เดือนที่ผ่านมา ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา (Fed) ได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น 0.5% เพื่อรับมือกับสถานการณ์เงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 20 ปี ทำให้ธุรกิจต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เป็นไปได้ว่าความต้องการของผู้บริโภคจะลดลง และอาจไปกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือ Recession ในอนาคต
ไม่ใช่แค่ปัญหาเงินเฟ้อ Jorge A. Guzman ผู้ช่วยศาสตราจารย์หลักสูตร MBA มหาวิทยาลัย Columbia เปิดเผยว่า มีสัญญาณมากมายที่บ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยระยะเริ่มต้นในสหรัฐฯ เช่น การปลดพนักงานจำนวนมากในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และมูลค่าของสกุลเงินคริปโตต่างๆ ที่หล่นฮวบในช่วงที่ผ่านมา
ธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กจึงต้องขยับตัวให้ทัน และพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง เพราะไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนั้น จะกินเวลานานถึง 6 เดือน หรือ 2 ปี
ถึงแม้นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารสหรัฐอเมริกา (ฺBofA) คาดว่าภาวะถดถอยน่าจะยังไม่เกิดขึ้นภายในปีนี้ แต่ธุรกิจควรเตรียมตัวเข้าสู่ช่วงที่เศรษฐกิจชะลอการเติบโต สถานการณ์โลกยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นสงครามในยูเครน มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมโรคโควิด-19 ในประเทศจีน และปัญหาซัพพลายเชนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก
และนี่คือ 5 ขั้นตอนพื้นฐานของการรับมือกับภาวะถดถอย ที่ธุรกิจควรทำ
1.ตรวจสอบการเงินอย่างละเอียด
ภาวะเงินเฟ้ออาจส่งผลให้อุปสงค์ของผู้บริโภคลดลง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยและบริการต่างๆ เจ้าของธุรกิจจึงต้องวางแผนการเงินให้รัดกุม ตรวจสอบค่าใช้จ่ายของแผนกต่างๆ อย่างละเอียด เช่น ฝ่ายบัญชี ประกัน การตลาด ต้นทุนเงินทุน
เมื่อไรก็ตามที่ธุรกิจประสบปัญหาความไม่มั่นคงทางการเงิน สิ่งแรกๆ ที่สามารถทำได้ก็คือ ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ด้วยการประเมินนโยบายของบริษัท และจำกัดงบประมาณให้ชัดเจน สมเหตุผล เช่น การเดินทาง ค่าใช้จ่ายทั่วไป และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ภายในออฟฟิศ
เจ้าของธุรกิจควรตรวจเช็กแผนการเงินในระยะยาวอย่างสม่ำเสมอ และคิดหากลยุทธ์ที่จะทำให้ธุรกิจอยู่ในตลาดที่มีอุปสงค์ลดลงได้ด้วย ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ความรอบคอบ เพื่อรับมือกับผลลัพธ์หลากหลายที่อาจจะเกิดขึ้นในภายหน้า
2.สำรองเงินสด
การเก็บเงินสดไว้ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย ธุรกิจอาจเจอปัญหาทางการเงินในช่วงเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่ธนาคารจะมีมาตารการสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น ดังนั้นควรจะจัดทำแผนสำหรับกองทุนฉุกเฉินในแผนการทำธุรกิจด้วย และแยกบัญชีออมทรัพย์ไว้ต่างหาก เพื่อให้เห็นค่าใช้จ่ายที่แท้จริง
3.รักษาระดับสินค้าคงคลังให้ต่ำ
การมีสินค้าพร้อมในสต็อกเป็นเรื่องที่ดี อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บรักษาสินค้ามีค่าใช้จ่าย และธุรกิจควรบริหารจัดการไม่ให้สินค้าเหลือตกค้างมากเกินไป ลองสำรวจคลังหรือโกดังเก็บสินค้าและคำนวณว่าคิดเป็นเงินสดเท่าไหร่ เงินก้อนนี้อาจเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินสดได้ยากในช่วงเศรษฐกิจถดถอย
ธุรกิจสามารถนำแนวคิดการบริหารองค์กรแบบ Lean มาใช้จัดการคลังสินค้า โดยคำนึงถึงคุณค่าในมุมมองของลูกค้า ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป วิธีนี้จะช่วยให้จัดสรรสต็อกได้ตรงกับตามความต้องการของลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
4.จัดการหนี้สิน
ธุรกิจที่มีปัญหาหนี้สิน ควรติดต่อขอความช่วยเหลือและคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการหนี้ การมีเงินสดเก็บไว้จะช่วยให้เราชำระหนี้ได้เร็วขึ้น เริ่มจากสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยสูงก่อน แล้วค่อยจัดการที่เหลือ ลองพิจารณาการกู้ยืมที่คิดอัตราดอกเบี่ยต่ำ พร้อมเงื่อนไขคืนเงินระยะยาว หรือโครงการช่วยเหลือธุรกิจของธนาคารหรือหน่วยงานต่างๆ ที่เหมาะสม
5.มองหาโอกาสที่คาดไม่ถึง
ลองตรวจสอบว่า รายได้หลักของธุรกิจมาจากลูกค้ากลุ่มใดบ้าง ที่มาของรายได้หลักของธุรกิจควรมีความหลากหลาย แทนที่จะขึ้นอยู่กับลูกค้าไม่กี่กลุ่ม เพื่อกระจายความเสี่ยงในช่วงเศรษฐกิจไม่สู้ดี หลังจากนั้นค่อยหาทางแตกไลน์ขยายธุรกิจเพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น
Jorge A. Guzman ผู้ช่วยศาสตราจารย์หลักสูตร MBA มหาวิทยาลัย Columbia ให้คำแนะนำว่า ในช่วงภาวะถดถอย ผู้คนจะให้ความสำคัญกับมูลค่า (Value) มากกว่า คุณภาพ (Quality) ธุรกิจที่สามารถมอบสินค้าและบริการให้กับผู้บริโภคในราคาที่ดีที่สุด มักจะเป็นฝ่ายชนะในการแข่งขัน
ขณะเดียวกันธุรกิจที่ฝ่าฟันช่วงภาวะถดถอยมาได้ อาจพลิกเป็นโอกาสใหญ่ให้ธุรกิจได้ยืนในตลาดเพื่อขยาย/เติบโตอย่างมหาศาลในภายหลัง เช่น การซื้อธุรกิจคู่แข่ง หรือผู้ผลิตสินค้า/บริการที่เกื้อหนุนกัน
อ้างอิง: