หากคุณเป็นคนที่ทำงานหนึ่งจนชำนาญแล้ว อยากขยับเป้าหมายในอาชีพให้ใหญ่ขึ้น และต้องการพัฒนาตัวเองให้มีทักษะที่กว้างขวางกว่าเดิม นั่นหมายความว่าคุณกำลังยืนอยู่จุดเดียวกันกับจุดที่ ‘ตั้ม-ชนะโชค ปรัชญาวุฒิรัตน์’ เคยยืนอยู่เมื่อหลายปีก่อน
จากสถาปนิกมากฝีมือ ผู้เบนเข็มการทำงานมาเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบและการบริหารจัดการโครงการ (Project Strategy) ตอนนี้เขามีอีกหนึ่งบทบาทที่น่าสนใจไม่น้อย นั่นก็คือการเป็นผู้ประกอบการร้านอาหารและบาร์ในย่านพร้อมพงษ์ที่กำลังอยู่ในกระแสนิยมตอนนี้ อย่าง 2+4 และ Secret Storey
ในการทำธุรกิจนั้น แน่นอนว่าหนึ่งความท้าทายที่ทุกคนต้องเจอ คือการสร้างสรรค์สินค้าหรือบริการให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย สิ่งนี้เองที่ ตั้ม-ชนะโชค ทำหน้าที่เป็นกุนซือร่วมกันกับทีมหุ้นส่วน ช่วยกันออกแบบ พัฒนา และบริหารจัดการร้านทั้งสอง ในฐานะผลิตภัณฑ์ให้ออกมาสำเร็จลุล่วง
เส้นทางของสถาปนิกสู่ผู้ประกอบการจะต้องเจอกับอะไร?
กระบวนการคิดและออกแบบร้านที่มีผลลัพธ์สุดโดดเด่นมีที่มาจากไหน?
สามารถผ่านอุปสรรคที่เกิดขึ้นได้ด้วย Mindset แบบใด?
ไปฟังเรื่องราวเหล่านั้นผ่านมุมมองและประสบการณ์ของ ‘ตั้ม-ชนะโชค ปรัชญาวุฒิรัตน์’ พร้อมกันกับเราได้เลย!
อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตั้มอยากประกอบธุรกิจของตัวเอง
เราเป็นสถาปนิกและทำดีไซน์ พอทำงานให้ลูกค้าหรือให้โปรเจกต์อื่นมาเยอะ เราเริ่มมองว่าถ้าทำแค่สถาปนิก เราก็จะเป็นได้แค่สถาปนิก แต่จริงๆ มันเป็นมากกว่านี้ได้
เรามองว่าโลกของธุรกิจต้องบวกคำว่า Business เข้าไป เราเลยพยายามพัฒนาตัวเองด้วยการจะเป็นสถาปนิกที่เข้าใจธุรกิจ ตอนนั้นเลยเกิดแรงบันดาลใจว่า ฉันต้องไปหาตำแหน่งหรือสถานที่ที่เหมาะสมกับเรา แล้วเผอิญไปเจอตำแหน่งหนึ่งที่เป็น Project Consultant หรือ Business Development ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชื่อ Univentures ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับสถาปนิกอยู่แล้ว เราก็เข้าไปเรียนรู้งานเหมือนเด็กฝึกงานเลย เพราะคุณต้องรู้เรื่องผังเมือง กฎหมาย การออกแบบ ทุกอย่าง
จากนั้นเราก็ไปเรียนเรื่อง Feasibility Study คือการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการลงทุน เพราะการก่อสร้างเนี่ยมันมีเรื่องของต้นทุน ค่าต่างๆ ที่มันเป็นค่าใช้จ่าย แต่อะไรที่มันทำให้เราได้กำไรกลับมาล่ะ พอเราไปเรียนเราจะรู้เรื่องต้นทุนต่างๆ ว่าเราจะได้ค่า IRR (Internal Rate of Return) ว่าเราจะได้อัตราผลตอบแทนยังไง
โชคดีที่เราไม่ได้เป็นคนอยู่กับที่ เราคิดตลอดเวลาว่าฉันจะต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ จากสเต็ปนึงไปสเต็ปนึง จากสถาปนิก ก็ขยับตัวเองไปเป็น Business Development ให้เข้าใจเรื่องอสังหาฯ และย้ายตัวเองเข้าไปเป็น Project Strategy เลยเข้าใจเกี่ยวกับการวางกลยุทธ์
