คุณเคยนั่งเรียนอะไรยาวๆ แล้วรู้สึกเหนื่อยล้า เสียสมาธิรึเปล่า? วันนี้เรามีเทคนิคบริหารเวลาที่ช่วยให้คุณเรียนได้ลื่นไหล สมาธิเต็มเปี่ยมมาแชร์กัน
ลองมารู้จัก Pomodoro แล้วนำไปปรับใช้กันเถอะ!
Pomodoro คืออะไร?
คำว่า Pomodoro จริงๆแล้วเป็นศัพท์ภาษาอิตาลีที่แปลว่า “มะเขือเทศ” แล้วมันเกี่ยวอะไรกับเทคนิคบริหารเวลา? จุดเริ่มต้นมาจากนักศึกษาคนหนึ่งชื่อว่า Francesco Cirillo ที่พยายามหาวิธีทำงานวิจัยให้เสร็จทันเวลา เขาพบว่ามันยากมากที่จะโฟกัส จึงพยายามบอกตัวเองให้จดจ่อกับงานให้ได้สัก 10 นาที จนเหลือบไปเห็นนาฬิกาจับเวลาทรงมะเขือเทศ (Pomodoro) ที่มักจะใช้กันในครัว ทำให้เขาสามารถจับเวลาและโฟกัสงานอย่างได้ผล จึงได้พัฒนามาเป็นเทคนิคมะเขือเทศหรือเทคนิค Pomodoro
โดยเทคนิคมะเขือเทศนี้ต้องการแก้ปัญหาการแบ่งเวลาเรียนหรือทำงานและเวลาพักอย่างชัดเจน เพราะการต้องจดจ่อนานๆ เป็นชั่วโมงนั้นเป็นเรื่องยาก แต่เมื่อแบ่งงานออกเป็นรอบละ 25 นาที เราก็จะโฟกัสได้พอดีและไม่เหนื่อยล้าจนเกินไป โดยจะมีช่วงพักเบรค 5 นาทีต่อหนึ่งรอบ ถือว่าหนึ่งรอบเท่ากับมะเขือเทศ 1 ลูก และหากในหนึ่งวันมีงานที่ต้องทำจำนวนมาก ก็สามารถใช้มะเขือเทศหลายลูกต่อหนึ่งงานได้ ยกตัวอย่างเช่น หากงานที่ต้องทำใช้เวลา 2 ชั่วโมงจึงจะเสร็จ เมื่อแบ่งเวลาโฟกัสรอบละ 25 นาที พัก 5 นาที ก็จะได้เท่ากับ 4 รอบ หรือมะเขือเทศ 4 ลูกนั่นเอง
วิธีใช้เทคนิค Pomodoro ในการเรียน
1.เลือกวิชาที่จะเรียน
2.จับเวลา 25 นาที
3.เมื่อครบกำหนด พักสั้นๆ 5 นาที
4.พอทำแบบนี้ครบ 4 รอบ ให้พัก 15-30 นาที
5.ทำแบบนี้จนเรียนเสร็จเรียบร้อย
5 วิธีทำเทคนิค Pomodoro ให้ได้ผลยิ่งขึ้น
เทคนิค Pomodoro จะได้ผลดียิ่งขึ้นเมื่อคุณรู้วัตถุประสงค์ของการทำ รู้หลักการทำงาน และนำมาปรับใช้กับการฝึกที่นิสัยเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมระยะยาวได้ โดยมี 5 วิธีที่แนะนำคือ
ไม่โกงเวลาและทำอย่างสม่ำเสมอ
เพราะเทคนิค Pomodoro คือการแบ่งเวลายาวๆให้เหลือเพียง 25 นาทีที่สั้นพอจะทำให้โฟกัสและทำได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่เหนื่อยจนเกินไปแล้ว แต่หากคุณโกงเวลาโดยการพักเบรคก่อนกำหนด หรือหยุดกลางทางไปเปิดโทรศัพท์หรือเช้คอีเมลเสียก่อน นั้นก็ทำให้งานที่ตั้งใจจะทำให้เสร็จตามกำหนดพังลง ทำได้ไม่ต่อเนื่อง และไม่อาจช่วยให้ทำเทคนิค Pomodoro ได้ผล
ปิดแจ้งเตือนทุกชนิด
เพื่อให้เทคนิคนี้ได้ผลยิ่งขึ้น หัวใจสำคัญคือการมีสมาธิ และไม่หลุดโฟกัสไปกับแจ้งเตือนต่างๆที่เด้งเข้ามา โดยคุณอาจปิดเสียงโทรศัพท์ หรือ Turn off Wifi ไปก่อนในขณะทำงานหนึ่งรอบ เพราะเสียงแจ้งเตือนที่ดัง อาจกระตุ้นความอยากรู้และขัดขวางการทำงานอย่างต่อเนื่องได้ ทำให้เทคนิค Pomodoro ไม่ได้ผลได้เช่นกัน
แบ่งประเภทงานยิบย่อยมาทำพร้อมกัน
ในหนึ่งวันย่อมประกอบไปด้วยงานยิบย่อยที่ไม่สำคัญแต่ก็จำเป็นต้องทำให้เสร็จเพื่อไม่ให้กระทบงานหลัก งานบางงานที่ใช้เวลาน้อยกว่า 25 นาที เช่น ตอบอีเมล นัดประชุม หรืออัพเดทตารางงาน สามารถรวบประเภทไว้ทำทีเดียวพร้อมกัน ภายในหนึ่งรอบหรือ 25 นาทีได้ หากทำงานยิบย่อยให้เสร็จเป็นอย่างๆ ก็จะเหลืองานหลักงานเดียวให้คุณสามารถใช้พลังงานโฟกัสได้อย่างเต็มที่ทีเดียว
หาวิธีพักเบรคที่หลากหลาย
ในการทำงานหนึ่งรอบ 25 นาที พักเบรค 5 นาที คุณสามารถหาวิธีพักเบรคที่หลากหลายแตกต่างกันไปตามแต่ละรอบได้ เช่น รอบแรกพักกินขนม รอบที่สองเดินออกไปสูดอากาศ รอบที่สามพักคุยกับเพื่อน และรอบต่อๆไปที่อาจเป็นกิจกรรมพักจากการใช้สมองหรือ Disconnect จากงานชั่วคราว เพื่อให้รู้สึกว่าทำงานแต่ละรอบไม่เหนื่อยเกินไป และเป็นกำลังใจให้คุณทำต่อเนื่องได้จนครบรอบ เมื่อรู้ว่าเดี๋ยวก็ได้พักแล้ว
มุ่งมั่นและอดทน
แน่นอนว่าเราย่อมมีความคาดหวังอยากเห็นผลลัพธ์ที่สำเร็จในเร็ววัน เทคนิคนี้ช่วยบอกเราว่า ไม่จำเป็นต้องทุ่มแรงกายแรงใจทั้งหมดไปทีเดียว เพราะเราสามารถแบ่งงานยากๆนั้นออกเป็นงานที่ยากน้อยลงเมื่องานมีขนาดเล็กลง เราจะทำให้เสร็จไปทีละนิดด้วยความมุ่งมั่น ทำอย่างอดทนและต่อเนื่อง และเราจะเห็นว่างานที่ยากนั้นง่ายลงแล้วเมื่อเราทำสำเร็จ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เวลาทำนานๆ เลย
อ้างอิง:
https://www.insider.com/guides/health/mental-health/pomodoro-technique
https://todoist.com/productivity-methods/pomodoro-technique
https://francescocirillo.com/products/the-pomodoro-technique