4 ทักษะเบิกทางสู่การงานแห่งโลกอนาคต

4-skills-for-the-future-of-work

HIGHLIGHTS

  • 4 ทักษะที่ทุกคนควรพัฒนาติดตัวไว้เพื่อเบิกทางสู่การทำงานในอนาคต ได้แก่ Fundamental Digital Skills ทักษะการใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว, Soft Skills ทักษะทางสังคม อารมณ์ และความคิดสร้างสรรค์, Hard Skills ทักษะเฉพาะทางเชิงเทคนิค และ Meta Skills ทักษะการสร้างทัศนติด้านการเรียนรู้ที่เปิดกว้างที่จะช่วยให้เราเรียนรู้และสร้างทักษะใหม่ได้รวดเร็วขึ้น

รายงานผลการวิจัย The Future of Jobs Report ของ World Economic Forum ซึ่งสำรวจไว้ล่าสุดในปี 2018 ชี้ชัดว่า 42% ของทักษะการทำงานที่ทุกองค์กรต่างต้องการในปี ค.ศ. 2020 กำลังจะเปลี่ยนไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ จนอาจสั่นคลอนความมั่นคงของหลาย ๆ อาชีพจากทุกอุตสาหกรรม

ว่าแต่เตรียมการต้อนรับอนาคตที่กำลังจะมาถึงกันแล้วหรือยัง ? ก่อนอื่นคุณต้องตั้งต้นด้วยทัศนคติที่พร้อมจะปรับตัวไปสู่การเปลี่ยนแปลงเป็นอันดับแรก หรือเรียกว่า ‘ความหยุ่นตัวต่อทุกสภาวะการณ์ (Resilience)’

Harvard Business Review สรุปไว้ตั้งแต่ปี 2016 ว่าคนทำงานต้องมีทัศนคตินี้ติดตัวเสียก่อน ถึงจะขยับตัวหันมาเพิ่มทักษะใหม่ ๆ สนใจพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ หมั่นปรับปรุงกระบวนการที่จะเพิ่มผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารระหว่างทีม การตอบสนองความต้องการของลูกค้า หรือการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ เพื่อตอบโจทย์อนาคตที่นับวันจะยิ่งท้าทายมากขึ้นเรื่อย ๆ

และเพื่อเบิกทางสู่การทำงานในอนาคต ไปดูกันดีกว่าว่า 4 ทักษะที่ทุกคนควรพัฒนาติดตัวไว้ มีอะไรบ้าง

Fundamental Digital Skills

Fundamental Digital Skills: ทักษะสามัญของพลเมืองดิจิทัล

คนทำงานยุคใหม่ต้องรู้จักใช้งานเทคโนโลยีอย่างคล่องแคล่ว เพราะในอนาคต ทักษะทางดิจิทัลจะกลายเป็นทักษะสามัญสมัยใหม่ (New Normal) เหมือนกับการอ่านออกเขียนได้เป็นเรื่องธรรมดาของคนทั่วไปในศตวรรษนี้

การรู้ดิจิทัล (Digital Literacy) คือการเข้าใจเทคโนโลยีดิจิทัลแบบซึมลึกลงไปจนกลายเป็นความคิดอัตโนมัติ คุณจะรู้ได้ในทันทีว่างานแบบนี้เหมาะกับใคร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ควรให้ใครทำ ทำไปเพื่ออะไร ใช้เวลาทำนานไหม ควรเสร็จเมื่อไหร่

ส่วน ‘ทักษะดิจิทัล (Digital Skill)’ คือทักษะที่เจาะลึกลงไปเฉพาะการเลือกใช้งานเครื่องมืออุปกรณ์ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ รวมถึงรู้วิธีสร้างงานให้ออกมาได้ตามโจทย์ที่ได้รับ

เช่น ในสถานการณ์เร่งด่วน ทุกคนในทีมต่างอยู่กระจัดกระจายกัน แต่ CEO ของคุณเกิดได้เข้าพบลูกค้าคนสำคัญที่หาโอกาสได้ยาก มีมูลค่าการลงทุนระดับสิบล้านร้อยล้านเป็นเดิมพัน ทุกคนต้องช่วยกันระดมสมองเพื่อกำชัยชนะในการนำเสนอแผนธุรกิจ (Pitching) ของบริษัทในครั้งนี้