ทุกวันนี้เป็นแบบนี้เพราะถ้าเราทำเป็นสเต็ป พอมาทำเองก็จะทำได้ จะเข้าใจได้ ว่างานเป็นยังไง วิธีคิดแบบนี้โอเคไหม หรือมีวิธีแก้ปัญหาอื่นไหมที่ทำให้งานจบง่ายขึ้น
แล้วเรามีเพื่อนที่มีไอเดียเดียวกันว่าอยากจะเปิดบาร์ แต่บาร์ธรรมดาก็คงจะไม่มีอะไรเนอะ เราก็เลยพยายามดูว่าจะทำอะไรกันดี จริงๆ เราหาโลเคชันกันเกือบ 2 ปีนะ เพราะที่เจอมันก็ไม่ใช่ จนกระทั่งวันดีคืนดี เหมือนจังหวะชีวิต มันก็เข้ามา มีเพื่อนเป็นเจ้าของตึกมาบอกว่าหาคนเช่าตึกให้หน่อย เราก็เลยเสนอตัวเองเข้าไปว่าอยากทำ ก็เลยเอาความรู้จากที่เคยทำมา ทั้ง 3 อย่างเข้ามาใช้ในโครงการนี้ แล้วโครงการนี้ก็เกิดขึ้นมาได้ครับ
หมายความว่าธุรกิจนี้เกิดขึ้นมาจาก Growth Mindset ของตั้มเองที่ต้องการพัฒนาตัวเอง เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และฝึกฝนทักษะเหล่านั้นอยู่เสมอ
ครับ เราไม่อยากให้ชีวิตของเราเองอยู่กับที่ เพื่อนก็เลยบอกว่าเราบ้าเพราะเราเรียนไม่หยุด (หัวเราะ) แต่มันต้องเป็นอย่างนั้น เพราะเราก็มีเป้าหมายของเรา จริงๆ มันเหนื่อยนะ แต่ก็แฮปปี้ที่ได้ทำ ได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง
ทราบว่าตั้มได้นำกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) มาปรับใช้กับการออกแบบร้าน 2+4 และ Secret Storey ด้วย เล่าให้ฟังได้ไหมว่าคิดอย่างไร จนกระทั่งกลายเป็นบาร์สุดฮิตที่มีจุดเด่นอย่าง Drag Show
ร้าน 2+4 และ Secret Storey อยู่ที่เดียวกัน แต่คนละคาแร็กเตอร์ คนละคอนเซ็ปต์เลย ตอนแรกเราวางแผนว่าจะทำเป็นร้านเดียวกัน ให้อยู่ชั้นเดียวกัน แต่เนื่องด้วยหลายเงื่อนไข เช่น ทางตึกส่งข้อกำหนดมาว่าอย่าทุบตึกนะ เราเลยต้องหา Strategy (กลยุทธ์) หรือวิธีการอะไรสักอย่าง ที่แม้มันอยู่คนละชั้น แต่ก็สามารถเชื่อมโยงกันได้
การวางคอนเซ็ปต์แรกก็เอาความชอบส่วนตัวของเราและหุ้นส่วนเป็นหลักก่อน อย่างร้าน 2+4 มาจากการที่เราชอบดื่มเบียร์ ถ้าอย่างนั้นเบียร์แบบไหนล่ะที่ตอบโจทย์ เพราะถ้าขายแต่เบียร์ลาเกอร์มันอาจไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายอย่างค่าเช่าตึก
เราเห็นว่าเทรนด์ ณ ตอนนั้น เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เบียร์คราฟต์กำลังมามาก ร้านดังตอนนั้นมีไม่กี่ร้าน เราก็เลยไปศึกษา ตะลอนหาร้าน หาซัพพลายเออร์ หาคนนู้นคนนี้ วิธีคิดเราคือต้องไปศึกษาของเขาก่อนว่าของเขามีดีอะไร
สุดท้ายก็ได้คำตอบว่าร้านเขามันเป็นคอมมูนิตี้ มันจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่กินเบียร์กันอยู่แค่นั้น ที่เป็นลูกค้าประจำแน่นอน แล้วมันก็จะมีกลุ่มคนที่อยากจะมาลอง เพราะเบียร์คราฟต์แต่ละที่ก็จะมีเรื่องราวของมัน บางที่มีเบียร์ตัวที่เด่นมากอยู่แค่ 3 ถัง ก็ต้องแย่งชิงกัน ร้านไหนได้ไป คนก็จะตามมา เราก็รู้สึกว่ามันเหมาะสำหรับร้านเรา
