เมื่อพนักงานเติบโต ทำงานได้ดี องค์กรก็ก้าวหน้า แต่เราจะพาพนักงานแต่ละคนก้าวไปด้วยจังหวะที่เหมาะกับตัวเองได้อย่างไร
วันนี้ TUXSA มีวิธีการดูแลคนทำงานตามขั้นตอนการเรียนรู้ หรือ “The S Curve of Learning” มาแชร์กัน แต่ละจุดเป็นอย่างไร และเราควรดูแลพนักงานที่อยู่ตรงจุดนั้นแบบไหน มาดูกันเลย
The S Curve of Learning คืออะไร
The S Curve of Learning เส้นโค้งซึ่งอธิบายเส้นทางที่พนักงานจะต้องผ่านเมื่อเริ่มงานใหม่แต่ละงาน การเข้าใจขั้นตอนการเรียนรู้นี้ทั้งช่วยให้คนทำงานก้าวไปตาม career path ได้ดี และช่วยให้องค์กรตัดสินใจดูแลคนทำงานได้ดีขึ้น
3 จุดดูแลพนักงานบน The S Curve of Learning
01 พนักงานที่เพิ่งเริ่มเรียนรู้งานใหม่
จุดแรกคือจุดที่พนักงานเพิ่งเรียนรู้งานใหม่ พวกเขาอาจกังวลใจเพราะรู้ว่ามีความคาดหวังสูงขึ้น ไม่แน่ใจว่าควรทำอย่างไร และถ้าบทบาทใหม่อาจเป็นการทำงานที่โดดเดี่ยวกว่าเดิม
วิธีดูแล
- ให้ลองเรียนรู้แบบไม่มีความเสี่ยง
การให้แค่คำอธิบายขอบเขตความรับผิดชอบนั้นไม่เพียงพอ เราควรให้พนักงานที่เพิ่งก้าวสู่เส้นทางใหม่ได้ลองเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่สร้างประสบการณ์แบบไม่มีความเสี่ยง เช่น การเวิร์กชอป
- ปรับวิธีคิด
การปรับบทบาทหรือก้าวขึ้นตำแหน่งใหม่นั้นไม่ได้แค่ต้องการแค่ทักษะที่พัฒนาขึ้น แต่ยังต้องการ mindset ที่เปลี่ยนไปด้วย องค์กรจึงควรดูแลให้พนักงานรู้ว่าควรคิดและมองเรื่องต่างๆ อย่างไร ผ่านกิจกรรมอย่างการพูดคุยแลกแบบกลุ่มเล็กกับคนระดับเดียวกัน
- คุยกับพนักงานว่าอะไรต้องพัฒนา อะไรต้องเลิกทำ
อีกวิธีดูแลที่จะช่วยให้พนักงานเริ่มต้นงานใหม่อย่างราบรื่นคือ การคุยตัวต่อตัวแบบจริงใจกับพนักงาน ว่าทักษะไหนที่ต้องพัฒนา และอะไรที่ต้องละทิ้งไว้ข้างหลัง
02 พนักงานที่อยู่ในขาขึ้น
จุดที่ 2 คือจุดที่พนักงานทำงานใหม่นั้นมาได้ระยะหนึ่งจนเริ่มมั่นใจและทำงานได้ดี แต่แน่นอนว่ายังมีอีกบางจุดที่ต้องการพัฒนา และยังมีโอกาสสำหรับพนักงานในการแสดงศักยภาพที่โดดเด่นในอนาคต
วิธีดูแล
- ให้ความช่วยเหลือเมื่อต้องการ
องค์กรช่วยพนักงานได้ด้วยการเตรียมเครื่องมือเรียนรู้ไว้ให้พวกเขาใช้เมื่อต้องการ
- สนับสนุนการเรียนรู้แบบไม่เป็นทางการ
นอกจากเครื่องมือสำหรับเรียนรู้แบบทางตรงแล้ว องค์กรยังสามารถดูแลพนักงานด้วยการสนับสนุนการเรียนรู้ทางอ้อม ด้วยการให้ผู้ดูแลและเพื่อนร่วมงานมาช่วยสนับสนุนพวกเขา เช่น การสร้างแพลตฟอร์มให้คนทำงานในบทบาทเดียวกันและผู้เชี่ยวชาญได้มาพบปะพูดคุยกัน
- ช่วยให้เขาเห็นภาพตัวเองแบบที่อยากเป็นในตำแหน่งนี้
พนักงานในจุดนี้ไม่ได้แค่พยายามทำงานให้สำเร็จ แต่พวกเขามีประสบการณ์มากพอที่จะตัดสินใจว่าจะนำจุดแข็งของตัวเองมาใช้กับงานอย่างไร องค์กรสามารถช่วยพวกเขาได้ ด้วยการสนับสนุนให้เกิดการทบทวนตัวเองด้วยเครื่องมือต่างๆ และการประชุมแลกเปลี่ยน
03 พนักงานที่กำลังจะไปสู่งานอื่น
จุดสุดท้ายคือ จุดที่พนักงานทำงานในตำแหน่งนั้นมายาวนาน และกำลังจะก้าวไปสู่บทบาทใหม่ หรือไปสู่ S Curve of Learning เส้นใหม่นั่นเอง
วิธีดูแล
- เตรียมความพร้อมพนักงานมาก่อน ด้วยการพัฒนาความสามารถที่เขาต้องใช้ในอนาคต
มีหลายครั้งที่องค์กรทำผิดพลาดเพราะมาดูแลพนักงานตอนพวกเขาผ่านจุดนี้ไปแล้ว หรือไม่มาดูแลเลย ซึ่งทำให้พนักงานไม่อาจก้าวต่อไปได้อย่างสวยงามแบบที่ควรจะเป็น ซึ่งที่จริงแล้ว สิ่งที่องค์กรควรทำคือดูแลพวกเขามาอย่างต่อเนื่องในทุกระยะบน S Curve of Learning โดยหนึ่งในวิธีการคือ ช่วยพนักงานพัฒนาทักษะความสามารถที่พวกเขาจะต้องใช้ในอนาคต
ทั้งหมดนี้คือการดูแลพนักงานให้เติบโตได้สวยงามในทุกจุดของการทำงาน ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ไม่ว่าเราจะเป็นพนักงาน หรือเป็นคนที่ดูแลพวกเขา
และสำหรับใครที่อยากพัฒนาตัวเองเพื่อเป็นคนทำงานและผู้นำที่ก้าวทันอนาคต ดูรายละเอียด TUXSA ปริญญาโทออนไลน์จากธรรมศาสตร์และ SkillLane ได้ที่นี่
อ้างอิง:
hbr.org และ mckinsey.com