เป็นตัวของตัวเองแบบไหนถึง “พอดี”? 5 ขั้นตอนเพื่อเป็นหัวหน้าที่เปิดเผยแต่ไม่มากเกินไป

ออฟฟิศยุคใหม่สนับสนุนให้เราเป็นตัวเองมากขึ้น แต่สำหรับหัวหน้า เป็นตัวเองแบบไหนถึงจะพอดี? 

วันนี้ TUXSA มี 5 ขั้นตอนสู่การเป็นหัวหน้าที่เปิดเผยจริงใจแบบพอเหมาะมาแชร์กัน จะมีอะไรบ้าง ไปเรียนรู้พร้อมกันได้เลย!

ผู้นำควรเป็นตัวของตัวเอง แต่ไม่ควรมากจนเกินไป?

การสร้างความจริงใจเปิดเผยให้เกิดขึ้นในที่ทำงานนั้นเป็นเรื่องท้าทายมากสำหรับผู้นำในทุกระดับ ซึ่ง Lisa Rosh และ Lynn Offermann ผู้เขียนบทความเรื่อง Be Yourself, but Carefully ได้ใช้เวลากว่า 40 ปีทำการวิจัยด้านจิตวิทยาองค์กรโดยเฉพาะ เพื่อหาข้อผิดพลาดที่ผู้นำและผู้บริหารมักจะทำเมื่อพวกเขาพยายามเป็นตัวของตัวเองในที่ทำงานมากเกินไป โดยผู้เขียนทั้งสองท่านแนะนำ 5 เทคนิคสำหรับผู้นำที่เปิดเผยและจริงใจ ส่งเสริมให้ลูกน้องเชื่อใจและสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีขึ้น จะมีเทคนิคอะไรบ้าง มาดูไปพร้อมกัน! 

1.รู้จักตัวเอง

คุณสามารถรู้จักตัวเองดีขึ้นได้หลายวิธี แต่วิธีที่ดีที่สุดคือการถามความคิดเห็นจากคนอื่นอย่างตรงไปตรงมา เช่น จากเพื่อนร่วมงาน ซึ่งจะทำให้คุณได้ทบทวนและมองตัวเองอย่างรอบด้านมากขึ้น

จากหนังสือเรื่อง Why Should Anyone Be Led by You? โดย Rob Goffee และ Gareth Jones แนะนำไว้ว่าคุณอาจเริ่มต้นด้วยการสำรวจประวัติชีวิตของตัวเอง โดยพิจารณาตัวเองว่าผ่านประสบการณ์ทำงานมาอย่างไร และเมื่อเจอโอกาสใหม่ๆ คุณมีแนวโน้มจะท้าทายตัวเองมากแค่ไหน และอดทนต่อแรงจูงใจใน Comfort Zone ของตัวเองได้ดีแค่ไหน รวมถึงแนวคิดในการบริหารทีมงานเหตุการณ์และผู้คนที่หล่อหลอมให้คุณเติบโตมานั้นเป็นอย่างไร 

2.เป็นตัวเองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงาน

สิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับการมาทำงานก็คือ การมาเพื่อ “ทำงาน” มาสร้างผลงานที่ต่อยอดได้และพัฒนาความสามารถของตัวเองให้เก่งขึ้น เราไม่ได้มาทำงานเพียงเพราะต้องการเข้าสังคมหรือหาเพื่อนใหม่ จากงานวิจัยพบว่า ทีมงานที่ล้มเหลวในการทำงานร่วมกันและไม่สามารถสานต่อความสัมพันธ์ต่อไปได้เป็นเพราะพวกเขาพยายามมากเกินไปที่จะสนิทสนมใกล้ชิดกัน มากกว่ามุ่งเน้นการร่วมมือกันเพื่อสร้างผลงานขึ้นมา 

เพราะฉะนั้นเวลาทำงานร่วมกับทีม ก่อนที่จะแชร์ข้อมูลส่วนตัวออกไป ให้ถามตัวเองก่อนว่าข้อมูลนั้นจำเป็นต่อการทำงานมากแค่ไหน เกี่ยวข้องกับงานที่ทำอยู่หรือไม่ และจะทำให้เพื่อนร่วมงานเข้าใจความคิดหรือเหตุผลของคุณได้ดีขึ้นหรือเปล่า เพราะถ้าหากนั่นไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานเลย ก็ควรที่จะแชร์เรื่องส่วนตัวในเวลาอื่น และกลับมาโฟกัสที่การทำงานให้ประสิทธิภาพมากขึ้นดีกว่า

3.เปิดเผยอย่างจริงใจ

ฟังดูเป็นเรื่องง่ายแต่กลับพบว่าทำได้ยาก เพราะจากการสำรวจยังคงพบว่าผู้นำหรือผู้บริหารบางคนปั้นเรื่องเกินจริงเกี่ยวกับความสำเร็จของตัวเอง ยกตัวอย่างเรื่องราวของ Allan ผู้ที่ซึ่งเพิ่งก้าวลงจากตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและการสื่อสารในเครือโรงแรมระดับภูมิภาค พบว่าในงานนำเสนอและการประชุมกลุ่มย่อย เขาจะยกตัวอย่างความสำเร็จในการใช้ Social Media, video on demand และ SEO ในตำแหน่งงานเก่าของเขาที่โรงแรมชั้นนำ แต่ปัญหาก็คือ ตำแหน่งเก่าของเขาในสมัยปี 1980 นั้นยังไม่มีเครื่องมือเทคโนโลยีเหล่านี้เลยด้วยซ้ำ และเมื่อพบว่าเรื่องราวเหล่านั้นไม่ใช่ความจริง Allan ก็ต้องสูญเสียความน่าเชื่อถือและถูกเชิญให้ออกจากบริษัทไปในที่สุด 