พอมาอีกร้าน เราก็ลองหาวิธีการว่าเราจะทำอะไรให้มันแตกต่างจากคู่แข่งในละแวกนี้ รวมถึงอยากมีโชว์ อยากทำร้านค็อกเทล และอยากทำอะไรที่ตอบโจทย์ผู้ถือหุ้นแบบครบองค์ เพราะผู้ถือหุ้นเรามีหลายเพศมาก เราเลยมองว่าจริงๆ แล้วมันมีอีกหนึ่งคอมมูนิตี้ ซึ่งก็คือ LGBTQ+ ที่เราสามารถดึงวัฒนธรรมของเขามาใส่ในร้านได้ ก็เลยนำมาใช้กับร้าน Secret Storey และเกิดเป็นร้านที่มี Drag Show
จากนั้นเราก็ไปศึกษาเรื่อง Drag Show ต่อ ซึ่ง Drag เนี่ย มันไม่ใช่แค่กะเทยแต่งหญิงหรือผู้ชายแต่งหญิง แต่มันมากกว่านั้น เราโชคดีที่รู้จักพี่อาร์ต (อารยา อินทรา) พิธีกรรายการ Drag Race Thailand อยู่แล้ว ซึ่งเขาเป็นตัวแม่ในวงการเนอะ เขาก็ให้ไอเดีย ให้แนวทางการทำงานต่างๆ ว่าควรจะเป็นแนวไหน ตัวเขาจะมีเซนส์ของแฟชั่น เซนส์ของดีไซน์ หน้าที่ของเราก็คือดึงเซนส์นั้นออกมาปรับใช้กับร้านของเรา
ขั้นตอนไหนของการทำร้านที่ตั้มรู้สึกว่ามันยากที่สุด แล้วคุณผ่านมาได้อย่างไร
ก่อสร้างเลวร้ายที่สุด (หัวเราะ) คือโปรเจกต์นี้มันกะทันหันและเร่งกับทามไลน์มาก เพราะเมื่อเซ็นสัญญา จ่ายเงินเรียบร้อย มันจะระบุเลยว่าต้องเปิดร้านเมื่อไหร่ แล้วการที่คุณทำร้านไม่เสร็จ มันกลายเป็นช่วงเวลาที่คุณขาดทุน
การก่อสร้างโครงการนี้ใช้เวลา 50 วัน บอกเลยว่าดีเลย์ ซึ่งมันเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้น แต่ว่าเราต้องมีเครื่องมือที่คอยควบคุมผู้รับเหมา อย่างปัญหาที่เกิดขึ้นที่นี่คือมีผู้รับเหมา 2 เจ้า ที่ต่างคนต้องต่างทำ แต่เวลาขึ้นงานมันขึ้นทับกัน ฉะนั้นเราต้องเข้ามาที่ไซต์ทุกวันเพื่อมาเช็กความคืบหน้าของงาน ต้องจัดประชุม หรือในสัญญาระบุไปเลยว่าถ้าคุณทำงานดีเลย์ เราปรับคุณนะ
ในขั้นตอนของการพัฒนาสินค้าหรือบริการ ซึ่งในที่นี้คือร้าน 2+4 และ Secret Storey ตั้มคิดว่าเรื่องไหนที่หลายคนอาจไม่ได้คำนึงถึงเท่าไหร่ แต่ความจริงแล้วมันสำคัญมาก
ถ้ามองในเชิงการพัฒนาสินค้า แล้วมองอาคารเป็นสินค้า สิ่งสำคัญเลยคือต้องทำให้ถูกกฎหมาย ต้องศึกษาให้ครบถ้วนว่ามันมีที่มายังไง เราทำได้ถูกต้องหรือเปล่า
แต่ถ้าเป็นเรื่องผลิตภัณฑ์ภายในร้านก็อาจจะเป็นเรื่องของ Feasibility ทุกอย่างที่เราทำอ่ะ เราก็มองถึงค่าต้นทุนต่างๆ เช่น ซื้อแก้ว ซื้อโต๊ะ จ่ายเงินเดือนพนักงาน อาจจะมีเงินกู้เข้ามา ภาษีก็สำคัญ เพราะธุรกิจประเภทร้านอาหารและบาร์จ่ายภาษีไม่เหมือนกัน รวมถึงต้นทุนแฝงต่างๆ
ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ Maintenance Cost (ต้นทุนค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษา) เพราะว่ามันเป็นค่าใช้จ่ายที่เราไม่สามารถควบคุมได้เลยนะ อยู่ดีๆ ของจะเสียก็เสีย แต่มันมีวิธีป้องกันนะ อย่างประกันเนี่ยเราต้องมี
