10 ยูนิคอร์นสตาร์ตอัปจีนที่น่าจับตาปี 2021

จากบทความของอเล็กซ์ มิตเชลล์ (Alex Mitchell) ใน amitch5903.medium.com ที่ได้รวบรวมความเคลื่อนไหวของวงการสตาร์ตอัปจีน ซึ่งนับว่ามาแรงและมีชื่อเสียงไม่ยิ่งหย่อนไปว่าสตาร์ตอัปจากอเมริกาและยุโรปเลย 

โดยอเล็กซ์ระบุว่า แม้จะเกิดวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2020 สตาร์ตอัปในจีนระดมทุนได้รวมแล้วมากกว่า 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

แม้ว่าจำนวนเงินนี้จะใกล้เคียงกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2019 มาก แต่ก็ยังไม่ใช่ตัวเลขที่เฉลี่ยสม่ำเสมอทั้งปี เพราะในช่วง 3 เดือนแรก บริษัทสตาร์ตอัปในจีนมีรายได้ประมาณ 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาสที่ 2 มีเงินทุนเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 1.32 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยที่ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมสตาร์ตอัปจีนสามารถระดมทุนได้ถึงเกือบ 1.22 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางบรรยากาศในประเทศที่จีนกำลังจัดการกับการระบาดของโควิด-19 มีการประกาศล็อกดาวน์ ให้หยุดทำงานโดยเฉพาะในไตรมาสที่ 1 แต่ตลาดเงินทุนสำหรับสตาร์ตอัปจีนกลับฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

และยิ่งไปกว่านั้น เงินทุนส่วนใหญ่จากทั่วโลกยังไหลเข้าสู่สตาร์ตอัปด้านที่เกี่ยวกับการแพทย์ออนไลน์ (Online Medical Care) การเรียนทางไกล (Remote Learning Startup) มากขึ้นด้วย

นับเป็นสัญญาณการเติบโตของของธุรกิจ New Normal ก็ว่าได้ 

ยูนิคอร์นแห่งเอเชีย

ประเทศจีนมีบริษัทยูนิคอร์นจำนวนมาก โดยมักเป็นกลุ่มธุรกิจ Telecom, Logistics, eCommerce และ Finance ส่วนใหญ่อยู่ในปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ หางโจว และเซินเจิ้น

ก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 ช่วงเดือนมกราคม 2020 Ant Financial และ ByteDance (บริษัทแม่ของ TikTok) เป็นยูนิคอร์นที่มีมูลค่ามากที่สุดในประเทศจีน แต่ Ant Financial ของแจ็ก หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา ที่กำลังจะระดมทุน 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็ล้มเหลวจากการไม่ได้เสนอขายหุ้น IPO เพราะโดนเบรกโดยหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาลจีนเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2020 ที่ผ่านมา

เรียกว่าร่วงจากสถานะยูนิคอร์นที่กำลังจะบินขึ้นในทันที

ซึ่งการที่ทางการจีนระงับ Ant Financial อย่างฟ้าแลบนั้นก็แสดงถึงท่าทีที่มีต่อระบบนิเวศของ Fintech ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเพราะป้องกันการหลบเลี่ยงกฎระเบียบ หรือป้องกันการผูกขาด หรือความเห็นว่าควรได้รับการควบคุมในลักษณะเดียวกันกับผลิตภัณฑ์การเงินที่ออกโดยธนาคาร ทั้งที่จีนจะได้รับการจัดอันดับให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนด้าน Fintech ชั้นนำของโลกควบคู่ไปกับสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรแล้ว แต่ท่าทีของฝ่ายรัฐบาลทั้งหมดนั้นได้ส่งผลต่อภาค Fintech ของจีน ทำให้ล้มเหลวในการระดมทุนจากบริษัทร่วมทุนตลอดปี 2020 แล้วนักลงทุนก็หันไปสนับสนุนบริษัทสตาร์ตอัปนอกประเทศจีนแทน (เพื่อเงินลงทุนที่ปลอดภัย)

โดยที่ Robinhood ฟินเทคจากสหรัฐฯ สามารถระดมทุนได้ก้อนใหญ่ที่สุดในรอบปี คือจำนวน 980 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