ไม่ว่าคุณอยู่ที่ไหน ก็สามารถหยิบอุปกรณ์ที่มีอยู่ใกล้ตัว อย่างแล็ปท็อป แท็บเล็ต หรือสมาร์ตโฟน เพื่อทำงานผ่านระบบคลาวด์ คลิกสร้างพรีเซนเทชันที่เหมาะสมบน Google Slide แก้ไขงานแบบเรียลไทม์บน Google Drive ผ่าน Google G Suite (ซึ่งเปรียบเสมือน Microsolf Office แบบออนไลน์) ที่ทุกคนในทีมสามารถเข้าใช้งานร่วมกันในเวลาเดียวกันได้

เจ้านายนำทีมประชุมสายออนไลน์ วางกลยุทธ์ในการนำเสนอให้ทุกคนรับทราบ แพลนเนอร์ช่วยวางโครงสร้างและแบ่งงานให้ทุกคนทำงานให้สอดคล้องกัน, นักวิเคราะห์ข้อมูลและตัวเลข สรุปข้อมูลสำคัญเชื่อมโยงจาก Google Sheet, นักเขียนย่อยข้อมูลให้เข้าใจง่าย ถ่ายทอดให้น่าสนใจด้วยภาษาที่ถูกต้องสละสลวย, กราฟิกดีไซเนอร์ออกแบบงานนำเสนออย่างมีศิลปะ เพิ่มภาพลักษณ์ให้แบรนด์มีบุคลิกน่าจดจำและแสดงถึงความเป็นมืออาชีพ เป็นต้น

จากเหตุการณ์สมมตินี้จะเห็นว่าคนทำงานยังต้องรู้วิธีการคัดกรองและบริหารจัดการข้อมูล รวมถึงรู้กลไกเชิงโปรแกรม (Programmatic Literacy) อย่างมากอีกด้วย

ในงานวิจัย ‘Digital Literacy: A Conceptual Framework for Survival Skills in the Digital Era.’ ของศาสตราจารย์ Yoram Eshet กล่าวไว้ว่า

“การรู้ดิจิทัล (Digital Literacy) เป็นขั้นกว่าของความสามารถในการใช้งานซอฟต์แวร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป เพราะยังหมายรวมถึงความหลากหลายของความคิดอันซับซ้อน, กลไกและเทคนิคทางเครื่องกล, ทางสังคมวิทยา และทักษะทางอารมณ์ ซึ่งผู้ใช้ต้องใช้งานฟังก์ชันเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในสภาพแวดล้อมที่เป็นดิจิทัลได้อย่างตรงตามบริบท”

Soft Skills

Soft Skills: ทักษะของมนุษย์ผู้มีหัวใจ แม้แต่ AI ก็ยังสู้ไม่ได้!

World Economic Forum ชี้ว่า Soft Skills ทักษะทางสังคม อารมณ์ และความคิดสร้างสรรค์ หรือว่าง่าย ๆ คือการใส่สมองและหัวใจลงไปในการทำงานนั้น ยังเป็นสิ่งที่มนุษย์ทำได้ดีและโดดเด่นที่สุดอยู่วันยันค่ำ

Paul Petrone บรรณาธิการ LinkedIn Learning กล่าวว่า “Soft Skills เป็นทักษะน่าลงทุนที่คุณควรพัฒนาเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งในอาชีพ ยิ่งเมื่อ AI เข้ามามีบทบาท ทักษะนี้จะกลายเป็นทักษะสำคัญ เพราะหุ่นยนต์ยังไม่สามารถทำงานที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนทดแทนมนุษย์ได้”

เช่นเดียวกับ Feon Ang ดำรงตำแหน่ง Vice President of Talent and Learning Solutions ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ LinkedIn เคยกล่าวไว้

