เวลาเลยผ่านมาอีก 1 ปีแล้ว ทำยังไงเราถึงจะใช้เวลาในปีใหม่นี้และปีอื่นๆ ที่เหลืออยู่ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด? วันนี้ TUXSA มี 10 วิธีใช้เวลาชีวิตอย่างคุ้มค่าจากหนังสือ Four Thousand Weeks: Time Management for Mortals มาแชร์กัน 10 วิธีที่ว่านี้มีอะไรบ้าง มาดูกันเลย!
10 วิธีใช้เวลาชีวิตให้คุ้มค่า จากหนังสือ Four Thousand Weeks: Time Management for Mortals
1.จำกัดปริมาณงานใน to-do list
เพราะบางทีสิ่งที่เราอยากทำอาจมีเยอะมากจนไม่สามารถทำได้ทั้งหมด และบางเรื่องก็อาจจะทำไม่ได้เพราะข้อจำกัดบางอย่าง ลองลิสต์สิ่งที่คุณแน่ใจว่าอยากทำจริงๆ โดยเรียงลำดับเรื่องที่สำคัญที่สุดก่อน วางแผนและกำหนดระยะเวลาที่จะทำ ในลักษณะของ To-do-lists โดยให้ทำออกมา 2 แบบคือ หนึ่ง แบบที่เป็น Goal หรือภาพรวมใหญ่ของสิ่งที่ตั้งใจจะทำให้สำเร็จในชีวิตหรือที่อยากพิชิตให้ได้ และสอง คือลิสต์สิ่งที่ต้องโฟกัสในช่วงนี้ รายการสิ่งที่ต้องทำรายวันหรือรายสัปดาห์
สิ่งที่สำคัญก็คือ การกำหนดเวลาคร่าวๆ ถึงสิ่งที่คุณจะทำเพื่อแบ่งพื้นที่ให้กับการตั้งใจทำโดยไม่มีรายการอื่นๆ เข้ามารบกวนให้ทำไม่เสร็จ เช่น คุณอาจจะแบ่งเวลา 3 ชั่วโมงในแต่ละวันสำหรับการเขียนหนังสือโดยไม่มีสิ่งใดรบกวน และเมื่อครบกำหนด 3 ชั่วโมงแล้วจึงจะทำรายการอื่นต่อได้
2.ทำงานใหญ่ทีละอย่าง
สอดคล้องจากข้อที่แล้ว เมื่อรู้จำนวนเวลาที่ชัดเจนแล้วว่าจะใช้ไปกับอะไร ก็จัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่จะทำ แต่สิ่งสำคัญก็คือ ควรโฟกัสที่หนึ่งอย่างและทำให้เสร็จ เพราะการโฟกัสที่หนึ่งอย่างนั้นมักจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการทำหลายอย่างพร้อมกันแบบ Multitasking ที่นอกจากจะทำให้เราเสียสมาธิ เครียดและกดดันแล้ว ผลลัพธ์ยังออกมาแย่กว่าอีกด้วย
หลายคนเมื่อทำงานหลายอย่างพร้อมกัน อาจรู้สึกว่างานเสร็จไวกว่าและรู้สึกท้าทายตัวเองที่สามารถทำได้ แต่การทำทีละอย่างโดยเรียงลำดับความสำคัญจะช่วยให้มีสมาธิที่สูงขึ้นในระยะยาวและชีวิตที่เป็นระบบมากขึ้นอย่างชัดเจน
3.เลือก “ความล้มเหลว” ล่วงหน้า
เป็นเรื่องปกติที่เราอาจทำอะไรไม่สำเร็จบ้างหรือทำไม่ได้ตามแผนที่วางไว้ เพราะเราเป็นมนุษย์ที่มีเวลาและพลังงานจำกัด และเราก็ไม่สามารถควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างได้ ดังนั้นการเตรียมความพร้อมล่วงหน้า วางแผนรับมือกับความผิดหวัง ก็ช่วยให้เราเตรียมใจและเผื่อเวลาได้ดีขึ้น
