โดยสมมติฐานนี้ ได้คำตอบจากรายงานการวิจัย Why Immigrants Are More Likely to Become Entrepreneurs ของ Peter Vandor นักวิจัยอาวุโสของ Social Entrepreneurship Center ที่ WU Vienna ศูนย์ความรู้เพื่อองค์กรไม่แสวงหากำไรและผู้ประกอบการทางสังคม มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจแห่งเวียนนา ประเทศออสเตรีย
พบว่า ผู้อพยพจากทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะตั้งบริษัทมากกว่าประชากรในประเทศนั้นๆ เสียเอง!
ทั้งนี้ จากรายงาน Global Entrepreneurship Monitor ในปี 2012 โดย The Global Entrepreneurship Research Association (GERA) ก็ระบุว่า ผู้อพยพมีแนวโน้มที่จะเริ่มต้นธุรกิจมากกว่าพลเมืองดั้งเดิมในประเทศถึง 69 ประเทศที่ทำการสำรวจ โดยในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีประชากร 13.7% เป็นชาวต่างชาติ มีผู้อพยพคิดเป็น 20.2% ของแรงงานอิสระ จำนวนนั้นเป็นผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัปถึง 25%
และจากการศึกษาในปี 2018 โดย The National Foundation for American Policy พบว่า ผู้ก่อตั้งหรือร่วมก่อตั้ง 55% ของบริษัทที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ในสหรัฐอเมริกา หรือที่เรียกว่ายูนิคอร์น ล้วนเป็นผู้อพยพเช่นกัน
รวมถึงในช่วงสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ในตอนนี้ ที่ผู้คนทั่วโลกอาจจะต้องกล่าวขอบคุณอดีตผู้อพยพซึ่งตอนนี้กลายเป็นผู้ก่อตั้งและพัฒนาวัคซีน mRNA ตัวสำคัญที่ช่วยชีวิตคนส่วนใหญ่ไว้ อย่าง Pfizer, BioNTech และ Moderna ที่บริษัทเหล่านี้ไม่เพียงแต่ผู้บุกเบิกด้านการวิจัยสำเร็จเท่านั้น ความบังเอิญตรงกันคือผู้ก่อตั้งหรือร่วมก่อตั้งยังล้วนเป็นผู้อพยพ (immigrants) ทั้งสิ้น!
โดย Pfizer ก่อตั้งขึ้นในสหรัฐอเมริกา โดย Charles Pfizer และ Charles Erhart ผู้อพยพชาวเยอรมัน BioNTech ก่อตั้งขึ้นในเยอรมนีโดย Uğur Şahin ผู้อพยพชาวตุรกี ส่วน Moderna ก่อตั้งขึ้นในสหรัฐอเมริกา โดย Noubar Afeyan ผู้อพยพชาวเลบานอน
ความเต็มใจที่จะเสี่ยงมีผลต่อความสำเร็จ
Peter Vandor ระบุไว้ในงานวิจัยว่า แม้ยังไม่มีความเข้าใจที่แจ้งชัดนักว่าทำไมผู้อพยพจำนวนมากจึงเสี่ยงที่จะก่อตั้งบริษัท แต่ก็เคยพบการวิจัยก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าปรากฏการณ์นี้อาจเกิดจากผลกระทบที่เคยเกิดขึ้นแก่ผู้อพยพเหล่านั้น เช่น การถูกกดขี่เลือกปฏิบัติในตลาดแรงงาน นโยบายการคัดเลือกผู้ย้ายถิ่นฐาน และการแสวงหาโอกาสโดยเฉพาะคนที่มาจากพื้นที่ที่มีการย้ายถิ่นฐานสูง
จากการตอบแบบสอบถามด้านพื้นฐานบุคลิกภาพที่ซ่อนอยู่ในความเป็นผู้ประกอบการของผู้อพยพ พบว่า การตัดสินใจย้ายถิ่นฐานด้วยความสมัครใจไปเริ่มตั้งบริษัทนั้นสัมพันธ์กับความเสี่ยงในระดับสูง ผู้ประกอบการทุกประเภทต่างเผชิญกับโอกาสล้มเหลวในธุรกิจ
จากการศึกษาสตาร์ตอัปหลายประเทศในภาคี OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา – Organization for Economic Co-operation and Development) พบว่า มีธุรกิจมากกว่า 60% ที่รอดได้หลังผ่านปีที่ 3 และมีเพียง 40% เท่านั้นพาธุรกิจรอดผ่านปีที่ 7 โดยความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนั้นมาจากการว่างงานหรือทำงานในระดับต่ำอันเนื่องมาจากโรคหวาดกลัวชาวต่างชาติหรือคนแปลกหน้า (xenophobia) หรือผลจากความเจ็บปวดจากการถูกกระทบกระเทือนทางจิตใจ