การแต่งเรื่องหรือการเล่าเรื่องเกินจริงเพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์อาจดูเป็นความคิดที่ดีในขณะนั้น แต่เมื่อมีคนค้นพบความจริงได้ในภายหลังมันกลับสร้างผลเสียได้อย่างมากมายเกินคาดคิด เพราะฉะนั้นจงบอกเล่าความจริงเสมอโดยไม่ต้องเสริมแต่ง หากคุณได้เรียนรู้จากสถานการณ์บางอย่างที่คุณเคยทำ แม้ไม่ได้ยิ่งใหญ่แต่มันทำให้คุณนำไปต่อยอดทำสิ่งอื่นๆ ได้ ก็สามารถแชร์เรื่องราวเหล่านี้ให้คนอื่นฟัง เพราะอย่างน้อยมันก็ยังเป็นเรื่องจริง 

4.เข้าใจบริบทขององค์กรและวัฒนธรรม

งานวิจัยจำนวนมากพบว่า คนที่มาจากประเทศที่มีลักษณะปัจเจกนิยมอย่าง สหรัฐอเมริกาและอินเดียมีแนวโน้มที่จะเปิดเผยข้อมูลของตัวเองและคาดหวังให้ผู้อื่นทำเช่นเดียวกันมากกว่าคนที่มาจากประเทศที่มีลักษณะสังคมนิยมอย่าง จีนและญี่ปุ่น สิ่งนี้บ่งบอกถึงความแตกต่างของวัฒนธรรมของแต่ละเชื้อชาติและบริบทสังคมของแต่ละประเทศได้เป็นอย่างดี 

เพราะฉะนั้นในการทำงานร่วมกับคนต่างเชื้อชาติ การพยายามเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่างของเพื่อนร่วมงานจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ นอกจากเป็นการให้เกียรติเพื่อนร่วมงานแล้ว ยังช่วยให้การร่วมมือกันทำให้งานประสบความสำเร็จมากขึ้น 

5.อย่าเปิดเผยเรื่องที่เป็นส่วนตัวมากๆ หรือไม่ก็อย่าเปิดเผยเร็วเกินไป

เพราะสังคมประกอบไปด้วยคนหลากหลายความคิด เรื่องราวของคุณอาจน่าสนใจในมุมมองของคุณ แต่สำหรับมุมมองของบุคคลอื่น อาจทำให้พวกเขาคิดว่ามันยังเร็วเกินไปที่จะรับรู้ และอาจสร้างความอึดอัดหรือบทสนทนาที่ไม่ไหลลื่นได้ 

ยกตัวอย่างเรื่องราวของ Helen เมื่อเธอต้องแนะนำตัวเองในการเปิดตัวโปรแกรมการฝึกอบรมข้ามไซต์ที่หน่วยงานด้านการดูแลสุขภาพ แต่ด้วยความเหน็ดเหนื่อยหลังจากอดหลับอดนอนกับลูกน้อยที่ป่วย Helen กลับแบ่งปันประสบการณ์ดังกล่าวในการแนะนำตัวเอง ทำให้ผู้ฟังรู้สึกไม่สบายใจ เพราะแทนที่จะได้รูัจัก Helen มากขึ้น พวกเขากลับได้รับรู้เรื่องลูกของเธอแทน และ Helen ก็ต้องใช้เวลา 3 เดือนเลยทีเดียวกว่าจะเรียกความน่าเชื่อถือกลับมาอีกครั้ง

ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องรอหลายปีกว่าจะบอกเพื่อนร่วมงานเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของคุณได้ แต่ลองใช้เวลาร่วมกันให้เพียงพอที่จะเรียนรู้และพัฒนาความไว้วางใจมากขึ้น โดยเริ่มจากการแสดงความน่าเชื่อถือผ่านการสร้างผลงานของคุณก่อน และลองสังเกตเพื่อนร่วมงานว่าพวกเขาเปิดกว้างต่อคุณมากแค่ไหน เพราะหากสังคมแวดล้อมคุณไม่ได้พร้อมเปิดกว้างที่จะรับฟังขนาดนั้น ก็เป็นการฉลาดกว่าที่คุณจะทำแบบชั้นเช่นเดียวกัน  

ทั้งหมดนี้คือ 5 ขั้นตอนเพื่อเป็นหัวหน้าที่เปิดเผยแบบพอดี และสำหรับใครที่อยากเรียนรู้ทักษะการเป็นผู้นำยุคใหม่ ลองดูรายละเอียดหลักสูตร  M.B.A. (Business Innovation) ของ TUXSA ป.โทออนไลน์โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ SkillLane ได้ที่นี่

อ้างอิง: hbr.org

SHARE

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้ด้านประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้เพื่อการโฆษณา

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า