ในยุคที่มีเรื่องร้ายชวนวิตกล้อมรอบตัวเรา ทั้งโควิด-19 ภัยสงคราม จนถึงภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ อาจมีบางครั้งที่เรารู้สึกสิ้นหวัง หรือรู้สึกว่าการมีความหวังเป็นเรื่องโลกสวยเกินไป
แต่ “ความหวัง” นั้นสำคัญสำหรับชีวิต ทั้งในมิติส่วนตัวและการทำงาน มีรายงานระบุว่า คนที่มีความหวังจะมีความพอใจในชีวิตสูงกว่าและอัตราการตายต่ำกว่า ความหวังยังเป็นคุณสมบัติสำคัญในตัวผู้นำที่เก่งกาจด้วย
และเพราะอย่างนั้น มันจึงเป็นสิ่งที่เราควรรักษาไว้
ข่าวดีคือ ถึงความหวังจะดูเป็นเรื่องนามธรรมจับต้องยาก แต่ที่จริง เรามีวิธีการเป็นรูปธรรมที่จะทำให้ชีวิตยังมีหวัง
ด้านล่างนี้คือ 3 ขั้นตอนเพื่อรักษาความหวังในใจ แม้ในวันที่โลกแสนจะมืดหม่นและไม่แน่นอน
1.จินตนาการถึงความหวังที่เป็นไปได้
ถ้าคุณไม่สามารถจินตนาการถึงอนาคตที่ดีกว่า ความหวังก็จะกลายเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และสิ่งที่เราจินตนาการนั้นก็จะส่งผลกระทบกับเราทั้งร่างกายและจิตใจ บรรดานักกีฬานั้นได้ประโยชน์จากการคิดถึงภาพที่ตัวเองเล่นกีฬาได้ดีอยู่เรื่อยๆ ในทางกลับกัน เมื่อเราคิดถึงอนาคตที่มืดหม่น มันก็ส่งผลร้ายกับเรา
เพราะฉะนั้น แทนที่จะยึดติดกับภาพอนาคตที่หดหู่ใจ ขอให้คุณลองจินตนาการถึงอนาคตที่เป็นไปได้
อย่างแรก เขียนอธิบายสิ่งที่คุณจินตนาการและความรู้สึกที่เกิดจากภาพอนาคตนั้น โดยเลือกภาพที่เฉพาะเจาะจง เช่น ปีหน้าฉันคงยังทำงานในห้องนอนต่อ แทนภาพกว้างอย่างปีหน้าฉันคงยังทำงานที่บ้าน เพราะภาพที่ลงรายละเอียดนั้นส่งผลต่อใจของเรา
อย่างที่ 2 จินตนาการว่าสิ่งต่างๆ ไปได้ดีในอีก 2 ปีข้างหน้า และให้ตัวคุณเองในอนาคตตอนนั้น เขียนจดหมายถึงตัวคุณเองตอนนี้ โดยมีคำถามสำคัญคือ “ฉันจะอยู่ที่ไหนถ้าทุกอย่างไปได้ดี” โดยสิ่งที่คุณจินตนาการนั้นต้องเป็นเรื่องเชิงบวกที่เป็นไปได้จริง
อย่างที่ 3 จินตนาการว่าตัวคุณเองไปอยู่ในอนาคตที่ดีนั้นแบบชัดๆ ลองนึกว่าคุณจะคุยกับคนรอบตัวแบบไหน จะรู้สึกยังไง ผลวิจัยระบุไว้ว่า ยิ่งเราจินตนาการชัดเท่าไหร่ มันยิ่งส่งผลต่อสภาวะภายในเรามากขึ้นเท่านั้น
2.ระบุแผนขั้นถัดไปที่ดีที่สุด
จินตนาการทำให้ความหวังดูเป็นไปได้ แต่การวางแผนนี่แหละคือสิ่งที่จะทำให้มันเกิดขึ้นจริง