สถานการณ์การล็อกดาวน์ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาเจอปัญหาอะไรบ้าง แล้วมีการปรับตัวรับกับสถานการณ์อย่างไร
บอกเลยว่าเจอเยอะมาก เพราะช่วงโควิดมันทำอะไรไม่ได้เลย เราก็ต้องมาดูว่ามีต้นทุนไหนบ้างที่สามารถตัดได้ เอาตรงๆ เลย เราดิ้น เราทำพุดดิ้งขาย ทำไก่ทอดขาย พยายามหางานให้กับพนักงานในร้าน
แต่กลายเป็นว่าทุกวันนี้ไก่ทอดก็ประสบความสำเร็จมากเพราะขายดีที่สุด จากไก่ทอดที่เกิดขึ้นเพราะดิ้นรน กลายเป็นไก่ทอดที่ทำเงินให้กับร้าน เราคิดว่าเมื่อเจอสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงแบบนี้ก็ต้องพยายามหาทางออกกันไป
ตั้มคิดว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ธุรกิจทั้งสองร้านประสบความสำเร็จ
สิ่งสำคัญคือเป็นตัวของตัวเอง เราออกแบบร้านมาตอบโจทย์ Personality ของตัวเอง ทุกอย่างที่เราทำมามันก็คือตัวเรา เหตุผลที่มันสำเร็จเราคิดว่าเป็นเพราะคนเห็นว่าร้านนี้มันมีอะไรบางอย่างที่ไม่เหมือนใคร มี Uniqueness
เอกลักษณ์ของร้าน Secret Storey ที่เลือกนำ Drag มาโชว์ สุดท้ายแล้วคนที่มาดูไม่ใช่กะเทยนะ แต่เป็นผู้หญิงและผู้ชายมาดู มีแม่บ้านญี่ปุ่นมาดู มันกลายเป็นอีกนิยามนึงของกรอบคนที่จะมาดู เพราะที่แห่งนี้มันเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้าง ลูกค้าจึงไม่ใช่กลุ่มเฉพาะแล้ว แต่กลับเป็นกลุ่มที่อยากจะมาลองสัมผัสกับบรรยากาศใหม่ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในมุมมองของตั้ม คิดว่าต้องเป็นคนที่มี Mindset แบบไหน
มันต้องฟังมากขึ้น เปิดกว้างมากขึ้น โชคดีตรงที่เราเป็นคนที่ยังถามคนอื่นอยู่ ไม่ใช่แค่งานที่ร้านนะ แต่งานออกแบบด้วย บางทีสายตาเรามองว่ามันสวย แต่สำหรับคนอื่น เขาคิดว่าสวยไหมเราก็ไม่รู้ เลยถามหลายๆ คนเพื่อพยายามที่จะเข้าใจว่าคนอื่นเขามองยังไง แต่ถ้าใครพูดแล้วไอเดียมันไม่ได้ เราก็ไม่ฟังนะ (หัวเราะ)
ถ้ายอมที่จะเปิดกว้าง ยังไงมันก็ดีสำหรับเราและงานเราแน่นอน เพราะมันจะมีความ Commercial (เชิงการค้า) มากขึ้นจากหลายมุมมอง
ฝากอะไรถึงคนที่อยากเป็นผู้ประกอบการสักเล็กน้อย
สิ่งสำคัญของธุรกิจนี้ก็คือต้องอดหลับอดนอน (หัวเราะ) งานพวกนี้มันเหมือนงาน Passion นะ คุณต้องมีความหลงใหลกับมัน ไม่ใช่แค่มองว่าต้องการกำไรเท่านั้น แต่คุณต้องรักมัน ดูแลมันเหมือนลูก และเข้าใจมันทุกอย่าง สำหรับเราเรื่องนี้สำคัญสุด เพราะว่าต้องใช้ความอดทนและต้องยอมเหนื่อยมาก เวลาส่วนตัวของคุณจะหายไปครับ (ยิ้ม)
Fact Box:
- คุณตั้ม-ชนะโชค ปรัชญาวุฒิรัตน์ เป็นหนึ่งในผู้สอนพิเศษวิชา New Product and Service Development การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการรูปแบบใหม่ ของ TUXSA คอร์สปริญญาโทออนไลน์ที่เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ SkillLane