คุณอาจไม่เคยสังเกต หรือไม่เคยนับจำนวนนาทีของเพลงมาก่อนว่า เมื่อก่อนแต่ละเพลงนั้นยาวแค่ไหน และปัจจุบันหนึ่งเพลงนั้นมีความยาวเท่าไร
จากบทความของ QUARTZ ซึ่งเขียนโดย Dan Kopf พบว่า ความยาวเฉลี่ยของเพลงในตอนนี้สั้นลงอย่างเห็นได้ชัด และจะค่อยๆ สั้นลงไปอีกเรื่อยๆ!
ความยาวของเพลงสมัยก่อนกับปัจจุบัน
โดยจากการวิเคราะห์ความยาวเฉลี่ยของเพลงนับตั้งแต่ปี 2013 – 2018 เพลงที่อยู่บนชาร์ต Billboard Hot 100 นั้น มีความยาวลดลงประมาณ 20 วินาทีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คือจากเพลงละ 3 นาที 50 วินาที เหลือประมาณ 3 นาที 30 วินาที และยังมีเพลงอีกประมาณ 6% จากชาร์ต ที่มีความยาวเพียง 2 นาที 30 วินาทีหรือสั้นกว่า โดยที่ในปี 2018 มีเพลงที่สั้นลงเพิ่มขึ้นประมาณ 1% เมื่อเทียบจากใน 5 ปีที่ผ่านมา
ทำให้ค่าเฉลี่ยของแต่ละเพลงในยุคนี้นั้นกลายเป็น 3 นาที และพวกเราก็ชินไปแล้วจนไม่ได้รู้สึกผิดแปลกอะไร
บทความนี้ยังได้ยกตัวอย่างงานเพลงของ Kendrick Lamar อเมริกันแรปเปอร์ชื่อดังแห่งยุค1 ว่าหากลองนับเวลาเริ่มต้นของเพลงแทร็กที่ 5 จาก 3 อัลบั้มล่าสุดของเขา พบว่าอัลบั้ม good kid, m.A.A.d city เพลงที่ 5 คือ ‘Money Trees’ เริ่มในนาทีที่ 19 อัลบั้มต่อมา To Pimp a Butterfly เพลงที่ 5 ‘These Walls’ จะเริ่มในนาทีที่ 16 ส่วนอัลบั้มล่าสุด DAMN เพลงลำดับที่ 5 ‘FEEL’ จะเริ่มเร็วขึ้นไปอีก คือเริ่มในนาทีที่ 12
ซึ่งเพลงในอัลบั้ม good kid, m.A.A.d city นั้นมีความยาวเฉลี่ยอยู่ที่ 5 นาที 37 วินาที เพราะส่วนใหญ่จะยาวประมาณ 3 นาที 30 วินาทีหรือนานกว่านั้นนิดหน่อย แต่ก็มีบางเพลงที่ยาวมากๆ อยู่ด้วย เช่น เพลง ‘Money Trees’ ที่มีความยาวเกิน 6 นาที และเพลง ‘Sing About Me, I’m Dyin’ ที่มีความยาวมากกว่า 12 นาที โดยทั้งอัลบั้มใช้เวลารวม 68 นาที 23 วินาที แต่อัลบั้มต่อมาก็สั้นลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะความยาวเพลงโดยเฉลี่ยของอัลบั้ม DAMN ลดลงมาอยู่ที่ 3 นาที 57 วินาที และความยาวรวมทั้งหมดของอัลบั้มเหลืออยู่ที่ 54 นาที 54 วินาทีเท่านั้น
(1 Kendrick Lamar โด่งดังจากผลงานอัลบั้ม Black Panther : The Album (Music from and Inspired by) ในปี 2018 ที่เขาเป็นโปรดิวเซอร์ เปิดตัวด้วยอันดับ 1 บน Billboard 200 ในปีนั้น และยังได้รับรางวัลพูลิตเซอร์สาขาดนตรีจากอัลบั้ม DAMN ด้วย)
แล้วเทรนด์นี้ยังเกิดขึ้นกับอัลบั้มเพลงของศิลปินชื่อดังอีกหลายคนด้วย เช่น อัลบั้มล่าสุดของ Drake คือ Scorpion and More Life และอัลบั้ม The Life of Pablo ในปี 2016 ของ Kanye West ก็มี 8 เพลงที่มีความยาวน้อยกว่า 3 นาที
Nicki Minaj และ J. Cole ก็เช่นกัน โดยเพลงในอัลบั้ม Queen ของมินาจ สั้นลง 11% เมื่อเทียบกับอัลบั้ม Pink Friday ส่วนเพลงในอัลบั้ม KOD ของ J. Cole ก็สั้นลง 29% เมื่อเทียบกับเพลงในอัลบั้ม Forest Hill Drive ที่ออกในปี 2014 และไม่ใช่แค่แรปเปอร์ที่ทำเพลงสั้นลง แต่เพลงในอัลบั้ม Desperate Man (2018) ของ Eric Church ก็สั้นลง 21% เมื่อเทียบกับอัลบั้ม Mr. Misunderstood (2015) และเพลงในอัลบั้ม Rearview Town ของ Jason Aldean ก็สั้นลง 18% จากอัลบั้ม My Kinda Party เช่นกัน
สาเหตุที่เพลงยุคนี้สั้นลงเป็นเพราะอะไร?
