HIGHLIGHTS
- รายงาน Digital Consumers of Tomorrow Here Today (2020) ได้สำรวจคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไทย และเวียดนาม พบว่าตั้งแต่ปี 2018-2020 มีจำนวนผู้บริโภคชาวดิจิทัล (Digital Consumer) เพิ่มขึ้นประมาณ 60 ล้านคน หรือเฉลี่ยปีละ 12%
- ในรายงานได้สรุป Insights ของผู้บริโภคชาวดิจิทัลไว้หลายข้อด้วยกัน แด่ที่น่าสนใจคือ ผู้บริโภคเริ่มซื้อของชำออนไลน์มากขึ้น, การบริโภคเกินครึ่งมาจาก Discovery Commerce และพวกเขาเปิดใจรับแบรนด์ใหม่ ๆ มากกว่าเมื่อก่อน
ปี 2020 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ไลฟ์สไตล์ของคนทั่วโลกเปลี่ยนไป ด้วยความจำเป็นต้องเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ผู้คนจึงต้องอาศัยอยู่ภายในบ้านมากขึ้น การค้าแบบดั้งเดิมที่เราต้องเดินเข้าร้านไปเลือกซื้อสินค้าจึงไม่ตอบโจทย์เท่าเมื่อก่อน ซึ่งวิธีเดียวที่จะทำให้หลายธุรกิจสามารถดำรงอยู่ได้ในยุคที่เศรษฐกิจถูก Disrupt เช่นนี้ คือการปรับตัวและประยุกต์เอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้
เหตุนี้เองที่ทำให้เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตอย่างรวดเร็วเหนือความคาดหมาย
ในรายงาน Digital Consumers of Tomorrow Here Today (2020) ที่พึ่งเผยแพร่เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2020 โดยความร่วมมือของ Facebook และ Bain & Company คาดการณ์ว่าภายในสิ้นปี 2020 จะมีจำนวนผู้บริโภคชาวดิจิทัล (Digital Consumer) หรือบุคคลที่ซื้อสินค้าหรือบริการผ่านออนไลน์อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สูงถึง 310 ล้านคน
ซึ่งตัวเลขนี้เคยถูกคาดการณ์ไว้ในรายงาน Riding the Digital Wave (2019) ว่าจะเติบโตภายในระยะเวลา 5 ปี ไม่ใช่เพียงแค่ 1 ปี อย่างที่กำลังเกิดขึ้น!
ปัจจุบัน เกือบ 70% ของประชากรจำนวน 443 ล้านคนใน 6 ประเทศจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไทย และเวียดนาม เป็นผู้บริโภคชาวดิจิทัล โดยตั้งแต่ปี 2018-2020 มีจำนวนผู้บริโภคชาวดิจิทัลเพิ่มขึ้นประมาณ 60 ล้านคน หรือเฉลี่ยปีละ 12% เลยทีเดียว
เมื่อการเติบโตเป็นไปอย่างก้าวกระโดด การศึกษาผู้บริโภคกลุ่มนี้จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและสามารถนำความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจเล็ก-ใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และนี่คือ 3 Insights ที่จะช่วยให้คุณเข้าใจลักษณะของผู้บริโภคชาวดิจิทัล (Digital Consumer) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น!
1. คนเริ่มซื้อของชำออนไลน์
ผู้บริโภคไม่ได้จับจ่ายออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างเดียวเท่านั้น แต่พวกเขาเริ่มหันมาซื้อของในหมวดหมู่ที่หลากหลายมากกว่าเดิมด้วย โดยเฉพาะหมวดของกินของใช้ (Grocery) เช่น ของสด-ของแห้ง และเครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ที่เติบโตมากขึ้นถึง 2.7 เท่าจากปี 2019
ในขณะที่หมวดอื่น ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, เสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องประดับ, ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและความงาม, ของเล่น, เครื่องใช้ในครัวเรือนและของแต่งบ้าน โตขึ้นโดยเฉลี่ย 1.4 เท่า
และหากเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน ประเทศไทยโตขึ้นถึง 70% ด้านการจับจ่ายใช้สอยออนไลน์ในหมวดหมู่ใหม่ ๆ มากที่สุดอีกด้วย
แสดงให้เห็นว่าธุรกิจค้าปลีกที่กำลังถูก Disrupt อยู่ในตอนนี้ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายมากขึ้น การซื้อของชำออนไลน์อาจกลายเป็นกระแสหลักในอนาคตอันใกล้ก็ว่าได้
2. การบริโภคเกินครึ่งมาจาก Discovery Commerce
