ทำไม Jeff Bezos จึงเชื่อใน ‘Rule of Writing’

ในสมัยโบราณ การเขียนถือเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังจนถึงขั้นเปลี่ยนโลก และนำพาวิทยาการกับความก้าวหน้ามาสู่มนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นบันทึกการเดินทางจนพบโลกใหม่ คำสอนที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งเกิดความหวังกำลังใจ ปรัชญาอันลุ่มลึก เรื่องเล่าที่น่าสะพรึงกลัว สิ่งประดิษฐ์ชวนโลกตะลึง บันทึกประวัติศาสตร์ที่ชวนให้บรรดาผู้รู้วิพากษ์วิจารณ์ ไปจนถึงสุนทรพจน์ชั้นยอดที่ปลุกใจคนทั้งชาติให้ลุกขึ้นสู้กับความอยุติธรรมก็เกิดขึ้นจากการเขียน

ในโลกปัจจุบันการเขียนก็ยังคงเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังเช่นกัน เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบจากการเขียนด้วยกระดาษ ปากกา ดินสอเท่าที่หาได้ มาเป็นสรรพอุปกรณ์ไฮเทคที่ต้องมีติดตัวคนละเครื่อง เพียงแค่มีความคิดอะไรแล่นเข้ามาในหัว รู้สึกโกรธใคร พอใจกับสิ่งไหน ก็แค่หยิบมือถือหรือไอแพดขึ้นมา แล้วป่าวประกาศสิ่งที่ตนคิดหรือรู้สึกให้โลกรู้ได้ทันที โดยมีบรรดาแอพลิเคชันพร้อมเป็นตัวกลาง ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ Twitter 

ถ้าใครถ่ายภาพเก่งหน่อย ก็อาจอวดรูปสวยๆ ลง Instagram พร้อมใส่คำบรรยายภาพชวนหัวเราะหรือขอยืมคำกล่าวของคนดังที่แสนคมจนตัดกระดาษขาดได้มาประกอบ ถ้าใครมีไอเดียเจ๋งๆ ก็อาจจดไว้ในแอพลิเคชันประเภทโน้ตจดบันทึกไว้ก่อน ไม่ต้องเสียแรงหรือพื้นที่ในกระเป๋าพกสมุดจดให้วุ่นวาย

คงเป็นเรื่องที่ดีหากทุกสิ่งที่เราบอกให้โลกหรือคนใกล้ตัวรู้เป็นสิ่งที่ให้แรงบันดาลใจหรือกระตุ้นให้ผู้คนลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อตัวเองหรือสังคม แต่หลายครั้งแค่คำพูดเพียงไม่กี่ประโยคอาจนำไปสู่ความขัดแย้งและหลายรายต้องจบสิ้นมิตรภาพที่เคยมีให้กันมาแล้ว

แต่นั่นเป็นเรื่องของการระบายความรู้สึก

สำหรับหลายคน การเขียนอาจเป็นเรื่องยาก เพราะในโลกที่เต็มไปด้วยความรวดเร็วของโซเชียลมีเดียมีส่วนทำให้คนถนัดการคุยหรือการพิมพ์แบบไม่เป็นทางการมากกว่า เช่น การส่งสติกเกอร์ คำย่อหรืออีโมจิ บางคนพิมพ์ผิดๆ ถูกๆ ใช้คำลงท้ายผิดก็มี พอต้องมาเขียนในเชิงทางการหรือธุรกิจ ก็ไม่รู้จะเขียนขึ้นต้นหรือลงท้ายอย่างไร

โดยเฉพาะกับการทำงานและการเรียนต่อในระดับสูง การตั้งสมาธิเพื่อเขียนบรรยายความคิดหรือไอเดียเพื่อสร้างโปรเจ็กต์ขึ้นมาสักอย่างหนึ่งกลายเป็นของแสลงไปเลย กว่าจะตั้งโจทย์ ค้นคว้า ตั้งสมมติฐาน ไปจนถึงพิมพ์ออกมาเป็นรายงานหรือข้อเสนอโครงการ ก็แทบหมดพลัง นี่ยังไม่นับว่าที่ปรึกษา เพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายจะเห็นด้วยอีกนะ

เรื่องทำนองนี้จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป ถ้าเราลองพิจารณาแนวทางของ Jeff Bezos ผู้เป็นเจ้าของบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาและของโลกในเรื่องการเขียนเมื่อทำงานในออฟฟิศ โดยเขาบอกว่าสิ่งนี้ คือ “กฎแห่งการเขียน” หรือ Rule of Writing

Bezos บอกว่าก่อนที่จะเข้าประชุมเพื่อนำเสนอความคิดหรือโครงการอะไร ให้ลองเขียนออกมาเป็นเรื่องเป็นราวสัก 6 หน้าเสียก่อน และควรใช้เวลาในการเขียนสัก 1 สัปดาห์

แล้วต้องใช้เวลามากถึง 1 สัปดาห์เพื่อเขียนเรื่องที่จะพูดคุยเรื่องโครงการในที่ประชุมเหรอ ?