จากข้อมูลของ Quartz ระบุว่า การจ่ายเงินเพลงแบบสตรีมมิ่งในราคาที่ไม่สูงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เพลงสั้นลง
ตัวอย่างเช่น Spotify จ่ายให้กับศิลปินในราคา 0.004 – 0.008 ดอลลาร์ต่อการสตรีมหนึ่งครั้ง และไม่ว่าเพลงในอัลบั้มใหม่หรือเก่าก็ได้รับเงินเท่ากัน ทำให้เพลงต้องแข่งขันกันที่ความถี่ในการสตรีม เพื่อจะได้รับค่าตอบแทนมากขึ้น
ซึ่งนักแต่งเพลง Charlie Harding และนักดนตรี Nate Sloan ได้พูดคุยกันผ่านพอดแคสต์รายการ Switched On Pop ร่วมกับ Nilay Patel บรรณาธิการบริหารของ Verge ถึงการที่เทคโนโลยีเข้ามาแล้วทำให้วงการเพลง วิธีการจัดจำหน่าย และการผลิตเพลงฮิตในปัจจุบันนี้เปลี่ยนไปอย่างไร
กล่าวโดยสรุปได้ว่า วงการเพลงที่เปลี่ยนวิถีมาเป็นการสตรีมเพลงในยุคดิจิทัล ส่งผลให้เพลงสั้นลงนับตั้งแต่ช่วงปี 1990 จนถึงปัจจุบัน เวลาเฉลี่ยของเพลงลดลง โดยจะเห็นได้ใน Spotify แล้วต่อมาก็กลายเป็นแพลตฟอร์มหลักในการกระจายเพลงในตอนนี้ โดย Nilay Patel ยังสำทับว่า “เพลงมีความยาวลดลงกว่า 30 วินาทีในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา”
ซึ่งทำให้การเขียนเพลงใหม่ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกันตามวิธีการที่จะได้รับเงินจากการสตรีม เพราะในอดีตศิลปินอาจได้รับเงินจากการขายอัลบั้มหรือซิงเกิล ซึ่งในปี 1995 ตอนนั้นเฉลี่ยความยาวเพลงยังอยู่ที่ 4 นาที 30 วินาที แต่วันนี้เหลือเพียง 3 นาทีกว่าก็ว่าได้ เพราะการจะได้รับเงินในสตรีมแต่ละครั้งก็ต่อเมื่อมีคนฟังเพลงนั้นต่อเนื่องโดยไม่กดข้ามเป็นเวลา 30 วินาทีแล้วเท่านั้น เพราะฉะนั้นเมื่อเพลงสั้นลง ก็สามารถสตรีมเพลงได้จำนวนรอบมากขึ้น และไม่เพียงเพลงจะสั้นลงเท่านั้น วิธีที่ศิลปินจะทำเพลงเพื่อรองรับกฎข้อนี้ก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย
หมดยุคของอินโทรยาวๆ ที่ค่อยๆ นำผู้ฟังเข้าสู่เพลงแล้ว ไปสู่โครงสร้างการผลิตเพลงแบบใหม่ที่เรียกว่า Pop overture โดยการดึงท่อนคอรัสขึ้นมาเริ่มใน 5-10 วินาทีแรก เสมือนเป็นคำใบ้ของเพลงและเพื่อให้เพลงติดหู ดึงคนให้ฟังต่อไปได้อย่างน้อย 30 วินาที ก่อนจะถึงท่อนคอรัสเต็มในที่สุด หรืออย่างที่ Nilay Patel เรียกว่าคล้ายกับตัวอย่างภาพยนตร์ก่อนฉายจริง ซึ่ง Charlie Harding บอกว่า มันทำให้เพลงเปลี่ยนไปจริงๆ โดยเฉพาะในฮิปฮอป ที่เพลงอย่าง Gucci Gang ของ Lil Pump จบในเวลาเพียง 2 นาที 4 วินาที และในอัลบั้มก็มี 14 เพลงจาก 19 เพลงที่ความยาวไม่เกิน 3 นาที
