ตีโจทย์ความสุข ความสำเร็จ และเป้าหมายชีวิต กับ ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์

ค่าเฉลี่ยจำนวนการเสิร์ชหาคำว่า ‘ความสุข’ ‘เป้าหมาย’ และ ‘ความสำเร็จ’ บน Google ในแต่ละเดือน มีมากถึง 12,100 ครั้ง 6,600 ครั้ง และ 5,400 ครั้ง ตามลำดับ หมายความว่ามีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ว่า 3 สิ่งนี้คืออะไร และจะมีมันได้อย่างไร

เราเองก็เป็นคนหนึ่งที่ดำเนินชีวิตด้วยความตั้งใจค้นหานิยามส่วนบุคคลของ 1 ใน 3 สิ่งนั้นให้เจอ จึงทราบดีว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะตั้งเป้าหมาย (อย่างมีประสิทธิภาพ) ไปสู่ความสำเร็จ และประสบความสุขในระยะยาว

แต่ไม่นานมานี้ มีอาจารย์ท่านหนึ่งบอกเราว่า “ความสำเร็จคือสถานะที่ทำให้เรามีความสุข แปลว่าเราสามารถสำเร็จได้ทุกวัน ถ้าเรามีความสุขได้ทุกวัน” 

ประโยคนี้ได้เปลี่ยนมุมมองทึ่เรามีต่อคำว่า ‘ความสำเร็จ’ ไปโดยสิ้นเชิง

เพื่อตีโจทย์ชีวิตข้อนี้ให้แตก เราจึงเชิญอาจารย์เจ้าของคำพูดด้านบน ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดผลการปฏิบัติงานที่สามารถนำมาใช้ในองค์กรและการดำเนินชีวิตในประจำวัน นักเขียนหนังสือขายดีหลายเล่ม อาทิ ความสุขปัจจุบันสุทธิ (2562), ความลับของการวัดผล (2558), จิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายของความสำเร็จ (2558) และเจ้าของเฟซบุ๊กเพจกับพอดแคสต์ด้านการพัฒนาตนเองอย่าง Nopadol’s Story 

มาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นของการมีความสุข ความสำเร็จ และการตั้งเป้าหมายที่ดี ที่เราคิดว่าคนทุกเจเนอเรชันให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของชีวิต

ทำไมชีวิตต้องมีเป้าหมาย

สำหรับผม การมีเป้าหมายมันทำให้เรารู้ว่ากำลังเดินไปถูกทางหรือเปล่าครับ ถ้าไม่มีเป้าหมาย เราก็จะใช้ชีวิตไปแบบวันๆ แล้วเวลามันก็ผ่านไปเรื่อยๆ โดยที่เราไม่รู้เลยว่าที่ทำอยู่เนี่ย ทำไปเพื่ออะไร 

ส่วนหนึ่งของเป้าหมายทำให้เกิดแรงจูงใจ โดยเฉพาะแรงจูงใจภายใน พอเราเซ็ตเป้าหมายไว้ เราจะรู้แล้วล่ะ ว่าเราเดินถูกถนน เรากำลังจะไปเชียงใหม่ ตอนนี้เราถึงอยุธยาแล้วนะ เราถึงนครสวรรค์แล้วนะ มันวิ่งเข้าใกล้เป้าหมายขึ้นเรื่อยๆ 

โดยธรรมชาติของมนุษย์นะครับ ถ้าเรารู้ว่าเรากำลังวิ่งเข้าใกล้เป้าหมายเนี่ย เราจะยิ่งมีแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ ผมได้ยินคนวิ่งมาราธอนพูดเสมอว่าเขามีเป้าหมายว่าต้องถึงจุดนี้ จุดนั้นนะ พอทำได้ถึงจุดต่างๆ จนเป็น Small Win (ชัยชนะเล็กๆ) เขาก็จะมีความสุขและไปต่อ เขาใช้ความสุขจากเป้าหมายระหว่างทางผลักดันตัวเองไปต่อเรื่อยๆ ผมว่าคอนเซ็ปต์เดียวกันครับ เป้าหมายมันจะช่วยให้เราเดินหน้าไปเรื่อยๆ

