10 เทรนด์ด้าน Digital Transformation ที่คิดว่า 2021 นี้มาแน่

digital-transformation-trends-2021

ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่เหนือความคาดหมายในหลายๆ ด้าน รวมถึงการก้าวกระโดดทางดิจิทัลที่สืบเนื่องมาจากความจำเป็นต้องปรับตัวทั้งในการใช้ชีวิตและในธุรกิจ บางอย่างที่เคยถูกคาดการณ์ไว้ว่าอาจใช้เวลาร่วมปีหรือร่วมทศวรรษในการเปลี่ยนแปลง ก็กลับเกิดขึ้นได้ในชั่วเวลาข้ามเดือน

Daniel Newman นักวิเคราะห์และวิจัยอนาคตศาสตร์ในนิตยสาร Forbes ยอมรับว่าโลกดิจิทัลเองก็กำลังถูกเร่งความเร็วเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์โรคระบาดที่เข้ามาพลิกวิถีชีวิตและวิถีการทำงานของผู้คน และนี่คือการคาดการณ์จาก Newman ถึงเทรนด์ดิจิทัลที่จะมาในปี 2021 นี้!

5G

เราอาจเคยได้ยินสารพัดสรรพคุณของ 5G กันมาสักพักแล้ว แต่เทคโนโลยี 5G กำลังจะเป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้น เพราะเราต้องพึ่งพาการเชื่อมต่อที่รวดเร็วและเสถียรมากกว่าเดิม ในเวลาที่เราต้องทำงาน ประชุม เรียน และกิจกรรมแทบทุกอย่างแบบทางไกลอย่างในปีที่ผ่านมา

โดยตอนนี้มีบริษัทยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Samsung, Apple, Xiaomi หรือ Motorola พากันทยอยออกอุปกรณ์ที่สามารถรองรับ 5G กันมาแล้ว แม้แต่บริษัทโทรคมนาคมในประเทศไทยเองอย่าง CAT Telecom หรือ AIS ก็ต่างพากันโปรโมตแคมเปญ 5G (ที่สามารถประมูลได้มา) ให้ผู้บริโภคได้รู้จักมากขึ้น

Customer Data Platform (CDP)

Customer Data Platform (CDP) หรือแพลตฟอร์มสำหรับจัดการข้อมูลลูกค้า เป็นเทรนด์ที่เติบโตต่อเนื่องและควบคู่มากับเรื่องของ Big Data และ Analytics จะเป็นที่ต้องการอย่างต่อเนื่องจากช่วงปลายปี 2020 เพราะธุรกิจและองค์กรต้องการให้มีข้อมูลที่ครบถ้วนและรอบด้านมารวมอยู่ในที่เดียวกัน สำหรับการเลือกนำไปประมวลผลและตัดสินใจสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว

บริษัทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Adobe, SAP, Oracle, Treasure Data และ Microsoft ต่างก็ลงทุนอย่างจริงจังในการพัฒนาแพลตฟอร์ม CDP ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องดวามสามารถในการเก็บและจัดการข้อมูลผู้ใช้ที่มากขึ้นเพื่อตอบสนองการใช้งานในองค์กร

Hybrid Cloud

ระบบ Cloud เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ช่วยขับเคลื่อน Digital Transformation ให้กับธุรกิจ ทำให้องค์กรสามารถนำทรัพยากรที่มีทั้งหมดมาใช้อย่างเหมาะสม เป็นระบบ และรวดเร็ว

ส่วนคำว่า Hybrid Cloud นั้นก็ได้รับการกล่าวถึงมาช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว ซึ่งหมายถึงการประยุกต์ใช้งานร่วมกันของ Private Cloud (ระบบคลาวด์ส่วนตัว) และ Public Cloud (ระบบคลาวด์สาธาณะ) เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

โดยใช้ Private Cloud รองรับส่วนการใช้งานหลักในการดำเนินงานของธุรกิจ ในขณะที่ Public Cloud ใช้รับรองการทำงานส่วนที่เหลือและส่วนระบบ Development แทน เพื่อความยืดหยุ่นและลดค่าใช้จ่ายของฮาร์ดแวร์ที่ต้องซื้อเตรียมไว้สำรองเป็นจำนวนมาก ซึ่งปีที่ผ่านมา บริษัทชั้นนำอย่าง AWS, Azure, Google, IBM หรือ Oracle เริ่มลงทุนพัฒนาด้านนี้แล้ว

Cybersecurity

ในปีที่ผ่านมา อัตราการโจมตีทางไซเบอร์สูงขึ้นทั่วโลก อาจเพราะความจำเป็นต้องทำงานจากเครือข่ายนอกองค์กรที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปีนี้ เรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์หรือ Cybersecurity จึงจะกลับมาเป็นเรื่องใหญ่อีกครั้ง โดยที่ AI และ Machine Learning จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการสร้างเกราะป้องกันไม่ว่าจะเป็น Firewalls, SIEM หรือระบบความปลอดภัยของคลาวด์ต่างๆ

แม้หลายบริษัทพยายามทุ่มทุนและทุ่มเทในการสร้างเครื่องมือป้องกันความปลอดภัย แต่ก็เป็นที่คาดหวังกันว่า ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์หรือผู้ให้บริการคลาวด์เอง ก็ควรสร้างระบบความปลอดภัยให้กับผลิตภัณฑ์ของตัวเองเช่นกัน

