คุณคงได้ยินเรื่องการ productive มาเยอะ แต่จะรู้ได้ยังไงว่าตัวเอง productive ที่สุดตอนไหน? เพราะบางชั่วโมงคุณอาจทำงานและเรียนได้ดี แต่บางชั่วโมงพยายามจะทำอะไรสมองก็ไม่เอาด้วย
วันนี้ TUXSA เลยอยากชวนคุณมาหาเวลา Productive Hours ที่เหมาะกับตัวเอง ด้วยตาราง Finding Your Most Productive Hours ที่พิสูจน์แล้วว่าเวิร์กกัน!
ทำตาราง Finding Your Most Productive Hours
จากหนังสือเรื่อง A Life Of Productivity เขียนโดย Chris Bailey ได้เล่าเอาไว้ถึงการทดลองหลากหลายวิธีในการเพิ่ม Productivity รวมไปถึงการหาชั่วโมงทำงานที่รู้สึก Productive ที่สุด เขาแนะนำว่าวิธีที่ดีที่สุดที่จะรู้ว่าเรา Productive ช่วงไหนคือการทดลองกับตัวเองในเวลาเดิมทุกๆวัน โดยแต่ละชั่วโมงให้เรากำหนด 3 สิ่งที่ต้องบันทึก คือ Focus : จดจ่อได้ดีแค่ไหน , Energy : รู้สึกสดชื่นมีพลังไหม และ Motivation : รู้สึกตื่นตัวมากเพียงใด
โดยให้คะแนนตัวเองทุกๆชั่วโมง เช่น วันจันทร์ ช่วง 9.00 -10.00 น. ให้ 10 คะแนนสำหรับการโฟกัส 8 คะแนนสำหรับความสดชื่น และ 6 คะแนนสำหรับความตื่นตัว และทำอย่างนี้ไปทุกวันต่อสัปดาห์ ในส่วนของการให้คะแนนนั้น ก็ไม่ควรต้องคิดมากจนใช้เวลานานเกินไป ใช้เวลาแค่ไม่เกิน 30 วินาทีในการให้คะแนนตัวเองทุกชั่วโมง โดยอาจเป็นตัวเลขแรกที่ผุดขึ้นมาในใจ เพราะนั่นคือตัวเลขที่ถูกต้องแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาคิดนาน
บันทึกและให้คะแนนตัวเองเช่นนี้เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ หรืออาจจะมากกว่านั้นก็ได้ เพราะยิ่งเก็บข้อมูลตัวเองมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเห็นแนวโน้มของตัวเราเองชัดเจนขึ้นเท่านั้น คุณจะรู้ว่าเวลาไหนร่างกายต้องการพักผ่อน เวลาไหนมีพลังและความคิดสร้างสรรค์ เวลาไหนที่รู้สึกกระปี้กระเปร่าและตื่นตัวสุดๆ และวันไหนที่อาจไม่เหมาะกับการทำงานเลย ก็จะสามารถแยกประเภทการทำงานที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลาได้ดียิ่งขึ้น เช่น งานที่ต้องใช้สมาธิมากๆ อาจจัดไว้ทำช่วงเช้าของวันจันทร์- พุธ งานที่ต้องวิเคราะห์จัดไว้ทำในช่วงบ่ายของวันพุธ- พฤหัส และวันศุกร์อาจเป็นวันสำหรับพักผ่อน หรือแบ่งเวลาทำงานล่วงหน้าที่ไม่ต้องใช้พลังงานมาก
ด้วยวิธีนี้นอกจากจะทำให้คุณรู้จักตัวเองดีขึ้น รู้ว่าคุณเหมาะกับการทำงานเวลาใดบ้างแล้ว ยังทำให้แต่ละวันไม่น่าเบื่อ เพราะเราจะตื่นเต้นไปกับผลลัพธ์ที่แตกต่างที่เกิดขึ้นกับตัวเองในทุกๆวัน
ดาวน์โหลดตาราง Finding Your Most Productive Hours ได้ที่นี่
บันทึกเวลาทำงานทุกวันเพื่อให้รู้ว่าเวลาไหนดีที่สุด
อยากรู้ว่าแต่ละวันเราโฟกัสและเรียนหรือทำงานได้ดีที่สุดช่วงไหน หรือพลังงานน่าจะ Drop ลงไปเมื่อไหร่ วิธีที่จะรู้ได้ดีและละเอียดที่สุดก็คือ จดบันทึกว่าเราทำงานตอนไหนและพักตอนไหนบ้างนั่นเอง
