อะไรทำให้คนเราอยากเรียนรู้ ?
อาจเป็นเพราะความสงสัยหรือเพราะปัญหาบางอย่างที่ทำให้เราต้องหาความรู้เพื่อแก้ปัญหาให้ได้
แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้เราเรียนรู้ได้ต่อเนื่องโดยตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา?
คำตอบคือ การเรียนรู้แบบโฟกัส หรือ Intentional Learning
ลองมาดูกันว่าสิ่งนี้คืออะไร และอะไรที่ทำให้การเรียนรู้แบบนี้เกิดขึ้นได้จริง
Intentional Learning คืออะไร?
การเรียนรู้แบบโฟกัส (intentional Learning) คือการเรียนรู้แบบที่ทำให้เข้าใจว่ารู้ไปเพื่ออะไร ซึ่งก็ต้องอาศัยการมีทัศนคติที่ถูกต้อง (Right Mindset) และสกิลที่ถูกทาง (Right Skill) ที่ทำให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างตรงจุด อาจเริ่มจากการตั้งเป้าหมายจากเล็กๆ ก่อนและค่อยๆ ทำให้สำเร็จไปทีละขั้นจนเป้าหมายเริ่มขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ความท้าทายในการพิชิตแต่ละเป้าหมายก็จะยิ่งยากขึ้น
ซึ่งการเรียนรู้แบบนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาจากสิ่งที่รู้สึกสนใจไปเป็นความเชี่ยวชาญ มันก็คือการที่เราได้โฟกัสกับการเรียนรู้อย่างแท้จริงและสามารถรักษา passion ในการเรียนรู้นั้นได้ตลอดรอดฝั่ง ไม่ยอมแพ้ หรือถอดใจไปเสียก่อน
ทำไมต้อง 3*3*3
เพราะว่าการตั้งเป้าหมายนั้นไม่ยากเท่ากับการทำให้สำเร็จ เป็นความจริงที่ในขั้นตอนของการตั้งเป้าหมาย คนทั่วไปมักจะรู้สึกมีไฟในช่วงเริ่มแรก และไฟก็จะเริ่มมอดลงเรื่อยๆจนในที่สุดเหลือไว้แต่เป้าหมายเท่านั้น แต่ไม่ได้ผลลัพธ์ใดๆออกมา สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะตอนที่เราตั้งเป้าหมาย เรามักจะนึกถึงขั้นตอนสุดท้ายหรือผลลัพธ์สุดท้ายที่สำเร็จแล้ว ซึ่งในความเป็นจริง ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ ยิ่งนึกถึงผลลัพธ์สุดท้ายบ่อยเท่าไหร่ ก็ยิ่งห่างไกลความสำเร็จมากเท่านั้น เพราะยังไม่ได้เริ่มลงมือทำ หรือโฟกัสไม่ถูกจุด หรือมีเป้าหมายที่ต้องการมากเกินไป
จากบทความชิ้นหนึ่งเรื่อง Intentional learning จาก Mckinsey ผู้เขียนได้เสนอสูตรการเรียนรู้ที่น่าสนใจ เรียกว่า 3*3*3 หมายความว่า สำหรับการวางแผนการเรียนรู้ให้ได้ผล ควรตั้งเป้าหมายไว้อย่างน้อยไม่เกิน 3 อย่าง ภายในระยะเวลา 3 เดือน และควรบอกเพื่อนหรือมีทีมที่สามารถช่วย Support เราได้อย่างน้อย 3 คน เหตุผลที่ต้องเป็น 3*3*3 ก็คือเป็นจำนวนหรือระยะเวลาที่เราสามารถเอื้อมถึง จัดการได้ และมีแนวโน้มที่จะทำออกมาได้สำเร็จมากกว่า มาเริ่มวิเคราะห์กันไปทีละองค์ประกอบกัน!
