Blended Learning การเรียนรู้แบบผสมผสาน อีกหนึ่งวิธีเรียนรู้ใหม่ในศตวรรษที่ 21

blended-learning

คุณรู้จัก การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ อุตสาหกรรม 4.0 หรือไม่?

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ The Fourth Industrial Revolution (4IR) คือการที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตต่างปรับตัวไปสู่ระบบอัตโนมัติ (Automatic) และใช้เทคโนโลยี Internet of Thing (IOT) ควบคุมและพัฒนาระบบการผลิตและการตรวจสอบ และควบคุมการสื่อสารระหว่างเครื่องจักร (Matchine-to-Matchine) รวมถึงการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ควบคุมการผลิต ระบบคอมพิวเตอร์คลาวด์ (Cloud Computing) เทคโนโลยีไร้สาย 5G (Fifth-Generation Wireless Technologies) เพื่อการสื่อสารและเชื่อมต่อระบบ และบางอุตสาหกรรมอาจมีการใช้เทคโนโลยีนาโน (Nanotechnology) คอมพิวเตอร์ควอนตัม (Quantum Computing) เทคโนโลยีไบโอเทค (Biotechnology) การพิมพ์แบบสามมิติ (3D Printing) หรือเทคโนโลยีพาหนะไร้คนขับ (Fully Autonomous Vehicles) เข้ามาเป็นเทคโนโลยีหลัก

เทคโนโลยีเหล่านี้คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน และคาดว่าจะยิ่งพัฒนาต่อไปอย่างรวดเร็วในช่วงเวลา 10 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้นแรงงานที่จะสามารถทำงานในภาคอุตสาหกรรมของ 4IR ได้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีทักษะเฉพาะอีกหลายอย่างที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเทคดนโลยี

ซึ่งปัญหาต่อมาคือ การเตรียมทรัพยากรมนุษย์ให้พร้อมด้วยทักษะตามที่ต้องการเหล่านี้จะเป็นไปนลักษณะใด 

ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (Education 4.0)

ระบบการศึกษาแบบดั้งเดิมนั้นล้าสมัยแล้ว อย่างที่เห็นตัวอย่างได้ชัดเลยในช่วงที่ต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนอย่างกะทันหันด้วยเพราะผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 เพราะนักเรียนในภาคการศึกษาของปี 2020-2021 ต้องเจอกับการเรียนแบบ New Normal คือ การเรียนออนไลน์ ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับประเทศไทยแล้วยังลำบากด้วยเพราะการปรับตัวที่ยาก และไม่พร้อมของเทคโนโลยีในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการเรียนในระบบออนไลน์ 

ขณะเดียวกัน การอุบัติของ COVID-19 ก็กลายเป็นตัวเร่งให้ผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาด้านการศึกษาต้องกลับมาคิดว่า ถ้า New Normal ของการเรียนในศตวรรษที่ 21 ไม่จำกัดอยู่เพียงในห้องเรียนอีกต่อไปแล้ว ประกอบกับสิ่งที่รออยู่คือทักษะที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ต้องการ … ดังนั้นในด้านการศึกษา ควรจะปรับวิธีการเรียนการสอนกันไปอย่างไร?

Blended Learning การเรียนรู้แบบผสมผสาน

ในปี 2020 ระบบการศึกษาหลายประเทศกลายเป็นระบบดิจิทัลเกือบทั้งหมด ประกอบกับเมื่อเกิดวิกฤต COVID-19 นักเรียนบางคนอาจเลือกเรียนต่อในระบบการศึกษาออนไลน์แทนการไปโรงเรียน (เพราะไปไม่ได้) เสียเลยก็มี และเมื่อภาวะการระบาดของ COVID-19 ทำให้ระบบการศึกษาในห้องเรียนแบบเดิมนั้นกลายเป็นการเรียนผ่านระบบออนไลน์แทน แม้ว่าการเรียนในห้องจะเป็นสิ่งสำคัญที่ให้นักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์ รู้จักมีปฏิสัมพันธ์ ทำงานร่วมกัน จากการได้โต้ตอบกันและกันก็ตาม ซึ่งทั้งสองรูปแบบต่างสำคัญสำหรับผู้เรียนไม่น้อยไปกว่ากัน 

ในระบบการเรียนรู้นั้นยังมีวิธีการเรียนที่เรียกว่า Blended Learning (การเรียนรู้แบบผสมผสาน) ซึ่งเป็นตรงกลางของการศึกษาสองแบบเพื่อให้ได้ประโยชน์สองด้านพร้อมกัน เป็นวิธีการเรียนที่ผสมผสานระหว่างการเรียนทั้งในห้องเรียน และนอกห้องเรียนแบบ face-to-face ผ่านเทคโนโลยี ซึ่งมีการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าการเรียนรู้แบบผสมผสานเกิดประโยชน์แก่นักเรียนมากขึ้น เพราะสามารถเรียนรู้ได้ทั้งจากการเรียนรู้แบบตัวต่อตัว (In-person) และการเรียนเสมือนจริง (Virtual Learning) ผ่านเทคโนโลยี 