10 อันดับสตาร์ตอัปจีนที่น่าจับตา

1. Geek+ เงินทุน 439 ล้านเหรียญสหรัฐ

ก่อตั้งในปี 2015 เป็นสตาร์ตอัปด้านโลจิสติกส์ และมีโรบอตสำหรับคลังสินค้ากว่า 10,000 ตัวที่จะเป็นผู้ช่วยในด้านการผลิตและตอบสนองตลาดอีคอมเมิร์ซ โดยให้บริการแก่บริษัทยักษ์ใหญ่มากมาย อาทิ Nike, Dell, DHL และ Toyota สำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงปักกิ่ง ปัจจุบันมีพนักงานมากกว่า 800 คน และยังมีสำนักงานในเยอรมนี ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาอีกด้วย ล่าสุดบริษัทได้ระดมทุน Series C ที่ 50 ล้านเหรียญสหรัฐในเดือนมิถุนายน 2020 

2. Huochebang เงินทุน 327 ล้านเหรียญสหรัฐ

เป็นแพลตฟอร์มโลจิสติกส์รถบรรทุกออนดีมานด์ ที่จับคู่ระหว่างบริษัทรถบรรทุกกับบริษัทที่ต้องการให้ส่งสินค้า (แบบเดียวกับ Uber Freight) โดยย้อนกลับไปในปี 2017 Huochebang จากมณฑลกุ้ยโจว ได้ควบรวมกิจการกับ Yunmanman แล้วสร้างแพลตฟอร์มซึ่งมีรถบรรทุกให้บริการมากกว่า 4 ล้านคัน ซึ่งในอนาคตอาจจะขยายตัวให้ใช้บริการออนไลน์ได้มากขึ้น จัดส่งได้เร็วขึ้นและทั่วถึงทุกมณฑลในจีนมากขึ้นเรื่อยๆ

3. Shannon AI เงินทุน 16.8 ล้านเหรียญสหรัฐ

สตาร์ตอัป Fintech ที่ใช้เทคโนโลยี AI ก่อตั้งขึ้นในปี 2017 โดยมีสำนักงานอยู่ที่กรุงปักกิ่ง ทำงานโดยการใช้อัลกอริธึม AI เพื่อวิเคราะห์ ดึงข้อมูล และรวมข้อมูลทางการเงิน โดยประมวลผลข้อมูลที่ส่วนใหญ่มาจากเอกสารต้นฉบับ เช่น รายงานนักลงทุน การยื่นเอกสาร และการเปิดเผยข้อมูล ทำให้ลูกค้านักลงทุนเข้าถึงข้อมูลจำนวนมากเหล่านี้ได้รวดเร็วอย่างเหลือเชื่อ 

4. Hui’an Jinke (Ahi Fintech) เงินทุน 15.3 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำนักงานอยู่ที่ปักกิ่งเช่นกัน โดย Hui’an Jinke ใช้ประโยชน์จาก AI และ Machine Learning ในการจัดการความเสี่ยง เช่น การต่อต้านการฟอกเงิน (AML) การตรวจสอบการฉ้อโกง และการระบุความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ โดยบริษัทเพิ่งจัดรอบ Series A ในปี 2018 จับตาต่อไปว่าจะระดมทุนรอบต่อไปในปี 2021 หรือไม่

5.  Video++ เงินทุน 165 ล้านเหรียญสหรัฐ

แพลตฟอร์มให้บริการ Video Streaming ที่ใช้ AI จัดการโฆษณา ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 สำนักงานอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ให้บริการสตรีมมิ่งและมี Advertising Tools ที่แพลตฟอร์มวิดีโอชั้นนำในประเทศจีนใช้กว่า 65% เข้าถึงผู้ดูวิดีโอที่ไม่ซ้ำกันมากกว่า 500 ล้านคนต่อเดือน บริการที่แตกต่างคือผลิตภัณฑ์ FaceAI ของพวกเขาสามารถเข้าใจเนื้อหาของวิดีโอและสามารถเลือกฝังโฆษณาลงในตำแหน่งที่เหมาะสมในวิดีโอโดยอัตโนมัติแบบเรียลไทม์

ตัวอย่างเช่น เมื่อ FaceAI พบโต๊ะในวิดีโอ ก็สามารถวางขวดแอลกอฮอล์ที่มีตราสินค้าไว้บนโต๊ะนั้นโดยอัตโนมัติ แล้วเมื่อภาพเคลื่อนที่และตำแหน่งของโต๊ะเปลี่ยนไป ขวดแอลกอฮอล์ก็จะยังคงอยู่บนโต๊ะดูเป็นธรรมชาติเหมือนวางไว้ในฉากตั้งแต่แรก ล่าสุดได้ระดมทุน Series C ที่ 105 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2018 

6. Meiri Youxian/MissFresh เงินทุน 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ

แพลตฟอร์มขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคถึงหน้าประตูบ้าน ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 มีสำนักงานอยู่ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งล่าสุดได้ระดมทุนถึง 2 รอบในปี 2020!