ยกตัวอย่าง คุณอาจลองคิดเผื่อไว้ก่อนล่วงหน้าว่าคุณจะไม่มีสมาธิทำงานมากนัก หากมีเพื่อนหรือคนในครอบครับมาเยี่ยมคุณที่บ้านในวันรุ่งขึ้น ดังนั้นคุณจึงทำงานให้เสร็จก่อนสักครึ่งหนึ่งเพื่อจะได้ไม่กดดันตัวเองหรือต้องมาทำงานท่ามกลางสิ่งรบกวนที่ทำให้คุณทำงานไม่ได้อยู่ดี วิธีการนี้ก็คือ การเตรียมความพร้อมล่วงหน้า ทำสิ่งที่สมเหตุสมผลเพื่อไม่ต้องเครียดและวิตกกังวลในอนาคต
4.อย่าโฟกัสแค่งานที่เหลืออยู่ โฟกัสงานที่ทำสำเร็จด้วย
หากสิ่งที่ต้องทำยังเหลืออยู่อีกเยอะมาก จนทำให้รู้สึกท้อแท้ว่ายังทำอะไรไม่เสร็จสักอย่าง วิธีที่แนะนำก็คือ แทนที่จะขีดฆ่าทีละรายการที่ยังทำไม่เสร็จ ให้นำแต่ละรายการที่ทำเสร็จแล้วออกมา แล้วเติมไปทีละข้อเมื่อคุณทำอะไรเสร็จไปแล้วบ้างในวันนั้น วิธีนี้เป็นการให้กำลังใจตัวเองว่าไม่ต้องทำทุกอย่างให้อัดแน่นกันภายในวันเดียวก็ได้ เพราะอาจมีรายการสำหรับการพักและไม่ทำอะไรเลย ที่เป็นสิ่งที่คุณทำได้เสร็จไปอีกหนึ่งอย่างแล้ว
5.เลือกสิ่งที่จะใส่ใจ
ทุกวันนี้มีอุปกรณ์และเทคโนโลยีมากมายที่ทำให้เราต้องรู้สึกสนใจมันมากเกินไป ซึ่งบางครั้งมันอาจเป็นเรื่องไกลตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรา และทำให้เราไม่ได้สนใจสิ่งที่สำคัญจริงๆ อย่างเช่น สิ่งรอบตัวของเราเอง ไม่ว่าจะเป็น การทำกิจกรรมเพื่อสังคม การช่วยเหลือคนอื่น การใส่ใจคนรอบตัวมากขึ้น หรือใช้เวลาอยู่กับตัวเองเพื่อทำสิ่งที่สนใจจริงๆ หากคุณแบ่งเวลามาใส่ใจสิ่งรอบตัวอย่างลึกซึ้ง ย่อมช่วยให้คุณไม่รู้สึก Burn Out อย่างแน่นอน เพราะไม่ได้จดจ่อหรือหมกมุ่นอยู่กับงานตลอดเวลานั่นเอง
6.ตัด digital distractions เน้นใช้เทคโนโลยีที่มีจุดประสงค์เดียว
Social Media อาจเป็นเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้มนุษย์เราสมาธิสั้นลงและมันเรียกร้องให้เราต้องสนใจมันอยู่ตลอดเวลา จนกระทบการโฟกัสกับการใช้ชีวิตของเราเอง เช่น การต้องเลื่อนนิวฟีดเป็นสิ่งแรกเมื่อตื่นนอนและนอนหลับ หรือเช็คแจ้งเตือนทุกครั้งเมื่อมีเด้งขึ้นมา พฤติกรรมแบบนี้หมายความว่า Social Media มีอำนาจมากจนทำให้เราต้องเสียเวลาไปอย่างมากมาย
แต่เราสามารถสู้กับมันได้ ด้วยการทำให้ Social Media นั้นน่าเบื่อมากขึ้น เหมือนการทำกิจกรรมหนึ่งที่ไม่น่าดึงดูดใจ และลบแอพพลิเคชั่นที่กระตุ้นให้คุณอยากรู้ตลอดเวลาอย่าง Email, Facebook, Instagram เปลี่ยนมาใช้แอพพลิเคชั่นที่ทำได้หน้าที่เดียว อย่าง แอพวาดรูป หรือแอพอ่านหนังสือ ที่ทำให้คุณไม่ต้องสนใจและโฟกัสอะไรหลายๆอย่างมากเกินไป