ประเด็นมันอยู่ตรงนี้ครับ กฎแห่งการเขียนของ Bezos นั้นง่ายมาก นั่นคือ หากคุณต้องการทำให้ความคิดของคุณชัดเจน จำสิ่งที่สำคัญหรือสื่อสารให้ดีขึ้น จงเขียนลงไป

นั่นหมายความว่า การเขียนของ Bezos ไม่ใช่เพียงแค่เขียนหรือจดส่งๆ ลงไป แต่เป็นการค่อยๆ คิดจนกว่าจะตกผลึกก่อนจะร่ายลงไปเป็นตัวอักษรนั่นเอง

การคิดนี่แหละครับเป็นกระบวนการที่สำคัญที่สุดในกฎการเขียนของ Bezos เพราะเมื่อถึงเวลาประชุม เขาและทีมงานจะใช้เวลาเงียบๆ ในห้องประชุม 20 นาทีเพื่อดูบันทึกที่ต่างคนต่างจดมา จากนั้นจะดูว่าต้องแก้ไข เพิ่มเติมสิ่งใดหรือไม่ เพราะ Bezos เชื่อว่าบันทึกที่ดีมันต้องมีการเขียน แก้ไขและเขียนใหม่ด้วยไอเดียที่สดใหม่อยู่เสมอ

บางคนอาจเจอปัญหาในที่ประชุม เช่น เมื่อถามคำถามหรือขอความเห็นจากเพื่อนร่วมงาน กลายเป็นว่าไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรหรืออธิบายไม่ได้ว่าจะหมายถึงสิ่งใด แต่การค่อยๆ พิจารณาสิ่งที่จดมาก่อนเริ่มการประชุม อาจทำให้พนักงานรู้ว่าคำถามไหนไม่จำเป็นต้องถาม สิ่งใดที่ควรพูดถึงมากที่สุดและบางคำถามพนักงานอาจหาคำตอบได้เองโดยไม่ต้องขอความเห็น

นอกจากนี้ การเขียนยังทำให้เกิดความเข้าใจด้วยตนเองได้อีกด้วย เพราะการเขียนอย่างละเอียดหรือน่าสนใจนั้นจำเป็นต้องคิดแล้วค่อยๆ เขียนออกมาอย่างช้าๆ จึงจะได้ใจความทั้งหมด 

สุดท้าย Bezos เชื่อว่ากฎแห่งการเขียนจะช่วยทำให้พนักงานสื่อสารกันได้ดีขึ้น จากสิ่งที่พนักงานเขียนหรือจดลงไป บางครั้งอาจนำเสนอออกมาได้ดีกว่าเดิมเมื่อทำการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงด้วยความคิดที่สดใหม่หลังจากที่อ่านทวนซ้ำแล้ว ซึ่งอาจทำให้พนักงานเข้าใจในสิ่งที่ต้องการสื่อสารมากขึ้น และอาจทำให้พนักงานสามารถรู้ได้ด้วยว่าพวกเขาจะเจอคำถามแบบไหนจากเพื่อนร่วมงาน

พอมาถึงจุดนี้ หลายคนอาจมีคำถามว่า ตนไม่ได้ทำงานในตำแหน่งที่มีความสำคัญอะไรมากมาย ไม่จำเป็นต้องนำเสนอโครงการ ไม่ต้องเข้าประชุมระดับใหญ่ หรือแม้กระทั่งไม่ได้ทำงานในบริษัทเอเจนซี่โฆษณาบนโลกโซเชียลมีเดียเสียด้วยซ้ำ แถมบางบริษัทอาจเร่งให้พนักงานทำงานจนไม่มีเวลามานั่งไตร่ตรองได้แบบ Bezos หรอก จะเอาสกิลการเขียนเหล่านี้ไปทำไมกัน

