ทำงานเป็นทีมยังไงก็ไม่รอด จะทำยังไงดี?!
วันนี้ TUXSA มี 5 ทักษะในการทำงานเป็นทีมให้เวิร์กมาฝากกัน ใครที่กำลังมีปัญหาในการทำงานกับทีม และไม่รู้ว่าจะพัฒนาทีมอย่างไร ลองอ่านและนำไปปรับใช้ได้เลย!
5 ทักษะต้องมีเพื่อทำงานเป็นทีมให้เวิร์ก
1. การฟังอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน
เป็นคำที่ดูเหมือนง่าย แต่ยาก เพราะมีผลการวิจัยที่บอกว่าแท้จริงแล้วเราไม่ใช่ผู้ฟังที่ดี แถมมักจะลืมหลังจากที่เราได้ยินมันอีกด้วย “การฟังอย่างตั้งใจ” จึงเป็นทักษะที่ต้องใช้การฝึกฝน โดยวิธีที่ดีที่สุดก็คือการใส่ความ “อ่อนน้อมถ่อมตน” เข้าไปในทุกการฟัง จะทำให้เราสามารถฟังและเรียนรู้กับสิ่งที่ได้ยินได้ โดยที่ไม่ใช้สมองไปกับการหาจังหวะที่ตัวเองจะได้พูดบ้าง และที่สำคัญ การฟังในเชิงรุก (Active listening) เป็นเครื่องมือในการสร้าง Productivity ได้ดีมาก เพราะเราจะได้ทั้งไอเดียดีๆ ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และยังทำให้ทีมมีความร่วมมือกันด้วย
2. การถามคำถามที่ดีและสะท้อนความอยากรู้อยากเห็น
ในฐานะผู้พูด ผู้พูดหลายคนมักจะชอบผู้ฟังที่ช่างถามเป็นพิเศษ เพราะจะรู้สึกว่าผู้ฟังคนนั้นมีความใส่ใจกับหัวข้อที่สนทนาอยู่ ดังนั้นการถามคำถามปลายเปิดที่สะท้อนความอยากรู้อยากเห็น อย่างเช่น “จะเป็นอย่างไรถ้า…” แทน “อะไร”, “มันสามารถเป็นแบบนี้ได้มั้ย” แทน “ใช่หรือไม่” คำถามปลายเปิดเหล่านี้อาจจะดูน่ากลัวสำหรับผู้ที่ถูกถาม แต่การข้ามผ่านความกลัวจากคำถามเหล่านี้นี่แหละ ที่ทำให้เราพัฒนายิ่งขึ้น
คำถามที่ดีจะช่วยให้เราได้สร้างไอเดียใหม่ๆ จากคำตอบเชิงลึกของผู้อื่น และยังเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้เคารพความคิดของผู้อื่นในทีมได้ด้วย
3. การท้าทายข้อสันนิษฐานที่คนยึดถือ
ในปี 1711 อเล็กซานเดอร์ โปป กวีชาวอังกฤษเคยกล่าวไว้ว่า “การเรียนรู้เพียงเล็กน้อย ก็เป็นสิ่งที่อันตราย” เหมือนกับทฤษฎี The Dunning-Kruger effect ที่กล่าวว่า “คนไร้ประสบการณ์ มักจะรู้สึกว่าตัวเองเก่ง แต่การเรียนรู้มากเกินไปก็เป็นอันตรายเช่นกัน” เพราะความเชี่ยวชาญเป็นสิ่งที่ทำให้เรายึดติดมากขึ้น ยิ่งรู้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งยึดติดกับความรู้โดยไม่เปิดใจรับฟังมุมมองด้านอื่นมากเท่านั้น
แต่สำหรับการพยายามเรียนรู้เพื่อท้าทาย หรือหักล้างข้อสันนิษฐานเก่าๆ ที่เราเคยยึดถือนั้นเป็นเรื่องที่ดี ! เพราะทำให้เราลดการ “รับฟังแต่สิ่งที่ยืนยันความเชื่อ” หรือ Confirmation bias ได้ นอกจากนี้ ยังทำให้เราได้ฝึกเปิดใจรับมุมมองของผู้อื่น และขยายการมองโลกให้กว้างขึ้น ไม่ยึดติดอยู่กับความเชื่อเดิมๆ