ถ้าเราใช้ชีวิตไปแบบไม่มีเป้าหมายเลยจะเป็นอะไรมั้ย

ส่วนตัวผมคิดว่าไม่เป็นอะไรมากหรอกครับ เพราะทุกคนมีสิทธิ์ใช้ชีวิตในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดีที่สุด มันก็คงเป็นความสุขอีกแบบหนึ่ง ผมไม่ได้บอกว่าคนที่ใช้ชีวิตแบบไม่มีเป้าหมายนั้นใช้ชีวิตผิดนะ ผมคงพูดแบบนั้นไม่ได้เพราะไม่มีใครตัดสินชีวิตของคนอื่นได้ แต่ผมเชื่อว่าการมีเป้าหมายจะเวิร์กกว่า

ถ้าผมตื่นขึ้นมาแล้วต้องคิดว่า เอ้อ…วันนี้ทำอะไรดีหว่า มันคงเป็นชีวิตที่น่าเบื่อ แต่ตอนนี้ผมตื่นมาด้วยเป้าหมายว่า วันนี้จะทำเรื่องนี้ให้เสร็จ วันนี้จะทำเรื่องนั้นให้เสร็จ เป้าหมายผมก็มีทั้งระยะยาว ระยะกลาง ระยะสั้น ซึ่งมันกำกับชีวิตเราได้

อาจารย์ให้ความสำคัญกับเป้าหมายของชีวิตส่วนตัวหรือเป้าหมายชีวิตการทำงานมากกว่ากัน

ผมอยากบาลานซ์ทั้งคู่นะ เพราะผมคิดว่าทั้งส่วนตัวและทำงานมันเป็นสิ่งสำคัญของชีวิตทั้งคู่ ถ้าเป็นคนทำงานประจำทั่วไป เราจะมีชีวิตในที่ทำงานประมาณ 8 ชั่วโมง อีก 8 ชั่วโมงเรานอน ชีวิตส่วนตัวเราก็จะมีอีก 8 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นมันไม่ได้ต่างกันเลย สามารถมีได้ทั้งคู่ 

ถ้าจะให้ผมฟันธง ผมยังเอียงไปทางชีวิตส่วนตัวมากกว่า เพราะผมมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ที่ทำงานจะหาใครมาแทนเราเมื่อไหร่ก็ได้ เราไม่อยู่ ที่ทำงานไม่พังหรอก ผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ถ้าลาออกไป ผมก็เชื่อว่าอาจารย์ใหม่ๆ จะมาสอนวิชาที่ผมเคยสอนได้ไม่มีปัญหาเลย แต่ชีวิตส่วนตัวถ้าเราหายไปเนี่ย ไม่มีใครแทนเราได้ ไม่มีใครมาเป็นพ่อของลูกเราได้เหมือนเราแน่นอน ไม่มีใครมาเป็นลูกของคุณพ่อ-คุณแม่เราได้ แต่สุดท้ายแล้วผมคิดว่าไม่ต้องเลือกครับ เรามีได้ทั้งคู่

ถ้าอยากตั้งเป้าหมายในชีวิต ควรเริ่มจากอะไร และมีวิธีการตั้งอย่างไร

ผมอยากให้เริ่มต้นจากการทำความรู้จักตัวเองนะ พูดแบบนี้บางคนบอกว่ารู้จักตัวเองอยู่แล้ว แต่ว่าเราอาจจะรู้จักไม่ลึกพอ เราแค่รู้จักชื่อ แต่ยังไม่เคยถามตัวเองลึกๆ เช่นคำถามประเภทที่ว่า ‘อะไรเป็นตัวผลักดันให้เราเดินหน้า?’ คำถามนี้ผมนั่งคิดอยู่นานเลยนะ จนกระทั่งผมได้คำตอบอยู่ 3 คำ 

คำแรกคือ ผมชอบการเรียนรู้มากเลย ผมว่าการเรียนรู้เป็นตัวผลักดันชีวิตผมในปัจจุบัน แล้วผมชอบเรื่องการแบ่งปัน ผมรู้แล้วได้ไปบอกคนอื่นด้วยเนี่ยเป็นคำที่สอง คำสุดท้ายเป็นเรื่องของสุขภาพกาย-สุขภาพจิต พอเราเรียนรู้เรื่อง Purpose of Life หรืออะไรก็แล้วแต่ มันจะทำให้การตั้งเป้าหมายเราชัดขึ้น 

พอผมรู้สามคำนี้ ผมก็มาทำ OKR มันคือ Objectives and Key Results ระยะ 3 ปี 1 ปี แล้วก็ 3 เดือน 