องค์ประกอบหลัก 5 ประการของการเรียนรู้แบบผสมผสาน

1. ไม่มีคาบเรียนแบบเดิม

การสร้างทักษะการเรียนแบบ New Normal จะต้องมีรูปแบบการเรียน Synchronous Learning และ Asynchronous Learning ทั้งสองอย่าง

การเรียนแบบ Synchronous Learning คือ การเรียนพร้อมกันตามเวลาที่ผู้สอนนัด แต่ผ่านระบบ Teleconference เช่น แพลตฟอร์ม Zoom, Google Meets, Webex ซึ่งเป็นการเรียนแบบที่เห็นหน้า สามารถซักถามโต้ตอบได้ แทนการเรียนในห้องเรียน และการเรียนแบบ Asynchronous Learning คือ การสอนที่ผู้สอนทำบทเรียนไว้ให้ผู้เรียนเลือกเข้าเรียนหรือศึกษาด้วยตัวเอง อาทิ ทำสื่อการสอนในรูปแบบเอกสาร หรือ vdo clip ที่บันทึกไว้บนระบบ Moodle ให้ผู้เรียนดาวน์โหลดไปศึกษาในช่วงเวลาที่สะดวก

2. เปิดกว้างในทรัพยากรที่ใช้เรียน

ซึ่งการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตยังคงเป็นปัญหาหลักของผู้เรียนบางกลุ่ม เพราะการศึกษาดิจิทัลที่จริงมีหลักการเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้โดยราคาไม่แพง เรียนซ้ำได้ และยังสามารถโต้ตอบกับผู้สอนได้ หรือเลือกศึกษาแบบส่วนตัวภายหลังก็ได้ ดังนั้นปัจจัยสำคัญของการเรียนแบบผสมผสานให้สัมฤทธิ์ผลคือการทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงคลังทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด (Open Educational Resources: OER) ได้ไม่จำกัด 

OER คือ สื่อการเรียนที่สามารถดาวน์โหลดได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งจะลดช่องว่างในการเข้าถึงทรัพยากรให้กับนักเรียนที่ยังขาดแคลนได้ ตัวอย่างคือ พอร์ทัลออนไลน์ของบังคลาเทศชื่อ Edutainment ดำเนินการโดยรัฐบาลและได้รับการสนับสนุนจาก a2i ทำให้เยาวชนชาวบังคลาเทศราว 300,000 คน ได้เรียนเนื้อหากว่า 30,000 เรื่องสำหรับการเรียนรู้ทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21

3. ไม่ใช้การวัดผลแบบเดิมๆ

จากเดิมที่การวัดผลการเรียนอยู่ที่ระบบการสอบเท่านั้น แต่ต่อไปอาจต้องพิจารณาการวัดค่าการเรียนรู้ในประเด็นอื่นๆ ด้วย เช่น ความใฝ่รู้ของผู้เรียน การนำความรู้ไปในทางปฏิบัติ ความตั้งใจในการสื่อสารและทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงาน และทักษะที่จะสามารถคิดและนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหา เพราะระบบการทดสอบเหมารวมในแบบเดิมจะทำให้ไม่สามารถตรวจสอบความเข้าใจของผู้เรียนในระดับปัจเจกบุคคล เพราะอาจวัดได้เพียงความสามารถในการท่องจำ ดังนั้นต้องใช้วิธีการประเมินของผู้สอนแบบเรียลไทม์ หรือติดตามผลงานอย่างเป็นรูปเป็นร่างแทน

4. พัฒนาครูให้เหมาะสมกับการสอน

องค์ประกอบที่มักถูกมองข้ามคือ ครู ต้องมองความจริงที่เกิดขึ้นให้ชัดเจนว่าระบบการสอนและการประเมินแบบดั้งเดิมก็ทำให้ครูล้มเหลวได้พอๆ กับนักเรียน เพราะทำให้ความคิดสร้างสรรค์และการพัฒนาศักยภาพของครูหยุดชะงัก เช่นเดียวกับที่นักเรียนยังต้องประเมินส่วนบุคคล ครูก็เช่นกันที่ต้องมีการฝึกอบรมและการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถ นักเรียนจะมีทักษะที่จำเป็นอย่างไรถ้าครูไม่มีความสามารถนั้นเช่นกัน?

