ในสถานการณ์ COVID-19 ที่ยาวนาน คุณคงเคยได้ยินเรื่องของ The Great Resignation หรือการที่พนักงานหลายล้านคนลาออกจากงาน เพราะต้องการมองหาสิ่งที่ดีกว่า หรือไม่ต้องการกลับไปทำงานที่ออฟฟิศอีกครั้ง
การลาออกครั้งใหญ่นี้สะท้อนให้เห็นว่า ออฟฟิศที่พนักงานต้องการนั้นอาจไม่ใช่ออฟฟิศที่มีอยู่ในทุกวันนี้ และหากอยากเก็บรักษาพนักงานเก่งๆ เอาไว้ ผู้นำองค์กรต้องมองหาวิธีดูแลพวกเขาอย่างถูกต้อง
จะทำอย่างไรไม่ให้พนักงานที่มีความสามารถเดินมาขอลาออก? ลองมาดูบทเรียนจาก The Great Resignation ที่น่านำมาปรับใช้กัน
1. สร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับองค์กร
ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งคือประสบการณ์ที่เราถูกมองเห็น รับฟัง และต้อนรับ ทุกคนล้วนอยากรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกันทั้งนั้น และความอยาก fit in นี้อาจนำไปสู่การปกปิกสิ่งที่เราคิดว่าต่างจากคนอื่น
งานหลักของผู้นำคือ การทำให้แน่ใจว่าทุกคนในทีมทำงานได้เต็มความสามารถ ซึ่งนี่หมายถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งโดยไม่ต้องแอบซ่อนความเป็นตัวเอง เมื่อพนักงานสามารถเป็นตัวของตัวเองในที่ทำงาน พวกเขาจะไม่เพียงแต่ทำงานได้อย่างดีที่สุด แต่ยังรู้สึกผูกพันกับองค์กรและเพื่อนร่วมงานมากขึ้นด้วย
2. ปรับตัวตามสถานการณ์
ผู้คนกำลังเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบาก ตั้งแต่ความไม่มั่นคงทางการเงินจนถึงความเหนื่อยล้าจากการประชุมทางไกล เพระอย่างนั้น มันจึงสำคัญมากที่คุณจะตระหนักว่าเป้าหมายและมาตรฐานที่เคยตั้งไว้อาจใช้ไม่ได้จริงในตอนนี้
คุณควรหยุดกดดันผู้คนที่กำลังลำบากอยู่ และหันมามองชีวิตของทีมงานแล้วคิดว่าจะช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างไร เราต้องเว้นที่ว่างไว้ให้พนักงานได้มีโอกาสเป็นมนุษย์ พวกเขาไม่ใช่เครื่องจักรที่จะสร้างผลงานได้ไม่ว่าในสถานการณ์ไหนก็ตาม
3. สร้างวัฒนธรรม “ความใส่ใจ”
การเป็นผู้นำที่ดีไม่ใช่เรื่องผลของงาน ยอดขาย หรือจำนวนลูกค้าที่มากขึ้น การเป็นผู้นำที่ดีหมายถึงการใส่ใจผู้คน แน่นอนว่าผู้นำทุกคนจะบอกว่าตัวเองใส่ใจลูกน้อง แต่การใส่ใจที่แท้จริงเป็นเรื่องของการกระทำ ไม่ใช่แค่คำพูด
เมื่อพนักงานรู้สึกว่าพวกเขาสามารถเป็นตัวเองได้เต็มที่ในออฟฟิศ พวกเขาจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น พวกเขาจะรู้ว่ามันไม่เป็นไรที่จะเปิดเผยความกังวล จุดแข็งจุดอ่อน และไอเดียที่ส้างสรรค์ ซึ่งนี่คือสิ่งที่ผู้นำอย่างคุณต้องการ และนั่นคือเหตุผลที่ผู้นำต้องพยายามแสดงความใส่ใจออกมา สิ่งนี้จะทำให้พนักงานรู้ว่าหัวหน้าสนับสนุนและอยู่ข้างๆ พวกเขา และนั่นคือผู้นำรวมถึงองค์กรที่ผู้คนอยากทำงานด้วย
4. สื่อสารอย่างสม่ำเสมอ
ตั้งแต่สถานการณ์โควิด พนักงานของคุณอาจรู้สึกถึงความไม่แน่นอนและรู้สึกหวาดกลัว เราจึงควรสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ บอกข้อมูลที่รู้และแผนการเติบโตขององค์กร เมื่อคุณรับมือกับความท้าทายอย่างโปร่งใสและอ่อนน้อม คุณจะสร้างความเชื่อมั่นได้ และพนักงานจะรู้ว่าทุกคนเป็นทีมในเรือลำเดียวกัน
5. ไม่หยุดพัฒนาพนักงาน
แม้ในยุค new normal เราจะต้องทำงานกันแบบทางไกล แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการพัฒนาบุคลากรต้องหยุดชะงักไปด้วย คุณสามารถส่งเสริมการเรียนรู้ของพนักงานผ่านบทเรียนสั้นๆ แบบออนไลน์ที่มีความถี่มากกว่าปกติ รวมถึงใช้ gamification มาช่วยได้ อาจเรียกได้ว่าสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปเป็นโอกาสให้องค์กรสร้างสรรค์วิธีพัฒนาพนักงานแบบใหม่ๆ นั่นเอง
อ้างอิง :