เมื่อ Peter Jensen โค้ชชื่อดังที่ทำงานกับนักกีฬาผู้ชนะโอลิมปิกส์มาแล้วมากกว่า 100 คน เริ่มทำงานกับนักกีฬาใหม่ เขาจะหยิบกระดาษเปล่าออกมา เขียนเป้าหมายของพวกเขาไว้ที่มุมขวาบน เช่น “ผ่านการคัดเลือกไปโอลิมปิกส์ 2024” แล้วเขียนสถานะปัจจุบันของพวกเขาไว้ที่มุมซ้ายล่าง เช่น “ที่ 5 ในการแข่งระดับชาติ” จากนั้น Jensen จะลากเส้นทแยงมุมจากมุมซ้ายล่างไปยังมุมขวาบน และร่วมวางแผนเส้นทางตามลำดับเวลากับนักกีฬาคนนั้น จุดสำคัญอย่างการเป็นแชมป์ระดับชาติจะมาก่อน หลังจากนั้น พวกเขาจะวางแผนย้อนกลับ ไล่ย้อนมาจนถึงจุดที่เป็นคำถามเรียบง่ายว่า “ขั้นตอนต่อไปที่ดีที่สุดคืออะไร”
คุณสามารถนำวิธีเดียวกันนี้มาใช้กับเส้นทางการงานและชีวิตได้ ด้วยการตอบคำถามว่า ทางที่จะไปสู่อนาคตที่คุณจินตนาการไว้คืออะไร หมุดหมายสำคัญคืออะไร และที่สำคัญที่สุด แผนขั้นถัดไปคืออะไร
ถ้าคุณนึกสเต็ปต่อไปของตัวเองไม่ออก ลองหาทางจากพื้นที่ที่เราน่าจะลงมือทำอะไรกับมันได้ด้านล่างนี้
พฤติกรรม-มีอะไรที่ฉันควรทำมากขึ้น น้อยลง หรือสม่ำเสมอกว่านี้ไหม?
ความสัมพันธ์-มีความสัมพันธ์ไหนที่ฉันควรสร้าง ทำให้แข็งแรงขึ้น หรือโยนทิ้งหรือเปล่า?
การเรียนรู้-มีทักษะหรือความสามารถอะไรที่ฉันควรลงทุนพัฒนาไหม?
ความเชื่อ-มีความเชื่ออะไรที่ฉันควรเชื่อหรือเลิกเชื่อหรือเปล่า?
3.มองความล้มเหลวเป็นจุดเปลี่ยน ไม่ใช่ความพ่ายแพ้
ในข้อสุดท้าย เราจะพูดถึงองค์ประกอบที่ทำให้ความหวังเป็นสิ่งที่ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ นั่นคือความสามารถในการยอมรับว่าเราควบคุมหรือทำนายอนาคตไม่ได้
แม้เราจะพยายามนึกภาพอนาคตให้ชัดเจนแค่ไหน หรือวางแผนไว้ดีเท่าไหร่ เมื่อสิ่งต่างๆ ผิดแผน ขอให้คุณฝึกความสามารถในการมองเห็นอุปสรรคเป็นจุดเปลี่ยนมากกว่าเป็นเหตุผลที่จะละทิ้งความหวัง
เมื่อเผชิญหน้าอุปสรรค ขอให้ถามตัวเองว่าสิ่งนี้จะกลายมาเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตคุณได้อย่างไร และอะไรที่คุณทำได้เพื่อเปลี่ยนความโชคร้ายให้กลายเป็นโชคดี อย่าลืมถามตัวเองด้วยว่าอะไรคือบทเรียนจากความโชคร้ายที่คุณจะเอาไปใช้ได้ในอนาคต แล้วหลังจากนั้น ให้ปล่อยแผนการเดิมที่คุณคิดไว้ และเริ่มต้นจินตนาการถึงอนาคตแบบใหม่
Shane Lopez นักวิทยาศาสตร์อาวุโสจาก Gallup เคยให้คำนิยาม “ความหวัง” ไว้ว่า ความเชื่อว่าอนาคตจะดีกว่าปัจจุบันได้ และเรามีพลังที่จะทำให้มันเป็นเช่นนั้น
เมื่อคุณสามารถจินตนาการถึงอนาคตที่ดีและเป็นไปได้ ระบุเส้นทางที่จะเดินไป และยอมรับได้ว่าสิ่งต่างๆ อาจไม่เป็นอย่างที่หวัง เมื่อนั้นคุณจะสามารถปลูกฝังความหวังที่ทั้งมีประโยชน์และยืดหยุ่นคงทนลงในหัวใจคุณเอง
อ้างอิง: