บางทีที่งานดีหรือชีวิตที่ productive จริงๆ อาจไม่ได้หมายความว่าเราต้องวิ่งให้เร็วที่สุดเสมอไป
วันนี้ TUXSA มีขบวนการที่เรียกว่า Slow Productivity มาแนะนำ รายละเอียดของสิ่งนี้คืออะไร มาเรียนรู้ไปพร้อมกันได้เลย!
Slow Productivity ทำงานในปริมาณที่พอเหมาะแต่ทำงานได้ดีขึ้น
หลักการของ Slow Productivity คือการคิดต่างถึงความหมายในการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ที่ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบผลิตผลงาน แต่ทำงานให้ช้าลงสักนิด มีเวลาคิดให้มากขึ้นสักหน่อย และทำงานตามจังหวะที่เหมาะสมของตัวเอง คุณอาจได้งานที่สร้างสรรค์มากขึ้น คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและความเครียดที่น้อยลง โดยลองถามตัวเองสามข้อนี้:
- คุณสร้างผลงานได้ดีที่สุดในสภาพแวดล้อมแบบใด?
- แนวทางการทำงานแบบไหนที่คุณคิดว่าจะสร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืน (ลองเปรียบเทียบเป็นการวิ่งมาราธอนเทียบกับการวิ่งระยะสั้น)
- คุณกำลังทำงานประเภทไหนอยู่ เป็นงานที่ต้องใช้ความไวหรือความคิด?
หากคุณรู้ว่าตัวเองเหมาะกับการทำงานในสภาพแวดล้อมแบบไหน รูปแบบการทำงานแบบใดและต้องใช้ความว่องไวในการทำงานหรือความคิด คุณจะรู้จังหวะการทำงานของตัวเองมากขึ้น ปรับแผนการทำงานให้เหมาะกับตัวเองให้ไม่ตึงจนเกินไปและอาจได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
จากบทสัมภาษณ์เรื่อง Slow productivity โดย Tim Ferriss ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The 4-Hour Workweek และ Cal Newport ผู้เขียนหนังสือ Deep Work ได้ให้คำนิยาม Slow Productivity ไว้น่าสนใจ เขาบอกว่ามันคือ “ การปรับ timeframe ใหม่ จากการคิดแบบรายวันเป็นรายเดือนหรือรายปี”
เช่น จากปกติที่คุณต้องวางแผนวันต่อวันว่าวันนี้จะต้องทำรายการอะไรบ้าง หรือมีลิสต์อะไรที่ต้องทำให้เสร็จภายในสัปดาห์นี้บ้าง ให้เปลี่ยนเป็นการมองเกมในระยะยาวว่าจะทำงานอะไรที่จะสร้างประโยชน์ได้มากที่สุดภายในหนึ่งปีหรือห้าปีแทน
เคล็ดลับการฝึก Slow Productivity
ทำไมเราต้องฝึก Slow Productivity?
เพราะจากผลสำรวจในปีที่ผ่านมาพบว่า 89% ของคนทำงานออฟฟิศรู้สึก Burnout โดยมี 40% บอกว่าพวกเขาตัดสินใจผิดพลาดเพราะสิ่งรบกวนทางดิจิทัล และ 90% รู้สึกว่าความเครียดจากการทำงานส่งผลต่อชีวิตส่วนตัว นอกจากนี้ยังรู้สึกว่าการทำงานเร็วเกินไปส่งผลกระทบในระยะยาว ไม่เพียงแต่ต่อประสิทธิภาพของงานเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจด้วย
อ้างอิงจากหนังสือเรื่อง Thinking, Fast and Slow โดย Daniel Kahneman เกี่ยวกับการคิดแบบ Slow Productivity เขาได้พูดถึงความคิดสองระบบที่ขับเคลื่อนวิธีคิดของคนเรา โดยระบบที่หนึ่ง คือการตอบสนองทางอารมณ์ที่รวดเร็วและง่ายดาย เช่น การตัดสินใจโดยใช้สัญชาตญาณ และระบบที่สอง คือการคิดที่ช้ากว่า รอบคอบกว่าและมีเหตุผลมากกว่า เช่น การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์
เขาบอกว่า จากแรงกดดันด้านเวลาและสภาพสังคมการทำงานในปัจจุบัน ส่งผลให้มีสิ่งล่อใจให้เราต้องคิดแบบระบบที่หนึ่ง คือคิดให้เร็วและง่ายเข้าไว้ ซึ่งผลจากการคิดแบบนี้ทำให้เราต้องทำงานแข่งกับเวลาและปริมาณงานที่เพิ่มมากขึ้น แต่บ่อยครั้งที่ความแม่นยำและคุณภาพของงานกลับลดลง รวมถึงความสุขของเราที่น้อยลงไปด้วยเช่นกัน
และเพื่อไม่ให้เราเหนื่อยล้าไปมากกว่านี้ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องถอยกลับมาตั้งหลักสักพัก ทุ่มเทเวลาและความสนใจให้กับตัวเองมากขึ้น ด้วยหลักคิดแบบ Slow Productivity ทั้ง 4 เทคนิคนี้ มาดูกันเลย!
