หนังสือที่ชื่อว่า Range (2019) แต่งโดย David Epstein เป็นหนังสือที่เกี่ยวข้องกับคนที่มีลักษณะที่แตกต่างกัน 2
ประเภทคือ คนที่มีความสามารถรอบด้าน (Generalists) กับคนที่เก่งเฉพาะด้าน (Specialists)
อ่านแล้วได้ข้อคิดดี ๆ ดังต่อไปนี้
1. เราต้องเลือกที่จะเป็นคนที่มีความสามารถรอบด้าน แต่ไม่ได้เก่งมาก ๆ ในด้านใดด้านหนึ่ง (Generalists) หรือ จะเป็นผู้ที่เก่งมาก ๆ เฉพาะด้าน (Specialists) อันใดอันหนึ่งในเวลาใดเวลาหนึ่ง เนื่องจากเรามีเวลาจำกัด
2. คนส่วนใหญ่มักจะเชื่อว่าการที่เราเก่งเฉพาะด้านมาก ๆ น่าจะดีกว่า และถ้าอยากจะเก่งแบบนั้น เราต้องเริ่มต้นตั้งแต่เล็ก ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การที่เราจะเก่งมาก ๆ ในด้านใดด้านหนึ่งนั้น เราไม่จำเป็นต้องเก่งด้านเดียว กลับกันการมีความสามารถรอบด้านกลับเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้เราเก่งมาก ๆ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งต่างหาก
3. ในโลกปัจจุบัน ในภาพรวมคนที่เก่งรอบด้านจะได้เปรียบคนที่เก่งเฉพาะด้าน เพราะคนที่เก่งรอบด้านสามารถปรับตัวได้เร็วกว่า และสามารถหาทักษะที่เหมาะสมกับตัวเองได้ทำให้เขาสำเร็จในเรื่องนั้น ๆ ได้
4. ในบริบทที่รูปแบบทักษะมีความชัดเจนและเฉพาะเจาะจง การเริ่มต้นตั้งแต่ฝึกฝนตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้ให้คนเก่งเฉพาะด้านได้เปรียบ (เช่น Tiger Woods ในกีฬากอล์ฟ) แต่ในบริบทที่รูปแบบทักษะไม่ชัดเจน ไม่เฉพาะเจาะจง คนที่เก่งรอบด้านมักจะได้เปรียบ (เช่น Roger Federer ในกีฬาเทนนิส)
5. โลกปัจจุบันมุ่งไปในทิศทางที่เราไม่สามารถกำหนดทักษะที่มีความชัดเจนได้ จึงทำให้คนที่เก่งรอบด้านได้เปรียบคนที่เก่งเฉพาะด้าน อย่างไรก็ตาม คนที่ประสบความสำเร็จนั้น เขาจะเริ่มสำรวจเพื่อสร้างความเก่งรอบด้านก่อน และหลังจากที่เขาพบทักษะของตัวเอง เขาจะมุ่งมั่นเพื่อให้เก่งเฉพาะด้านต่อมา
6. คนที่ได้ Nobel Prize ในสาขาวิทยาศาสตร์มักจะมีแนวโน้มในการเก่งเรื่องทางด้านศิลปะจากมากกว่าคนอื่น ๆ
7. คนที่อยากประสบความสำเร็จในฐานะนักประดิษฐ์อาจจะไม่ต้องเก่งลึกมาก แต่ควรต้องเก่งกว้างในเรื่องที่เกี่ยวข้องด้วย หรือที่เรียกว่ามีความรู้แบบ T-Shape
8. การเก่งเฉพาะด้านไม่ได้เป็นปัญหา แต่ปัญหามักจะเกิดจาก การเก่งเฉพาะด้านมากเกินไปจนไม่สนใจสิ่งรอบข้าง อันนี้จะทำให้เกิดปัญหา
9. AI เก่งลึกแค่เฉพาะด้านซึ่งเราในฐานะมนุษย์ไม่สามารถสู้ได้ แต่เราจะเก่งกว่า AI ในการเชื่อมโยงความรู้รอบด้านเข้าด้วยกันมากกว่า
10. การเรียนรู้ที่สำคัญคือการเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ และสามารถเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน
11. หลายครั้งคำแนะนำว่า “อย่าล้มเลิก” อาจจะกลายเป็นอุปสรรคขวางเราไม่ให้ไปสู่ความสำเร็จ เพราะจะทำให้เราไม่สามารถสำรวจจนเจอสิ่งที่ “ใช่” สำหรับเราจริง ๆ
12. หลายครั้งการแก้ปัญหาที่ยาก ๆ มักจะได้เกิดจากความคิดของ “คนนอก” มากกว่า “คนใน” เพราะคนนอกมักจะสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวได้ดีกว่าคนในที่มีความรู้ที่เฉพาะเจาะจงมาก ๆ
เป็นหนังสืออีกเล่มที่ให้แนวคิดที่น่าสนใจมาก ๆ สำหรับคนที่ต้องการประสบความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงานครับ