียนอนาคตในฝันลงกระดาษ เจาะจงลงรายละเอียดให้ตัวคุณเห็นภาพชัดมากที่สุด เช่น ภาพบรรยากาศการทำงานแบบไหนที่คุณชอบ ผู้คนแบบไหนที่คุณอยากเจอ งานลักษณะไหนที่คุณอยากเรียนรู้ งานนั้นยังให้คุณค่าบางอย่างแก่คุณในระดับที่คุณไม่ได้มองว่างานนั้นเป็นงาน เรียกว่าอยากทำไปตลอดชีวิตแม้ว่างานจะหนักก็ยังสนุก และมีเวลาเหลือแบ่งไปใช้ชีวิตของตัวเองให้สุดเหวี่ยงได้ด้วย
รู้ตัวแล้วก็ใช่ว่าจะต้องรีบผลีผลามเปลี่ยนงานในทันทีทันใด คุณต้องเห็นว่าตัวคุณยังขาดคุณสมบัติอะไรอีกบ้าง ถึงจะไปอยู่ในจุดนั้นได้ จากนั้นก็เร่งพัฒนาตนเอง โดยแบ่งเป้าหมายใหญ่ออกเป็นเป้าหมายเล็กๆ ให้ตัวคุณมีกำลังใจทำได้สำเร็จ เป็นพลังให้คุณลุกขึ้นมาพัฒนาตนเองอย่างไม่อิดออดในทุกวัน จนกว่าคุณจะพิชิตเป้าหมายแรกในชีวิตได้สำเร็จ แล้วต่อจากนั้นไม่ว่าคุณจะเจอความท้าทายหรือมีแผนการอะไรใหม่ๆ ในอนาคต คุณจะเลือกเส้นทางเดินได้ถูกเพราะคุณมีแผนที่ชีวิตของตัวเองแล้ว
2. ถอยกลับมาย้อนมองสิ่งที่คุณมี… เห็นคุณค่าในตัวเอง
ลองมาย้อนดูความสามารถ และประสบการณ์ตามเส้นทางอาชีพของคุณที่ผ่านมา แล้วไล่เรียงทักษะที่คุณคิดว่าตัวคุณเองถนัด หรือทำได้นาน ๆ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยความรักความชอบเปี่ยมล้น เพราะโอกาสจะได้ทำงานที่รัก และทำเงินได้ดีด้วย อาจมีไม่เพียงพอสำหรับทุกคน เราก็ต้องยืนอยู่บนโลกแห่งความจริง คำนึงถึงทักษะความสามารถที่มีอยู่ ดูต้นทุนเวลา ชั่งน้ำหนักทางเลือกต่าง ๆ ให้พอดีกับตัวเรา ถ้าเรายังไม่อยู่ในจุดที่เลือกงานได้ ก็อย่าเพิ่งไปไล่ตามภาพฝัน เพราะอาจจะผิดหวังกลับมาง่าย ๆ
อย่าปล่อยให้ความฝันของคุณกลับกลายเป็นฝันร้ายคอยกัดกินใจคุณ อย่าปล่อยให้ตัวเองใช้แรงปรารถนา (Passion) อย่างสิ้นเปลือง เพราะแรงใจนั้นเหมือนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีวันหมด เราจึงควรเก็บเอาพลังงานดี ๆ ไว้ใช้ให้ถูกที่ถูกเวลาจะดีกว่า อย่าปล่อยให้มันเหือดแห้งหมดไฟ เพราะคุณอาจต้องถอยหลังกลับมาเสียเวลากอบกู้ตัวเองใหม่
3. ใช้ทักษะเดิมไปเปิดโอกาสใหม่… สำรวจให้เจอว่าใครยังต้องการคุณ
แม้อุตสาหกรรมที่คุณอยู่จะเริ่มร่อแร่เต็มที หรือมีแนวโน้มในอนาคตว่าจะหดตัว แต่คุณอย่าเพิ่งผลีผลามหนีตายโดยลาออกมาล่าฝันโดยยังไม่รู้ทิศทางว่าตนเองจะไปไหนต่อ ลองเลื่อนสายตาหันมามองอุตสาหกรรมใกล้เคียงที่คุณเคยอยู่ สำรวจโลกรอบข้างทีละนิด ลองคิดทำการบ้านว่าเราจะกระเถิบตัวเข้าไปทีละหน่อยได้ยังไง โดยที่ยังใช้ทักษะเดิมของคุณนี่แหละเจาะทะลวงเข้าไป
