สู้ COVID-19 ด้วย Big Data

fight-coronavirus-with-big-data

HIGHLIGHTS

  • ไต้หวัน รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำฐานข้อมูลที่แสดงความเชื่อมโยงของผู้ติดเชื้อ ตรวจสอบประวัติการเดินทางและอาการ ประเมินปริมาณหน้ากากอนามัย ปริมาณห้องประจุลบสำหรับการรักษา รวมถึงทรัพยากรอื่น ๆ เพื่อออกมาตรการควบคุมราคาและการแจกจ่าย
  • เกาหลีใต้ เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการใช้บัตรเครดิต ตำแหน่งที่อยู่จากโทรศัพท์มือถือหรือรถยนต์ และภาพจากกล้องวงจรปิด เพื่อสร้างแผนที่ข้อมูลที่ระบุว่าใครอยู่ใกล้ผู้ที่ติดเชื้อบ้าง
  • จีน เข้าถึงข้อมูลตำแหน่งที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือ เพื่อคอยแจ้งเตือนหากเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อ และพัฒนาแอปพลิเคชัน ‘Close Contact Detector’ ที่ผู้ใช้สามารถตรวจสอบความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากความใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19
  • สิงคโปร์ พัฒนาแอปพลิเคชันชื่อ ‘TraceTogether’ เพื่อช่วยระบุผู้ที่เคยอยู่ใกล้ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาในระยะ 2 เมตร ผ่านบลูทูธบนโทรศัพท์มือถือ

ท่ามกลางวิกฤต COVID-19 ที่กระจายไปทั่วโลก หนึ่งใน ‘ตัวช่วย’ สำหรับรัฐบาลและบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงประชาชน ในการลดการแพร่ระบาดและการจัดสรรทรัพยากรคือ ‘ข้อมูล’ ทั้ง Big Data หรือ Crowdsourcing Data ถูกนำมาใช้วิเคราะห์และตัดสินใจปรับใช้มาตรการต่าง ๆ ในหลายประเทศ

ไต้หวันโมเดล

‘ไต้หวัน’ คือหนึ่งในประเทศที่ได้รับการยกย่องว่าสามารถจัดการกับการแพร่ระบาดครั้งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหนึ่งในอาวุธที่ไต้หวันใช้ในการต่อสู้กับวิกฤตการณ์ครั้งนี้คือเทคโนโลยีด้านข้อมูล ที่นำมาช่วยวิเคราะห์ บังคับใช้ และวัดผลมาตรการต่าง ๆ ในการควบคุมสถานการณ์

ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาด รัฐบาลของไต้หวันก็เริ่มทำฐานข้อมูลที่แสดงความเชื่อมโยงของผู้ติดเชื้อ เพื่อดูว่าใครติดจากใคร โดยหวังหยุดการส่งต่อเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ได้ใช้แค่ข้อมูลที่รายงานโดยผู้ติดเชื้อเท่านั้น แต่รัฐบาลไต้หวันยังรวมเอาข้อมูลจากระบบประกันสุขภาพ หน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานอื่น มารวมในการวิเคราะห์ด้วย ทำให้รัฐบาลสามารถตรวจสอบประวัติการเดินทางและอาการของประชากรแต่ละบุคคลได้ พร้อมทั้งเปิดให้โรงพยาบาล คลินิก และร้านขายยาทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยได้เช่นกัน เพื่อจะได้ข้อมูลในกรณีที่ผู้ป่วยไปรักษานอกระบบหรือซื้อยากินเอง

ไต้หวันยังออกมาตรการห้ามบุคคลจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเดินทางเข้าประเทศอย่างเคร่งครัด และสำหรับคนที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศได้ ก็จะต้องลงทะเบียนเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของตนเอง พร้อมยินยอมให้รัฐติดตามการเดินทางในประเทศผ่านโทรศัพท์มือถือ ส่วนกลุ่มที่ได้รับคำสั่งให้กักตัว จะได้รับโทรศัพท์มือถือจากรัฐบาล เพื่อทำการติดตามและให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด

มาตรการทั้งหมดนี้ ไม่ได้เป็นไปในทางบังคับ แต่เป็นการจูงใจให้ปฏิบัติตาม ด้วยการเสนอความช่วยเหลือโดยรัฐ เพราะรัฐบาลไต้หวันเชื่อว่า ถ้ามีคนตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยง คงจะดีกว่าถ้ามีรัฐช่วยอำนวยความสะดวกในการดูแลและรักษา แทนที่จะต้องดั้นด้นไปโรงพยาบาลและรับการรักษาด้วยตัวเอง

ในฝั่งของการบริหารจัดการทรัพยากร รัฐบาลไต้หวันได้รวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูลทั้งประเทศ เพื่อประเมินปริมาณหน้ากากอนามัยที่มี ปริมาณห้องประจุลบสำหรับการรักษา รวมถึงทรัพยากรอื่น ๆ เพื่อออกมาตรการควบคุมราคาและการแจกจ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านฐานข้อมูลในระบบประกันสุขภาพและกิจกรรมการซื้อขายออนไลน์

ในการสื่อสารข้อมูลและมาตรการต่าง ๆ นักวิเคราะห์ข้อมูลและนักข่าวทำงานร่วมกันที่ National Health Command Center อัปเดตข้อมูลตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้ข้อมูลที่ประชาชนได้รับนั้นถูกต้องและเรียลไทม์มากที่สุด