แม้ Bezos อาจไม่ได้พูดถึงการนำกฎแห่งการเขียนไปใช้ในชีวิตประจำวันมากมายนัก แต่หากพิจารณาสิ่งที่ Bezos กล่าวถึงให้ละเอียด จุดประสงค์ของเขาก็คงอยู่ที่เราต้องคุมจังหวะการทำงานของตัวเองให้ช้าลงเพื่อทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนั่งลงในความเงียบ 20 นาทีก่อนเริ่มประชุมจริงหรือแม้กระทั่งอ่านสิ่งที่ตนจดลงไปแล้วแก้ไขอีกรอบเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด โดยมีการเขียนนี่แหละเป็นแกนกลาง

หากเราประยุกต์หลักการดังกล่าวมาใช้ ก็จะพบว่ากฎแห่งการเขียน ไม่ได้มีความจำเป็นต่องานประจำแต่เพียงอย่างเดียว แต่อาจมีความหมายต่ออนาคตของเราได้เลย

ลองนึกดูว่า ในโลกที่ถูกฉาบไปด้วยความรวดเร็ว ความฉาบฉวยและเรื่องจริงบ้าง ไม่จริงบ้างในโซเชียลมีเดีย ทำให้มนุษย์ยุคปัจจุบันกลายเป็นคนที่พร้อมตัดสินทุกอย่างด้วยเสี้ยวของความจริง และต้องการได้รับการตอบสนองโดยฉับไวแบบไม่ต้องรอ (Instant Gratification) พร้อมที่จะระบายทุกอารมณ์ให้เป็นสเตตัสเรียกไลก์ประจำวัน บางคนถึงขั้นพอให้มาเขียนด้วยปากกาหรือดินสอลงสมุด หรือแม้แต่ค่อยๆ จดลงโปรแกรมโน้ตในมือถือ มือขยับไม่ทันสมองก็มี กฎแห่งการเขียนของ Bezos มีส่วนช่วยให้เราค่อยๆ พิจารณาความคิดของเราเอง ไม่ด่วนตัดสินว่าผิดหรือถูก ไม่จำเป็นต้องให้ใครรู้ในทันที ตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออก แล้วแก้ไขหรือปรับปรุงให้ดีขึ้น

และแน่นอนว่า พอเรากลับมาดูทีหลัง บางคำพูดอาจไม่จำเป็นต้องได้รับการป่าวประกาศหรือตั้งให้เป็นประเด็นเสมอไป

นอกจากนี้ การค่อยๆ คิด ค่อยๆ เขียน อาจทำให้เราเห็นประเด็นที่อยากจะสื่อจริงๆ ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากต่อการเขียนที่เป็นทางการ เช่น จดหมายสมัครงาน การขอทุนเรียนต่อหรือแม้กระทั่งเป็นนักเขียนรับงานอิสระที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเรา

Austin Kleon ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Steal Like an Artist หรือ ขโมยให้ได้อย่างศิลปิน เผยหนึ่งในวิธีที่เขาสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมา คือ เขาจะแยกห้องทำงานออกเป็นส่วนดิจิทัลและแอนะล็อก กล่าวคือ เขาจะร่างผลงานคร่าวๆ ด้วยกระดาษ ปากกา ดินสอและอุปกรณ์ที่มีอยู่รอบตัวขึ้นมาก่อน (แอนะล็อก) เมื่อเสร็จแล้ว เขาจึงจะทำให้มันเป็นจริงด้วยคอมพิวเตอร์ (ดิจิทัล) เขาเชื่อว่าการทำแบบนี้จึงจะได้ผลงานที่ดี เพราะคนเราไม่ควรอยู่แต่เพียงหน้าจอคอมพิวเตอร์แต่เพียงอย่างเดียว และคอมพิวเตอร์ไม่ใช่เครื่องมือที่เหมาะสำหรับการสร้างสรรค์งานที่ดี โดยนัยหนึ่ง Kleon ต้องการบอกว่าให้เราใช้เวลาอย่างเต็มที่ในการคิดและวางแผน ก่อนที่จะรังสรรค์ออกมาเป็นรูปเป็นร่างนั่นเอง ซึ่งคล้ายกับกฎแห่งการเขียนของ Bezos ตรงที่เมื่อให้เวลากับการจดบันทึก มันจะช่วยให้เราเข้าใจความคิดของสิ่งที่จะทำมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

การเขียนไม่ควรเป็นเรื่องยาก เรื่องด่วนหรือเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิชาการหนักๆ เท่านั้น

แต่มันควรเป็นเรื่องที่ทำให้เราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นและสนุกกับชีวิตได้มากขึ้นด้วยครับ

อ้างอิง :

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้ด้านประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้เพื่อการโฆษณา

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า