ความท้าทายใหม่ระดับโลก เมื่อพนักงานไม่มีความสุขในที่ทำงาน

“… In short, in the precise situation that should have been the honorable hallmark of mankind, namely work, the worker was turned into a beast of burden.”

“กล่าวสั้นๆ งานควรจะเป็นเครื่องหมายรับรองที่มีเกียรติสำหรับมนุษยชาติ กลับทำให้มนุษย์กลายเป็นสัตว์บรรทุกสัมภาระไป”

คำพูดดังกล่าวมาจากหนังสือนิยายเรื่องโลกของโซฟี (Sophie’s World) ซึ่งกำลังอธิบายแนวคิดคอมมิวนิสต์ที่เริ่มก่อตัวขึ้นในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 19 อันเป็นช่วงเวลาที่ประเทศในทวีปยุโรปทำการปฏิวัติอุตสาหกรรม เกิดโรงงานเป็นจำนวนมากทั่วซีกโลกตะวันตก ส่งผลให้แรงงานและชางบ้านตาดำๆ หาชาวกินค่ำต้องทำงานเป็นจำนวนมากถึง 12 ชั่วโมงต่อวันเพียงเพื่อแลกเศษเงินเล็กๆ น้อยๆ กับสภาพร่างกายที่ชโลมไปด้วยฝุ่นจากถ่านหินและสารพิษ แต่บรรดานายทุนและเจ้าของโรงงานกลับร่ำรวยแบบไม่หยุด ขูดเลือดขูดเนื้อเหล่าแรงงานโดยไม่ต้องสนใจสวัสดิภาพ สุขภาพและความปลอดภัยใดๆ ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ความโหดร้ายและความเครียดขั้นสุดของการทำงานในช่วงสมัยศตวรรษที่ 19 จะผ่านพ้นไปแล้วเป็นร้อยปี มนุษยชาติกลับต้องพบกับความเครียดอยู่เรื่อยๆ 

ในโลกทุนนิยมสมัยใหม่ โดยเฉพาะในช่วงเวลาปัจจุบันที่นอกจากจะมีวิกฤตเศรษฐกิจให้พบเห็นอยู่ร่ำไป ยังได้รับการผสมโรงด้วยโรคระบาดที่ไม่เคยพบเจออย่างโควิด-19 อีก การทำงานอย่างมีความสุขจึงดูเป็นเรื่องห่างไกลความจริงเหลือเกิน แม้ว่าโลกของเราจะมีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับสูงกว่ายุคอุตสาหกรรมแล้วก็ตาม

และมันกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของมนุษยชาติจนกลายเป็นเรื่องที่พูดถึงกันในระดับโลก เช่น “การลาออกครั้งใหญ่” หรือ Great Resignation ที่มีการคาดคะเนกันว่าหลังจากโควิด-19 ผ่านพ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คนทั้งโลกจะย้ายงานกันเป็นว่าเล่น ผลสำรวจโดย Microsoft ระบุไว้ว่า ในปี 2021 41 เปอร์เซ็นต์ของ global workforce กำลังพิจารณาเรื่องการโบกมือลานายจ้างของพวกเขา 

แน่นอนว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นได้จากหลายเหตุผล ไม่วาจะเป็นการต้องอดทนทำงานในตำแหน่ง สถานที่และ บรรยากาศเดิมๆ เผลอๆ บางคนอาจพ่วงด้วยนิสัยนายจ้างที่ไม่แยแสแม้กระทั่งสุขภาพและความเสี่ยงของลูกจ้าง

หลายฝ่ายจึงมองไปที่บรรดานายจ้างที่อาจลืมสิ่งสำคัญอย่างความยืดหยุ่น พื้นที่ การสนับสนุนรวมไปถึงความเชื่อใจจากบริษัทที่ทำให้พนักงานอยู่ในองค์กรอย่างมีความสุขต่อไป หากเป็นเช่นนี้ จะเป็นนายจ้างเสียเองที่ไม่สามารถหาคนดีๆ มาทำงานได้