“เป็นเรื่องสำคัญที่องค์กรต้องลงทุนในบุคลากร สนับสนุนให้พวกเขาเพิ่มทักษะใหม่ (Upskill) และไม่ลืมเสริมความแข็งแกร่งของทักษะเดิม (Reskill) ควบคู่กันไป เพื่อให้แน่ใจว่าบุคลากรจะยังคงทำงานให้องค์กรได้อย่างตอบโจทย์ แต่ขณะเดียวกัน บุคลากรเองก็ต้องมี Growth Mindset เพื่อหมั่นพัฒนาตนเองอยู่เสมอด้วย”

ทางด้าน ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม President of Thailand Tech Startup Association สรุปให้ฟังใน The Future of Leadership in AI Era ว่า Skillset ที่จำเป็นอย่างยิ่งของมนุษย์เรานั้นก็คือ ภาวะผู้นำ (Leadership) ในคนทำงาน ถ้าไม่มีใคร ‘เฉลียวใจ’ ทั้งที่มีข้อผิดพลาดในคำสั่ง แต่กลับรับมาปฏิบัติตาม โดยไม่ตั้งคำถามโต้แย้ง เป็นเหตุให้องค์กรสูญเสียเวลาและทรัพยากร นั่นคือหายนะและความล้มเหลวในการบริหารงานของผู้นำองค์กร

องค์กรจึงต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนให้บุคลากรกล้าคิด สอดคล้องกับประสบการณ์และสัญชาตญาณ เพื่ออุดข้อผิดพลาดไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ ซึ่งในการทำงานจะต้องตั้งเป้าหมาย (Objectives) ตามวัตถุประสงค์ (Purposes) ที่เป็นไปได้จริงและเพิ่มความท้าทายเพื่อสร้างผลลัพธ์ (Goals)

Hard Skills: ทักษะเฉพาะทางยิ่งรู้ลึกยิ่งได้เปรียบ

ความกระตือรือร้นที่จะขวนขวายหาความรู้ (Active Learning) คือกุญแจไขไปสู่ทักษะใหม่ ๆ คุณจะรู้ได้เองว่า Hard Skills หรือทักษะเฉพาะทางแขนงไหนจำเป็นกับคุณในอนาคต

ถ้าคุณเร่งเรียน Hard Skills เหล่านี้ติดตัวไว้ เช่น รู้วิทยาศาสตร์ข้อมูล สามารถกลั่นกรองและวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจได้ รู้ภาษาคอมพิวเตอร์สำหรับการเขียนโปรแกรม สามารถพัฒนาซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชัน และเว็บไซต์ หรือกระทั่งพัฒนาการเรียนรู้ของสมองจักรกลได้ยิ่งดี เพราะมีความรู้เชิงเทคนิคลึกมากเท่าไร คุณจะยิ่งได้เปรียบในสนามแห่งการทำงานมากขึ้นเท่านั้น

เพราะอะไรจึงได้เปรียบ ?

มนุษย์เราไม่สามารถแข่งขันกับ AI (ปัญญาประดิษฐ์) ด้านความสามารถในการเรียนรู้ได้อยู่แล้ว เพราะในขณะที่เราจำเป็นต้องหลับต้องนอนเพื่อนศึกษาเรียนรู้ แต่ AI แค่เพียงได้รับการถ่ายโอนข้อมูลความรู้ที่มีอยู่เพียงชั่วข้ามคืนได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการเรียนอย่างเรา ๆ ก็สามารถอัปเกรดไปใช้ทักษะใหม่เพื่อลุยทำงานได้ในวันรุ่งขึ้นทันที แถมยังลดโอกาสเกิดความผิดพลาดลงได้เรื่อย ๆ ในขณะที่มนุษย์ยังไงก็ต้องมีหลุด เกิด Human Error ขึ้นมาจนได้

ฉะนั้น การศึกษาทักษะเชิงเทคนิคลึกเพื่อเตรียมความพร้อมให้เราทำงาน ‘ร่วม’ กับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ แทนการ ‘แข่งขัน’ กับเจ้าปัญญาประดิษฐ์แสนฉลาดนั้น จะช่วยให้คุณมีอาวุธครบมือพร้อมปรับตัวรับโลกการทำงานแห่งอนาคตที่กำลังมาถึงนี้เป็นอย่างดี