ตั้งเป้าหมายไว้ไม่เกิน 3 อย่าง
บ่อยครั้งการตั้งเป้าหมายเยอะๆ กลับรู้สึกว่าทำไม่สำเร็จเลยสักอย่าง เพราะสมองของคนเราออกแบบมาเพื่อให้สามารถโฟกัสเรื่องที่สำคัญเพียงไม่กี่อย่างเท่านั้น และการมีเป้าหมายที่มากจนเกินไป ก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกเหนื่อยล้า เพราะต้องแบ่งพลังงานในการโฟกัสเรื่องสำคัญหลายๆเรื่อง นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการจดจำ เพราะเป้าหมายเยอะเกินไปจนลืมไปว่ากำลังตั้งใจทำอะไรอยู่กันแน่
ในขณะเดียวกัน การมีเป้าหมายแค่อย่างเดียวก็อาจทำให้เราพลาดประสบการณ์ที่จะพัฒนาทักษะและความสามารถในการทำเป้าหมายอื่นๆให้เสร็จ และคนส่วนใหญ่ก็มักมีเป้าหมายที่ต้องทำเกินกว่า 1 อย่างอยู่แล้ว วิธีที่ดีที่ทำให้เรายังคงโฟกัสและได้งาน ก็คือกำหนดเป้าหมายที่จะโฟกัสไม่เกิน 3 อย่าง ซึ่งเป็นจำนวนที่กำลังดี ที่พอจะเฉลี่ยพลังงานและสมาธิในการจดจ่อและทำให้สำเร็จได้อย่าง
ไม่ยากจนเกินไป ยกตัวอย่างเช่น หากคุณเป็นผู้จัดการระดับกลาง คุณอาจจะต้องเป็นโค้ชที่ดีเพื่อสอนงานให้ลูกน้อง ขยาย Connections เพื่อการเติบโตของบริษัท และจะต้องประชุมระดับหัวหน้ากับทีม ซึ่งทั้ง 3 เป้าหมายนี้ ช่วยส่งเสริมกันและกัน และช่วยพัฒนา Performance ให้มากขึ้นอีกด้วย
กำหนดขอบเขตระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน
จากผลสำรวจพบว่าระยะเวลา 3 เดือนเป็นระยะเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการทำโปรเจกต์ต่างๆ และเป็นช่วงเวลาที่องค์กรส่วนใหญ่ใช้ในการประเมินผลงานพนักงาน และในการทดลองงาน หรือแม้แต่ช่วงระยะทดลองของบริการต่างๆ ก็มักจะให้ทดลองใช้ฟรีก่อน 3 เดือน หากพอใจก็ค่อย Subscription ต่อ คำถามก็คือ ทำไมระยะเวลา 3 เดือนจึงถูกนำมาใช้เป็นระยะเวลาสำหรับการทำโปรเจกต์ต่างๆอยู่เสมอ ? เหตุผลก็เพราะ ในระยะเวลา 3 เดือนนั้นมีช่วงวงจรที่ส่งผลต่อกระบวนการเรียนรู้ได้ดีที่สุด ตั้งแต่การเรียนรู้ (Training) , ฝึกฝน (Practice) และรับฟีดแบ็ค (Feedback) ซึ่งเป็นลูปที่กินเวลาภายใน 3 เดือนที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ได้ดีในระยะยาว
นอกจากนี้ยังมีผลสำรวจพบว่า คนมีแนวโน้มจะไม่ค่อยผัดวันประกันพรุ่งกันภายในระยะเวลา 12 สัปดาห์นี้ เพราะไม่ใช่ระยะเวลาที่ยาวนานเกินไปจนทำให้เราหาข้ออ้างมาผัดผ่อนจนลืมเดดไลน์ และก็ไม่ใช่ระยะเวลาที่สั้นเกินไปจนทำให้เราข้ามเพื่อที่จะไม่ทำ เรียกได้ว่าเป็นระยะกำลังดี หากเปรียบเป็นเส้นทางการเรียนรู้ก็ถือว่าไม่ได้ไกลจนเหนื่อย และก็ไม่ได้ใกล้จนไม่ได้ออกแรงทำ