และสำหรับ Spotify หากผู้ฟังยังคงฟังต่อทั้งแทร็กจนจบ ก็จะเพิ่มโอกาสที่แทร็กนั้นจะปรากฏบนเพลย์ลิสต์บน Spotify ด้วย ศิลปินก็จะได้รับเงินมากขึ้นด้วย และการถูกเลือกให้เพลงไปอยู่ในเพลย์ลิสต์ ก็สร้างโอกาสให้มีคนคลิกเข้ามาฟังมากขึ้นเช่นกัน
ซึ่ง Mark Richardson อดีตบรรณาธิการของ Pitchfork บอกว่า “ไม่เคยมีค่าแรงจูงใจให้ทำเพลงสั้นลงแบบนี้มาก่อน” และในอนาคต ก็อาจจะต้องรอจนกว่าศิลปินจะได้รับค่าสตรีมมิ่งที่ดีขึ้น ถึงจะคาดหวังเพลงที่ยาวขึ้นได้
อุตสาหกรรมดนตรีจึงจำเป็นต้องเปลี่ยน
Vanessa Bakewell เขียนไว้บน Facebook/Music Week ว่า “คุณมีเวลาเพียงสามวินาทีในการดึงดูดความสนใจของผู้คนบนโซเชียลมีเดีย”
ไม่ใช่แค่ทุกอย่างบนโซเชียลมีเดีย อาทิ คลิปใน TikTok และการทำคลิปมีมต่างๆ ที่สั้นลงแล้ว ก็ยังรวมถึงการทำเพลงด้วย ในเมื่อทุกแพลตฟอร์มต่างแข่งขันกันเรียกร้องและดึงดูดความสนใจจากผู้ชม สามวินาทีก็เป็นสิ่งที่ต้องลงแรงทำให้สำเร็จ
ซึ่ง Kirk Miller สรุปในบทความของเขาว่า ขณะนี้การสตรีมคิดเป็นรายได้สำหรับธุรกิจเพลงถึง 80% และศิลปินจะได้รับเงินต่อการสตรีมตราบใดที่ผู้ฟังฟังเพลงเป็นเวลา 30 วินาทีขึ้นไป ในขณะที่เดี๋ยวนี้คนมักปัดผ่านเปลี่ยนเพลงใหม่อย่างรวดเร็ว ดังนั้นตอนนี้จึงไม่แปลกที่เกือบ 40% ของเพลงที่ติดอันดับบนชาร์ตจะเริ่มท่อนคอรัสตั้งแต่ 15 วินาทีแรก (เร็วกว่าเพลงในปี 2000 สี่เท่าได้!) เพราะอย่างที่เชื่อกันว่า เรามีเวลาเพียงสามวินาทีเท่านั้นที่จะดึงดูดความสนใจของผู้คนบนโซเชียลมีเดีย และศิลปินป๊อปในปัจจุบันก็ตระหนักดีถึงเรื่องนี้
เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมดนตรีสมัยใหม่ จึงกลายเป็นการผลิต “ซิงเกิล” ออกมา มากกว่าทำอัลบั้มเต็มตั้งแต่แรก
Bekki Bemrose เขียนถึงเรื่องนี้ในบทความว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอิทธิพลของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งมีอิทธิพลต่อความยาวและรูปแบบของเพลงป๊อป โดยเพลงป๊อปสั้นลงเฉลี่ย 1 นาที 13 วินาที เมื่อเทียบกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว
Ostereo ค่ายเพลงดิจิทัลจากเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ได้ศึกษาเพลงที่ขึ้นอันดับหนึ่งในสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี 2008 รวมทั้งซิงเกิลอันดับหนึ่งในปี 1998 และเพลงที่มียอดสตรีมสูงสุด 100 อันดับแรกของ Spotify พบว่าความยาวของเพลงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และย้ำว่าเรื่องนี้มันจะเป็นเทรนด์ที่คงอยู่ต่อไป