Confidential Computing

อีกทางหนึ่งในการสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งผู้ให้บริการคลาวด์และผู้ผลิตฮาร์ดแวร์รายใหญ่อย่าง Google, Microsoft, IBM, Alibaba และ VMware ได้กำลังร่วมมือกันพัฒนา คือเทคโนโลยี Confidential Computing

เป็นการนำข้อมูลที่จะใช้ประมวลผล ไปใส่ไว้ในพื้นที่พิเศษเรียกว่า Trusted Execution Environment (TEE) ซึ่งจำกัดสิทธิการเข้าถึงจากโปรแกรมภายนอก เพื่อไม่ให้แอปพลิเคชันหรือระบบปฏิบัติการที่ไม่เกี่ยวข้องสามารถล้วงข้อมูลเหล่านั้นได้

Headless Tech

ด้วยพฤติกรรมและความสนใจของลูกค้าที่พัฒนาไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ธุรกิจค้าขายต้องทำได้มากกว่าการสร้างประสบการณ์แบบ Omni-channel หรือช่องทางการตลาดแบบบูรณาการ แต่ต้องสามารถแยกการทำงาน Front-End เช่น หน้าร้าน เว็บไซต์ หรือแอปพลิแคชันขายของ ออกจาก Back-End เช่น ฐานข้อมูลหรือโครงสร้างพื้นฐานให้ได้

เพื่อให้สามารถปรับตัวได้รวดเร็วและสร้างประสบการณ์ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นต่อไป ถ้าต้องขายของผ่านลำโพงอัจฉริยะ (Smart Speaker) หรือออกสื่อประชาสัมพันธ์รูปแบบใหม่ ก็ต้องมีโครงสร้างที่ทำให้นักพัฒนาสามารถสร้างประสบการณ์เหล่านั้นได้

Work from Home

ปี 2020 ที่ผ่านมา หลายๆ คนอาจจะได้ใช้เวลาทำงานอยู่ที่บ้านมากกว่าที่ออฟฟิศ และดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้นต่อไป ในช่วงต้นปีนี้ ซึ่งเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะเป็น Zoom, Google Meet หรือ Microsoft Teams รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ นับตั้งแต่เก้าอี้เพื่อสุขภาพ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ไปจนถึง SD-WAN ก็เข้ามามีบทบาทและได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว

ประเทศไทยเอง ก็ได้เห็นเทรนด์การโยกย้ายถิ่นฐานจากเมืองใหญ่กลับไปบ้านเกิดเพื่อลดค่าครองชีพ ทำให้มีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในเมืองเล็กๆ มากขึ้น เช่น การพัฒนาเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เป็นต้น

AI

สถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญในการร่วมพัฒนาเรื่อง AI ข้อมูล และ Machine Learning ระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อค้นหาทางออกที่รวดเร็วและได้ผลดีที่สุดสำหรับการหยุดการแพร่ระบาดครั้งนี้

และจากการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับข้อมูลจำนวนมหาศาล และความสามารถของคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาควบคู่กันไปอย่างไม่หยุดหย่อน ในอนาคต ธุรกิจและองค์กรต่างๆ จะเข้าถึง AI ได้ง่ายขึ้น และจะยิ่งเติบโตอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าปัจจุบัน จนอาจต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเพื่อให้มั่นใจว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะถูกใช้เพื่อจุดประสงค์ในเชิงบวกเท่านั้น

Device Form Factors

ยังจำยุคที่ใช้โทรศัพท์แบบพับได้กันได้ไหม? ในปีนี้คาดว่าจะมีโทรศัพท์พับได้ให้เราเห็นกันมากขึ้น เพราะนอกจากผู้บริโภคต้องการอุปกรณ์ที่มีน้ำหนักเบาลง ขนาดเล็กลง และสามารถเชื่อมต่อได้ดีกว่าเดิมแล้ว ยังต้องใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามวัตุประสงค์ในการใช้งาน แทนที่จะต้องพกพาอุปกรณ์หลายชิ้น

โดยโทรศัพท์พับได้นั้นตอบโจทย์ตรงที่ สามารถขยายเป็นแท็บแล็ตได้เมื่อต้องการจอที่ใหญ่ขึ้น และสามารถพับกลับเป็นโทรศัพท์ได้เมื่อต้องการใช้งานแบบปกติ อย่าง Microsoft Surface Duo หรือ Samsung Galaxy Fold 2 ที่ออกมาให้เห็นกันแล้ว

Quantum Computing

Quantum Computing เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์รูปแบบใหม่ที่อาศัยปรากฏการณ์เชิงควอนตัมในการช่วยประมวลผลข้อมูล ทำให้สามารถประมวลผลได้เร็วกว่าคอมพิวเตอร์โดยทั่วไปอย่างมหาศาล กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และถูกนำมาใช้ในการจัดการการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสด้วย

และในอนาคตอันใกล้ เราจะได้เห็นการนำไปใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น เนื่องจากผู้คนเริ่มตระหนักถึงความสามารถอันทรงพลังของ Quantum Computing แล้วนั่นเอง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้ด้านประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้เพื่อการโฆษณา

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save