1.อนุญาตให้ตัวเองใช้ชีวิตช้าลงบ้าง
เพราะการใช้ชีวิตแบบเร็วๆ ทำให้เรามุ่งไปที่ผลลัพธ์สุดท้ายอย่างเดียวจนไม่ได้สนใจระหว่างทาง ทำให้เรามีปริมาณงานที่เยอะขึ้น แต่สวนทางกับคุณภาพชีวิตที่แย่ลง การทำงานเสร็จไวอาจทำให้คุณรู้สึกดีได้ในระยะสั้น แต่การทำงานช้าลงสักนิดแต่ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นนั้นทำให้คุณมีความสุขในระยะยาว ลองให้เวลาตัวเองได้พักบ้างในหนึ่งวัน ไม่ว่าจะพักสัก 5 นาทีหรือ 50 นาทีก็ตาม สมองและร่างกายของคุณจะขอบคุณที่คุณให้โอกาสได้ใช้ชีวิตที่ช้าลง
2.หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่จะทำให้เสียสมาธิ
จากข้อมูลผลสำรวจที่บอกว่ามี 80% ของคนทำงานออฟฟิศเห็นด้วยว่ากว่า 40% ของสาเหตุอาการ Burnout นั้นมาจากสิ่งรบกวนทางดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นแจ้งเตือนอีเมล Notifucation จากแอปพลิเคชันต่างๆ หรือข้อความแชทจากเพื่อนร่วมงาน
ให้คุณหาเวลาพักจากสิ่งรบกวนที่ทำให้เสียสมาธิเหล่านี้ เพื่อไม่ให้ตัวเองจมปลักอยู่ในวังวนของความฟุ้งซ่าน โดยอาจตั้งเวลาที่จะตอบกลับข้อความหรือเช็คอีเมลโดยเฉพาะ แล้วในเวลาอื่นให้ตั้งค่าโทรศัพท์อยู่ในในโหมด Focus หรือ Deep Work บอกให้เพื่อนร่วมงานรับทราบว่าคุณกำลังจดจ่อกับงานอยู่และจะกลับมาตอบพวกเขาอีกครั้งในภายหลัง
3.เตรียมรับมือกับความรู้สึกไม่คุ้นชิน
หากคุณกำลังอยู่ในขั้นของการปรับตัวเองให้ใช้ชีวิตแบบ Slow Productivity อยู่ แรกเริ่มคุณจะรู้สึกแปลกและไม่คุ้นชิน และอาจรู้สึกว่าตัวเองใช้ชีวิตช้ามากในขณะที่สิ่งรอบข้างเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว คำแนะนำคือ ให้คุณรู้สึกกับความรู้สึกแปลกและไม่คุ้นชินนี้ สังเกตว่ามีอะไรที่คุณรู้สึกเปลี่ยนไปบ้าง แล้วให้บันทึกเกี่ยวกับสิ่งที่คุณได้ค้นพบ คุณจะประหลาดใจในระหว่างทางของประสบการณ์นี้ และมันอาจต้องใช้เวลาในการปรับตัวสักนิดเพื่อที่จะให้ความคิดของคุณคุ้นชินกับโลกใบใหม่
4.หันเหความสนใจไปสู่สิ่งที่ช้าลง
Slow Productivity ไม่ได้หมายถึงการเว้นระยะห่างและผลักตัวเองออกจากสังคม แต่คือการกลับมาโฟกัสกับตัวเองให้ได้คิดและใชัชีวิตอย่างอิสระขึ้น ได้ใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพไปกับสิ่งที่สนใจให้เกิดประโยชน์มากขึ้น นอกจากนี้ก็คือการพยายามหาสมดุลให้กับตัวเอง ได้ใช้ชีวิตอย่างสบายตัวโดยไม่ต้องไปขึ้นกับ Deadlines หรือ Productivity ที่มากเกินไป มันคือการสร้างพื้นที่ให้กับความคิด และอีกมุมหนึ่งก็เหมือนกับการเอาเวลาที่เสียไปกับสิ่งอื่นคืนมาให้กับตัวเอง
มีกิจกรรมมากมายที่ช่วยส่งเสริมให้ได้ใช้ชีวิตแบบ Slow Productivity ได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การหาเวลาออกไปเดินเล่น ปล่อยให้ตัวเองได้เดินช้าลง หาจังหวะการเดินที่เหมาะสมกับตัวเอง มีเวลาได้นั่งสมาธิดูลมหายใจเข้าออก อ่านหนังสือที่มีประโยชน์กระตุ้นความคิด และอีกมากมายที่ทำให้คุณได้พักจากโลกข้างนอกมาอยู่กับโลกข้างในของตัวคุณเอง
การฝึกใช้ชีวิต Slow Productivity ไม่เพียงแต่ดึงเอาศักยภาพสูงสุดของเราออกมาใช้เท่านั้น แต่ช่วยให้เราทำงานได้ฉลาดขึ้น รอบคอบมากขึ้นและทำงานที่มีความหมายต่อตัวเองมากขึ้น นอกจากนี้คุณยังรู้สึกว่ามีเวลากลับมาให้ตัวเอง ได้เชื่อมโยงตัวเองไปกับผู้คนที่มีคุณค่าและได้เป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดียิ่งขึ้น และสุดท้ายคุณอาจจะรู้สึกว่าการลดความเร็วลง ทำให้คุณไปถึงจุดหมายได้สนุกและเร็วกว่าที่คิดก็เป็นได้
และทั้งหมดนี้คือเรื่องของ Slow Productivity ขบวนการชวนคนเดินช้าลงเพื่อชีวิตและการทำงานที่ดีกว่าเดิม สำหรับใครที่อยากพัฒนาตัวเองให้เก่ง ก้าวให้ทันโลกยุคใหม่ ลองดูรายละเอียดหลักสูตรของ TUXSA ปริญญาโทโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ SkillLane ได้ที่นี่
อ้างอิง: forbes.com และ newyorker.com