OKR ผมมี 3 ชุด ชุดแรกคือเรื่องของการพัฒนาตนเองให้เป็นคนดีและเก่งขึ้น ซึ่งข้อนี้ผมจะพูดถึงเรื่องการอ่านหนังสือ ชุดที่สองเป็นเรื่องของการแบ่งปันความรู้สู่สังคม ยกตัวอย่างเช่น การทำพอดแคสต์แล้วมีคนฟัง การเขียนหนังสือ ชุดที่สามก็เป็นเรื่องสุขภาพกาย-สุขภาพจิตที่ดี เกี่ยวกับเรื่องของความแข็งแรงของสุขภาพเรา เรื่องของเวลาที่เราใช้อยู่กับครอบครัวก็เป็นเป้าหมายผมเลยนะ ไม่งั้นเดี๋ยวเราจะไปทำงาน 7 วัน ผมไม่อยากใช้ชีวิตแบบนั้น เลยตั้งว่าปีนี้ผมต้องอยู่กับครอบครัวอย่างน้อยกี่วัน เพราะฉะนั้นบางทีเราต้องหยุดยั้งครับ มีคนมาให้ทำงาน เราก็บอกว่าไม่เอาไม่รับ ขออยู่กับครอบครัว เขาก็คงงงเหมือนกันแหละ (หัวเราะ) 

ซึ่งมันก็เริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ ครับว่าเป้า 3 ปีเป็นแบบนี้ ย่อยออกมาว่าอยากทำอะไรให้ได้ใน 1 ปี แล้วอยากจะทำอะไรให้ได้ใน 3 เดือนนี้ ผมทำอยู่แค่นี้ครับ แล้วก็อัปเดตมันบ่อยๆ ผมว่าไม่มีอะไรซับซ้อน เป็นอะไรที่ตรงไปตรงมาครับ 

ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์

เพราะอะไรอาจารย์จึงให้ความสำคัญในวิธีการวัดผลการปฏิบัติงานด้วยระบบ OKR มากกว่าระบบอื่นๆ 

ผมคิดว่า OKR ช่วยให้ผมโฟกัส หลักการ OKR ไม่ได้ซับซ้อนนะครับ แต่ขออย่างเดียวอย่าไปตั้งเป้า 20-30 ข้อ มันเยอะเกินไป เดี๋ยวจะไม่มีเวลาทำ แทนที่จะได้สักข้อสองข้อ กลับไม่ได้เลยสักข้อ

OKR สอนให้เราเลือก แต่ไม่ได้แปลว่าอย่างอื่นผมไม่ทำเลยนะ ก็ยังทำอยู่ แต่ว่าผมจะได้รู้ว่าอะไรคือโฟกัสของชีวิตผม แล้วมันทำให้เราหลงทางได้ยาก อันนี้เป็นสิ่งแรกที่ผมชอบในคอนเซ็ปต์ของ OKR

อย่างที่สองที่ผมชอบคือ OKR สอนให้เรากล้าทำอะไรที่เราอยากได้มากๆ แล้วท้าทาย เราจะไม่ตั้งเป้าที่สามารถทำได้อยู่แล้ว เช่น วันนี้อยากจะวิ่งสัก 100 เมตร OKR จะไม่ได้สอนให้เราคิดแบบนั้น แต่สอนให้เราแบบ คุณอยากจะวิ่งเท่าไหร่คุณใส่ไปเลย คุณวิ่งได้ไม่ได้อีกเรื่อง ซึ่งมันทำให้ชีวิตเราไปข้างหน้า OKR หลายข้อผมก็ทำไม่ถึงเป้านะครับ แต่ไม่ถึงดีกว่าไม่ได้ทำมากมาย ผมเชื่อว่าถ้าผมไม่ได้ใช้ OKR ผมอาจจะไม่ได้ทำเรื่องนั้นเลยก็ได้

ผมเห็นคอนเซ็ปต์นี้ใช้กับ Google แล้วก็ประสบความสำเร็จ ผมก็มาคิดว่า เอ๊ะ…มันน่าจะใช้กับชีวิตเราได้นะ เลยเลือก OKR มาใช้ แต่จริงๆ ใช้ระบบวัดผลไหนก็ได้ที่เหมาะกับตัวท่านครับ

OKR เป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการวัดผลสำเร็จของชีวิตเรามั้ย

ผมต้องระมัดระวังคำว่าดีที่สุด ถ้าถามว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับผมมั้ย ผมว่าใช่ แต่มันแปลว่าดีที่สุดสำหรับทุกคนมั้ย ผมอาจจะตอบว่าไม่ใช่ เพราะแต่ละคนมีลักษณะแตกต่างกัน มีบริบทแตกต่างกัน