หา Support Team หรือ Connections อย่างน้อย 3 คน
คนส่วนใหญ่อาจไม่ค่อยชอบบอกเป้าหมายของตัวเองให้คนอื่นรับรู้เพราะเชื่อว่ายิ่งบอกก็จะยิ่งอับอายหากทำสิ่งนั้นไม่สำเร็จ หรือบางคนอาจจะบอกเป้าหมายที่ทำได้ง่ายๆไว้ก่อนเพื่อจะได้ไม่เพิ่มความกดดันและความเครียดให้กับตัวเอง ซึ่งสุดท้ายแล้วพวกเขากลับไม่สามารถพิชิตเป้าหมายที่พวกเขาต้องการจริงๆได้เลย ซึ่งนั่นอาจเป็นหนึ่งในสัญชาตญาณของมนุษย์ที่ไม่อยากถูกซ้ำเติมหรือวิจารณ์ทำให้อับอาย แม้ในใจลึกๆเราก็ล้วนต้องการพิชิตเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กันทั้งนั้น
จากผลสำรวจระบุว่าการบอกเป้าหมายของเราให้คนอื่นรับรู้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการช่วยเหลือ ให้กำลังใจหรือเป็นกลุ่มคนที่สนใจอะไรคล้ายกับเราอย่างน้อยสักประมาณ 3 คน จะยิ่งกระตุ้นให้เราบรรลุเป้าหมายได้ดีกว่า แต่ก็ต้องมั่นใจว่านี่คือกลุ่มคนที่เราไว้วางใจและพร้อมจะช่วยเหลือให้กำลังใจเรา โดยไม่คอยบั่นทอนกำลังใจหรือคอยซ้ำเติมหากเราล้มเหลว อาจเป็นสมาคมหรือชมรมหรือทีมเล็กๆที่สามารถแชร์ความสำเร็จ ความก้าวหน้าและ Performance แก่กันได้
ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มคนลดน้ำหนัก มีแนวโน้มสูงว่าพวกเขาสามารถลดน้ำหนักได้ดีกว่า หักห้ามใจในการกินได้มากกว่า ถ้ามีเพื่อนลดน้ำหนักเหมือนกัน หากเทียบกับการที่ต้องพยายามลดน้ำหนักอยู่คนเดียว เพราะมีโอกาสสูงที่เราจะไม่ค่อยเข้มงวดหรือมีวินัยกับตัวเองมากนัก
อย่างไรก็ตาม สมาชิกที่เราเลือกให้เป็น Support Team ก็ไม่ควรมากเกินไป โดยสถิติอยู่ที่จำนวนไม่เกิน 3 คนนั้นถือเป็นตัวเลขกลางๆที่ดี เพราะถ้ามีสมาชิกมารวมตัวกันมากๆ อาจเป็นผลเสียต่อเป้าหมายและทิศทางได้ และอาจไม่ได้โฟกัสที่ผลลัพธ์เดียวกัน ในขณะที่ทีมที่ประกอบด้วย 3 คนส่งผลดีต่อระเบียบวินัยและความคล่องตัวมากกว่า
สรุป
สูตรการเรียนรู้แบบ 3*3*3 นี้อาจไม่จำเป็นต้องทำให้ได้เป๊ะๆแบบ 3 เป้าหมาย 3 เดือนหรือ 3 คนเท่านั้น เพราะสิ่งที่แนวคิดนี้ต้องการนำเสนอก็คือการกำหนดเป้าหมายและขอบเขตระยะเวลาที่เรียบง่ายและทำได้จริง ไม่ใช่แค่ความอยากหรืออะไรที่เกินความสามารถจนเกินไป หลักคิดแบบ 3*3*3 นี้เป็นเสมือนรากฐานของการเรียนรู้ที่หากเราสามารถทำได้สำเร็จ ก็จะเป็นการปลูกฝังนิสัยของการวางแผน สามารถทำอะไรได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงก่อให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจเมื่อทำตามเป้าหมายได้ และที่สำคัญก็คือเป็นจุดเริ่มต้นของการมีทักษะในการเรียนรู้แบบระยะยาว (Lifelong Learning)
อ้างอิง :