7.มองหาสิ่งใหม่ๆ ในชีวิตปกติ
หากเปรียบเทียบช่วงเวลาที่คุณเป็นเด็กกับตอนเป็นผู้ใหญ่ คุณอาจรู้สึกว่าเวลาในตอนนั้นดูยาวนานและพิเศษมาก เพราะตอนเป็นเด็ก เราใช้เวลาอย่างมีความหมาย เราไม่มีสิ่งที่ต้องทำเป็นจริงเป็นจัง เราแค่สนุกกับการใช้ชีวิตและตื่นเต้นกับทุกเหตุการณ์
แต่ถึงแม้ว่าคุณจะโตขึ้นจนเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะใช้ทุกช่วงเวลาให้เป็นเวลาที่พิเศษไม่ได้ เพราะแค่การไม่ต้องนึกถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง หรือสิ่งที่ผ่านไปแล้ว นึกถึงแค่เวลาในปัจจุบันและสังเกตสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นตอนนี้ ก็เป็นสิ่งที่พิเศษมากแล้ว คุณอาจลองเดินทางคนเดียวโดยไม่ต้องวางแผน มันก็สร้างความตื่นเต้นและทำให้ค้นพบความสุขที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญได้
8.ลองเปลี่ยนการพยายามควบคุมคนรอบตัวเป็น “สนใจ” ในตัวพวกเขา
เมื่อเจอกับช่วงเวลาที่ท้าทายหรือน่าเบื่อในความสัมพันธ์ ลองพยายามสนใจเกี่ยวกับคนที่อยู่ตรงหน้ามากกว่าพยายามควบคุมพวกเขา เพราะการควบคุมคาดหวังนั้นจะทำให้คุณต้องท้อแท้ผิดหวังบ่อยครั้ง
9.อยากช่วยใคร ช่วยเลย
เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณรู้สึกดีกับคนอื่น ให้ส่งต่อความรู้สึกนั้นให้คนอื่นทันที อย่าพยายามเก็บไว้หรือปฏิเสธใจของตัวเอง หรือตั้งคำถามว่าคนคนนั้นคู่ควรกับการรู้สึกดีด้วยหรือเปล่า แค่รู้สึกดีก็เป็นสิ่งที่พิเศษมากพอที่คุณจะมอบให้คนอื่นได้แล้ว และเมื่อไหร่ที่คุณรู้สึกดีกับตัวเอง ให้เก็บเกี่ยวช่วงเวลานั้นไว้ ใจดีกับตัวเองและหล่อเลี้ยงความรู้สึกนั้นให้อยู่กับคุณไปนานๆ
10. ฝึก “ไม่ทำอะไรเลย”
การไม่ทำอะไรเลยไม่ใช่การทำตัวว่างโดยไม่สนใจสิ่งใด แต่คือการปล่อยให้สิ่งต่างๆ เป็นไปอย่างที่มันเป็น โดยที่ไม่ต้องไปควบคุมอะไร และสิ่งอื่นๆ คนอื่นๆ ก็ไม่ได้มาควบคุมเราเช่นกัน การไม่ทำอะไรเลยคือการมีสติอยู่กับปัจจุบัน อย่างเช่น การนั่งสมาธิ หรือตั้งเวลา 5-10 นาทีที่จะไม่ทำและไม่คิดอะไรเลย เพียงแค่หายใจ และปล่อยให้ความคิดที่เข้ามานั้นไหลผ่านไป
ทั้งหมดนี้ 10 วิธีที่จะช่วยให้คุณใช้เวลาชีวิตได้อย่างคุ้มค่า และสำหรับใครที่อยากใช้เวลาชีวิตพัฒนาทักษะตัวเองเพื่อรับมืออนาคต ดูรายละเอียดของ TUXSA ป.โทออนไลน์โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ SkillLane ได้ที่นี่
อ้างอิง: ideas.ted.com