ในปีข้างหน้าผมอาจพูดว่า เฮ้ย…ไม่เห็นดีแบบเดิมเลย หรืออาจไปเจอเครื่องมือใหม่ก็ได้ แต่ ณ ปัจจุบัน สำหรับผมเอง ผมว่าดีที่สุดครับ 

‘ความสำเร็จ’ คืออะไร 

สำหรับผม ความสำเร็จคือสถานะที่ทำให้เรามีความสุข ผมใช้นิยามกว้างๆ แบบนี้ละกันครับ อะไรก็ตามที่ทำแล้วมีความสุข มันคือความสำเร็จ ถ้าจะแยกนิยามนี้ออกไปอีก มันแปลว่าเราสำเร็จได้ทุกวัน ถ้าเรามีความสุขได้ทุกวัน 

สำเร็จสำหรับผมไม่ได้แปลว่าต้องได้รับรางวัล ต้องเป็นซีอีโอ ต้องเป็นอาจารย์ดีเด่น ต้องเป็นศาสตราจารย์ถึงจะเรียกว่าสำเร็จ สำเร็จสำหรับผมคือวันนี้ผมได้ทำวิจัยแล้วผมมีความสุข ถามว่ารางวัลดีมั้ย เป็นศาสตราจารย์ดีมั้ย ดีครับ แต่ไม่เป็นก็ยังดีครับ เพราะว่าความสำเร็จไม่ได้ถูกวัดที่ปลายทาง ความสำเร็จมันอยู่ระหว่างทางครับ

อะไรคืออุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตสู่ความสำเร็จ

อย่างแรกผมคิดว่าคือ Distraction นะครับ มันเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เราออกนอกลู่นอกทาง มีหนังสือหลายเล่มเลยบอกว่า เส้นทางจากจุด A ไปจุด B สมมุติคนนิยามจุด B คือความสำเร็จนะ ซึ่งไม่ใช่นิยามของผมนะครับ เส้นทางมันไม่ใช่เส้นตรงหรอก ไม่ใช่เดิน 15 วันแล้วมันจะสำเร็จ มันจะเอียงไปซ้ายบ้าง ขวาบ้าง แต่บางคนเอียงไปแล้วกลับมาได้ บางคนเถลไถลไป 3 ปี 5 ปี ก็มี 

ซึ่ง Distraction มีตั้งแต่ตัวใหญ่ๆ เช่น หลงไปทำงานที่นี่ 5 ปี เพราะชอบ แต่ไม่ได้ดูว่าเป้าหมายชีวิตคืออะไร ทำงานไปโดยที่ไม่ตั้งคำถามกับตัวเองเลย พอมีใครชวน “เฮ้ยแกๆ ไปทำงานด้วยกันมั้ย” ก็ไป ทำให้หายไปอีก แต่ถ้าเป็นตัวเล็กๆ ระดับไมโครเนี่ย ทุกวันนี้เวลาทำงานก็จะเจอสมาร์ตโฟน แทนที่จะทำวิจัย ไม่ทำ ไปเล่นสมาร์ตโฟน 5 ชั่วโมง เราเจอพวกนี้ดึงเวลาเราไปหมด ผมว่าอันนี้คืออุปสรรคตัวแรก 

อุปสรรคตัวที่สองของคนส่วนใหญ่ คือเรายังไม่ชัดเจนกับตัวเองครับ พอเราไม่มีเป้าหมายชัดเจน เราก็จะไม่รู้เลยว่าอันไหนคือทางหลัก-ทางแยก ไม่รู้ว่ามันคือสิ่งที่ต้องทำหรือสิ่งที่มากวนเรา มันเลยพูดยากว่าสำเร็จหรือไม่สำเร็จ 

แต่ถ้ามีเป้าหมาย สมมุติว่าเป้าหมายของผมคือการเป็นผู้ประกอบการ แต่คุณไปทำงานประจำซะนานเลย ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับความฝันการเป็นผู้ประกอบการเลย อย่างนี้เป็น Distraction แน่ๆ ในขณะเดียวกัน ถ้าเป้าหมายเขาคือการเป็นซีอีโอบริษัท แล้วเขาไปทำงานประจำในตำแหน่งนี้ มันไม่ใช่ Distraction เพราะกำลังเดินไปสู่เป้าหมายเขา แต่ประเด็นคือเรายังไม่มีเป้าหมายเลย ก็เลยอยู่นั่นที อยู่นี่ที แล้วแต่ลมพาไป ไม่รู้ว่าจังหวะไหนคือสิ่งรบกวน