53% หรือกว่าครึ่งของจำนวนการซื้อสินค้าออนไลน์ มีจุดเริ่มต้นจาก Discovery Commerce หรือการขายสินค้าออนไลน์ที่ใช้วิธีไกด์ผู้ซื้อให้เห็นสินค้าไปเรื่อย ๆ แทนการขายตรง ตัวอย่างเช่น เวลาเราไล่ดูฟีดในแอป Instagram เราอาจส่องไปโดยไม่ได้มองหาอะไรเฉพาะเจาะจง แต่ถูกดึงดูดความสนใจด้วยภาพของอินฟลูเอนเซอร์ที่กำลังสวมใส่เสื้อแบรนด์หนึ่ง พร้อมแท็กแนะนำสินค้าให้คนทราบนั่นเอง
จาก Engagement หรือการที่ผู้บริโภคมีส่วนร่วมกับแบรนด์ผ่านออนไลน์ทั้งหมดนั้น คนจำนวน 62% เลือกโซเชียลมีเดีย, วิดีโอสั้น และการส่งข้อความ เป็น 3 ช่องทางหลักสำหรับการค้นพบสินค้าและแบรนด์ใหม่ ๆ ตามด้วยวิดีโอปานกลาง 25% และวิดีโอยาว 5%
หมายความว่า วิดีโอ (สั้นและปานกลาง) เป็นส่วนสำคัญสำหรับการบริโภคเชิงดิจิทัลเลยก็ว่าได้ หากแบรนด์ต้องคิดกลยุทธ์สำหรับการทำแคมเปญ ช่องทางเหล่านี้ก็เป็นทางเลือกที่ดีควรนำไปพิจารณา
3. เปิดใจรับแบรนด์ใหม่ ๆ มากขึ้น
ผู้บริโภคโดยเฉลี่ย 54% บอกว่าพวกเขาเปลี่ยนใจจากแบรนด์ที่เคยซื้อสินค้ามากที่สุดไปเป็นแบรนด์อื่นในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะชาวเวียดนามและไทยที่มีจำนวนถึง 69% และ 67% เลยทีเดียว
โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้บริโภคใน 6 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปลี่ยนไปซื้อสินค้าหรือบริการแบรนด์ใหม่ได้แก่ ความน่าเชื่อถือ (Reliability) และความคุ้มค่า (Value) โดยคนจำนวน 42% บอกว่าจะเปลี่ยนเพื่อความคุ้มค่าเงิน 34% เพื่อสินค้าคุณภาพดีกว่า และ 31% เพื่อระยะเวลาในการขนส่งสินค้าที่รวดเร็วกว่า
ซึ่งการมีผู้บริโภคที่เปิดกว้างเช่นนี้ เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับแบรนด์ที่ต้องคอยสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพื่อคงความภักดีที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอยู่เสมอ รวมถึงหาวิธีดึงลูกค้าใหม่เข้ามาให้ได้ประสิทธิผลมากที่สุดด้วย
ก้าวต่อไปของธุรกิจท่ามกลางกระแส Digital Disruption
ข้อมูลจาก AVCJ (Asia Venture Capital Journal) ระบุว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วงสิ้นปี 2019 มีเงินทุนที่ยังไม่ได้ใช้ในธุรกิจการลงทุนประเภท Venture Capital และ Private Equity เป็นจำนวนกว่า 2.7 แสนล้านบาท
นั่นหมายความว่ามีโอกาสให้เหล่า Disruptors ที่ถือเทคโนโลยีเป็นอาวุธ อย่างกลุ่มธุกิจ E-Commerce หรือ FinTech ขนาดเล็กได้มีแหล่งสำหรับการหาเงินลงทุน เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแรงและเติบโตไปแข่งขันกับธุรกิจใหญ่ ๆ ได้ในอนาคต
นี่ไม่ใช่เพียงการคาดการณ์เท่านั้น เพราะในไตรมาสแรกของปี 2020 ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 มีจำนวนเงินมากกว่า 2 ใน 3 หรือประมาณ 72% ของเงินลงทุนไหลไปสู่ธุรกิจประเภทดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว
ฉะนั้น เพื่อวางฟันเฟืองให้กับธุรกิจที่กำลังถูก Disrupt อยู่ ให้ดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องคำนึงถึงองค์ประกอบอื่นควบคู่กันไป อาทิ การนำอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ อย่างการสร้างระบบ Digital Payment หรือ Super App เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้วยการใช้ AI (Artificial Intelligence) หรือ Big Data ประกอบกับการศึกษาลักษณะผู้บริโภคชาวดิจิทัลที่กำลังมีบทบาทสำคัญในการช่วยกำหนดวิถีการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันนั่นเอง
*หมายเหตุ: ข้อมูลของผู้บริโภคชาวดิจิทัลที่รายงานใน Digital Consumers of Tomorrow, Here Today (2020) โดย Facebook และ Bain & Company มาจากการสำรวจกลุ่มคนจำนวน 16,491 คน จาก 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไทย และเวียดนาม ที่ทำการสำรวจในเดือนพฤษภาคม 2020