ความสุขที่น้อยลงของบรรดาพนักงานได้รับการตอกย้ำมากยิ่งขึ้น เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมจนถึงช่วงต้นเดือนกันยายน 2021 ผลสำรวจของ Gallup Poll ซึ่งเป็นโพลสำรวจวิจัยความเป็นไปในด้านต่างๆ ของสังคมอเมริกัน พบว่า จำนวนพนักงานที่มีความสุขกับบริษัทที่ตนทำงานอยู่มีเพียงแค่ 38 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเท่ากับจำนวนของพนักงานที่มีความสุขกับรายได้ที่ตนได้รับ นอกจากนี้ จำนวนคนที่เห็นว่าตนมีโอกาสเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งมีเพียงแค่ 42 เปอร์เซ็นต์ และพอใจกับประกันสุขภาพที่ได้รับแค่ 45 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

หากเจาะลึกลงไปถึงความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน จะพบว่าเหล่าคนผิวสี คนทำงานโรงงานและคนที่ไม่มีวุฒิปริญญาใดๆ เป็นกลุ่มที่มีความสุขน้อยลงมากที่สุดในแง่ของความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน แม้ว่าจะดีดตัวกลับขึ้นมาบ้างในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังถือว่าน้อยกว่าในช่วงปี 2019 หรือก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19

เมื่อมีด้านร้าย ก็ต้องลองมองด้านดีกันบ้าง แน่นอนว่าโควิด-19 คือปัจจัยสำคัญที่เชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่างเข้าด้วยกัน จากผลสำรวจพบว่า มีชาวอเมริกันมากถึง 72 เปอร์เซ็นต์ที่พึงพอใจกับความมั่นคงในตำแหน่งอาชีพการงานในระดับสูงสุด รวมไปถึงความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน มีเพียง 32 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่รู้สึกเครียดและกดดันกับการทำงาน ปัจจัยที่ทำให้ชาวอเมริกันเริ่มกลับมามีความสุขกับการทำงานกก็คือเรื่องของวัคซีนที่มีประสิทธิภาพนั่นเอง 

แต่ก็น่าคิดว่า หากไม่มีวัคซีนที่ดีมากเพียงพอ จะมีตัวเลขมากถึง 72 เปอร์เซ็นต์หรือไม่

อย่างไรก็ตาม โพลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่าตัวเลข 72 เปอร์เซ็นต์ดังกล่าวเป็นการดีดตัวขึ้นมาในช่วงหลังนี้เอง เพราะระหว่างที่มนุษยชาติกำลังเจอวิกฤตโรคระบาดนั้น มีชาวอเมริกันเพียงแค่ 65 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีความสุขกับการทำงาน ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา

เรื่องความเครียดในการทำงานกับชาวอเมริกันเป็นสิ่งที่คู่กันมาเสมอ Jim Harter หัวหน้าฝ่ายวิจัยเรื่องที่ทำงานของ Gallup เสนอก่อนหน้านี้ว่าชาวอเมริกันเป็นชนชาติที่ทำงานหนักและมีความเครียดมากที่สุดในโลก และแนวโน้มยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา (เป็นช่วงเวลาที่เกิดวิกฤต Subprime พอดี) เรื่องที่ Harter ให้ความสำคัญมากที่สุดก็เป็นเรื่องของไวรัส ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและการเงิน รวมไปถึงเรื่องอ่อนไหวอย่างเชื้อชาติก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน ลักษณะดังกล่าวสอดคล้องกับผลสำรวจเมื่อเดือนสิงหาคมถึงกันยายนที่ผ่านมาตรงที่กลุ่มคนผิวสีได้รับผลกระทบจากความปลอดภัยในที่ทำงานและจำนวนคนที่มองว่ามีโอกาสในการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งไม่ถึงครึ่ง

นอกจากนี้ เว็บไซต์ Stress.org ที่เป็นแหล่งข้อมูลรวบรวมด้านความเครียดจากที่ต่างๆ ยังเผยข้อมูลแยกย่อยลงไปอีกว่ามีชาวอเมริกันเพียงแค่ 43 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่คิดว่านายจ้างให้ความสำคัญกับ Work Life Balance หรือสมดุลชีวิตและการทำงาน และกลุ่มคนที่อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 30-49 ปีเป็นกลุ่มที่มีความเครียดมากที่สุด