ถ้าบริษัทของคุณยังอยู่ดีก็ลองเสนอตัวทำโปรเจคที่จะช่วยสร้างผลงานดี ๆ ไว้ปกป้องตัวคุณ แม้ในวันที่ต้องตกงาน ผลงานเหล่านั้นก็ยังอาจช่วยคุณเอาไว้ได้อีกครั้ง หรืออาจลองเริ่มส่งประวัติและผลงาน พร้อมเขียนจดหมายแนะนำตัวแสดงเจตจำนงอันมุ่งมั่น แสดงทัศนคติ และความจริงใจใส่ลงไปด้วย ว่าทำไมคุณถึงอยากร่วมงานกับบริษัทเหล่านั้น และบรรยายคุณลักษณะของคุณว่าทำไมถึงน่าจะเหมาะกับงานนั้น แม้คุณจะไม่ได้มีประสบการณ์ตรงมากมายนักก็ตาม เพราะบ่อยครั้งที่การฝากประวัติเอาไว้โดยที่ยังไม่ทันมีประกาศรับสมัคร หรือทั้ง ๆ ที่ยังไม่เคยมีตำแหน่งงานนั้นในบริษัทมาก่อน บางครั้งเราก็ต้องใช้วิธีเชิงรุกเข้าสู้ เพราะโอกาสจะมาหาคนที่ออกตามหาและพร้อมมากกว่าเสมอ
เมื่อถึงเวลาที่โอกาสดี ๆ เข้ามา คุณค่าแรกที่คุณควรให้ ควรจะเป็นเรื่องการพัฒนาต่อยอดทักษะใหม่เพิ่มจากทักษะเดิมที่คุณมี เพิ่มจุดแข็งให้คุณมีโอกาสดียิ่งขึ้นในอนาคต
4. พัฒนาทักษะใหม่… เพื่อสร้างจุดแข็งที่ใช่กว่า
ลองเก็บมาคิดให้ดีว่าคุณยังขาดทักษะอะไร ต้องสั่งสมประสบการณ์แบบไหนจึงจะคู่ควรกับโอกาสใหม่ที่คุณต้องการ อย่าคิดแค่เพียงว่าคุณเก่งเรื่องไหน แต่คุณต้องทำให้ตัวเองมีทักษะสำคัญบางอย่าง ที่อาจมีอยู่แล้วในตัวคุณเด่นชัดขึ้นมาฉายแววให้ได้ ลองเลือกเฟ้นทักษะที่ซ่อนอยู่ออกมาลับคม ให้คุณมีอาวุธครบมือขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะอยู่เหนือกว่าคู่แข่งคนอื่นที่มีทักษะเดิม ๆ แบบเดียวกัน อย่างเช่น ดีไซเนอร์ผู้มีทักษะอย่างนักวิเคราะห์การตลาด นักเขียนบทความที่รู้จักการทำการตลาดด้วย SEO หรือเชฟผู้มีความรู้ด้านโภชนาการ จนคิดสูตรอาหารสุขภาพที่อร่อยด้วย เป็นต้น
ถ้าคุณยังไม่มีจุดแข็งก็ต้องรีบเรียนรู้และสร้างมันขึ้นมา หมั่นพัฒนาเครื่องมือที่จะออกแบบการทำงานของคุณให้มีประสิทธิภาพ ถึงจะยังไม่เคยมีใครจ้างคุณทำงานนั้นมาก่อน คุณก็สามารถสร้างโจทย์ให้ตัวเองแสดงผลงานนั้นออกมานำเสนอให้ผู้ว่าจ้างเห็นว่าคุณทำงานนั้นได้ดีแค่ไหน ถ้าคุณมีความสามารถที่จะสนองตอบความต้องการของลูกค้าและองค์กรในอนาคตได้ คุณก็จะไม่มีวันตกงาน
5. ลงสู้ในสนามที่คนมีคุณสมบัติอย่างคุณเท่านั้นจะโดดเด่น
สาเหตุที่หลายบริษัทปรับโครงสร้างลดพนักงานออก ก็เพราะบางตำแหน่งอาจจะไม่จำเป็นแล้ว ยิ่งในยุคที่อะไร ๆ ก็ต้องรวดเร็วเป็นอัตโนมัติ หลายอุตสาหกรรมจึงหันมาใช้ AI ซึ่งแม้จะมีราคาแพง แต่ช่วยคุมคุณภาพงานและประหยัดต้นทุนกว่าในระยะยาว ซึ่งอันที่จริงมนุษย์อย่างเราควรจะดีใจที่ไม่ต้องคอยทำงานซ้ำซาก เพราะลึก ๆ แล้วไม่มีใครอยากทำงานเป็นเครื่องจักรกล งั้นเราจะกลัวหุ่นยนต์ไปทำไม เราก็แค่เปลี่ยนมาทำสิ่งที่หุ่นยนต์ทำแทนเราไม่ได้ดีกว่า คุณเพียงต้องรีบค้นให้พบสนามใหม่ที่ต้องการคนมีทักษะอย่างคุณ ออกตัวก่อนก็ยิ่งมีคู่แข่งขันน้อย แถมอาจได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าอุตสาหกรรมเดิมที่คุณเคยอยู่อีกเท่าตัวก็เป็นได้