4. การโต้แย้งด้วยความเคารพและไม่ได้ทำไปเพราะอยากแก้เผ็ด
การเห็นต่างในที่ทำงานนั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้เราไม่มีความมั่นใจกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนเกินไป (Overconfidence) และลดการคิดตามกลุ่ม (Groupthink) ได้ การโต้แย้งกันและหาทางเลือกใหม่ๆ ช่วยเพิ่มผลลัพธ์และพัฒนาองค์กรในทางที่ดีขึ้น
แล้วทำไมการโต้แย้งถึงทำให้เราเป็นทีมเวิร์กได้มากขึ้นล่ะ ? ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การที่เราจะสามารถโต้แย้งกับใครก็ตามได้ ต้องมีความรู้สึกว่าคนๆ นั้นเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยก่อน และมีความสบายใจมากพอที่เราจะสามารถหยิบยกประเด็นยากๆ ขึ้นมาโดยที่รู้สึกว่าคนหรือทีมนั้นจะคอยช่วยเหลือเราได้ ยิ่งเรากล้าหยิบประเด็นมาถกเถียงกันเท่าไหร่ ความเป็นทีมก็ยิ่งพัฒนาขึ้นมากเท่านั้น
5. การขยายขอบเขตความเห็นอกเห็นใจ
“ความเห็นอกเห็นใจ” มักจะถูกนำมาใช้เพื่อแก้ไขนิสัยที่มีความอคติ แต่จริงๆ แล้ว “ความเห็นอกเห็นใจ” ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความอคติได้เช่นกัน
Robert Sapolsky นักประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มีการอธิบายว่า เมื่อคนที่อยู่ใน ”กลุ่มของเรา” ทำผิด เรามักจะตรวจสอบการกระทำของคนเหล่านี้ แต่ไม่ได้ตั้งคำถามกับนิสัยของพวกเขา ตรงกันข้ามกับเวลาที่คนใน “กลุ่มอื่น” ทำผิด เรากลับมองว่าเขาทำผิดเพราะนิสัยของเขาเป็นแบบนั้น
ในองค์กรที่มี Turnover rate สูงและมีคนหลากหลายกลุ่ม อคติเหล่านี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้และสร้างความเสียหายในการทำงานได้สูงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดและขัดขวางการทำงานของคนที่พวกเขารู้สึกว่าเป็น “กลุ่มอื่น” ทั้งตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ รู้ตัวและไม่รู้ตัว
อย่างไรก็ตาม หากอคตินั้นเกิดจากการที่เราไม่ได้รู้ตัว เรายังสามารถควบคุมอคตินั้นได้ด้วยการฝึกฝน โดยฝึกการรับฟังเพื่อนร่วมงาน และฝึกความอยากรู้อยากเห็นเมื่อเผชิญกับแนวคิดใหม่ๆ ก็จะทำให้ขอบเขตความเห็นอกเห็นใจของเราถูกขยายขึ้นได้ในที่สุด
และทั้งหมดนี้ก็คือทักษะในการทำงานเป็นทีมเวิร์กให้รอด และทั้งหมดนี้ก็คือทักษะในการทำงานเป็นทีมเวิร์กให้รอด สำหรับใครที่อยากพัฒนาตัวเองให้เก่ง ก้าวให้ทันโลกการทำงานยุคใหม่ ลองดูรายละเอียดหลักสูตรของ TUXSA ปริญญาโทโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ SkillLane ได้ที่นี่
อ้างอิง: forbes.com