บางคนอาจถามว่า แล้วมีทางแก้ปัญหาไหม ก็ต้องตอบว่า มีแน่นอน เพียงแต่ไม่ใช่แค่การเพิ่มเงินเดือนเท่านั้น Gallup Poll ชี้ว่า นายจ้างควรพิจารณาให้พนักงานคนนั้นฝึกฝนทำงานด้านอื่นเพิ่มเติมเพื่อให้พนักงานรู้สึกว่าเขาได้รับอะไรเพิ่มมากขึ้นจากงานที่ทำ นอกจากนี้ การจัดระเบียบวิธีการทำงานหรือไม่ก็กระบวนการทำงานใหม่เพื่อให้พนักงานทำงานได้ง่ายขึ้น สบายมากขึ้นก็มีส่วนช่วยให้ความเครียดลดลงได้เช่นกัน

นอกจากนี้ Visier ซึ่งเป็นบริษัททำโพลสำรวจข้อมูลด้านแรงงานยังบอกอีกด้วยว่าในปี 2020 มีชาวอเมริกันมากถึง 89 เปอร์เซ็นต์ที่รู้สึก burn out กับการทำงาน การเพิ่มวันลาพักร้อนไม่ใช่ทางออกที่ดีเสมอไป เพราะพนักงานที่พึงพอใจกับงานที่ทำก็มีความสุขกับจำนวนวันลาพักร้อนอยู่แล้ว ดังนั้น หากต้องการรับมือกับภาวะความเครียดหรือภาวะ burn out ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต Visier แนะนำว่าควรจัดกระบวนการทำงานหรือจัดโครงสร้างการทำงานใหม่เพื่อให้พนักงานรู้สึกว่างานไม่ได้หนักจนเกินไปจะดีกว่า

จะเห็นได้ว่า ปัญหาความเครียดจากงานโดยตรงและความโหดร้ายจากสภาพสังคมที่ผลักดันทำให้เกิดความเครียดมีอยู่ทุกยุคทุกสมัย และดูจะเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสมากยิ่งขึ้นในช่วงเวลาปัจจุบัน ต่อให้ประเทศนั้นๆ จะมีเศรษฐกิจที่ดีก็ตาม หรือเทคโนโลยีทันสมัยล้ำยุค ก็ไม่สามารถช่วยให้มนุษย์รอดพ้นจากภาวะความกดดันได้ แถมจะทำให้สถานการณ์บางอย่างแย่ลงไม่ต่างจากศตวรรษที่ 19 อีก

บางคนอาจแก้ปัญหาด้วยการลาพักร้อนยาวๆ แล้วกลับมาทำงานใหม่ได้ดีกว่าเดิม ในขณะที่หลายคนอาจเลือกหนทางที่คาดไม่ถึง แตกหักกับงานที่ทำและนายจ้างของตน แต่อีกหลายคนอาจเลือกทำสิ่งที่ดีกว่า อย่างเช่น การหางานใหม่ 

ไม่ว่าเราจะเลือกอย่างไร สิ่งที่เราทุกคนพอทำได้ คือ ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต่างต้องหาวิธีการทำงานร่วมกันเพื่อไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องยอมแพ้ต่องานที่อยู่ตรงหน้าเสียก่อน และร่วมมือร่วมใจฝ่าฟันปัญหาที่เกิดขึ้นไปให้ได้ โดยที่แต่ละฝ่ายต่างก็เห็นคุณค่าของกันและกันในฐานะมนุษย์คนทำงานที่เท่าเทียมกัน

เพราะชีวิตมนุษย์มีค่า เราจึงควรทำให้งานเป็นสิ่งที่มีเกียรติและมีคุณค่าเหมือนคนทำนะครับ

อ้างอิง:

https://bit.ly/3um3Vee

https://www.inc.com/marcel-schwantes/during-great-resignation-employers-are-forgetting-1-key-strategy-to-keep-their-people.html

https://news.gallup.com/poll/354593/workers-satisfaction-job-safety-rebounds.aspx

https://www.forbes.com/sites/lucianapaulise/2021/07/21/the-great-resignation-microsoft-predicts-41-attrition/?sh=4d59dbba2d4d

https://www.cnbc.com/2021/06/15/gallup-us-workers-are-among-the-most-stressed-in-the-world.html

www.stress.org

https://www.inc.com/rebecca-deczynski/gallup-employee-satisfaction-survey-job-stress.html

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้ด้านประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้เพื่อการโฆษณา

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save