6. กล้าเสี่ยงให้ถูกที่… รู้ว่าจะเริ่ม และเลิกพยายามตอนไหน
ช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงอาจทำให้คุณนั้นลังเลสับสน และไม่มั่นคงทางจิตใจได้ คุณอาจตัดสินใจเลือกผิดทำพลาดได้เสมอ ขอให้อย่าได้กลัว เพราะถ้าคุณกระโจนเข้าไปได้ก็หาทางกระโจนออกมาได้ คงต้องลองเสี่ยงดูอย่าย่อท้อจนกว่าจะเจองานที่ใช่ จงมั่นคงในเส้นทางที่คุณตามหา อย่าวอกแวกไปเสียเวลาให้กับงานที่ไม่มีอนาคต ลองสู้ดูให้เต็มที่เพื่อหางานที่ใกล้เคียงกับที่คุณต้องการดูก่อน ถ้าไม่แน่ใจก็แค่ลองเข้าไปสัมผัสทำงานนั้นดูก่อนก็ได้ ถ้าคุณเก่งพอจะผ่านด่านได้งาน ถึงเวลานั้นเป็นสิทธิ์ของคุณแล้วที่จะทำตัวเลือกได้ งานที่ไม่ใช่ ใช้เวลาลองไม่นานก็จะรู้เอง อาจแค่วันเดียว สัปดาห์เดียว หรือเดือนเดียว
ประสบการณ์ที่ผ่านมาของคุณน่าจะช่วยตอบตัวเองได้ว่าจะตัดสินใจอยู่หรือไปต่อ ถ้ามีแนวโน้มว่าทนทำไปแล้วจะได้ไม่คุ้มกับเวลาที่ทุ่มเทไป งานไม่ช่วยให้คุณพัฒนาทักษะอนาคต หรือมีแนวโน้มว่าองค์กรไม่น่าจะขยับไปไหน ไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงในเร็ววันนี้แน่ ๆ อยู่ไปคุณก็ไม่ได้โอกาสแสดงศักยภาพอย่างเต็มที่
ยิ่งเป้าหมายของคุณชัดเท่าไหร่คุณจะรู้ตัวว่าจะเลิกทนตอนไหน การเลิกล้มไม่ใช่ความล้มเหลวเสียทีเดียว ถ้าคุณมีเหตุผลเพียงพอจะตอบใจตัวเองได้ ไม่มีใครจะมาเข้าใจสถานการณ์ของคุณดีเท่าตัวคุณเอง อย่าสนใจคำของคนอื่นที่มองว่าคุณเป็นคนไม่อดทน สู้เอาสมอง เวลา และพลังใจอันมีค่าของคุณไปพยายามใหม่ในโอกาสหน้าจะดีกว่า แต่แน่นอนว่าช่วงเวลาแห่งการดิ้นรนนั้นไม่เคยง่าย กว่าคุณจะโยกย้ายไปสู่ดินแดนใหม่ที่คุณจะเติบโตต่อได้ไม่ตีบตัน ก็ต้องใช้ความพยายาม ความสามารถ และจังหวะเวลาที่ใช่ บางครั้งคุณจึงต้องจำทนทำงานเพื่อยังชีพไปก่อนจะก้าวสู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ค่อย ๆ สะสมเชื้อเพลิงไว้จุดไฟให้ตัวเองในวันหน้า เพราะความสำเร็จของคนเราอาจมาเร็วมาช้าต่างวาระกัน
7. แน่วแน่ และสม่ำเสมอ
นับวันงานในอนาคตต้องการคนเก่งในเชิงลึก เช่น นักคิดวิเคราะห์ และนักคิดสร้างสรรค์ ที่สำคัญคือความเป็นมนุษย์ มีหัวใจ มีความยืดหยุ่นสูง และพร้อมร่วมมือทำงานเป็นทีม เพื่อช่วยกันแก้ทุกปัญหาให้ลุล่วงไปได้ ซึ่งการงานในยุคดิจิทัลนั้นมีเรื่องที่ท้าทายความสามารถของเราอย่างไม่หยุดหย่อน หากคุณหยุดเรียนรู้เมื่อไหร่ ก็จะมีคนก้าวล้ำไปก่อนคุณ แล้วคุณก็จะมีโอกาสถูกเด้งออกจากบริษัทดี ๆ ที่พยายามแทบตายกว่าจะได้ก้าวเข้ามา อย่าเผลอติดสบาย และเคยชินเสียจนลืมไปว่าโลกหมุนเร็วขึ้นทุกวัน คุณจะได้ไปต่อในสายงานเดิมหรือสายงานใหม่โดยไม่หลุดวงโคจรหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับตัวคุณเองทั้งสิ้น