หนังสือ Think Again: The Power of Knowing What You Don’t Know เป็นหนังสือที่แต่งโดย Professor Adam Grant จาก University of Pennsylvania ซึ่งได้กระตุ้นให้ผู้อ่านได้ตั้งคำถามกับความเชื่อดั้งเดิมที่เรามีอยู่ อ่านแล้วได้สรุปหนังสือเป็นข้อคิดดี ๆ ดังต่อไปนี้ครับ
1. ปกติคนเรามักจะปกป้องความเชื่อของตัวเอง คือจะทำตัวเป็นนักเทศน์ (Preacher) อัยการ (Prosecutor) หรือ นักการเมือง (Politician) โดยบทบาทนักเทศน์คือความพยายามจะหาเหตุผลมาสนับสนุนสิ่งที่ตัวเองเชื่อ บทบาทอัยการ คือพยายามหาเหตุผลมาหักล้างความคิดเห็นที่ตรงข้ามกับความเชื่อเรา ส่วนบทบาทนักการเมืองคือพยายามไปหาแรงสนับสนุนความเชื่อของเราจากคนอื่น ๆ
2. การที่เราปกป้องความคิดของตัวเองดังกล่าว จะทำให้เราไม่ได้ค้นพบสิ่งใหม่ ๆ บทบาทที่เราควรเป็นคือนักวิทยาศาสตร์ (Scientist) คือควรตั้งสมมุติฐานกับความคิดดั้งเดิมของเราว่าจริงหรือไม่ และพยายามค้นหาคำตอบด้วยความอยากรู้อยากเห็น
3. คนไม่เก่งมักจะมีความมั่นใจมากเกินเหตุ มักให้ความคิดเห็นในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้เชี่ยวชาญ ในทางกลับกัน คนที่เก่งมาก ๆ กลับไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง เพราะเข้าใจว่าความรู้ที่เขารู้ยังน้อยนิดเทียบกับสิ่งที่ยังไม่รู้
4. เราควรจะมีลักษณะที่เรียกว่า Confident Humility คือมีความมั่นใจในตัวเองแต่ในขณะเดียวกันก็เปิดกว้างยอมรับความคิดเห็นอื่น ๆ ที่อาจจะไม่ได้ตรงกับความเชื่อของเรา
5. การที่เราจะทำให้คนอื่นเชื่อได้ ควรเริ่มต้นจากการรับฟังฝ่ายตรงข้าม และหาจุดร่วมของความเชื่อ (Common Ground) ให้ได้ก่อน อย่าพยายามหาเหตุผลมาสนับสนุนความเชื่อของเรามากจนเกินไป ให้เลือกเหตุผลสนับสนุนที่ดีมาก ๆ ไม่กี่ข้อ รวมถึงควรเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้มีทางเลือกในการตัดสินใจด้วยตัวเอง
6. พยายามตั้งคำถามกับความเชื่อของเราตลอดเวลา สิ่งที่เราคิดว่าใช่ อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป
ก็เป็นอีกเล่มที่อยากแนะนำให้ทุกคนได้อ่าน และลองมาตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเชื่อมาก ๆ กันดูนะครับ