โดยการสร้างตารางเพื่อให้บันทึกได้ง่ายๆ ที่สามารถทำได้ทั้งในรูปแบบของสมุดบันทึกหรือโปรแกรม Excel ที่มีฟังก์ชั่นเพิ่มคอมเมนต์ในแต่ละส่วนได้อย่างเป็นระเบียบ เช่น โน้ตสั้นๆ ว่าวันนี้ทำงานอะไรไปแล้วบ้าง ทำไปเมื่อไหร่ ใช้เวลานานแค่ไหน และพักตอนไหน มีงานอะไรที่ทำเสร็จเรียบร้อยแล้วเพื่อให้รู้ว่าช่วงเวลาไหนที่เราโฟกัสงานได้ดีที่สุด
นอกจากนี้บันทึกการพักเบรคก็เป็นสิ่งสำคัญ อาจบันทึกเพิ่มเติมว่า พักไปทำอะไร เช่น ดื่มกาแฟ นั่งสมาธิ หรือคุยกับเพื่อนคลายเครียด ทั้งหมดนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่เราจะได้สำรวจตัวเองว่าจังหวะการทำงานของเรานั้นดีที่สุดตอนไหน และการพักแบบไหนที่ช่วยกระตุ้นให้เรากลับมาโฟกัสกับงานได้ดีขึ้น โดยตัวเลขเวลาที่ระบุไว้จะบอกว่าเวลาไหนคือเวลาที่ดีที่สุดของเรา และคอมเมนต์หรือโน้ตเพิ่มเติมเป็นการบอกว่าเราควรจะทำอะไรในช่วงเวลานั้นๆ
สำรวจพฤติกรรมตัวเองอย่างลึกซึ้ง
นอกจากการรู้จักตัวเองว่าทำงานได้ดีที่สุดเมื่อไหร่และควรพักตอนไหนแล้ว ก็ควรสำรวจตัวเองในทุกแง่มุม เช่น สภาพร่างกายและสภาพแวดล้อม ว่าเราสามารถทำงานได้ดีที่สุดที่ไหน เพราะสิ่งแวดล้อมส่งผลต่อการทำงาน หากเลือกสถานที่ทำงานไม่เหมาะสม ก็อาจโดนรบกวนทั้งจากเสียงรอบข้างที่ทำให้เราต้องต่อสู้ทั้งกับสิ่งเร้าภายนอกและสิ่งเร้าภายในคือสมาธิที่ไม่จดจ่อเพิ่มขึ้นอีกด้วย
สำรวจตัวเองควบคู่ไปกับการบันทึกเวลาที่ทำงาน เพื่อให้รู้ว่าควรทำงานเวลาไหนดีที่สุด นอกจากได้ใช้เวลาที่มีให้คุ้มค่าแล้ว ก็จะได้รู้ว่างานแต่ละอย่าง ต้องการอะไรจากเรา เพื่อทีจะแบ่งประเภทงานและเผื่อเวลาเอาไว้ทำงานยากๆ หรือกิจกรรมที่ต้องใช้เวลาทำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจำกัดเวลาส่วนนี้เอาไว้ไม่ให้ถูกรบกวนด้วยงานแทรกหรือกิจกรรมอื่นๆที่อาจรบกวนงานหลักของเราได้
เรียนรู้ที่จะทำงานให้ถูกเวลา
การทำงานให้ถูกเวลาบางครั้งก็มาจากการฟังเสียงสัญญาณจากร่างกายเราเอง หากร่างกายเริ่มรู้สึกเหนื่อยล้า ไม่โฟกัส และจดจ่ออะไรนานๆไม่ได้ นั่นก็คือสัญญาณที่บอกว่าไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมสำหรับการทำงาน ก็ไม่ควรฝืนทำต่อไป เพราะคุณอาจใช้เวลานานเกินกว่าที่จะปรับร่างกายและสมองให้โฟกัสกับงานตรงหน้า สัญญาณเหล่านี้อาจบอกให้เราหยุดพักสักครู่เพื่อ Recharge ตัวเองให้กลับมามีพลังและโฟกัสได้อีกครั้ง ทำงานต่อเนื่องได้ดีขึ้น รู้สึกสนุกกับงานที่ทำมากขึ้น และงานออกมามีประสิทธิภาพโดยไม่จำเป็นต้องใช้เวลาทำนานๆอีกด้วย
หากเราได้ทำงานในเวลาที่ถูกต้อง เราคงไม่ต้องเสียเวลามานั่งทำใจนานๆ เพื่อทำงานให้เสร็จด้วยใจที่ไม่เป็นสุข แต่เราอาจใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงก็ทำงานให้เสร็จได้ แถมผลลัพธ์ก็ออกมาดีเยี่ยมอีกด้วย เราจะได้ลงทุนในเวลาและพลังงานอย่างถูกที่ถูกเวลา และเพิ่มคุณค่าให้งานมากยิ่งขึ้น
อ้างอิง :