Peter Vandor ตั้งสมมติฐานว่า คนที่มีความอดทนสูงต่อความเสี่ยงมักจะมองว่าการย้ายถิ่นฐานโดยสมัครใจและการเป็นผู้ประกอบการเป็นแนวทางที่เป็นไปได้มากกว่าคนทั่วไป ดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่จะเริ่มต้นธุรกิจได้อย่างแม่นยำเพราะพวกเขาไม่กลัวความเสี่ยง และกล้าออกไปต่างประเทศตั้งแต่แรก
โดยปีเตอร์ทดสอบสมมติฐานนี้ผ่านการเก็บข้อมูลระยะยาวในนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์และธุรกิจที่มหาวิทยาลัยในออสเตรีย 2 แห่ง เริ่มสำรวจในปี 2007 พบว่ามีนักศึกษา 1,300 คน ยินดีรับความเสี่ยงและวางแผนการอย่างเป็นรูปธรรมในการจะย้ายไปทำงานต่างประเทศและเริ่มต้นธุรกิจ 12 ปีต่อมา (ในปี 2019) ปีเตอร์ตามไปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพของคนกลุ่มเดิม พบว่าแผนเหล่านั้นกลายเป็นความจริง มากกว่า 1 ใน 4 ของอดีตนักศึกษาย้ายไปต่างประเทศ และ 29% กลายเป็นผู้ประกอบการ ในขณะที่ 19% ของผู้ไม่ย้ายถิ่นแต่ก็ยังได้เริ่มตั้งบริษัทหนึ่งแห่งหรือมากกว่านั้น และในบรรดาผู้ที่ย้ายถิ่นฐานแต่ได้กลับมายังออสเตรีย มีจำนวน 43% ที่เริ่มต้นธุรกิจในช่วง 12 ปีนั้น
และจากผลการวิจัยเพิ่มเติมที่จำกัดตัวแปรลงไปอีกในเรื่อง อายุ เพศ ประสบการณ์การเป็นผู้ประกอบการ และตัวแปรอื่นๆ ก็ยังชี้ให้เห็นถึงผลลัพธ์ของลักษณะบุคลิกภาพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จในฐานะผู้ประกอบการและในตลาดแรงงาน โดยข้อมูลแสดงว่าบุคคลที่มีแรงจูงใจในการที่จะตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย มีแนวโน้มที่จะย้ายถิ่นฐานมากกว่าคนอื่นๆ และวางแผนที่จะเป็นผู้ประกอบการในบางช่วงของชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ
เจ้าของกิจการที่กล้าเสี่ยง มีนัยโดยตรงต่อนักลงทุน
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้ร่วมทุนบางราย เช่น Unshackled Ventures และ OneWay Ventures ได้จัดตั้งกองทุนที่ทำงานเฉพาะกับกิจการร่วมทุนที่ก่อตั้งหรือร่วมก่อตั้งโดยผู้ประกอบการที่เป็นผู้อพยพ นอกจากการสนับสนุนตั้งแต่เริ่มต้นแล้วยังปรับบริการให้เหมาะกับความต้องการของผู้ก่อตั้งชาวต่างชาติเหล่านี้ด้วย อาทิ การขอวีซ่าและการให้คำแนะนำด้านกฎหมาย โดยให้เหตุผลว่าผู้ก่อตั้งที่เป็นผู้อพยพมีความได้เปรียบในการแข่งขันเมื่อต้องสร้างกิจการที่มีผลให้ทั่วโลกเข้าถึงได้
ส่วนในด้านนโยบาย ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการของผู้ย้ายถิ่นฐานมีมากกว่าผู้ประกอบการระหว่างประเทศ (International Entrepreneurs) ซึ่งมักจะมีปัญหากับวีซ่าผู้ประกอบการและหน่วยงานส่งเสริมการลงทุน ซึ่งตรงจุดนี้ นโยบายสาธารณะควรสนับสนุนผู้ประกอบการผู้อพยพที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ ด้วยการจัดหาเงินทุน การฝึกอบรม การเข้าถึงพื้นที่ทำงาน และช่วยแนะแนวทางในกระบวนการบริหารที่เกี่ยวข้องกับการเริ่มต้นธุรกิจ
การหลั่งไหลออกไปตั้งธุรกิจยังต่างประเทศมากมายนี้ ดูเหมือนว่าประเทศต้นทางของผู้อพยพอาจจะเกิดภาวะ “สมองไหล” แต่ก็อย่าลืมว่ายังไงก็ได้รับประโยชน์ผ่านการค้าและการส่งเงินกลับประเทศอยู่ดี โดยเฉพาะตัวเลขจากผลวิจัยก็ยังระบุว่า ผู้อพยพที่กลับมายังประเทศต้นทางก็ยังเป็นกลายเป็นกลุ่มผู้ประกอบการมากที่สุด ซึ่งก็น่าจะมาจากการได้รับประสบการณ์และโอกาสจากการตั้งธุรกิจในต่างประเทศ แถมยังได้เปรียบเมื่อกลับมาดำเนินธุรกิจในสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย อย่างเช่น โครงการสาธารณะที่ประสบความสำเร็จในจีน เซเนกัล เม็กซิโก และฟิลิปปินส์ แสดงให้เห็นว่าประเทศต้นกำเนิดก็ได้ใช้ศักยภาพสูงของนักธุรกิจกลุ่มนี้ให้บรรลุเป้าหมาย