Meta Skills

Meta Skills: ทักษะใฝ่รู้ตลอดชีวิต

Meta Skills คือ ทักษะการสร้างทัศนติด้านการเรียนรู้ที่เปิดกว้างอย่าง Growth Mindset ซึ่งจะช่วยให้เราเรียนรู้และสร้างทักษะใหม่ได้รวดเร็วขึ้น

Carol Dweck นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Stanford ผู้เขียนหนังสือ Mindset: The New Psychology of Success ได้กล่าวไว้ว่า “ความสำเร็จเป็นผลพวงจากทัศนคติ 90% และอีก 10% คือความมุ่งมั่นทำงานหนัก”

เธออธิบายว่า ผู้ที่มี Growth Mindset จะเชื่อในความสามารถของตนเอง พร้อมที่จะมุ่งมั่นพัฒนาตนเองอย่างไม่สิ้นสุด เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ผู้รู้ และตำรา ที่ช่วยให้พวกเขาเก่งขึ้นและเติบโตขึ้น โดยไม่คอยกังวลว่าในระหว่างที่ยังไม่รู้นั้นจะดูไม่ฉลาด ไม่กลัวไปก่อน แม้จะต้องเผชิญกับความผิดพลาด ขณะที่ได้ลองทำเรื่องใหม่ ๆ พวกเขาจะโฟกัสไปที่กระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ และพร้อมจะเริ่มใหม่เพื่อท้าทายตนเองอยู่เสมอ

ความสำเร็จเป็นผลพวงจากทัศนคติ 90% และอีก 10% คือความมุ่งมั่นทำงานหนัก

Carol Dweck

ซึ่งการพัฒนา Meta Skills นั้น จะต้องมีส่วนผสม 3 อย่าง ดังต่อไปนี้

  1. มีวินัยในตนเอง (Self Management)
    มีความรับผิดชอบต่อการสร้างนิสัยที่ดี มีโฟกัส รู้จักปรับตัว รู้คุณค่าในตัวเอง มีความมุ่งมั่น และเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำอย่างแรงกล้า
  2. มีความปราดเปรื่องในการเข้าสังคม (Social Intelligence)
    สามารถสื่อสารความคิดออกมาได้อย่างชัดเจน สัมผัสอารมณ์ความรู้สึก และความต้องการของผู้อื่นได้เป็นอย่างดี ให้ความร่วมมือ ประสานงาน มีภาวะผู้นำ ส่งผ่านแรงบันดาลใจให้แก่ผู้อื่นได้
  3. พัฒนาตนเอง (Innovation) 
    หมั่นสร้างศักยภาพเชิงบวกอยู่เสมอ คอยตั้งคำถามต่อสิ่งต่าง ๆ คิดตกผลึกไอเดียสร้างสรรค์ จับใจความสำคัญได้ดี ตัดสินใจแก้ปัญหาร่วมกันได้ด้วยความคิดเชิงวิเคราะห์

นอกจากนี้ Forbes ยังได้ยกตัวอย่าง Meta Skills ที่เป็นทักษะจำเป็นของมนุษย์ออฟฟิศยุค 2020 อีกด้วย ได้แก่ มองในมุมของคนอื่นได้ (Perspective-Taking), จับจุดความต้องการที่แท้จริงของผู้อื่นได้ (Pain-Spotting), เป็นนักเล่าเรื่องที่ดี โน้มน้าวใจให้ผู้อื่นคล้อยตามได้ (Story-Telling), สัมภาษณ์ผู้อื่นเพื่อขยายมุมมองของเขาออกมาได้อย่างกระจ่างแจ้ง (Interviewing) และมีทัศนคติที่ดีต่อบทบาทหน้าที่ของตนเอง รู้ความสำคัญของตนต่อองค์กร สามารถเชื่อมโยงความคิดไปสู่ภาพใหญ่ และกล้าที่จะเสนอความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์แก่องค์กรได้ (Connecting The Dots)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้ด้านประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้เพื่อการโฆษณา

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า