ถ้าความสำเร็จของอาจารย์คือการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในทุกๆ วัน อาจารย์มีวิธีดำเนินชีวิตเพื่อไปสู่ความสุขนั้นอย่างไร

พอเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน จะเริ่มคิดได้แล้วครับว่าแต่ละวันเราควรจะทำอะไรบ้าง ผมเคยเขียนบทความอยู่บทความหนึ่ง 2 สิ่งที่เราควรทำในแต่ละวัน หนึ่ง คือ กิจกรรรมอย่างน้อยหนึ่งอย่างที่ทำให้เราก้าวเข้าสู่เป้าหมาย อะไรก็ได้ครับ ถ้าเป้าหมายเราอยากจะเป็นนักเขียน Best Seller วันนี้เราได้เขียนแล้วหรือยัง 

อีกอย่างหนึ่ง คือ อะไรก็ได้ที่ทำให้เรามีความสุข อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับเป้าหมายอย่างเดียวนะ ชีวิตเราทุกอย่างไม่ใช่จะต้องเป็นเป้าหมด เราดู Netflix บ้างก็ได้ กินไอติมบ้างก็ได้ คุยกับเพื่อนบ้างก็ได้ ไม่เป็นไรครับ แต่ถ้าทำสองอย่างนี้คู่กัน มันจะทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้น แล้วทำให้มันเป็น Routine (กิจวัตร) นะครับ ใหม่ๆ อาจจะฝืนนิดนึง 

เรื่องที่เป็นความสุขผมว่าไม่ต้องเป็นห่วงหรอกเพราะเราทำกันโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ทีนี้อันที่เรามักจะหลุดไป คืออันที่ทำให้เราก้าวสู่เป้าหมาย อันนั้นต้องใส่ใน Routine ของเรา เป้าหมายเราคือเขียนใช่มั้ย ฉะนั้นใส่เข้าไปเลยว่าเราจะเขียนตั้งแต่ตี 5 ถึง 6 โมงนะ 

ใหม่ๆ ฝืน ง่วง เป็นอาการปกติครับ คนที่ไม่เคยวิ่งแล้วออกมาวิ่ง มันเหนื่อยอยู่แล้ว แต่วิ่งไปเถอะ เดี๋ยวความเหนื่อยมันจะลดลง แล้ววันหนึ่งมันจะกลายเป็นความชอบ วันหนึ่งมันจะกลายเป็นเหมือนเราแปรงฟัน ซึ่งเราไม่เคยเหนื่อยเกินกว่าที่จะแปรงฟัน ถึงวันนั้นสบายแล้วครับ พอมันเข้า Routine แล้ว ผลงานมันจะออกมาเรื่อยๆ เลย เขียนก็จะเขียนได้ทุกวัน อัดพอดแคสต์ก็จะอัดได้ทุกวัน หรืออะไรก็ตามที่ท่านอยากจะทำ 

เคยมีวันที่ตื่นมาแล้วรู้สึกว่า “โอ้ย…ฉันเหนื่อยจังเลยวันนี้ ไม่ค่อยอยากทำสื่งที่ตั้งไว้เลย” บ้างมั้ย 

แน่นอนครับ ผมว่าไม่มีใครหรอกครับที่เป็นมนุษย์เหล็ก ทุกอย่างจะต้องเป็น Routine ฉันจะต้องทำได้ทุกอย่าง ฉันจะมีความคิดเชิงบวกตลอดเวลา ผมว่าไม่มีนะ ส่วนตัวผมเป็นมั้ย เป็น แล้วเหนื่อยทำยังไง ก็เหนื่อยไง (หัวเราะ) ก็ไม่ต้องทำอย่างที่เราอยากทำ 

แต่ผมมีข้อแนะนำอันหนึ่ง คือ อย่าเป็นแบบนี้ติดกัน 2 วัน วันนี้เหนื่อย ไม่เป็นไร ช่างมันเถอะ วันนี้ไม่อยากวิ่งเลย วันนี้ไม่อยากอ่านหนังสือเลย วันนี้อยากดูทีวี อยากกิน Junk Food ทั้งวัน เอาเถอะครับ เฟลไปเถอะ เพราะชีวิตเรามันก็ต้องมีวันแบบนี้แหละ แต่อย่าไปจมอยู่แบบนั้นเป็นสัปดาห์ พยายาม Get back to routine (กลับไปทำกิจวัตรเดิม) มากที่สุด ส่วนใหญ่ผมจะไม่ให้เกิน 2 วัน ถ้าเกิน 2 วัน ผมจะเริ่มตระหนักรู้แล้วว่าไม่ได้และ ถึงเหนื่อยก็ต้องไป เหนื่อยก็ต้องวิ่ง เราเบี้ยวการวิ่งมา 2 วันติดแล้ว พอเรากลับไปได้ก็จะรู้สึกดีครับ