การทำงานร่วมกัน (Collaboration) การสอนแบบเพื่อนช่วยเพื่อน (Peer Learning) และการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) เป็นทักษะที่ครูต้องการ และต้องเพิ่มทักษะความสามารถให้ครูแต่ละคนสอนแบบผสมผสานได้ด้วย ซึ่งประเทศบังคลาเทศนั้นมี The Teacher’s Portal พัฒนาโดย a2i ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเว็บไซต์สำหรับใช้เป็นพื้นที่ในการสร้างครูที่มุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถเพื่ออนาคต มีครูที่ลงทะเบียนแล้ว 558,000 คน และสร้างเนื้อหาดิจิทัลมากกว่า 416,000 ชิ้น 

5. ทำให้เข้าถึงได้ทั่วถึง

ปัจจุบันการเข้าถึงการเรียนแบบผสมผสานอาจมีแค่ส่วนน้อย และยังเกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ที่สามารถรับค่าใช้จ่ายได้เท่านั้น เห็นได้ชัดเจนจากรูปแบบการศึกษาออนไลน์เพราะ COVID-19 ซึ่งประเทศบังคลาเทศแก้ไขปัญหาด้วยการทำห้องเรียนอัจฉริยะ (Multimedia Classrooms) ที่ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงนับหมื่นแห่ง และเชื่อมโยงโรงเรียนเป็นขั้นตอนแรก ตามด้วยการเชื่อมต่อบ้านของผู้เรียน และต้องไม่มองข้ามผู้เรียนที่มีความพิการด้วยเช่นกัน

โครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ตทั้งในโรงเรียนและที่บ้านจะต้องเป็นโครงสร้างพื้นฐานของการเรียนแบบผสมผสาน ที่สามารถอำนวยความสะดวกให้ศึกษาทั้งในรูปแบบผ่านระบบดิจิทัลและแบบห้องเรียน

ข้อแนะนำสำหรับผู้สอน

  • ออกแบบศูนย์การเรียนรู้ : โดยในศูนย์การเรียนรู้อาจให้นักเรียนจะหมุนเวียนไปตามสถานีการเรียนรู้ต่างๆ ซึ่งแต่ละแห่งมีกิจกรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นวิธีง่ายๆ ในการแยกแยะความสามารถ ความสนใจ เนื้อหา สำหรับผู้เรียนกลุ่มเล็ก ซึ่งจะช่วยให้ครูสามารถให้คำแนะนำแบบปฏิบัติจริงไปพร้อมกันได้
  • การจัดกลุ่มผู้เรียนที่ยืดหยุ่น : ในศูนย์การเรียนรู้ ครูสามารถแบ่งปัจจัยหลายอย่างเพื่อแบ่งกลุ่มการเรียนรู้ ตามการสังเกต การทดสอบที่ได้มาตรฐาน อายุ และความสนใจของนักเรียน
  • มีทางเลือกให้ผู้เรียน : เช่นในการประเมินผู้เรียนผ่านการทำโครงงาน ตามหลักการแล้ว ต้องมีตัวเลือกอย่างน้อยสองตัวเลือก เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเลือกได้ว่าต้องการเน้นการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับอะไร ใช้หนังสือ บทความ แหล่งอ้างอิงใด แล้วจึงตัดสินใจทำงานที่ได้รับมอบหมายขั้นสุดท้ายด้วยตนเอง
  • การประเมิน : สามารถประเมินตามระดับความซับซ้อนของงานที่มอบหมายให้ผู้เรียน นอกเหนือจากการให้คะแนนที่อ้างอิงมาตรฐานแล้ว ครูยังต้องระบุความเชี่ยวชาญตามลักษณะการเรียนรู้ของแต่ละบุคคลด้วย ไม่ใช่การควบคุมผู้เรียนให้ตรงกรอบตามเกณฑ์ แต่เป็นการประเมินการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้รับ มุ่งเน้นที่คุณภาพการเติบโตของผู้เรียนมากกว่าปริมาณที่เรียน

การฝึกฝนให้ผู้เรียนเคยชินกับ “Blended Learning การเรียนรู้แบบผสมผสาน” เป็นวิธีที่ผู้เรียนจะสามารถใช้ประสบการณ์ในการเรียนทั้งแบบในห้องเรียนที่จำเป็นด้านการเข้าสังคมและทำงานร่วมกับผู้คน ไปพร้อมกับการรู้จักเสาะแสวงหาความรู้อื่นผ่านเทคโนโลยี ด้วยภายภาคหน้าเมื่อพวกเขาเติบโตจนก้าวสู่วัยทำงาน อาชีพต่างๆ ต้องเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ต่างก็ต้องได้ใช้งานเทคโนโลยีที่กล่าวไว้ข้างต้นไม่อย่างใดอย่างหนึ่งอย่างแน่นอน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้ด้านประสิทธิภาพการทำงานของเว็บไซต์ และคุกกี้เพื่อการโฆษณา

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า