ทั้งหมดนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในวันที่ COVID-19 เดินทางมาถึงเกาะไต้หวัน แต่เป็นการปรับใช้จากแผนรับมือโรคระบาด ที่รัฐบาลจัดทำขึ้นไว้หลังการระบาดของ SARS เมื่อปี 2003 และตามกฎหมาย (Communicable Disease Control Act) รัฐบาลสามารถนำแผนนี้มาใช้ และมีอำนาจควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้ในภาวะเช่นนี้

ส่วนบทลงโทษสำหรับผู้ไม่ปฏิบัติตามมาตรการนั้นก็เคร่งครัดและรุนแรง อย่างการค้ากำไรเกินควรจากหน้ากากอนามัยหรือการส่งต่อข้อมูลผิด ๆ อาจมีโทษถึงจำคุกหลายปีและปรับอีกหลายแสนดอลลาร์ หรือคนที่หายไปจากการติดตามก็จะได้รับการตามตัวจนถึงที่สุด

การเตรียมการล่วงหน้าและการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ อาจเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตของไต้หวัน ไม่พุ่งสูงเหมือนในหลายประเทศ แต่รัฐบาลไต้หวันก็บอกเหมือนกันว่ายังมีตัวเลขที่มองไม่เห็น จากการตรวจที่ยังไม่ครอบคลุม 100% หรือผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการที่รุนแรงอย่างชัดเจน

เทคโนโลยีข้อมูลในประเทศอื่น ๆ

สำหรับประเทศอื่นในเอเชีย ก็มีการใช้อำนาจพิเศษโดยรัฐ เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อตรวจสอบ ติดตาม และควบคุมการแพร่ระบาด อย่างใน เกาหลีใต้ รัฐบาลได้ใช้เครื่องมือและวิธีการที่เคยใช้ตอนการระบาดของ MERS เพื่อเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้บัตรเครดิต ตำแหน่ง Location จากโทรศัพท์มือถือหรือรถยนต์ รวมถึงภาพจากกล้องวงจรปิดตามสถานที่ต่าง ๆ จนสามารถสร้างแผนที่ข้อมูลที่ระบุได้ว่าใครบ้างที่กำลังอยู่ใกล้ผู้ที่ติดเชื้อ และส่งข้อความเตือนบุคคลนั้นได้แบบเรียลไทม์

ใน จีน รัฐบาลมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้หน้าประตูห้อง/บ้านของผู้ที่ได้รับคำสั่งให้กักตัว 14 วัน รวมถึงมีการสอดส่องกลุ่มคนเหล่านั้นผ่านกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งไว้ทั่วเมือง (มีแหล่งข่าวบอกว่า รัฐจะโทรหาทันทีหากบุคคลนั้นออกจากที่พักหรือมีการติดต่อกับคนอื่น) มีการบินโดรนเพื่อตรวจตราและเตือนให้ผู้คนใส่หน้ากากอนามัย รัฐบาลยังร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่าย เข้าถึงข้อมูลตำแหน่ง Location ในโทรศัพท์มือถือของประชากรทุกคน เพื่อคอยแจ้งเตือนหากเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อ รวมถึงมีการพัฒนาแอปพลิเคชัน ‘Close Contact Detector’ ผ่านฐานข้อมูลจำนวนมากที่หน่วยงานรัฐรวบรวมไว้ โดยผู้ใช้สามารถตรวจสอบว่ามีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเนื่องจากเคยใกล้ชิดกับใครบางคนที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาหรือไม่

ส่วนใน สิงคโปร์ GovTech ก็พัฒนาแอปพลิเคชันชื่อ ‘TraceTogether’ ขึ้นมา เพื่อช่วยระบุผู้ที่เคยอยู่ใกล้ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาในระยะ 2 เมตร ผ่านบลูทูธบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งช่วยได้ในกรณีที่ผู้ติดเชื้อจำไม่ได้ว่าเคยสัมผัสหรือใกล้ชิดกับใคร และช่วยรัฐให้สามารถระบุผู้ที่อาจได้รับเชื้อง่ายขึ้น

มาตรการที่ยกมาเล่าในบทความนี้ อาจไม่ได้การันตีผลลัพธ์ที่ดีที่สุดเสมอไป รวมถึงไม่สามารถหยิบขึ้นมาและนำไปใช้ในประเทศอื่นที่มีบริบททางกฎหมายและสังคมที่ต่างกันได้แบบไม่ต้องปรับเปลี่ยน แต่ก็พอจะทำให้เห็นว่า การเตรียมการล่วงหน้าและการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ ก็เป็นสิ่งสำคัญเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ที่รวดเร็วและรุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้การเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลและการจับตาดูเราทุกฝีก้าว จะจำเป็นสำหรับช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้ แต่ก็อย่าลืมว่า ‘ความเป็นส่วนตัว’ คือราคาที่ต้องจ่าย พร้อมทิ้งท้ายด้วยคำถามจากหลายฝ่ายว่า หลังจบวิกฤตการณ์ครั้งนี้ การสอดส่องดูแลของรัฐบาลในแต่ละประเทศ รวมถึง ‘ข้อมูลส่วนบุคคล’ ที่แต่ละรัฐได้ไปในครั้งนี้ จะได้รับการพิจารณาและจัดการอย่างไร เพื่อให้ประชาชนใช้ชีวิตหลังไวรัสกันได้อย่างสะดวกใจ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้ด้านประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้เพื่อการโฆษณา

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า