เนื่องจากอาจารย์โปรดปรานการอ่านหนังสือเป็นอย่างมาก แนะนำหนังสือด้านพัฒนาตนเองที่ต้องอ่านในปี 2021 สัก 5 เล่ม

หนังสือเล่มแรก คือหนังสือที่ชื่อว่า No Rules Rules หนังสือพูดถึงวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรอย่าง Netflix ซึ่งเน้นการเลือกเฉพาะคนเก่ง การให้ฟีดแบ็ก และการลดการควบคุมลง ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นวัฒนธรรมที่น่าสนใจนะครับ 

หนังสือเล่มที่สองคือ The Psychology of Money เรารู้หมดแหละว่าเราต้องประหยัดเงินอย่างไร แต่เราก็ทำไม่ได้ หนังสือเล่มนี้จะสอนให้เรารู้ว่าจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับเงินคืออะไรบ้าง

หนังสือเล่มที่สามชื่อ Time Smart คนส่วนใหญ่ให้คุณค่ากับเงินมากกว่าเวลา แต่เล่มนี้สอนให้เราคิดใหม่ ว่าจริงๆ แล้วเวลามันมีคุณค่าไม่แพ้เงินเลย ซึ่งมีงานวิจัยพบว่าเวลาเชื่อมโยงกับความสุขมากกว่าเงินด้วยซ้ำ

เล่มที่สี่ Post Corona ครับ หนังสือเล่มนี้เล่าถึงเรื่องราวที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจาก Covid-19 ผ่านไป ธุรกิจ สังคม และโลก จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง น่าสนใจมากครับ

อีกเล่มนึงคือ AI Superpowers เล่มนี้จะสอนให้เรารู้ว่า AI หรือ Artificial Intelligence มันใกล้ตัวกว่าที่เราคิดมากมายนัก ถ้าเกิดไม่เตรียมพร้อมเนี่ย เราแย่ครับ เพราะ AI จะมาแทนที่เราแน่ๆ ห้าเล่มครับ

ฝากอะไรเล็กน้อยถึงทุกคนที่กำลังดำเนินชีวิตเพื่อบรรลุเป้าหมายบางอย่างอยู่   

ผมอยากเป็นกำลังใจให้ทุกคนนะครับ ท่านอาจจะเจอวิกฤตไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการงาน สุขภาพ ความกังวล เราเผชิญมันมาด้วยกันครับ เพราะฉะนั้นอยากให้กำลังใจว่าทุกอย่างเดี๋ยวมันจะผ่านไป 

ทุกครั้งที่มีวิกฤต มันจะมีโอกาสอยู่เสมอ เราลองดูดีๆ ครับ จังหวะนี้อาจเป็นจังหวะที่เปลี่ยนชีวิตเราไปทางบวกมากๆ เลยก็ได้ถ้าเรามีสติและค่อยๆ คิด ผมเห็นบางคนที่ก้าวกระโดดในช่วงวิกฤตเยอะมากนะครับ แล้วบางคนก็จะบอกว่า โห…ถ้าตอนนั้นเราทำแบบนั้นก็ดีสิ แต่ตอนนี้เราถึงเวลานั้นแล้วนะครับ ซึ่งมันเป็นเวลาที่อีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า จะมีคนมาบอกเราว่าอยากทำแบบนั้นแบบนี้อีก ตอนนี้เป็นจังหวะที่ดีอีกจังหวะหนึ่งด้วยซ้ำครับ

Fact Box

  • ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ เป็นหนึ่งในคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญผู้สอนในหลักสูตรปริญญาโทบริหารธุรกิจ (MBA) สาขา Business Innovation ของ TUXSA คอร์สปริญญาโทออนไลน์ที่เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ SkillLane โดยสอนวิชา OKR and Performance Management โอเคอาร์และระบบบริหารผลการปฏิบัติงาน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้ด้านประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้เพื่อการโฆษณา

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า