โดยระดมทุน Series E มูลค่า 495 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนกรกฎาคม จากนั้นระดมทุนจากนักลงทุนได้อีก 306 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนธันวาคม 2020 แม้ว่าจะมักจะถูกเปรียบเทียบกับ Instacart แต่โมเดลธุรกิจของ MissFresh ก็คล้ายกับ Farmstead มากกว่า บริษัทมีศูนย์กระจายสินค้าขนาดเล็กกว่า 1,500 แห่งตั้งอยู่ใกล้กับชุมชน ทำให้จัดส่งได้รวดเร็วและลดต้นทุนในการแช่เย็น

แม้ว่าบริษัทจะมีมูลค่าสูงถึงหลายพันล้านแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสอีกมากที่ MissFresh จะเติบโตไปยังภูมิภาคต่างๆ ของจีนอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มในการเสนอขายหุ้น IPO ในอนาคต

7. Starfield เงินทุน 10.1 ล้านเหรียญสหรัฐ

เพราะกระแส Plant-Based Protein กำลังมา แม้แต่ในประเทศจีน!

Starfield เป็นแบรนด์จากพืชที่เติบโตเร็วที่สุดในจีน ก่อตั้งขึ้นในปี 2017 โดยบริษัทได้ระดมทุนระดับ Series A ที่ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงสิงหาคม-ตุลาคม 2020 โดยวางแผนที่จะสร้างโรงงานในเซินเจิ้นเพื่อดำเนินการวิจัยและพัฒนาต่อไป นอกจากนี้ยังแนะนำผลิตภัณฑ์ให้กับร้านอาหาร แม้ท่ามกลางการระบาดใหญ่ของโควิด-19 

8. Chehaoduo เงินทุน 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ

แพลตฟอร์มซื้อขายรถยนต์มือสองที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ ก่อตั้งในปี 2015 โดยสำนักงานตั้งอยู่ที่ปักกิ่ง บริษัทระดมทุนได้ 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คล้ายกับแนวโน้มในสหรัฐอเมริกาที่หลังฟื้นตัวจากช่วงการระบาดใหญ่ ผู้คนต้องการมีรถยนต์เป็นของตัวเองมากขึ้น เนื่องจากคำนึงถึงความปลอดภัยมากกว่าเมื่อเทียบกับการใช้ขนส่งสาธารณะ

9. Yipin Shengxian/Yipin Fresh เงินทุน 688 ล้านเหรียญสหรัฐ 

Yipin Shengxian หรือที่รู้จักในชื่อ Yipin Fresh เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่มี Grocery Chain อาหารสดเกือบ 900 แห่ง กระจายอยู่กว่า 17 เมืองในประเทศจีน ก่อตั้งในปี 2013 ในเมืองเหอเฟย มณฑลอานฮุย ซึ่งบริษัทยังมีแอปยอดนิยมและมินิโปรแกรม WeChat ชื่อ Yipien Daojia ให้สั่งซื้อออนไลน์และจัดส่งทันทีในวันถัดไป โดยบริษัทมีการระดมทุน 3 ครั้ง Series C: สิงหาคม 2020 (382 ล้านเหรียญสหรัฐ) Series B: มีนาคม 2019 (306 ล้านเหรียญสหรัฐ) Series A: สิงหาคม 2018 (ไม่เปิดเผยตัวเลข) 

10. Intellifusion เงินทุน 184 ล้านเหรียญสหรัฐ

สตาร์ตอัปด้าน Visual Intelligence และ AI ก่อตั้งในปี 2014 ณ เมืองเซิ่นเจิ้น บริษัททำผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีการมองเห็นด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อความปลอดภัยสาธารณะ การกำกับดูแลทางสังคม ธุรกิจ AIoT (AI+IOT(Internet of Things)) และอื่นๆ โดยบริษัทปิดการระดมทุนรอบ Series C ในเดือนเมษายน 2020 ซึ่งเป็นช่วงกลางการระบาด และสามารถระดมทุนได้ 153 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง Intellifusion ทำงานกับรัฐบาลท้องถิ่นในระดับภูมิภาคและระดับชาติของจีน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้ด้านประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้เพื่อการโฆษณา

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า