โดยค่าเฉลี่ยของเพลงอันดับหนึ่งของสหราชอาณาจักรในปี 1998 อยู่ที่ 4 นาที 16 วินาที ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของปี 2019 จนถึงตอนนี้คือ 3 นาที 3 วินาที และในปี 2018 ความยาวเพลงลดลงมากที่สุดและยังเป็นปีแรกนับตั้งแต่ Spotify เปิดตัว โดยเพลงที่สั้นที่สุดใน 100 อันดับแรกของ Spotify คือเพลง Jocelyn Flores ของ XXXTentacion ที่ใช้เวลาเพียง 1 นาที 59 วินาที
ซึ่ง Howard Murphy ผู้ก่อตั้ง Ostereo ระบุว่า มีแนวโน้มสองประการเกิดขึ้น คือ เพลงฮิตโดยเฉลี่ยจะสั้นลง ในขณะที่เพลงที่ยาวขึ้นจะกลายเป็นเพลงฮิตน้อยลง ซึ่งแม้ตอนนี้จะหมดยุคการอาศัยคลื่นวิทยุเพื่อให้ประสบความสำเร็จบนอันดับชาร์ตเพลงไปแล้ว แต่ศิลปินก็ยังถูกจำกัดด้วยการทำเพลงให้อยู่ในเวลาสามนาที ทั้งที่เขาควรทำเพลงได้นานหรือสั้นเท่าที่ต้องการ
พฤติกรรมคนฟัง + Algorithm ก็มีส่วน
อีกเหตุผลที่ทำให้แทร็กเพลงยุคนี้สั้นลง ก็มีรากฐานมาจากช่วงความสนใจของผู้บริโภคที่สั้นลงเช่นกันด้วย ผู้คนจำนวนมากมักกดข้ามก่อนที่จะฟังเพลงจบ และทำให้อัลกอริทึมสตรีมมิ่งมองว่าเป็นสัญญาณของความไม่พอใจ จึงอาจทำให้ไม่แนะนำเพลงนั้นให้กับผู้ใช้รายอื่น ก็หมายความว่าเพลงนั้นยิ่งมีโอกาสน้อยที่จะได้รับความนิยม
เพราะฉะนั้นการมี Outro ที่ยืดเยื้อนานเกินไปในยุคนี้ อาจทำให้เพลงนั้นมีประสิทธิภาพต่ำบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งได้ แถมความยาวเพลงที่เหมาะสมจะต้องไม่เกิน 3 นาที 15 วินาทีด้วยเพื่อสามารถรั้งให้คนฟังต่อจนจบ แล้วคะแนนในส่วนของ ‘การได้ยินที่ไม่สมบูรณ์’ บน Spotify ก็ถึงจะไม่โดนหักลดไป
แต่ทว่า Austin Daboh หัวหน้าฝ่ายรายการและบรรณาธิการของ Spotify ในสหราชอาณาจักร ก็แย้งด้วยการยกตัวอย่างเพลงของแรปเปอร์ Dave ที่สามารถทำเพลงยาว 7 นาทีให้ประสบความสำเร็จบน Spotify ได้เช่นกัน
ซึ่งก็คงเป็นส่วนน้อยที่เพลงยาวจะประสบความสำเร็จง่ายดายบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่กลายมาเป็นตลาดหลักของธุรกิจเพลงไปแล้ว และแน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่คงไม่อาจกลับคืนมาได้อีกแล้วรูปแบบหนึ่งก็คือ วัฒนธรรมการทำอัลบั้มในแบบ 7-10 เพลงที่คละเคล้าปะปนเพลงขายพร้อมกันไปในแบบวัตถุฮาร์ดแวร์ และวัฒนธรรมใหม่ในวงการเพลงที่คงจะต้องเกิดขึ้นและแข่งขันกันต่อไปอย่างแน่นอนก็คือ “การกลับมาเน้นที่คุณภาพของดนตรี” ที่ควรจะสูงขึ้น เพื่อดึงดูดผู้ฟังให้อยู่กับเพลงนั้นได้จนจบอยางแท้จริง แม้เพลงจะยาวมากกว่า 3 นาทีก็ตาม