สิ่งที่น่ากังวลกว่าการทำงานอย่างไรให้ ‘มีประสิทธิผล’ เวลา WFH คือการทำงานอย่างไรให้ ‘ไม่หมดไฟ’ ในระยะยาว เมื่อเวลางานตอนกลางวันถูกควบรวมเข้ากับเวลาพักผ่อนยาม วันทำงานและวันเสาร์-อาทิตย์เริ่มไม่แตกต่าง!
เส้นแบ่งระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวถูกเบลอด้วยการทำงานวิถีใหม่ที่เราไม่คุ้นเคย ทำให้มนุษย์ออฟฟิศต้องแสดงความขยัน ความซื่อสัตย์ และความ Productive มากกว่าเดิม และส่งผลให้รู้สึกว่าต้องทำงานตลอดเวลาทุกวัน
แม้แต่คนที่สร้างสมดุลให้กับชีวิตเก่งก็ตาม…
หลังจากที่ Harvard Business Review เห็นปัญหาเหล่านี้ จึงได้ศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องหลายชิ้น และสรุปเป็น 3 เทคนิคที่จะช่วยให้คุณไม่เจอกับภาวะ Burnout เมื่อต้อง WFH เป็นระยะเวลานาน
โดยลองนำไปปรับใช้ตามความเหมาะสมของตัวเองและวัฒนธรรมแต่องค์กรได้เลย
1. รักษากิจวัตรที่แยกบทบาทการทำงานออกจากชีวิตส่วนตัวไว้
งานวิจัยของ Blake Ashforth จากมหาวิทยาลัย Arizona State University ได้อธิบายว่า วิธีที่คนใช้ขีดเส้นชีวิตการทำงานออกจากชีวิตนอกเหนือจากงาน คือ การทำกิจกรรมที่เรียกว่า ‘Boundary-crossing’
เป็นการออกจากบทบาทหนึ่งเพื่อเข้าสู่บทบาทใหม่ ด้วยการก้าวข้ามขอบเขตของบทบาทนั้นๆ เช่น การเปลี่ยนจากชุดนอนเป็นชุดทำงาน หรือการเดินทางจากบ้านไปออฟฟิศ สิ่งเหล่านี้เป็นตัวบ่งชี้ว่าคุณกำลังจะเปลี่ยนจากโหมดอยู่บ้าน เข้าสู่โหมดทำงานแทน
ฉะนั้นพยายามรักษาขอบเขตต่อไป เมื่อต้อง WFH ให้แต่งตัวในชุดทำงานทุกวัน ปรับการเดินทางเป็นการเดินเท้าระยะสั้นๆ รอบบ้านก่อนเริ่มงาน เพื่อให้สมองคุณพร้อมทำงานอย่างเต็มที่
2. แสดงออกให้ชัดเจนว่าคุณจะใช้เวลาในหนึ่งวันที่บ้านอย่างไร
พนักงานหลายคนกำลังเจอกับความท้าทายในการทำงานที่บ้าน เพราะมีหน้าที่ชั่วคราวเกิดขึ้นทับซ้อนกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ต้องดูแลลูกหรือผู้สูงอายุไปด้วย ทำให้การทำงานตามเวลางานปกติ รวดเดียว 8 ชั่วโมง อาจไม่ได้ผลลัพธ์ดีเท่าที่ควร
จึงต้องหาช่วงเวลาที่ปราศจากสิ่งรบกวนที่เหมาะสมสำหรับตัวเราเองมากที่สุด และเคารพเวลางานของเพื่อนร่วมงานที่อาจเปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน
การแสดงขอบแขตการทำงานอย่างชัดเจนนั้น ทำให้ความสามารถในการประสานงานกันนั้นสำคัญขึ้นมาก คนที่เป็นหัวหน้าจึงต้องช่วยพนักงานในการปรับโครงสร้างการทำงานหรือ Workflow ให้เหมาะสมด้วยความเข้าใจ การตอกบัตรเข้างานออนไลน์หรือการเช็กผลงานเช้า-เย็น อาจจะต้องพักไว้ก่อน
3. โฟกัสงานที่สำคัญที่สุดเท่านั้น
บ่อยครั้งที่เวลาพนักงาน WFH จะรู้สึกเหมือนถูกบังคับให้แสดงความ Productive มากขึ้น แต่มันอาจนำไปสู่การทำงานเล็กๆ ที่ไม่ค่อยสำคัญเท่าไรนัก
มีหนึ่งงานวิจัยเคยประมาณการไว้ว่า พนักงานสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิผลโดยเฉลี่ยวันละ 3 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งในชั่วโมงเหล่านี้จะต้องไม่ถูกขัดจังหวะและไม่ทำหลายอย่างพร้อมกัน ซึ่งแม้แต่ตอนก่อนโควิด-19 เข้ามา การจดจ่อกับงานติดกันสามชั่วโมงก็เป็นเรื่องยากอยู่แล้ว ยิ่งงานและบ้านถูกรวมกันปนเปเช่นนี้ ทำให้การจัดลำดับความสำคัญในสิ่งที่ต้องทำ ณ ตอนนี้ ยากขึ้นไปอีก
ซึ่งพนักงานที่รู้สึกว่าตัวเองต้องตื่นตัวพร้อมทำงานตลอดเวลาเมื่อ WFH มีความเสี่ยงเรื่องการหมดไฟหรือ Burnout มากกว่าเวลาทำงานที่ออฟฟิศตามปกติด้วย